วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

บันทึกเปิดผนึก เรียน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ว่าด้วย "ความยุติธรรม"

โดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล


ผมทราบว่า ในราชาศัพท์ การ "แอ๊ดเดรส" เจ้านายระดับ "เจ้าฟ้า" นั้น ใช้คำประเภท "ขอพระราชทานกราบทูลทราบฝ่าพระบาท" และ "ใต้ฝ่าพระบาท" และคำเรียกตัวเองว่า "ข้าพระพุทธเจ้า" แต่ว่า (1) นี่เป็นบทความสำหรับการอภิปรายสาธารณะ ที่ต้องการให้อ่านกันสะดวก และ (2) "ใต้ฝ่าพระบาท" เอง ทรงมีหลายสถานะ รวมทั้งสถานะความเป็น "นักวิชาการ/อาจารย์" แบบเดียวกับผม ผมเลือกทีจะพูดในสถานะแบบนี้ เพื่อความสะดวก ในส่วนอื่นๆของบทความนี้ ผมก็เลือกที่จะใช้ราชาศัพท์เท่าที่จำเป็นเพื่อความสุภาพ แต่ไม่ได้ใช้ในทุกๆประโยค ทุกๆกรณีเพื่อความสะดวก ]

ผมรู้สึกสนใจอย่างยิ่งที่พระองค์ทรงพระราชทานสัมภาษณ์ออกทีวีในรายการ "วู้ดดี้เกิดมาคุย" ตามที่มีรายงานข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะทาง "ข่าวสด" ที่ผมใช้อ้างอิงในบทความนี้ ( http://goo.gl/vv3Rb )

อย่างไรก็ตามมีประเด็นสำคัญพื้นฐานเกี่ยวกับคำสัมภาษณ์นี้ ที่ผมเห็นว่า ควรจะได้แลกเปลี่ยนกับพระองค์และสาธารณะ

ตามรายงานข่าว พระองค์ทรงพระราชทานสัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า

ใจจริงของฉันอยากจะขอเวลาจากรายการทีวีช่วงสั้นๆ แค่ 5 นาที 10 นาที ฉายพระราชกรณียกิจที่ท่านทำ สงสารท่านเถอะ ท่านทุ่มเทเต็มที่ เอาใจใส่ทุกรายละเอียดทุกงานที่ทำทั้ง 2 พระองค์ ซึ่งทั้ง 2 พระองค์ทรงเป็นห่วงเรื่องความสามัคคีของคนไทย อยากให้กลมเกลียว คนไทยต้องเข้มแข็ง ชาติจะได้เจริญก้าวหน้าต่อไป ฉันอยากให้ทั้ง 2 พระองค์ได้รับความยุติธรรมตามที่ท่านควรจะได้รับ

เรื่องที่ทรงเรียกร้อง "ความยุติธรรม" ให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถนี้ได้เป็นประเด็นหลักที่หนังสือพิมพ์ที่รายงานเรื่่องการพระราชทานสัมภาษณ์นี้ นำไปพาดหัว

ในความเห็นของผม ปัญหามีอยู่ว่า การให้สัมภาษณ์ที่ทรงเรียกร้อง "ความยุติธรรม" ให้กับ 2 พระองค์ นี้ โดยการให้สัมภาษณ์เอง เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม หรือพูดง่ายๆคือ ไม่แฟร์ ถ้าถือตามความหมายของคำนี้ตามที่ยอมรับกันทั่วไป

กล่าวคือ ในขณะที่พระองค์ (ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์) ไม่ได้ทรงอยู่ภายใต้การคุ้มครองของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เรียกกันว่ากฎหมาย "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ก็จริง

แต่โดยประเพณีของการตีความกฎหมายนี้ในลักษณะครอบจักรวาลที่ผ่านๆมา และในปริบทของการที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้ระบบการประชาสัมพันธ์และอบรมบ่มเพาะพลเมืองตั้งแต่เด็กๆแบบด้านเดียวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระราชวงศ์ทุกพระองค์ไม่ว่าระดับใด (รวมทั้งฟ้าหญิงจุฬาภรณ์) โดยที่การประชาสัมพันธ์และอบรมบ่มเพาะดังกล่าว ไม่เคยเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ โต้แย้ง ได้

