วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

บันทึกเปิดผนึก เรียน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ว่าด้วย "ความยุติธรรม"

โดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล


ผมทราบว่า ในราชาศัพท์ การ "แอ๊ดเดรส" เจ้านายระดับ "เจ้าฟ้า" นั้น ใช้คำประเภท "ขอพระราชทานกราบทูลทราบฝ่าพระบาท" และ "ใต้ฝ่าพระบาท" และคำเรียกตัวเองว่า "ข้าพระพุทธเจ้า" แต่ว่า (1) นี่เป็นบทความสำหรับการอภิปรายสาธารณะ ที่ต้องการให้อ่านกันสะดวก และ (2) "ใต้ฝ่าพระบาท" เอง ทรงมีหลายสถานะ รวมทั้งสถานะความเป็น "นักวิชาการ/อาจารย์" แบบเดียวกับผม ผมเลือกทีจะพูดในสถานะแบบนี้ เพื่อความสะดวก ในส่วนอื่นๆของบทความนี้ ผมก็เลือกที่จะใช้ราชาศัพท์เท่าที่จำเป็นเพื่อความสุภาพ แต่ไม่ได้ใช้ในทุกๆประโยค ทุกๆกรณีเพื่อความสะดวก ]

ผมรู้สึกสนใจอย่างยิ่งที่พระองค์ทรงพระราชทานสัมภาษณ์ออกทีวีในรายการ "วู้ดดี้เกิดมาคุย" ตามที่มีรายงานข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะทาง "ข่าวสด" ที่ผมใช้อ้างอิงในบทความนี้ ( http://goo.gl/vv3Rb )

อย่างไรก็ตามมีประเด็นสำคัญพื้นฐานเกี่ยวกับคำสัมภาษณ์นี้ ที่ผมเห็นว่า ควรจะได้แลกเปลี่ยนกับพระองค์และสาธารณะ

ตามรายงานข่าว พระองค์ทรงพระราชทานสัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า

ใจจริงของฉันอยากจะขอเวลาจากรายการทีวีช่วงสั้นๆ แค่ 5 นาที 10 นาที ฉายพระราชกรณียกิจที่ท่านทำ สงสารท่านเถอะ ท่านทุ่มเทเต็มที่ เอาใจใส่ทุกรายละเอียดทุกงานที่ทำทั้ง 2 พระองค์ ซึ่งทั้ง 2 พระองค์ทรงเป็นห่วงเรื่องความสามัคคีของคนไทย อยากให้กลมเกลียว คนไทยต้องเข้มแข็ง ชาติจะได้เจริญก้าวหน้าต่อไป ฉันอยากให้ทั้ง 2 พระองค์ได้รับความยุติธรรมตามที่ท่านควรจะได้รับ

เรื่องที่ทรงเรียกร้อง "ความยุติธรรม" ให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถนี้ได้เป็นประเด็นหลักที่หนังสือพิมพ์ที่รายงานเรื่่องการพระราชทานสัมภาษณ์นี้ นำไปพาดหัว

ในความเห็นของผม ปัญหามีอยู่ว่า การให้สัมภาษณ์ที่ทรงเรียกร้อง "ความยุติธรรม" ให้กับ 2 พระองค์ นี้ โดยการให้สัมภาษณ์เอง เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม หรือพูดง่ายๆคือ ไม่แฟร์ ถ้าถือตามความหมายของคำนี้ตามที่ยอมรับกันทั่วไป

กล่าวคือ ในขณะที่พระองค์ (ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์) ไม่ได้ทรงอยู่ภายใต้การคุ้มครองของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เรียกกันว่ากฎหมาย "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ก็จริง

แต่โดยประเพณีของการตีความกฎหมายนี้ในลักษณะครอบจักรวาลที่ผ่านๆมา และในปริบทของการที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้ระบบการประชาสัมพันธ์และอบรมบ่มเพาะพลเมืองตั้งแต่เด็กๆแบบด้านเดียวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระราชวงศ์ทุกพระองค์ไม่ว่าระดับใด (รวมทั้งฟ้าหญิงจุฬาภรณ์) โดยที่การประชาสัมพันธ์และอบรมบ่มเพาะดังกล่าว ไม่เคยเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ โต้แย้ง ได้

