วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประกวดเทพธิดาแรงงาน : การช่วงชิงความหมาย ‘คนงาน’ ด้วย ‘ความงาม’

 
การปรับโครงสร้างของระบบทุนนิยมโลกปัจจุบันก่อให้เกิดความพร่าเลือนต่อโลกของแรงงานหลายประการ ภาพของแรงงานในยุคปัจจุบันมิได้มีองค์ประกอบของแรงงานในระบบการผลิตแบบโรงงานเป็นกลุ่มหลักเพียงกลุ่มเดียว หากประกอบด้วยแรงงานในระบบการจ้างงานแบบยืดหยุ่น อาทิ งานเหมาช่วง งานชั่วคราว งานที่รับไปทำที่บ้าน เป็นต้น รวมทั้งแรงงานในภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการอีกจำนวนมาก ซึ่งมีแรงงานหญิงเป็นองค์ประกอบสำคัญ ดังนั้น การจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับแรงงานหญิงย่อมส่งผลต่อความคิด และแนวทางการปฏิบัติของผู้ใช้แรงงาน ขบวนการแรงงานจะจัดขบวนในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานอย่างไรในสภาวการณ์ดังกล่าว ?
 
แรงงานหญิงในสังคมไทย
ในอดีตที่ผ่านมา แรงงานเป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็งมากกว่าพลังอื่นๆ โดยเฉพาะแรงงานหญิง หากมองพัฒนาการของแรงงานในอดีตจนถึงปัจจุบัน จะเห็นว่าผู้หญิงเป็นองค์ประกอบสำคัญของแรงงานในประเทศไทย ทั้งในมิติของปริมาณและมิติของการเป็นพลังเคลื่อนไหวในอดีตที่มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบทางสังคมที่เอื้อประโยชน์ต่อคนทำงานจำนวนมาก ย้อนอดีตไปเมื่อต้นทศวรรษที่ 2530 การรวมกลุ่มที่เข้มแข็งของแรงงานหญิงภาคอุตสาหกรรมหลายประเภทโดยเฉพาะสิ่งทอ ทั้งในองค์กรที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทำให้ การเรียกร้องของคนงานหญิงในภาคอุตสาหกรรมประสพความสำเร็จในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบทางสังคมให้มีหลักประกันสำหรับประชาชนคนทำงานทั่วไปที่ไม่ได้รับสวัสดิการและการคุ้มครองตามกฎหมาย การเรียกร้องที่สำคัญในอดีต อาทิ สิทธิการลาคลอด 90 วันสำหรับลูกจ้างเอกชนและการเรียกร้องกฎหมายประกันสังคม และการเรียกร้องอื่นๆที่เกี่ยวกับกระบวนการใช้กฎหมายรวมทั้งสิทธิและสวัสดิการของผู้ใช้แรงงานกลุ่มต่างๆ
 
การเคลื่อนไหวของแรงงานหญิงในระยะแรกได้รับการหนุนเสริมจากหลายส่วนทั้งจากองค์กรแรงงาน นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และต่อมามีพัฒนาการการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งมากขึ้น รวมทั้งเป็นองค์กรตัวแทนของแรงงานที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันให้ออกกฎหมายและแนวปฏิบัติในด้านแรงงานหลายเรื่อง รวมทั้งการสื่อสารกับสังคมให้เข้าใจปัญหาแรงงาน กล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงและการปรับโครงสร้างในระบบสวัสดิการและการคุ้มครองแรงงานหลายเรื่องเกิดจากการขับเคลื่อนของกลุ่มแรงงานหญิง อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมา ความเข้มแข็งของการเคลื่อนไหวของแรงงานลดถอยลงด้วยปัจจัยทั้งภายในและภายนอกขบวนการแรงงานเองได้ถูกผนวกเข้ากับกระแสการเคลื่อนไหวทางการเมือง แนวคิดและเป้าหมายในการเคลื่อนไหวจึงมีการเปลี่ยนแปลง และมีแนวทางแตกต่างกันตามเป้าหมายของแต่ละองค์กร
 
