วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554

ผู้หญิงเป็นได้...ส.ว.สรรหา

มุ่งมั่นตั้งใจลบภาพส่วนเกินในสภา   

ผู้หญิงแม้ว่าได้รับการยอมรับทางการเมืองให้เดินเข้าสู่สภาอันทรงเกียรติมากขึ้น  แต่ก็ยังถูกมองเป็นเพียงไม้ประดับเท่านั้น เพื่อให้ผู้หญิงได้มีบทบาทและมีศักดิ์ศรีในสภามากขึ้น สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ร่วมกับ เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย และ คณะกรรมการเครือข่ายพลังสตรีเพื่อการปฏิรูป จัดเสวนาเรื่อง  “ผู้หญิง...ถึงเวลาแล้วที่ต้องเข้าสู่เวทีการเมืองระดับชาติ : ผู้หญิงเป็นได้ ...ส.ว. สรรหา”  ที่สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อเสริมสร้างการรับรู้และการตระหนักในบทบาทของส.ว.หญิง เป็นการแสดงพลังความสามารถของผู้หญิงในการเข้าสู่เวทีการเมืองระดับชาติ สนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้หญิงมีโอกาสเท่าเทียมชายในกระบวนการสรรหา ส.ว. เพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งสหราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 114
   
นฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ เปิดเวทีเสวนาโดยให้ความเห็นว่า ไม่ได้รังเกียจการมีส.ว.สรรหา ยินดีให้มีได้เพราะเห็นความชัดเจนของแต่ละคน หัวใจสำคัญของส.ว.สรรหาต้องเป็นกลาง อิสระ และตรวจสอบรัฐบาลได้ หากมีธงมาต้องเอาธงนั้นปักไว้ในใจตัวเอง และพิจารณากฎหมายอย่างเป็นกลางและเป็นอิสระ ไม่ใช่มาจากองค์กรผู้หญิงก็กระตุ้นแต่เรื่องของผู้หญิง ยอมรับว่าในเวทีการเมืองหากไม่มีฐานการเมืองหรือเครือข่ายไม่ใช่เรื่องง่าย การเป็นหลังบ้านหรือทัพหลังนักการเมืองทำให้ได้เปรียบเพราะเข้าใจปัญหา ความต้องการของประชาชน แต่เมื่อได้รับการแต่งตั้งอาจมีอาการเกร็งและกังวลใจกับหน้าที่ที่ต้องทำ จึงต้องศึกษาและฝึกฝนเลือกทำในสิ่งที่ถนัด มีกลวิธีนำเสนอ พิสูจน์ให้เห็นว่าผู้หญิงไม่ใช่แค่ไม้ประดับในสภา อย่าเพิ่งย่อท้อ เพราะเดิมพันที่เข้าไปนั่งในสภาไม่ใช่ธรรมดา ทุกครั้งที่จะทำอะไรระลึกเสมอว่า เป็นตัวแทนของผู้หญิง ถ้าทำอะไรที่ไม่เหมาะสม เขาจะไม่ศรัทธาผู้หญิงและไม่อยากให้เข้ามาในสภา
   
ขณะที่ อธิศักดิ์ จอมสืบวิศิฐ ผู้ตรวจราชการ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวว่า ผู้หญิงเดินเข้ารัฐสภามากกว่าผู้ชาย แต่ผู้หญิงสมัครเข้ามาทำงานทางการเมืองน้อยกว่าผู้ชาย ปีที่ผ่านมาภาคขององค์กรที่ส่งผู้สมัครยังไม่ค่อยชัดเจน ส่วนหนึ่งเกิดจากองค์กรต่าง ๆ ส่งผู้สมัครในภาคที่คิดว่าผู้ที่ส่งจะมีโอกาสได้รับเลือก เช่น ภาครัฐในปีที่ผ่านมามีผู้หญิงสมัครน้อย จึงไม่ได้รับการคิดสัดส่วน ทำให้เสียโอกาสที่นั่งของผู้หญิงในภาครัฐไป นอกจากนี้การตีความเรื่องสัดส่วนทางเพศน่าจะเปลี่ยนมุมมองใหม่ เพราะคำว่าสัดส่วนทางเพศต้องเป็นนิยามสัดส่วนระหว่างชายและหญิง โดยคำนึงถึงจำนวนที่นั่งของวุฒิสภา ไม่ใช่คำนึงถึงจำนวนสัดส่วนผู้สมัคร ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 114 วรรค 2 มุ่งหวังให้มี ส.ว. ที่เป็นหญิงและชายในจำนวนเท่าเทียมกัน ถ้าคำนึงแต่จำนวนผู้สมัครหากมีผู้หญิงสมัครน้อยหรือไม่มีผู้หญิงสมัครเลยจะคิดสัดส่วนอย่างไร ในโอกาสที่มีคณะกรรมการสรรหาส.ว.ชุดใหม่ อาจเสนอให้มีการส่งเสริมความเสมอภาคของชายหญิง ที่ไม่ใช่ความเท่าเทียมกันของผู้สมัคร
   
ด้าน ส.ว.สรรหา พรพันธุ์ บุญยรัตพันธุ์ มีความเห็นสอดคล้องว่า วิธีการคิดสัดส่วนความเท่าเทียมกันทางเพศยังใช้ไม่ได้ เครือข่ายผู้หญิงต้องผลักดันให้คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ทราบถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 114 วรรค 2 ที่ระบุให้คำนึงถึงความเท่าเทียมกันทางเพศ จะขอสัดส่วนให้ผู้หญิงอยู่ในสภาร้อยละ 30 ได้หรือไม่ และเมื่อตัดสินใจเข้ามาทำงานในกระบวนการนิติบัญญัติต้องเลิกคิดใครหญิงใครชาย ต้องไม่ให้มีความรู้สึกว่าหญิงและชายมีความแตกต่างกัน ถ้าทำงานประสานกันได้ดี มีเป้าหมายเดียวกันสามารถผลักดันความคิดความชำนาญออกมาเป็นนโยบายได้ ใช้อำนาจที่ได้ด้วยอุดมการณ์ที่แท้จริงเพื่อประเทศ เชื่อว่าจะเป็นส.ว.ที่มีประสิทธิภาพ ลบข้อครหาที่ถูกมองว่าส.ว.สรรหาเป็นส่วนเกิน ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชนได้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น