วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2554

เวทีปฏิรูปประเทศไทย... จะแก้ปัญหาได้อย่างไร เมื่อเราไม่มีสิทธิพูด

จากเหตุการณ์ที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับความขัดแย้งอย่างรุนแรง รัฐบาลได้นำเสนอกระบวนการ  “ปฏิรูปประเทศไทย” เพื่อเป็นหนทางในการจัดการกับความขัดแย้งและนำสังคมไทยกลับคืนสู่ภาวะสันติสุข โดยได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่เข้ามาร่วมในการปฏิรูปประเทศไทย และก็ได้มีการทำการประชุมของคณะทำงานเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยมาหลายต่อหลายครั้ง

จากการสังเกตและเข้าร่วมการปฏิรูปประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นได้ว่าการปฏิรูปประเทศไทยนั้นไม่ได้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง งบประมาณที่รัฐบาลให้มาจำนวนมากนั้นไม่ได้สนองตอบต่อการแก้ปัญหาที่แท้จริง

ในวันที่ 24 – 25 มีนาคม 2554 ได้มีการจัดงานสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 1 ณ อิมแพ็ค คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เมืองทองธานี โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 2,000 คนจากเครือข่ายต่างๆ ทั่วประเทศ

การปฏิรูปประเทศไทย เป็นเรื่องใหญ่ที่สังคมไทยต้องทำความเข้าใจ และมองเห็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน เพื่อการขับเคลื่อนและดำเนินการอย่างเป็นธรรมชาติและหลากหลาย ไปสู่ทิศทางใหญ่เดียวกัน คือ การสร้างความเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม” นี่คือข้อความแนะนำเพื่อทำความรู้จักกับการจัดสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยระดับชาติ ครั้งที่ 1 [1]

ด้วยความคาดหวังในการเชื่อมประสานให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างหลากหลายและกว้างขวางบนฐานของปัญญาและสมานฉันท์ เพื่อนำไปสู่การมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติหรือนำไปพิจารณากำหนดเป็นนโยบายสาธารณะสำหรับการปฏิรูปประเทศไทย

แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนที่มาเข้าร่วมประชุมนั้นไม่หลากหลาย เพราะส่วนใหญ่ก็มากจากเครือข่ายที่เกณฑ์คนเข้ามาร่วมประชุม ภายในงานมีการออกแบบอย่างสวยงาม ดูหรูหรา แต่ในทางกลับกันมันก็ดูฟุ่มเฟือยจนเกินไปกับงบที่ทุ่มทุนสร้างลงไป

นอกจากนี้แล้วยังมีการแบ่งกลุ่มกันอย่างจัดเจน โดยใช้สีเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งสีที่แสดงออกมานั้นมันหมายถึงอะไร ทำไมต้องแบ่งแยก และในการประชุมก็มีการจำกัดการแสดงความคิดเห็น  คนที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้นั้นต้องเป็นคนที่เป็นตัวแทนจากเครือข่าย และคนที่ไม่ใช้ตัวแทนของเครือข่ายหละ เขาไม่มีสิทธิพูดหรือ!
นี่คือ บัตรของคนที่ไม่มีสิทธิพูด

จากคำบอกเล่าของชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่มาเข้าร่วมงานเค้าพูดว่า “ปัญหาของพวกเรานั้น ไม่รู้ว่ารัฐจะนำไปปฏิบัติได้จริงหรือไม่ และจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ไม่มีอะไรหรือไม่มีใครรับรองว่า ในการร่วมงานของชาวบ้านในแต่ละครั้งนั้นจะเป็นจริงหรือไม่  มากี่ครั้งกี่ครั้งก็มีแต่การเขียนข้อเสนอ แต่ไม่มีการตอบรับจากข้อเสนอนั้นแม้แต่ครั้งเดียว พอมีการประชุมเมื่อไหร่ก็ต้องเสนอใหม่กันทุกครั้ง แล้วข้อเสนอที่ผ่านมาละ หากไม่มีใครสนใจแล้วจะให้มีการเสนอไปเพื่ออะไร”

แล้วสิ่งเหล่านี้นะหรือที่เค้าเรียกว่าการปฏิรูปประเทศไทย การมีส่วนร่วมที่แท้จริงละอยู่ที่ไหน

สุดท้ายของบทความนี้ก็ขอเชิญผู้ที่สนใจ เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ โดยวันสุดท้ายของการประชุมจะเป็นการรับรองร่างมติที่ผ่านการพิจารณาแล้ว

******************************************************************************

 หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม: แนวคิดการปฏิรูปประเทศไทย... จะแก้ไขปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

ที่มา : ประชาไท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น