ผลก็คือ แม้แต่การให้สัมภาษณ์ของพระองค์ (ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์) เช่นนี้ ก็ยากที่จะมีใครกล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมื่อเนื้อหาของการให้สัมภาษณ์นี้ เกี่ยวพันถึงในหลวงและพระราชินี ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอาญามาตรา 112 การจะวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้งเนื้อหาการให้สัมภาษณ์ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพาดพิงถึง 2 พระองค์ด้วย (เช่น ทรงไม่ได้รับ "ความยุติธรรม" หรือไม่อย่างไร เป็นต้น)

ตามหลักการที่ทั่วโลกอารยะถือกันในปัจจุบัน การที่บุคคลสาธารณะ แสดงความเห็นต่อสาธารณะในเรื่องที่เป็นสาธารณะ เช่นที่ทรงให้สัมภาษณ์นี้ จะต้องเปิดโอกาสให้สาธารณชนได้วิพากษ์วิจารณ์ แสดงความไม่เห็นด้วย หรือกระทั่งโต้แย้งได้ การไม่เปิดโอกาสเช่นนั้น ย่อมถือเป็นการ "ไม่แฟร์" หรือ "ไม่ยุติธรรม" 

ในปริบทสังคมไทยทั้งทางกฎหมายและทางการประชาสัมพันธ์อบรมบ่มเพาะดังกล่าว ทำให้การพระราชสัมภาษณ์ที่ทรงเรียกร้อง "ความยุติธรรม" นี้ จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบการประชาสัมพันธ์ด้านเดียวอบรมบ่มเพาะด้านเดียวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระราชวงศ์ ที่ตรวจสอบไม่ได้ วิพากษ์วิจารณ์โต้แย้งไม่ได้ ซึ่ง "ไม่ยุติธรรม" ไปโดยปริยาย

........................................
  
ผู้ "นิยมเจ้า" จำนวนไม่น้อย มักจะโต้แย้งว่า การมี "กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" และการห้ามการวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้ง ตรวจสอบการประชาสัมพันธ์และอบรมบ่มเพาะแบบด้านเดียวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระราชวงศ์ทุกพระองค์ เป็นเพราะ พระราชวงศ์ไม่อยู่ในฐานะที่จะมาโต้แย้งหรือตอบโต้การตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ได้  (มักจะพูดกันทำนองว่า "พระองค์ท่านไม่สามารถตอบโต้ได้" จึงต้องให้รัฐทำการ "ตอบโต้" ด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่รุนแรงในระดับที่ไม่มีประเทศอารยะที่ไหนอนุญาตให้มี)

ความจริง "เหตุผล" หรือข้อโต้แย้งนี้ ไม่มีน้ำหนัก ไม่เป็นเหตุผลแต่แรก เพราะ เป็นการให้เหตุผลแบบกลับหัวหลับหาง เอาปลายเหตุมาอ้างเป็นต้นเหตุ

การที่มีผู้เรียกร้องให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ (accountability) เกี่ยวกับพระราชวงศ์นั้น เริ่มมาจากการที่พระราชวงศ์ได้เข้ามามีบทบาททางสาธารณะในทุกด้านอย่างมหาศาล โดยมีระบบการประชาสัมพันธ์ด้านเดียวอบรมบ่มเพาะด้านเดียว เป็นเครื่องพยุงส่งเสริมบทบาทเหล่านั้น ซึงตามบรรทัดฐานที่ยอมรับกันทั่วไปในโลกอารยะ (รวมทั้งในประเทศไทยในกรณีอื่นๆ) บทบาทสาธารณะทุกอย่างของบุคคลสาธารณะและการประชาสัมพันธ์และอบรมบ่มเพาะทีเป็นสาธารณะในลักษณะนี้ จะต้องได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบโต้แย้งกระทั่งเสนอให้เอาผิดได้แต่แรก

ถ้าไม่มีบทบาทและระบบการประชาสัมพันธ์อบรมบ่มเพาะด้านเดียวเกี่ยวกับพระราชวงศ์แต่แรก ก็ไม่มีความจำเป็นหรือการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์หรือเสนอเอาผิด (accountability) แต่แรก

พูดง่ายๆคือ ถ้าไม่ต้องการให้มีการเรียกร้องเรื่อง accountability ไม่ต้องการให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบพระราชวงศ์ ก็ต้องไม่มีบทบาทอันมหาศาลและระบบการประชาสัมพันธ์ด้านเดียวอบรมบ่มเพาะด้านเดียวเกี่ยวกับพระราชวงศ์ แต่แรก

