วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

จิตรา คชเดช เทพธิดาแรงงาน และขบวนการแรงงานไทย


ไม่นานมานี้ “ดีแต่พูด” “มือเปื้อนเลือด” ได้กลายเป็นวาทกรรมที่ทิ่มแทงหัวใจและเปลือยตัวตนของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้อย่างตรงเป้า โดยความกล้าหาญของผู้ใช้แรงงานกลุ่มหนึ่ง ที่นำโดย จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ
ไม่นานมานี้เช่นกัน ผู้ใช้แรงงานกลุ่มหนึ่ง ได้แถลงวิพากษ์วิจารณ์การเตรียมจัดงานวันที่ 1 พฤษภาคม “วันกรรมกรสากล” (ที่ถูกรัฐไทยและผู้นำแรงงานอนุรักษ์นิยมรับใช้รัฐได้บิดเบือนให้กลายเป็นวันแรงงานแห่งชาติ) ของกระทรวงแรงงานฯ ที่ต้องการให้มีการจัดประกวดเทพธิดาแรงงาน โดยมีผู้นำแรงงานบางส่วนขานรับรับใช้รัฐ
ปรากฏการณ์ทั้งสอง เป็นสิ่งที่นำมาสู่การทบทวนขบคิดถึงแนวทางการขับเคลื่อนของขบวนการแรงงานไทยปัจจุบัน และความหมาย “ขบวนการแรงงานไทย” ซึ่งมักเป็นขบวนการของ “ผู้นำ” มากกว่า “ผู้ใช้แรงงาน” โดยรวม หรือจัดองค์กรที่สถาปนาตนเองเป็นผู้นำโดยสมาชิกจำนวนไม่มาก ไม่มีส่วนร่วม หรือแม้มีจำนวนสมาชิกจำนวนมากแต่เป็นการจัดตั้งองค์กรแบบราชการ เพื่อต้องการเข้าเป็น “คณะกรรมการไตรภาคี”
อย่างไรก็ตาม ขบวนการแรงงานไทยนั้น เป็นขบวนการที่ไม่เป็นเอกภาพ มีทิศทางแนวทางหลัก อย่างน้อย 4 ประการ คือ
หนึ่ง เป็นขบวนการที่ขับเคลื่อนเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาในระดับโรงงานหรือบริษัทที่ตนเองทำการผลิตอยู่ มักเป็นเรื่องสภาพการจ้างที่ไม่เป็นธรรม และไม่สนใจด้านนโยบายของรัฐ และด้านการเมืองแต่อย่างใดหรือเน้นลัทธิเศรษฐกิจหรือลัทธิสหภาพเท่านั้น
สอง เป็นขบวนการที่ขับเคลื่อนทั้งปัญหาระดับโรงงาน และขับเคลื่อนด้านนโยบาย เช่น พรบ.คุ้มครองความปลอดภัยในสถานประกอบการ การผลักดันให้รัฐบาลลงนามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ILO ฯลฯ และยังเกี่ยวข้องกับการเมืองระดับชาติในฐานะขบวนการอนุรักษนิยมขบวนการหนึ่งที่สนับสนุนการรัฐประหาร และ/หรือนิยมระบอบอำมาตยาธิปไตย มีผู้นำสำคัญ เช่น สมศักดิ์ โกสัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ สาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (เป็นกรรมการพรรคการเมืองใหม่ด้วย) ตลอดทั้งบางส่วนมีแหล่งทุนสนับสนุนที่สำคัญคือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเป็นองค์กรอนุรักษนิยมของฝ่ายอำมาตยาธิปไตยที่มีกลุ่มอำมาตย์หมอครอบงำอยู่
สาม เป็นขบวนการที่ขับเคลื่อนทั้งปัญหาระดับโรงงาน ระดับนโยบายเหมือนกัน แต่กลับเป็นขบวนการประชาธิปไตย สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย ต่อต้านรัฐประหาร ต่อต้านอำนาจนอกระบบของอำมาตยาธิปไตย เช่น กรรมกรแดงเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มอดีตสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ หรือกลุ่มนี้เป็น “กรรมกรเสื้อแดง”
สี่ ขบวนการแรงงานที่ขับเคลื่อนเสมือนเป็นตัวแทนของรัฐ แม้จะอ้างชื่อเป็นขบวนการแรงงานก็ตาม และพร้อมจะรับใช้ทุกรัฐบาล ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนขึ้นมามีอำนาจ หรือมาจากรัฐประหารก็ตาม เช่น กลุ่มที่เห็นด้วยกับการจัดงานประกวดเทพธิดาแรงงาน ทั้งๆ ที่เป็นการลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง มองผู้หญิงเป็นเพียงสินค้าประกวดนิยามความงามของคณะกรรมการประกวดเท่านั้นเอง มากกว่าเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานจำนวนมากและสำคัญต่อการสร้างสรรค์ให้กับสังคมไทย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลายคนอาจจะคัดค้านการประกวดเทพธิดาแรงงาน เช่น สุนีย์ ไชยรส คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ฯลฯ แต่มิได้หมายความว่า จักสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย แต่กลับสนับสนุนรัฐประหารที่ผ่านมา และหลายคนกลับรับไม่ได้กับการที่ จิตรา คชเดช ถือป้ายประท้วง “ดีแต่พูด” “มือเปื้อนเลือด” เพราะทำให้เจ้าภาพจัดงานเชิญนายกรัฐมนตรีเสียหน้าไปด้วย ทั้งๆ ที่ “อุดมการณ์ความเสมอภาพหญิงชาย” ควรควบคู่กับ “อุดมการหลักประชาธิปไตย” แต่กลับตาลบัตร
ดังนั้นขบวนการแรงงานไทย จึงไม่มีอุดมการณ์และการขับเคลื่อนที่เป็นเอกภาพ เป็นคำถามที่มวลคนงานพื้นฐาน ที่มิใช่ ผู้สถาปนาตนเองเป็นผู้นำ ควรตรวจสอบอย่างยิ่ง และแน่นอนว่าผู้เขียนสนับสนุน “กรรมกรคนเสื้อแดง” เนื่องเพราะเสรีภาพและประชาธิปไตยสำคัญยิ่งต่อขบวนการแรงาน เหมือนเช่นบทเรียนในยุคอำมาตย์และทหารครองเมือง ที่ จิตรา คชเดช เคยปาฐกถาเรื่อง “บทเรียนและการต่อสู้ของสหภาพแรงงานกับรัฐและทุนข้ามชาติ” ไว้ว่า
“...ในปี 2550 ในขณะที่ประเทศไทยกำลังจัดให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ ในขณะที่คนงานไทรอัมพ์กำลังจะยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเพื่อปากท้องของตัวเอง พวกเราไม่สามารถจัดให้มีการประชุมสมาชิกได้ พวกเรามีทหารมาแจ้งว่าไม่ให้จัดการประชุม และเราก็มีทหารมาตั้งเต๊นที่หน้าโรงงานเพื่อตรวจบัตรคนงานที่ทำโอทีและถามว่าพวกเราจะไปไหนกัน…”
ขบวนการกรรมกรคนเสื้อสีแดง จงเจริญ /////
ที่มา : ประชาไท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น