วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554

"ปฏิวัติดอกมะลิ" แห่งโลกอาหรับ เขย่าผู้นำผูกขาดอำนาจ" ใครจะเป็นรายต่อไป

ชัยชนะจากการปฏิวัติของประชาชน หรือ "People Power Revolution" ในตูนิเซียและอียิปต์ สลับฉากด้วยการสิ้นสุดอำนาจของผู้นำที่ปกครองประเทศมาอย่างยาวนานถึง 2 คน ประกอบด้วย ซีนอับ อาบิดีน เบนอาลี และฮอสนี มูบารัก ถือเป็นจุดเริ่มของปรากฏการณ์ขนานใหญ่ ที่ประชาคมโลกกำลังจับตามองอย่างระมัดระวัง

สภาพเศรษฐกิจที่บีบคั้นของภาวะข้าวยากหมากแพง อัตราว่างงานที่พุ่งสูง และวิถีความเป็นอยู่ที่แตกต่างระหว่างชนชั้นผู้นำกับประชาชนทั่วไป เป็นระเบิดเวลาที่ซุกงำอยู่ในโลกอาหรับและแอฟริกามาเป็นเวลานาน กระทั่งเมื่อโมฮัมเหม็ด บูอาซีซี นักศึกษาตกงานวัย 26 ปี จุดไฟเผาตัวเองประท้วง หลังจากตำรวจยึดรถเข็นขายผักผลไม้ของเขา นั่นคือชนวนเหตุที่นำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ในตูนิเซีย ในที่สุด เบนอาลีเป็นเผด็จการที่ครองอำนาจมา 23 ปี ตั้งแต่ทำรัฐประหารในปี 2530 ต้องยอมลงจากอำนาจ

ชัยชนะในตูนิเซียกลายเป็นแรงกระตุ้นให้ชาวอียิปต์ลุกขึ้นขับไล่ฮอสนี มูบารัก และทำให้ประธานาธิบดีที่ผูกขาดปกครองดินแดนฟาโรห์มานานกว่า 30 ปี พ้นจากเก้าอี้ในเวลาเพียง 18 วัน

น่าสนใจว่าการสิ้นสุดอำนาจของเบนอาลีและมูบารัก เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น หากพิจารณาจากการเคลื่อนไหวของมวลชนเพื่อโค่นอำนาจ หรือกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประเทศของตนเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย นั่นทำให้ผู้นำที่ปกครองประเทศมาอย่างยาวนาน ทั้งในลักษณะเผด็จการ และจากการโกงเลือกตั้งมาหลายสมัยต่อเนื่องกัน กำลังถูกจับตามองเขม็ง

โดยเฉพาะโมอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบีย วัย 68 ปี ที่นั่งอยู่ในอำนาจมานานถึง 41 ปี 5 เดือน อำนาจเผด็จการของเขาเริ่มสั่นคลอน เมื่อรัฐมนตรีข้างกายพากันลาออก ขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงยึดเมืองต่าง ๆ ได้สำเร็จ เหลือเพียง "ทริโปลี" เมืองหลวงของลิเบีย และเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของกัดดาฟี

นอกเหนือจากกัดดาฟี ผู้นำประเทศใหญ่น้อยในแอฟริกาอีกไม่ต่ำกว่า 10 คน ซึ่งแต่ละคนอยู่ในตำแหน่งมายาวนานแตกต่างกันไป ระหว่าง 21-31 ปี อาทิ โฮเซ่ เอดูอาร์โด โดส ซานโตส ที่ปกครองแองโกลามากว่า 31 ปี หรือนายกรัฐมนตรี โรเบิร์ต มูกาเบ ที่ปกครองซิมบับเวมาตั้งแต่ปี 2523 ล้วนตกเป็นเป้าจับตามองของนักวิเคราะห์การเมืองและชาติตะวันตกว่าใครจะเป็นรายต่อไป หากผู้นำลิเบียปิดฉากอำนาจลงแล้ว

อย่างไรก็ตามกระแสการปฏิวัติโดยประชาชนไม่ได้หยุดนิ่งแค่การโค่นล้มผู้นำเผด็จการ แม้แต่ระบอบกษัตริย์ในหลายประเทศของโลกอาหรับก็กำลังถูกท้าทาย อาทิ ในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเหล่าปัญญาชนและนักรณรงค์มากกว่า 100 คน รวมตัวเรียกร้องให้กษัตริย์อับดุลเลาะห์ดำเนินการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ และสละพระราชอำนาจของพระองค์

ความท้าทายใหม่กำลังเกิดขึ้นในโลกอาหรับ นอกเหนือจากซาอุดีอาระเบีย กระแสเรียกร้องในแบบเดียวกันยังเกิดขึ้นในบาห์เรนและโอมานด้วย โดยเฉพาะในบาห์เรน ซึ่งกระแสประท้วงได้เบี่ยงเบนประเด็นจากการเลือกปฏิบัติระหว่างผู้ปกครองที่เป็นมุสลิมกลุ่มน้อยนิกายซุนนี ที่ปกครองนานกว่า 2 ศตวรรษต่อชาวชีอะห์ ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ มาเป็นความพยายามให้เกิดการปฏิรูปประเทศ และต่อต้านกษัตริย์อาหมัด บิน อิซา อัล คาลิฟา

