วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2554

คนไทยอ่วมหนักน้ำมันถั่วเหลือง นม-ปุ๋ยแพงโหด

คนไทยกระเป๋าฉีกแน่กลางเดือนนี้ จบศึกอภิปรายรัฐบาล ชาวบ้านเจอของแพงถล่มอ่วม "น้ำมันถั่วเหลือง-นม-ปุ๋ย" เตรียมเคาะขึ้นราคาร้อยเปอร์เซ็นต์ ขณะที่กลุ่มเหล็ก-อาหารกระป๋อง ไม่น้อยหน้าขอซ้ำอีกดอก ปรับตามด้วย อ้างวัตถุดิบตลาดโลกราคาสูงขึ้น ด้าน “พาณิชย์” ไม่ต่อมาตรการตรึงสินค้าหลังสิ้น มี.ค. เล็งเรียกผู้ประกอบการสินค้า 200 กว่ารายการถก “กรมการค้าภายใน” สั่งวิเคราะห์ต้นทุนละเอียดยิบ หลังน้ำมัน วัตถุดิบพุ่ง ยอมรับอาหารจานด่วนแพงคุมยาก ส่วนกระจายปาล์ม ปั๊มเพิ่ม 2.5 ล้านลิตรต่อวัน
   
ปัญหา “ข้าวยากหมากแพง” ในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่โถมกระหน่ำทำให้พี่น้องประชาชนเดือดร้อนกันอย่างหนัก ความคืบหน้าเกี่ยวกับปากท้องประชาชน วันที่ 9 มี.ค. นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีสินค้าที่เตรียมขอปรับราคาเข้ามายังกระทรวงฯเพิ่มเติมอีก 1 รายการ คือกลุ่มเหล็ก ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณาราคาแนะนำเหล็กไปดำเนินการ ส่วนสินค้าปลากระป๋องนั้น ยอมรับว่ามีต้นทุนขึ้นจากเหล็กที่ใช้ทำกระป๋อง (ทินเพลต) ราคาแพงขึ้น แต่ราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้น ยังไม่เกินเพดานที่กรมการค้าภายในกำหนด ซึ่งหากมีการยื่นขอปรับราคาเข้ามา ก็ต้องพิจารณาให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในทำการศึกษาโครงสร้างรายการสินค้าเป็นรายตัว เพื่อเตรียมพร้อมในการยื่นอนุมัติขอปรับราคา จะทำให้ทราบต้นทุนทั้งหมด เพื่อใช้ในการพิจารณา โดยยังยืนยันว่ามีสินค้าเพียง 10% เท่านั้น ที่มีแนวโน้มราคาสูงขึ้น 
   
รมว.พาณิชย์ กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าการกระจายน้ำมันปาล์มนำเข้ารอบสอง 30,000 ตัน ขณะนี้ได้นำเข้าครบแล้ว และจัดสรรแก่สมาชิกโรงกลั่น 10 แห่ง เพื่อเร่งผลิตน้ำมันพืชปาล์มบริโภค วันละ 2.5 ล้านลิตร ซึ่งสูงกว่าความต้องการปกติวันละ 1 ล้านลิตร เพื่อให้สามารถกระจายน้ำมันพืชปาล์มไปถึงมือประชาชนอย่างรวดเร็วและทั่วถึงมากที่สุด โดยผ่านช่องทางห้างค้าปลีกค้าส่ง และยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ตลาดสด ผู้ใช้ สำหรับการกระจายน้ำมันพืชปาล์มฝาสีชมพู ตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ.– 7 มี.ค.54 ได้กระจายไปมากกว่า 19 ล้านลิตร แยกเป็น กรุงเทพมหานคร ห้างค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ และร้านสะดวกซื้อ 7.6 ล้านลิตร และต่างจังหวัด 11.4 ล้านลิตร ทำให้ปัญหาเริ่มคลี่คลาย 
   
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า เร็ว ๆ นี้จะมีการเรียกประชุมผู้ประกอบการสินค้าทุกกลุ่มกว่า 200 ราย มาหารือถึงสถานการณ์ต้นทุนราคาสินค้า ก่อนที่มาตรการตรึงราคาสินค้าจะหมดลงในวันที่ 31 มี.ค.นี้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะไม่ต่อระยะเวลาการใช้มาตรการตรึงราคาออกไป ดังนั้นจึงต้องเรียกมาทำความเข้าใจถึงแนว ทางการดูแลราคาสินค้าหลังหมดมาตรการ โดยยอมรับว่ามีสินค้าหลายรายการประมาณ 10% ของรายการสินค้าทั้งหมดที่มีต้นทุนสูงขึ้น แต่การอนุมัติให้ปรับราคาจะไม่ให้ปรับขึ้นทั้งหมดตามที่ผู้ผลิตสินค้ายื่นขอมา เพราะจะกระทบกับประชาชนมากจนเกินไป ล่าสุดสินค้ากลุ่มเหล็กเตรียมยื่นขอปรับราคาเข้ามายังกระทรวงพาณิชย์ เพราะต้นทุนวัตถุดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก โดยกลุ่มเหล็กอาจมีการพิจารณาให้ปรับขึ้นราคาแนะนำ เพราะไม่ได้ปรับขึ้นตั้งแต่เดือน มี.ค. 53 ส่วนน้ำมันถั่วเหลืองบรรจุขวด นมสดพาสเจอไรซ์ และปุ๋ยเคมี ที่ยื่นปรับราคาเข้ามานั้น จะพิจารณาการอนุมัติปรับขึ้นราคาหลังจากที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจเสร็จสิ้นลงช่วงกลางเดือน มี.ค.นี้
   
