ประเด็นจากข่าวแดงจับแดง เป็นการตั้งคำถามที่หนักหน่วงในเชิงหลักการอีกครั้งสำหรับการเคลื่อนไหวที่นิยามตัวเองว่าเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา
หลักการที่ถูกกระทุ้งถามในครั้งนี้ล้วนเป็นเรื่องของนิติรัฐที่เป็นใจกลางของการปกครองระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น
หนึ่ง มาตรา 112 กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และมาตรการปกป้องสถาบันกษัตริย์บรรดามีในประเทศไทยนั้น แกนนำเห็นว่าเป็นปัญหาหรือไม่ ควรถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือปรับปรุงแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่ ซึ่งนี่เป็นคำถามที่กนนำไม่เคยตอบจริง อันนำมาสู่คำกลาวหาว่า “สู้ไปกราบไป” จนกระทั่งในช่วงหลังๆ มานี้ การแสดงออกทางการเมืองของคนเสื้อแดงแยกได้ชัดว่า มีแดงกระแสหลัก ซึ่งขาดความขัดเจนในประเด็นนี้ กับแดงราดิคัล ที่พูดเรื่องนี้อย่างชัดเจนในที่สาธารณะ
ความไม่ชัดเจนในหลักการเบื้องต้นนำมาสู่การขับเคลื่อนที่สับสนลักลั่น แสดงออกมาหลายกรรมหลายวาระ เช่น เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 54 หลังจากที่ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 เข้าพบนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการ ประธาน นปช. นายจตุพร พรหมพันธุ์ รองประธาน นปช. นายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ์ โฆษก นปช. เพื่อหารือเรื่องการชุมนุมของคนเสื้อแดงในวันที่ 12 มี.ค. ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยภายหลังการหารือประมาณ 30 นาที ได้มีการแถลงข่าวโดยแกนนำ โดยนายวรวุฒิแถลงว่า สิ่งที่ตำรวจห่วงใยและฝากให้แกนนำช่วยดูแล ก็คือข้อความต่างๆ ที่อาจเข้าข่ายหมิ่น จึงขอให้พี่น้องเสื้อแดงช่วยสอดล่องดูแล เมื่อพบข้อความดังกล่าวให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อจับกุมได้ทันที
และนำมาสู่อาการแอคทีฟในการตรวจตรากันเองของแกนนำเสื้อแดงและการ์ด นปช. จนกระทั่งเกิดเหตุขึ้น
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตและวิจารณ์เหตุการณ์ดังกล่าวผ่านเฟซบุคของเขาด้วยว่า "ผมว่า การทีการ์ด "บ้าจี้" ขนาดนี้ ซึงครั้งอื่นๆ ก่อนหน้านี้ไม่เคยมี ต้องเป็นการ "ชี้นำ" มาจากระดับผู้รับผิดชอบ อย่างน้อยระดับผู้รับผิดชอบด้านการ์ด วันนี้ ก่อนเกิดเหตุการณ์ เวทีก็ประกาศซ้ำ คล้ายๆ กับคำสัมภาษณ์ของวรวุฒิ วิชัยดิษฐ์ ที่ผมโพสต์ไปเมื่อวาน คือ ประกาศดังๆ จากเวทีเลย เรื่อง เจออะไรที "หมิ่นเหม่" ให้จับส่งตำรวจ"
"ในบรรยากาศการเมืองแบบนี้ ที่ผู้นำ นปช.เองบางคน ก็โดนกล่าวหาว่า "หมิ่น" โดนเล่นงานจากรัฐ ... แค่นี้ยังไม่พอ? นปช. ต้อง "ช่วย" ทำหน้าที่ในการเล่นงานคนอื่นเรื่อง "หมิ่น" ... ด้วยหรือครับ?"
แน่นอน หลายคนอาจแสดงความเห็นว่า บางทีการ์ดก็ไม่ฉลาด และการ์ดก็มีที่มาหลากหลายร้อยพ่อพันแม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่อ้างได้แต่นั่นก็นำมาสู่คำถามถึงกระบวนการจัดการของแกนนำเสื้อแดงเช่นกัน ว่าจะใช้วิธีการที่ไม่รัดกุมเช่นนี้และไว้วางใจให้คนร้อยพ่อพันแม่มาดูแลความเรียบร้อยในการชุมนุมโดยไม่มีการวางระบบและข้อตกลงที่ชัดเจนรัดกุมในการปฏิบัติหน้าที่แต่ละครั้งได้หรือ ยิ่งหากแกนนำหรือคนเสื้อแดงกลัวว่าจะมีคนอื่นมา “แอบแฝงบ่อนทำลาย” ก็ยิ่งควรต้องชัดเจนในหลักการให้มากบยิ่งขึ้นด้วยว่า “แบบไหน” ที่เรียกว่าเป็นการแอบแฝงบ่อนทำลาย มิเช่นนั้น คนเสื้อแดงทุกคนก็อาจถูกการ์ดแดงจับได้ทุกครั้งที่ชุมนุม เพราะการตีความตามทัศนส่วนตัว แกนนำเองย่อมต้องระมัดระวังในประเด็นนี้ และน่าจะรู้ดีกว่าใครว่า “คนเสื้อแดงทำอะไรก็ผิด” อย่างที่แกนนำพูดตัดพ้อสื่อและสังคมอยู่เนืองๆ