แรงกระเพื่อมจากโลกอาหรับและแอฟริกากำลังโยนคำถามกลับมายังเอเชียและภูมิภาคอื่น ๆ ถึงอนาคตของบรรดาผู้นำที่นั่งทับอำนาจมาอย่างยาวนาน หรือแม้กระทั่งผู้นำเผด็จการในหลาย ๆ ประเทศ

เว็บไซต์ donga.com สื่อชั้นนำของเกาหลีใต้ ได้ตีพิมพ์บทความของฮาไก เซกัล ผู้เชี่ยวชาญตะวันออกกลาง การก่อการร้าย และอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งนิวยอร์กในลอนดอน ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศในเอเชียมีจุดร่วมหนึ่งที่เหมือนกับประเทศในแอฟริกาเหนือ อย่างตูนิเซีย อียิปต์ และลิเบีย นั่นคือความไร้เสถียรภาพทางการเมืองที่มีต้นรากมาจากการปกครองแบบเผด็จการ และการคอร์รัปชั่น

เขาเตือนว่า หากความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจขยายวงจากตะวันออกกลางและแอฟริกามาที่เอเชีย ความพยายามกีดกันชาติอื่น ๆ ให้พ้นจากทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ น้ำมัน และอาหาร อาจพัฒนาขึ้นเป็นความเสี่ยงของโลกได้

เซกัลระบุถึงประเทศในเอเชียที่เสี่ยงจะเกิดการปฏิวัติโดยประชาชน หรือที่เขาเรียกว่า "ปฏิวัติดอกมะลิ" ได้แก่อินเดีย และบังกลาเทศ โดยตั้งข้อสังเกตถึงการรวมตัวประท้วงของชนชั้นแรงงานและผู้มีรายได้น้อยราว 8 แสนถึง 1 ล้านคน เพื่อโจมตีนายกรัฐมนตรี มานโมฮัน ซิงห์ ที่ล้มเหลวในการควบคุมเงินเฟ้อ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และการคอร์รัปชั่นในรัฐบาล

นอกเหนือจากอินเดียแล้ว นักวิชาการหลายรายตั้งข้อสังเกตว่า การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย มีแนวโน้มจะขยายวงไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียกลาง

ในเอเชียกลาง ประเทศอิสลามหลายแห่งได้แก่ อุซเบกิสถาน คาซัคสถาน และเติร์กเมนิสถาน ล้วนแต่ปกครองโดยคนคนเดียวมานานมากกว่า 20 ปี นับจากแยกประเทศจากสหภาพโซเวียต อาทิ ประธานาธิบดี อิสลาม คาลิมอฟ ของอุซเบกิสถาน ประธานาธิบดี นูร์สุลตาน นาซาร์บาเยฟ ของคาซัคสถาน และประธานาธิบดี เกอร์บันกูลี เบอร์ดีมูคามเมดอฟ ของเติร์กเมนิสถาน

ประเทศเหล่านี้มีปัญหาเชิงโครงสร้างหลาย ๆ ประการคล้ายกับลิเบีย ตูนิเซีย และอียิปต์ ถูกกดขี่จากรัฐบาลที่เต็มไปด้วยปัญหาคอร์รัปชั่น

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟิลิปปินส์ และพม่า เป็น 2 ประเทศที่ผ่านประสบการณ์การประท้วงอย่างรุนแรงมาหลายครั้งนับจากอดีตถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะพม่าซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารมาเป็นเวลานานจากรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันมี "นายพลตัน ฉ่วย" เป็นผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ และมีการวางตัว "นายพลเต็ง เส่ง" เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป พบว่าประชาชนมีการรวมตัวประท้วงหลายครั้ง ซึ่งครั้งรุนแรงสุดเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมปี 2550 เป็นการประท้วงที่นำโดยคณะพระภิกษุสงฆ์ แม่ชี นักศึกษา และประชาชน

นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ของกัมพูชา เป็นหนึ่งในผู้นำที่ปกครองกัมพูชามาอย่างยาวนานถึง 28 ปี จากข้อมูลในเว็บไซต์บิสซิเนส อินไซเดอร์ นำมาตีแผ่ระบุว่า 66% ของชาวกัมพูชาไม่รู้จักผู้นำคนอื่นใด นอกจากสมเด็จฮุน เซน จากผลสำรวจ Asian Barometer (ABS) ระบุว่า กัมพูชาเป็นรัฐเผด็จการแบบอำนาจนิยม

เมื่อเร็ว ๆ นี้เอเอฟพีรายงานอ้างความเห็นของชยา ฮัง ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อประชาธิปไตยกัมพูชา ซึ่งเชื่อว่าฮุน เซน พยายามรวบอำนาจให้เป็นปึกแผ่นจากการวางตัวทายาทอำนาจ ซึ่งเขามองว่าสถานการณ์ไม่แตกต่างจากกรณีของเกาหลีเหนือ ที่ประธานาธิบดี (คิม จอง อิล) โปรโมต "คิม จอง อุน" บุตรชายคนสุดท้อง เป็นนายพล 4 ดาว เมื่อปีที่แล้ว

นักสังเกตการณ์เกาหลีเหนือระบุว่า การแต่งตั้งถือเป็นสัญญาณว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นที่คิม จอง อุน จะเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งผู้นำประเทศต่อจากผู้เป็นพ่อ

ปฏิวัติดอกมะลิในโลกอาหรับ จะเกิดขึ้นกับผู้นำที่ผูกขาดอำนาจเหล่านี้หรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าจับตามองยิ่ง !

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น