การมีสิ่งเหล่านี้แต่แรก แล้วเมื่อมีคนเรียกร้องเรื่อง accountability ต่อสิ่งเหล่านี้ แล้วฝ่าย "นิยมเจ้า" กลับมาอ้างว่าห้ามไม่ให้ทำ เพราะพระราชวงศ์ "ไม่สามารถออกมาตอบโต้เองได้" จึงเป็นการอ้างที่ภาวะปลายเหตุ อันเป็นภาวะที่เกิดจากการทำผิดหลักการเรื่องนี้แต่แรก 

การที่ประเทศประชาธิปไตยทุกประเทศที่ยังมีพระราชวงศ์เป็นประมุข ไม่อนุญาตให้มีบทบาทสาธารณะของพระราชวงศ์และไม่อนุญาตให้มีระบบการประชาสัมพันธ์ด้านเดียว อบรมบ่มเพาะพลเมืองด้านเดียวเกี่ยวกับพระราชวงศ์ ในลักษณะที่ประเทศไทยมี นับแต่สมัยเผด็จการสฤษดิ์ ก็เพราะถือกันว่า การมีบทบาทสาธารณะและระบบประชาสัมพันธ์อบรมบ่มเพาะพลเมืองเกี่ยวกับเรื่องใดๆก็ตามนั้น จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบเอาผิดของสาธารณะได้แต่ต้น

พวก "นิยมเจ้า" ของไทย ยอมให้มีการทำผิดหลักการเรื่องการมีบทบาทสาธารณะและประชาสัมพันธ์อบรมบ่มเพาะซึงเป็นเรื่องสาธารณะ เกี่ยวกับพระราชวงศ์ โดยไม่มีการวิพากษ์ตรวจสอบแต่ต้น ซึ่งการยอมให้มีภาวะนี้ (ถ้ายืมคำที่ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ทรงใช้) ต้องถือเป็นความไม่ "ยุติธรรม" แต่เมื่อมีคนเรียกร้องให้ปฏิบัติให้ถูกตามหลักการนี้ ให้ยุติภาวะ "ไม่ยุติธรรม" นี้ พวกเขาก็มาอ้างเรื่อง "พระราชวงศ์ตอบโต้ไม่ได้" ซึ่งเป็นการอ้างในลักษณะที่ ต้องการรักษาภาวะที่ "ไม่ยุติธรรม" ที่เกิดขึ้นก่อน จึงไม่สามารถเอาเรื่อง "ความยุติธรรม" มาอ้างได้

พูดง่ายๆคือ พวกเขากำลังอ้างว่า "ไม่ยุติธรรม ที่จะให้คนวิพากษ์วิจารณ์ เพราะพระราชวงศ์ตอบโต้ไม่ได้" ความจริงที่มีคนต้องการวิพากษ์วิจารณ์นั้น เกิดจากการที่สังคมไทยยอมให้มีความ "ไม่ยุติธรรม" เกิดขึ้นก่อนคือการยอมให้มีบทบาทสาธารณะอย่างมหาศาลของราชวงศ์และมีระบบประชาสัมพันธ์อบรมบ่มเพาะแบบด้านเดียวมาพยุงบทบาทนั้น อย่างไม่มี accountability ก่อน ซึ่งไม่มีประเทศอารยะที่ไหน ยอมให้มี "ความไม่ยุติธรรม" เช่นนี้ เกิดขึ้นแต่แรก เป็นการผิดหลักการทีสังคมไทยเองใช้กับเรื่องสาธารณะทั้งหลายแต่แรก