ผลก็คือ แม้แต่การให้สัมภาษณ์ของพระองค์ (ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์) เช่นนี้ ก็ยากที่จะมีใครกล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมื่อเนื้อหาของการให้สัมภาษณ์นี้ เกี่ยวพันถึงในหลวงและพระราชินี ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอาญามาตรา 112 การจะวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้งเนื้อหาการให้สัมภาษณ์ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพาดพิงถึง 2 พระองค์ด้วย (เช่น ทรงไม่ได้รับ "ความยุติธรรม" หรือไม่อย่างไร เป็นต้น)

ตามหลักการที่ทั่วโลกอารยะถือกันในปัจจุบัน การที่บุคคลสาธารณะ แสดงความเห็นต่อสาธารณะในเรื่องที่เป็นสาธารณะ เช่นที่ทรงให้สัมภาษณ์นี้ จะต้องเปิดโอกาสให้สาธารณชนได้วิพากษ์วิจารณ์ แสดงความไม่เห็นด้วย หรือกระทั่งโต้แย้งได้ การไม่เปิดโอกาสเช่นนั้น ย่อมถือเป็นการ "ไม่แฟร์" หรือ "ไม่ยุติธรรม" 

ในปริบทสังคมไทยทั้งทางกฎหมายและทางการประชาสัมพันธ์อบรมบ่มเพาะดังกล่าว ทำให้การพระราชสัมภาษณ์ที่ทรงเรียกร้อง "ความยุติธรรม" นี้ จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบการประชาสัมพันธ์ด้านเดียวอบรมบ่มเพาะด้านเดียวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระราชวงศ์ ที่ตรวจสอบไม่ได้ วิพากษ์วิจารณ์โต้แย้งไม่ได้ ซึ่ง "ไม่ยุติธรรม" ไปโดยปริยาย

........................................
  
ผู้ "นิยมเจ้า" จำนวนไม่น้อย มักจะโต้แย้งว่า การมี "กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" และการห้ามการวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้ง ตรวจสอบการประชาสัมพันธ์และอบรมบ่มเพาะแบบด้านเดียวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระราชวงศ์ทุกพระองค์ เป็นเพราะ พระราชวงศ์ไม่อยู่ในฐานะที่จะมาโต้แย้งหรือตอบโต้การตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ได้  (มักจะพูดกันทำนองว่า "พระองค์ท่านไม่สามารถตอบโต้ได้" จึงต้องให้รัฐทำการ "ตอบโต้" ด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่รุนแรงในระดับที่ไม่มีประเทศอารยะที่ไหนอนุญาตให้มี)

ความจริง "เหตุผล" หรือข้อโต้แย้งนี้ ไม่มีน้ำหนัก ไม่เป็นเหตุผลแต่แรก เพราะ เป็นการให้เหตุผลแบบกลับหัวหลับหาง เอาปลายเหตุมาอ้างเป็นต้นเหตุ

การที่มีผู้เรียกร้องให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ (accountability) เกี่ยวกับพระราชวงศ์นั้น เริ่มมาจากการที่พระราชวงศ์ได้เข้ามามีบทบาททางสาธารณะในทุกด้านอย่างมหาศาล โดยมีระบบการประชาสัมพันธ์ด้านเดียวอบรมบ่มเพาะด้านเดียว เป็นเครื่องพยุงส่งเสริมบทบาทเหล่านั้น ซึงตามบรรทัดฐานที่ยอมรับกันทั่วไปในโลกอารยะ (รวมทั้งในประเทศไทยในกรณีอื่นๆ) บทบาทสาธารณะทุกอย่างของบุคคลสาธารณะและการประชาสัมพันธ์และอบรมบ่มเพาะทีเป็นสาธารณะในลักษณะนี้ จะต้องได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบโต้แย้งกระทั่งเสนอให้เอาผิดได้แต่แรก

ถ้าไม่มีบทบาทและระบบการประชาสัมพันธ์อบรมบ่มเพาะด้านเดียวเกี่ยวกับพระราชวงศ์แต่แรก ก็ไม่มีความจำเป็นหรือการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์หรือเสนอเอาผิด (accountability) แต่แรก