ด้านนางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การตรวจสอบการเคลื่อนไหวของต้นทุนสินค้าและราคาสินค้าปี 54 เทียบปี 51 ซึ่งเป็นปีที่ประสบปัญหาราคาน้ำมันแพง และราคาสินค้าปรับสูงขึ้นพบว่า สินค้าส่วนใหญ่ยังมีฐานราคาต่ำกว่าปี 51 สะท้อนว่ายังไม่มีสัญญาณการปรับราคาขายสินค้าสูงกว่าปกติ แต่ยอมรับว่าสินค้าบางรายการที่ต้นทุนสูงเกินปี 51 ก็กำลังวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนว่าเกิดจากเหตุผลใด เช่น ข้าว ประสบปัญหาเรื่องค่าเช่านาและค่าขนส่งที่สูงขึ้นมาก  เหล็กกำลังประสบปัญหาเรื่องต้นทุนนำเข้าจากต่างประเทศปรับสูงขึ้น ก็ต้องมีการประชุมในคณะกรรมการสินค้าเฉพาะด้านต่อไป ส่วนการเรียกประชุมผู้ประกอบการอุปโภคบริโภค 204 รายการ คงต้องพิจารณาเป็นกลุ่มสินค้าที่กระทบต่อประชาชนจริง และต้นทุนเพิ่มสูง เพื่อหาแนวทางดูแลค่าครองชีพประชาชน
   
“การขึ้นราคายังเห็นว่าสมเหตุสมผล การตรึงราคาสินค้าในภาวะต้นทุนวัตถุดิบแพง อาจมีผลต่อผลผลิตสินค้าออกตลาดที่ลดลง ยิ่งเป็นการซ้ำเติมมากขึ้น  โดยกำลังจับตา ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานปกติ ขยับราคาตามต้นทุนแท้จริง และไม่ให้ฉวยโอกาสขายเกินราคา” 
   
อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวต่อว่า ส่วนอาหารปรุงสำเร็จทั่วไป ให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบและกำชับหน่วยงานราชการ ค้าปลีก และตลาดสด ให้ความร่วมมือในการจัดทำเมนูอาหารราคาไม่เกินจานละ 25 บาท ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับความร่วมมือดี แต่ในส่วนร้านอาหารทั่วไป คงบังคับไม่ได้ว่าจะให้ขายราคา 25 บาท เพราะราคาอาหารเมนูละ 20-25 บาท เป็นราคาย้อนหลังตั้งแต่ 5-6 ปีก่อน เมื่อต้นทุนสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันพืช เนื้อสัตว์ และค่าครองชีพ ก็ย่อมกระทบต่อราคาที่สูงขึ้น ตอนนี้ราคาส่วนใหญ่ 30 บาท พิเศษหน่อยก็ 35 บาท แต่หากเทียบกับต้นทุนวัตถุดิบในการปรุงที่แพงขึ้นก็ต้องเห็นใจว่าต้องมีการปรับราคาขึ้น
   
ด้าน จ.ขอนแก่น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการออกสำรวจตลาดสดในเขตเทศบาลนครขอนแก่น และตลาดสดบางลำภู พบว่า สินค้ามีราคาแพงขึ้นทุกชนิด โดยเฉพาะผักสด เช่น ผักกาดขาวซื้อมากิโลฯละ 8 บาท ขาย กิโลฯละ 10 บาท กะหล่ำปลีกิโลฯละ 12 บาท ขาย 15 บาท ผักกาดหอมกิโลฯละ 20 บาท ขาย 30 บาท มะนาวใบละ 5 บาท ขายใบละ 6 บาท หอมกิโลฯละ 12 บาท ขาย 15 บาท พริกกิโลฯละ 20 บาท ขาย 35 บาท ผักชีฝรั่งกิโลฯละ 20 บาท ขาย กิโลฯละ 30 บาท ซึ่งปัญหาดังกล่าวสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก
   
วันเดียวกัน พ.ต.อ.ถนอมศักดิ์ ยศแผ่น ผกก.แม่สาย จ.เชียงราย พ.ต.ท.พงษ์สวัสดิ์ ไชยบาล รอง ผกก.สส. พ.ต.ท.ชินพันธ์ พราหมณ์พันธุ์ รอง ผกก.(ป.) พร้อมกำลังจำนวนหนึ่งจับกุมนายคิงหม่องตัน อายุ 43 ปี กับนายนิวต่อเต็ง อายุ  26 ปี ทั้งคู่เป็นชาวพม่า ขณะขี่รถจยย.พ่วงข้างลักลอบขนน้ำมันปาล์ม 152 ขวด น้ำตาลทราย  24 ถุง ผ่านด่านศุลกากรแม่สาย เจ้าหน้าที่เลยขอดูใบอนุญาตส่งออก ทว่าทั้งคู่ไม่มีเลยคุมตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น