ที่มา : บันทึกเฟสบุ๊ค สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

จิตรา คชเดช เทพธิดาแรงงาน และขบวนการแรงงานไทย


ไม่นานมานี้ “ดีแต่พูด” “มือเปื้อนเลือด” ได้กลายเป็นวาทกรรมที่ทิ่มแทงหัวใจและเปลือยตัวตนของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้อย่างตรงเป้า โดยความกล้าหาญของผู้ใช้แรงงานกลุ่มหนึ่ง ที่นำโดย จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ
ไม่นานมานี้เช่นกัน ผู้ใช้แรงงานกลุ่มหนึ่ง ได้แถลงวิพากษ์วิจารณ์การเตรียมจัดงานวันที่ 1 พฤษภาคม “วันกรรมกรสากล” (ที่ถูกรัฐไทยและผู้นำแรงงานอนุรักษ์นิยมรับใช้รัฐได้บิดเบือนให้กลายเป็นวันแรงงานแห่งชาติ) ของกระทรวงแรงงานฯ ที่ต้องการให้มีการจัดประกวดเทพธิดาแรงงาน โดยมีผู้นำแรงงานบางส่วนขานรับรับใช้รัฐ
ปรากฏการณ์ทั้งสอง เป็นสิ่งที่นำมาสู่การทบทวนขบคิดถึงแนวทางการขับเคลื่อนของขบวนการแรงงานไทยปัจจุบัน และความหมาย “ขบวนการแรงงานไทย” ซึ่งมักเป็นขบวนการของ “ผู้นำ” มากกว่า “ผู้ใช้แรงงาน” โดยรวม หรือจัดองค์กรที่สถาปนาตนเองเป็นผู้นำโดยสมาชิกจำนวนไม่มาก ไม่มีส่วนร่วม หรือแม้มีจำนวนสมาชิกจำนวนมากแต่เป็นการจัดตั้งองค์กรแบบราชการ เพื่อต้องการเข้าเป็น “คณะกรรมการไตรภาคี”
อย่างไรก็ตาม ขบวนการแรงงานไทยนั้น เป็นขบวนการที่ไม่เป็นเอกภาพ มีทิศทางแนวทางหลัก อย่างน้อย 4 ประการ คือ
หนึ่ง เป็นขบวนการที่ขับเคลื่อนเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาในระดับโรงงานหรือบริษัทที่ตนเองทำการผลิตอยู่ มักเป็นเรื่องสภาพการจ้างที่ไม่เป็นธรรม และไม่สนใจด้านนโยบายของรัฐ และด้านการเมืองแต่อย่างใดหรือเน้นลัทธิเศรษฐกิจหรือลัทธิสหภาพเท่านั้น
สอง เป็นขบวนการที่ขับเคลื่อนทั้งปัญหาระดับโรงงาน และขับเคลื่อนด้านนโยบาย เช่น พรบ.คุ้มครองความปลอดภัยในสถานประกอบการ การผลักดันให้รัฐบาลลงนามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ILO ฯลฯ และยังเกี่ยวข้องกับการเมืองระดับชาติในฐานะขบวนการอนุรักษนิยมขบวนการหนึ่งที่สนับสนุนการรัฐประหาร และ/หรือนิยมระบอบอำมาตยาธิปไตย มีผู้นำสำคัญ เช่น สมศักดิ์ โกสัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ สาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (เป็นกรรมการพรรคการเมืองใหม่ด้วย) ตลอดทั้งบางส่วนมีแหล่งทุนสนับสนุนที่สำคัญคือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเป็นองค์กรอนุรักษนิยมของฝ่ายอำมาตยาธิปไตยที่มีกลุ่มอำมาตย์หมอครอบงำอยู่
สาม เป็นขบวนการที่ขับเคลื่อนทั้งปัญหาระดับโรงงาน ระดับนโยบายเหมือนกัน แต่กลับเป็นขบวนการประชาธิปไตย สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย ต่อต้านรัฐประหาร ต่อต้านอำนาจนอกระบบของอำมาตยาธิปไตย เช่น กรรมกรแดงเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มอดีตสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ หรือกลุ่มนี้เป็น “กรรมกรเสื้อแดง”
สี่ ขบวนการแรงงานที่ขับเคลื่อนเสมือนเป็นตัวแทนของรัฐ แม้จะอ้างชื่อเป็นขบวนการแรงงานก็ตาม และพร้อมจะรับใช้ทุกรัฐบาล ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนขึ้นมามีอำนาจ หรือมาจากรัฐประหารก็ตาม เช่น กลุ่มที่เห็นด้วยกับการจัดงานประกวดเทพธิดาแรงงาน ทั้งๆ ที่เป็นการลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง มองผู้หญิงเป็นเพียงสินค้าประกวดนิยามความงามของคณะกรรมการประกวดเท่านั้นเอง มากกว่าเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานจำนวนมากและสำคัญต่อการสร้างสรรค์ให้กับสังคมไทย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลายคนอาจจะคัดค้านการประกวดเทพธิดาแรงงาน เช่น สุนีย์ ไชยรส คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ฯลฯ แต่มิได้หมายความว่า จักสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย แต่กลับสนับสนุนรัฐประหารที่ผ่านมา และหลายคนกลับรับไม่ได้กับการที่ จิตรา คชเดช ถือป้ายประท้วง “ดีแต่พูด” “มือเปื้อนเลือด” เพราะทำให้เจ้าภาพจัดงานเชิญนายกรัฐมนตรีเสียหน้าไปด้วย ทั้งๆ ที่ “อุดมการณ์ความเสมอภาพหญิงชาย” ควรควบคู่กับ “อุดมการหลักประชาธิปไตย” แต่กลับตาลบัตร
ดังนั้นขบวนการแรงงานไทย จึงไม่มีอุดมการณ์และการขับเคลื่อนที่เป็นเอกภาพ เป็นคำถามที่มวลคนงานพื้นฐาน ที่มิใช่ ผู้สถาปนาตนเองเป็นผู้นำ ควรตรวจสอบอย่างยิ่ง และแน่นอนว่าผู้เขียนสนับสนุน “กรรมกรคนเสื้อแดง” เนื่องเพราะเสรีภาพและประชาธิปไตยสำคัญยิ่งต่อขบวนการแรงาน เหมือนเช่นบทเรียนในยุคอำมาตย์และทหารครองเมือง ที่ จิตรา คชเดช เคยปาฐกถาเรื่อง “บทเรียนและการต่อสู้ของสหภาพแรงงานกับรัฐและทุนข้ามชาติ” ไว้ว่า
“...ในปี 2550 ในขณะที่ประเทศไทยกำลังจัดให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ ในขณะที่คนงานไทรอัมพ์กำลังจะยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเพื่อปากท้องของตัวเอง พวกเราไม่สามารถจัดให้มีการประชุมสมาชิกได้ พวกเรามีทหารมาแจ้งว่าไม่ให้จัดการประชุม และเราก็มีทหารมาตั้งเต๊นที่หน้าโรงงานเพื่อตรวจบัตรคนงานที่ทำโอทีและถามว่าพวกเราจะไปไหนกัน…”
ขบวนการกรรมกรคนเสื้อสีแดง จงเจริญ /////
ที่มา : ประชาไท