พูดง่ายๆคือ ถ้าไม่ต้องการให้มีการเรียกร้องเรื่อง accountability ไม่ต้องการให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบพระราชวงศ์ ก็ต้องไม่มีบทบาทอันมหาศาลและระบบการประชาสัมพันธ์ด้านเดียวอบรมบ่มเพาะด้านเดียวเกี่ยวกับพระราชวงศ์ แต่แรก

การมีสิ่งเหล่านี้แต่แรก แล้วเมื่อมีคนเรียกร้องเรื่อง accountability ต่อสิ่งเหล่านี้ แล้วฝ่าย "นิยมเจ้า" กลับมาอ้างว่าห้ามไม่ให้ทำ เพราะพระราชวงศ์ "ไม่สามารถออกมาตอบโต้เองได้" จึงเป็นการอ้างที่ภาวะปลายเหตุ อันเป็นภาวะที่เกิดจากการทำผิดหลักการเรื่องนี้แต่แรก 

การที่ประเทศประชาธิปไตยทุกประเทศที่ยังมีพระราชวงศ์เป็นประมุข ไม่อนุญาตให้มีบทบาทสาธารณะของพระราชวงศ์และไม่อนุญาตให้มีระบบการประชาสัมพันธ์ด้านเดียว อบรมบ่มเพาะพลเมืองด้านเดียวเกี่ยวกับพระราชวงศ์ ในลักษณะที่ประเทศไทยมี นับแต่สมัยเผด็จการสฤษดิ์ ก็เพราะถือกันว่า การมีบทบาทสาธารณะและระบบประชาสัมพันธ์อบรมบ่มเพาะพลเมืองเกี่ยวกับเรื่องใดๆก็ตามนั้น จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบเอาผิดของสาธารณะได้แต่ต้น

พวก "นิยมเจ้า" ของไทย ยอมให้มีการทำผิดหลักการเรื่องการมีบทบาทสาธารณะและประชาสัมพันธ์อบรมบ่มเพาะซึงเป็นเรื่องสาธารณะ เกี่ยวกับพระราชวงศ์ โดยไม่มีการวิพากษ์ตรวจสอบแต่ต้น ซึ่งการยอมให้มีภาวะนี้ (ถ้ายืมคำที่ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ทรงใช้) ต้องถือเป็นความไม่ "ยุติธรรม" แต่เมื่อมีคนเรียกร้องให้ปฏิบัติให้ถูกตามหลักการนี้ ให้ยุติภาวะ "ไม่ยุติธรรม" นี้ พวกเขาก็มาอ้างเรื่อง "พระราชวงศ์ตอบโต้ไม่ได้" ซึ่งเป็นการอ้างในลักษณะที่ ต้องการรักษาภาวะที่ "ไม่ยุติธรรม" ที่เกิดขึ้นก่อน จึงไม่สามารถเอาเรื่อง "ความยุติธรรม" มาอ้างได้

พูดง่ายๆคือ พวกเขากำลังอ้างว่า "ไม่ยุติธรรม ที่จะให้คนวิพากษ์วิจารณ์ เพราะพระราชวงศ์ตอบโต้ไม่ได้" ความจริงที่มีคนต้องการวิพากษ์วิจารณ์นั้น เกิดจากการที่สังคมไทยยอมให้มีความ "ไม่ยุติธรรม" เกิดขึ้นก่อนคือการยอมให้มีบทบาทสาธารณะอย่างมหาศาลของราชวงศ์และมีระบบประชาสัมพันธ์อบรมบ่มเพาะแบบด้านเดียวมาพยุงบทบาทนั้น อย่างไม่มี accountability ก่อน ซึ่งไม่มีประเทศอารยะที่ไหน ยอมให้มี "ความไม่ยุติธรรม" เช่นนี้ เกิดขึ้นแต่แรก เป็นการผิดหลักการทีสังคมไทยเองใช้กับเรื่องสาธารณะทั้งหลายแต่แรก

ที่มา : บันทึกเฟสบุ๊ค สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น