ที่ผ่านมา กรณีความหละหลวมในการบริหารจัดการการ์ดก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มาก จนกระทั่งมีคำเสียดสีทำนองว่า ถ้าการ์ดผิดแกนนำ ก็อาจปัดความรับผิดได้ โดยบอกว่า นั่นไม่ใช่คนเสื้อแดง
คำเตือนด้วยความห่วงใยในเรื่องระบบการ์ดนี้ “วัชรพันธุ์ จันทรขจร” หรือ “โป๊ะ” ซึ่งเคยรับหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้ขบวนการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาในยุค 14 ตุลา และพฤษภา 35ซึ่งแกนนำเสื้อแดงให้ความเคารพและเดินสำรวจการรักษาความปลอดภัยเมื่อครั้งคนเสื้อแดงชุมนุมที่ราชประสงค์อยู่เนืองๆ ก็เคยตั้งข้อสังเกตถึงจุดอ่อนนี้
“ ก็ไปดูการรักษาความปลอดภัยที่ นปช. ตั้งขึ้นมาว่าเป็นอย่างไร เขามีระบบอยู่แล้ว อารี (ไกรนรา) เขาก็ตั้งขึ้นมา ว่าจะมีกี่ชั้นๆ แต่ปรากฏว่าอารีเขาเป็นคนเปิด ก็มีการ์ดเยอะมาก ก็มีอาการมั่ว เราก็เตือนว่า อย่างน้อยวงในต้องมีระบบระเบียบ มีการจัดการกับการ์ดที่แฝงตัวเข้ามา แล้วการที่เปิดให้ใครก็ได้เอาบัตรประชาชนเข้ามาก็เป็นการ์ดได้นั้นไม่ถูก ก็บอกเขา”
สอง ปัญหาเรื่อง การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐในกรณีดังกล่าว
เมื่อคุณปลาโดนจับไป คำถามที่สังคมหรืออย่างน้อยที่สุดคนเสื้อแดงละเลยไปคือ กระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งประเด็นนี้ สาวตรีสุขศรี อาจารย์ภาควิชากฎหมายมหาชน ที่ได้อยู่ร่วมในกระบวนซักถามของตำรวจตั้งข้อสังเกตในหน้าวอลล์ของตนเองในเฟซบุคว่า”
“กรณีผู้ถูกการ์ดเสื้อแดงจับส่งตำรวจเพราะแจกเอกสาร..๑. แน่ล่ะว่าเรื่องนี้ต้องจัดการให้ชัดเจน ถึงการใช้อำนาจเกินไปของการ์ดเสื้อ แดง (ตรงนี้มีคนพูดถึงเยอะ) แต่ที่เราไม่เข้าใจคือ มีคนจำนวนน้อยมาก (แม้แต่ญาติผู้เสียหายเอง) ที่จะตั้งคำถามถึง ๒. การใช้อำนาจของตำรวจ กรณีควบคุมและสอบปากคำโดยไม่มี "ข้อกล่าวหา"...ทำไมคนไทยพร้อมตรวจสอบการทำงานของ ปชช. ด้วยกันเอง แต่หรี่ตาให้การใช้อำนาจโดย "รัฐ" ??” และ
“พอดีวันที่มีเหตุจับกัน มีโอกาสได้ไปอยู่ตรงนั้น...พบว่า การดำเนินการของตำรวจ (แม้เขาจะแสดงความเป็นมิตรกับผู้ถูกจับ) ไม่ว่าจะเป็น การถามปากคำโดยไม่มี "การแจ้งข้อกล่าวหาใด ๆ ทั้งสิ้น" การยืนยันว่าควร "เซ็นต์ชื่อในใบสอบปากคำนั้น" กระทั่งการ "ตามไปดูที่บ้านของผู้ถูกจับ" ล้วนไม่มีกฎหมายให้อำนาจ !!! เรายืนยันวันนั้นว่า ตำรวจไม่มีอำนาจ...แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทุกคน หัวเสียกับ "การ์ด นปช." จนละเลยที่จะตั้งคำถามถึงการใช้อำนาจของตำรวจ ...ทำไม ?”
สุดท้าย แดงจับแดงที่เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ไม่ควรถูกมองว่าเป็นแค่เรื่องเข้าใจผิด หรือเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียวและจบกัน แต่นี่คือเป็นปัญหาท่าที และหลักการของแกนนำซึ่งไปช้ากว่ามวลชนอย่างสม่ำเสมอ ประเด็นนี้ร้อนแรงมาก และคนเสื้อแดงหลายคนแสดงความผิดหวังต่อแกนนำอย่างชัดเจน บางคนประกาศไม่ไปร่วมชุมนุมด้วยแล้ว อีกส่วนหนึ่งกลับโต้ตอบว่าประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่เสื้อแดงราดิคัล ที่เข้าใจกันว่ามีสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเป็นผู้นำทางความคิด มักจะยกมาโจมตีแดงกระแสหลัก แล้วยุให้ไปตั้งกลุ่มเอาเองเพื่อจะได้เคลื่อนไหวให้ถูกใจตัวเอง ขณะที่บางคนที่พูดเรื่องนี้ไปในทำนองตั้งคำถาม ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นแค่ “เหาฉลาม” ของนักวิชาการประวัติศาสตร์คนดัง ซึ่งการโต้ตอบดังกล่าวมานี้ ไม่มีอะไรที่เรียกได้ว่าเป็นการโต้แย้งในเชิงหลักการเลย
ที่มา : หัวไม้ story
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น