แม่ ‘น้องเบิร์ด’ โวย อนุฯ คอป.สอบข้อเท็จจริง ถามปรองดองได้ไหม เรียกค่าเสียหายเท่าไร


นางนารี แสนประเสริฐศรี แม่ของนายมานะ แสนประเสริฐศรี หรือ ‘เบิร์ด’ อาสากู้ภัยมูลนิธิปอเต็กตึ๊งที่ถูกยิงที่ศรีษะเสียชีวิตบริเวณปากซอยงามดูพลี เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ (31 มี.ค.) ได้รับการติดต่อให้เข้าไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเสียชีวิตของลูกชายคนเล็กกับอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงบริเวณบ่อนไก่ ภายใต้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ว่า คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวได้มาลงพื้นที่ชุมชนบ่อนไก่เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา และวันนี้ได้ติดต่อมาให้ตนเข้าไปเล่าข้อเท็จริง โดยถามถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น นอกจากนั้นยังสอบถามด้วยว่าจะสามารถปรองดองได้หรือไม่ สามารถคำนวณเป็นค่าเสียหายได้หรือไม่ หากคำณวนเงินเดือนปัจจุบันนับจนถึงอายุ 60 จะเป็นที่พอใจไหม ซึ่งตนปฏิเสธไปทั้งหมด
 
“เราบอกเราไม่พอใจ ชีวิตลูกเราทั้งคน เอาคืนไม่ได้ ชีวิตคนไม่ใช่ผักปลา จะมาพูดง่ายๆ อย่างนี้ได้ยังไง แล้วเราก็มีเพื่อนอีกเยอะแยะ อีก 91 ศพ มันไม่ใช่เราคนเดียวจะตอบได้ คนเจ็บที่นอนอยู่อีก คนติดคุกที่ไม่ได้ออกอีกล่ะ จะปรองดองได้ไหมก็ต้องไปถามพวกนี้ด้วย” นางนารีกล่าว
 
“เขาแค่ถาม แล้วก็จดเอาไว้ เราก็บอกว่าไปทำให้ถูกต้องก่อนแล้วค่อยมาคุย” นางนารีกล่าว
 