ประกวดเทพธิดาแรงงาน : การช่วงชิงความหมายบนเรือนร่างแรงงานหญิง
มติที่ให้มีการประกวดเทพธิดาแรงงานในวันแรงงานแห่งชาติที่จะมาถึง เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนอะไรในโลกของแรงงาน ? การประกวดเทพธิดาแรงงาน มีนัยอย่างไรต่อแรงงานหญิง? แนวคิดในเรื่องการประกวดเทพธิดาแห่งความงาม ย้อนรอยไปถึงจุดกำเนิดของความคิดในเรื่องความงามในตำนานอารยธรรมกรีกโบราณ และมีการนำมาพัฒนารูปแบบการคัดเลือก และมอบรางวัลให้ผู้ที่มีความงามสูงสุด ซึ่งมีความผันแปรของความหมายและสัญลักษณ์แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย การจัดประกวดซึ่งมีความงามเข้าไปเกี่ยวข้องได้รับความนิยมมากขึ้นในยุคการขยายตัวของอุตสาหกรรมเพื่อความบันเทิง ในช่วงศตวรรษที่ 19-20 การจัดงานวันแรงงานในสหรัฐอเมริกามีผู้หญิงเป็นกลุ่มเป้าหมายของกิจกรรมเพื่อให้เป็นจุดสนใจของการจัดงาน ร่วมกับกิจกรรมอื่นๆ
 
การจัดประกวดความงาม มีลักษณะทั่วไปของการแข่งขัน ด้วยการวัดเรือนร่างของผู้เข้าประกวด ซึ่งวางอยู่บนฐานการพิจารณาเรื่องมาตรฐานของความงาม ความสมบูรณ์ด้านใดด้านหนึ่ง การกำหนดสัดส่วนในเรือนร่างของผู้หญิงที่เข้าประกวดจึงเป็นเกณฑ์มาตรฐานเบื้องต้น ซึ่งมีข้อวิพากษ์วิจารณ์อยู่ว่า เป็นการหนุนเสริมค่านิยมที่มองคุณค่าของผู้หญิง(โดยเฉพาะวัยรุ่น) ที่เรือนร่าง ความสวยงาม ซึ่งเพิ่มแรงกดดันให้ผู้หญิงต้องทำตัวให้สวย และต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายในเรื่องการแต่งตัว เสริมสวย ทำศัลยกรรม ตลอดจนการอดอาหารเพื่อให้ร่างกายสวยงาม นอกจากนั้นยังเป็นการลดทอนความสำคัญของแรงงานหญิงซึ่งมีบทบาทเรียกร้อง ในสิทธิ ความเสมอภาค ความเป็นธรรมและสวัสดิการสังคม
 
การจัดประกวดเทพธิดาแรงงานมีนัยของความหมายแตกต่างจากการประกวดทั่วไปที่จัดกันอย่างไร ? แรงงานในระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมนั้น ผู้ใช้แรงงานเป็นเจ้าของแรงงานกายและแรงงานสมองของตัวเองในการทำงาน และเข้าสู่กระบวนการใช้แรงงานในการผลิตเพื่อแลกเปลี่ยนกับค่าจ้างในการดำรงชีพ บนพื้นฐานความสัมพันธ์การแลกเปลี่ยนเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของความสัมพันธ์ในสังคมทุนนิยม โดยในกระบวนการผลิต ศักยภาพแรงงานกายจะถูกดึงมาใช้เพื่อให้เกิดมูลค่าในการผลิต คนงานหญิงสัมพันธ์กับทุนนิยมสองมิติ ทั้งในมิติการผลิตและมิติของการบริโภคที่แรงงานหญิงเองก็กลายมาเป็นผู้บริโภคสินค้าทุนนิยม การเป็น ‘คนงาน’ ในกระบวนการผลิตของทุนนิยมอุตสาหกรรม เรือนร่างของคนงานอยู่ภายใต้กระบวนการผลิตที่เคร่งครัด ขาดอิสระทั้งทางร่างกายและกระบวนการคิด ในขณะที่ชนชั้นกลางถึงแม้จะทำงานรับค่าจ้างแต่ก็มีอิสระ ไม่ต้องอยู่ในสถานะเป็นผู้ผลิตสินค้าป้อนตลาดเพื่อการบริโภค และไม่ต้องใช้แรงงานกายอย่างเข้มข้น ชนชั้นกลางจึงมีเวลาว่างมากกว่าและมีศักยภาพในการบริโภคสูงกว่าคนงาน การที่แรงงานจะบริโภคได้มากน้อยเพียงใดเป็นผลมาจากสถานะการเป็นผู้ผลิตว่า จะต่อรองกับทุนและได้รับค่าตอบแทนในการยังชีพมากน้อยเพียงใด
 