ทั้งนี้ นางนารีกล่าวถึงเหตุการณ์ในวันที่ 15 พ.ค.53 ว่า เบิร์ดได้ออกจากบ้านไปช่วยดับไฟที่ไหม้ตู้โทรศัพท์หน้าซอยงามดูพลีก่อนแล้วในช่วงบ่าย แล้วกลับมากินข้าว จากนั้นเมื่อทราบว่ามีคนถูกยิงได้รับบาดเจ็บก็ออกจากบ้านไปอีก เขาถูกยิงที่ศรีษะหลังจากเข้าไปช่วยเหลือคนเจ็บออกจากพื้นที่กระสุนได้ 2 คนในจำนวน 3 คน โดยขณะปฏิบัติงานนั้นมีเครื่องแบบกู้ภัย รวมถึงถือธงสัญลักษณ์กาชาดด้วย
 
สำหรับประวัติของเบิร์ดนั้น ผู้เป็นแม่เปิดเผยว่า เบิร์ดเป็นลูกชายคนเล็กในบรรดาลูก 4 คน และมีนิสัยชอบช่วยงานอาสาสมัครมาตั้งแต่ยังเล็ก อายุ 10 กว่าปีก็ไปนั่งเฝ้าดูรถดับเพลิงที่สถานีดับเพลิงใกล้บ้าน และเมื่อโตขึ้นก็มักติดตามไปช่วยงานดับเพลิงเป็นประจำ รวมทั้งงานอาสาสมัครช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจนกระทั่งเรียนหนังสือไม่จบ และออกมาทำงานรับจ้างขนของ ขายขนมปัง ขับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ขับแท็กซี่ ในช่วงเหตุการณ์สึนามิเบิร์ดก็ลงพื้นที่ไปเป็นอาสาสมัคร และเมื่อสอบเข้าเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิปอเต๊กตึ๊งเต็มตัวเบิร์ดรู้สึกภูมิใจมาก

ที่มา : ประชาไท

วงเสวนาประเทศไทยจะไปทางไหน เชื่อไม่มีรัฐประหาร เลือกตั้งแน่ ความแตกแยกไม่จบ


30 มี.ค.54 เวลา 13.00 น. กลุ่มจับกระแสเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ Siam Intelligence Unit (SIU)จัดงานเสวนาวิชาการเรื่อง “ประเทศไทยจะไปทางไหนกัน” 
ณ อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการกล่าวรายงาน โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษาร่วมเสวนาโดย พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารกองทัพไทย,อุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร, รศ.ดร.โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล และ รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ
 
ต้นเหตุปัญหาการเมืองไทยต้องแก้ทั้งที่ “คน” และ “ระบบ”พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ กล่าวว่า ต้นตอปัญหาต่าง ๆ ในปัจจุบันเกิดจากคนในสังคมแตกแยกกันไปหลายทิศหลายทางโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมกันว่าในท้ายที่สุดแล้วประชาชนต้องได้อยู่ดีกินดี มีศักดิ์ศรี และประเทศชาติมั่งคั่ง คนที่จะร่วมกันขับดันประเทศได้ต้องมีเป้าหมายร่วมกัน แต่ตอนนี้หลายฝ่ายขับเคลื่อนกันไปคนละทาง บางฝ่ายไม่ยอมฟังคนอื่นแต่ชอบพูดให้คนอื่นฟัง ประเทศที่เจริญก้าวหน้าแล้วเขาสามัคคีและมีเอกภาพกันมากกว่าเรา ขณะที่เรากำลังชักเย่อกันอยู่ ทางแก้ปัญหาคือเราต้องเตรียมคนให้เหมาะให้มีคุณภาพต่อระบอบการปกครอง โดยต้องให้การศึกษา ให้คนมีความรู้เรื่องประชาธิปไตย หน้าที่พลเมือง และศีลธรรมจรรยา
 
ด้านอุทัย พิมพ์ใจชน มองว่า ปัญหาการเมืองในปัจจุบันเกิดจากความไม่เชื่อมั่นในทิศทางประชาธิปไตย จึงเกิดการกลับไปสู่จุดเริ่มที่การยึดอำนาจวนเวียนเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตั้งแต่คณะราษฎร์ปฏิวัติเมื่อ 2475 ถือเป็นหมุดหมายว่าเราจะเดินไปในเส้นทางประชาธิปไตย แต่บางช่วงก็เกิดความไม่มั่นใจในประชาธิไตยจึงปล่อยให้เกิดการรัฐประหาร เช่น 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา ถ้าเราอดทนและปล่อยให้กระบวนการประชาธิไตยเยียวยาตัวมันเอง เราก็คงผ่านช่วงนั้นมาได้โดยไม่เกิดการรัฐประหาร
 
“เราไม่เอาอะไรสักอย่าง ประชาธิปไตย เผด็จการ คอมมิวนิสต์ จะเอาอะไรก็เอาไปให้มั่นคงไปเลย แล้วจะเอาดีได้อย่างไร ถ้าจะรัฐประหารก็เอาอำนาจเลย อย่าคืนมานะ แต่ถ้าเอาประชาธิปไตยก็ต้องทน” อุทัยกล่าว
 
ทางออกจากปัญหานี้คือ สังคมต้องแน่วแน่ในหนทางการปกครองประชาธิปไตย ต้องปูทางไปให้ถึงโดยการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพโดยให้การศึกษาเรื่องประชาธิปไตย เศรษฐกิจ การเมือง ศีลธรรม วินัย ตั้งแต่เด็ก ๆ เหมือนที่ญี่ปุ่นทำ ผ่านไปสิบปีจะได้คนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ
ส่วน รศ.ดร.โคทม อารียา เสนอว่า ปัญหาอยู่ที่ความคิดความเชื่อสองชุดของคนไทยโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯที่ขัดแย้งกัน คือ ฝ่ายหนึ่งว่าราชาธิปไตยดี อีกฝ่ายก็ว่าประชาธิปไตยดี ทะเลาะกันมา 79 ปีก็ยังไม่ลงตัว ยังหาจุดพอดีไม่เจอ เพราะว่าฝ่าย “เก่าไม่อยากเปลี่ยน” “ใหม่ไม่ค่อยอยากปรับ” นี่คือลักษณะพหุนิยมของสังคม และตอนนี้สังคมกำลังเผชิญกับวาทกรรมสองอย่างได้แก่ “ประชาธิปไตยขาดคุณธรรม” ใช้อธิบายถึงวงจรอุบาทว์ของนักการเมืองไทย อีกวาทกรรมหนึ่งก็คือ “การเมืองไทยเป็นการเมืองเรื่องอำมาตย์” ซึ่งวาทกรรมสองฝ่ายนี้เป็นปัจจัยนำมาสู่การขัดแย้งทางความคิดที่สำคัญในปัจจุบัน ความขัดแย้งนี้ไม่มีวันจบ เราต้องแก้ปัญหาที่ระบบ เพราะแก้เป็นคน ๆ ไปมันก็เท่านั้น
 
ด้าร รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ เสริมประเด็นนี้ในด้านเศรษฐกิจว่า ปัญหาด้านเศรษฐกิจของไทยคือยังไม่สามารถเลื่อนชั้นไปสู่เศรษฐกิจภาคบริการ (Service economy) เนื่องจากการเมืองดิ่งลึกเข้าสู่ระบบครอบครัวผ่านทายาททางการเมือง ซึ่งในทางพฤตินัยคืออำนาจอยู่ในมือคนจำนวนน้อย เศรษฐกิจจึงอยากที่จะเกิดพลวัตเลื่อนชั้นไปสู่ภาคบริการ ถ้าคนมีคุณภาพ พลวัตการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองก็เคลื่อนไปได้ง่าย พร้อมเสนอแนะรัฐบาลในอนาคตควรมี Good Governance Policy ที่จะพัฒนามาตรฐานระบบการเงินไทย เพื่อรับมือกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเกิดในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งอาเซียนจะเป็นสมรภูมิที่จีนและญี่ปุ่นจะเข้ามาแข่งขันกันอย่างดุเดือดด้วย
 
รัฐประหารไม่ใช่ทางออกจากการร่วมอภิปรายของวิทยากร มีความเห็นตรงกันประการหนึ่งต่อสภาพการเมืองไทยว่า รัฐประหารไม่ใช่หนทางแก้ปัญหา โดย พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า โดยเหตุโดยผลแล้วคิดว่าไม่น่าจะมี และไม่ควรมีรัฐประหาร ที่ผ่านมาการเมืองไทยอยู่ในสภาพพายเรือในอ่างมานานแล้ว เกิดรัฐประหาร ร่างรัฐธรรมนูญ เลือกตั้ง ขัดแย้งแล้วก็จบที่รัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้สังคมแย่ เมื่อเกิดปัญหาก็ต้องมุ่งแก้ไปตามวิธีการของระบอบนั้น ๆ ทันที
 