ขณะเดียวกันในปริมณฑลของการบริโภค ผู้ใช้แรงงานก็เป็นกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดของสินค้าทุนนิยมเฉกเช่นมวลชนทั่วไปในสังคม การประกวดประชันกันในเรื่อง ‘ความงาม’ ของเรือนร่าง จึงไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของแรงงานหญิง หากเงื่อนไขในสถานะของผู้ผลิตนั้นยังด้อยคุณภาพ ค่าจ้างต่ำ แล้วยังต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อปรุงแต่งเรื่องความสวยงาม
 
ในอดีตที่ผ่านมา แรงงานหญิงในสังคมไทยถูกนำเสนอในพื้นที่สาธารณะด้วยภาพลักษณ์การทำงานของผู้หญิง รวมทั้งการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของแรงงานหญิง อันเป็นภาพลักษณ์ของ ‘คนงาน’ ที่เป็นเจ้าของแรงงานกายและแรงงานสมองของตัวเองในการทำงาน เป็นภาพลักษณ์ซึ่งเปิดเผย ‘ความงาม’อันแท้จริงบนเรือนร่างของแรงงานหญิง แต่ในกระบวนการประกวดเทพธิดาแรงงาน ความหมายของความงามดังกล่าวกำลังถูกช่วงชิงด้วยปฏิบัติการของการสร้างความหมายด้วยวิธีการอันแยบยลบนความซับซ้อนของระบบการผลิตและความสัมพันธ์การจ้างแรงงาน ที่ตัวตนของคนงานเองจะถูกนิยามความหมายไปในรูปแบบอื่นซึ่งลดทอน ความหมายของเรือนร่างที่เป็นจุดกำเนิดของแรงงานในการสร้างผลผลิต และการเรียกร้องสิทธิในฐานะที่เป็นเจ้าของร่างกาย ถูกสร้างความหมายให้กลายเป็นวัตถุที่ต้องปรุงแต่งเพื่อความสวยงาม สร้างความพร่าเลือนในตัวตนของคนงาน ให้อยู่ในโลกของจินตนาการที่ผิดไปจากความเป็นจริง เป็นความคลุมเครือระหว่างโลกของการทำงานในกระบวนการผลิตและโลกของจินตนาการในปริมณฑลของการบริโภค
 
การสร้างมาตรวัดของการประกวดด้วยการให้คุณค่ากับความสวยงามบนเรือนร่างยังไปตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพิ่มขึ้น ด้วยการสร้างค่านิยมที่ส่งเสริมสถานภาพของผู้ที่มีความงามสูงสุดด้วยการให้รางวัลและอภิสิทธิ์ทางสังคม เป็นการสร้างนิยามของความงามที่ตายตัวและไม่ยั่งยืน ทั้งยังลดทอนความแตกต่างหลากหลายทางกายภาพของมนุษย์ซึ่งเป็นความงามตามสภาพธรรมชาติ ความหมายของความงามนั้นควรถูกสร้างขึ้นโดยสัมพันธ์กับบริบทในชีวิตจริงของคนในสังคม และมีเกณฑ์วัดที่หลากหลาย เป็นมิติความงามบนฐานของการยอมรับความความแตกต่าง และความเท่าเทียมกันของมนุษย์  

ที่มา : ประชาไท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น