เช่นเดียวกับนายอุทัย พิมพ์ใจชน มีความเห็นว่ากระบวนการประชาธิปไตยมีหลักการอยู่ตรงที่การวิพากษ์วิจารณ์ การตรวจสอบถ่วงดุลผู้ใช้อำนาจทั้งจากในสภาและจากภาคสังคม ใครจะชั่วดีอย่างไรสังคมก็รู้และตรวจสอบได้ แต่ถ้ารัฐประหารไปแล้วอำนาจมันจะทำให้ปิดเงียบ สังคมไม่รู้
ด้าน รศ.ดร.โคทม อารียา เพิ่มเติมว่า สื่อมวลชนไม่ควรมีปฏิกิริยามากต่อกระแสข่าวรัฐประหาร ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางความคิด ควรเปิดกว้างแนวทางประชาธิปไตบแบบถกแถลง ยอมรับความแตกต่างของคนอื่น และควรปิดประตูรัฐประหารเสีย
 
เลือกตั้งมีแน่ ความแตกแยกยังไม่จบสำหรับประเด็นเรื่องการเลือกตั้งครั้งใหม่หลังการยุบสภาต้นดือนพฤษภาคมนี้เวทีเสวนาเห็นว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นอย่างแน่นอน แม้จะมีข่าวลือว่าไม่มีการเลือกตั้งออกมาเป็นระยะ ซึ่งความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายก็ยังคงดำรงอยู่ เพราะแน่นอนว่าย่อมมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับชัยชนะและฝ่ายตรงข้ามก็จะประท้วงคัดค้าน อาจมีความรุนแรงบ้างประปรายจากลุ่มเล็ก ๆ ที่ไม่พอใจ การเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบสุดท้ายยังมีการทะเลาะกันอยู่เพราะนี่คือพหุนิยม แต่ต้องไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน ต้องเคารพกันและกัน ที่ผ่านมาสังคมไทยมีบทเรียนจากความเสียหายจากความขัดแย้งมาแล้ว คงจะเกิดการเรียนรู้ และอยู่ที่ประชาชนทุกคนเอง ที่จะร่วมมือกันทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีความโปร่งใสเที่ยงธรรม ให้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือพัฒนาประชาธิปไตยของเราให้ก้าวไปข้างหน้า

ขอบคุณข้อมูล : ประชาไท

รัฐมนตรีหญิงมาเลย์ เตรียมพิสูจน์ว่าผู้หญิงไม่ได้ขับรถแย่ หลังโดนนักการเมืองชายกล่าวหา

นางชาห์ริซัต อับดุล จาลิล

นางชาห์ริซัต อับดุล จาลิล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเพื่อการพัฒนาสตรี ครอบครัว และชุมชนของมาเลเซีย ซึ่งเป็นตัวแทนผู้รักษาผลประโยชน์ให้กับสตรี ประกาศจะหาข้อพิสูจน์หักล้างคำกล่าวอ้างของสมาชิกสภาชายคนหนึ่งที่บอกว่า ผู้หญิงขับรถไม่เป็นและมักทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน


รัฐมนตรีหญิงกล่าวว่า เธอได้ขอข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากทางตำรวจ เพื่อพิสูจน์ว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ขับรถด้วยความ"สุภาพและระมัดระวัง"

หลังจากก่อนหน้านี้ สมาคมสตรีแสดงการวิพากษ์ตำหนินายบัง มอคตาร์ ราดิน สมาชิกกลุ่มพันธมิตรแนวหน้าแห่งชาติ (Barisan Nasional Coalition) ที่กล่าวอ้างในการอภิปรายในสภาเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนในสัปดาห์นี้ว่า ผู้หญิงมักขับรถประมาท

"เมื่อเราบีบแตรใส่พวกเธอ พวกเธอก็แสดงอาการไม่พอใจ บางครั้งก็ชูนิ้วกลางให้ผู้ขับรถคนอื่นๆ"

นางชาห์ริซัตกล่าวว่า คำกล่าวของเขากระทบความรู้สึกของผู้หญิง ก่อนหน้านี้ นายบัง มอคตาร์ ต้องออกมากล่าวขอโทษเมื่อปี 2007 ต่อกรณีที่เขากล่าวดูหมิ่นล้อเลียนการมีรอบเดือนของสมาชิกสภาหญิงคนหนึ่ง โดยเปรียบเทียบกับการรั่วของเพดานรัฐสภาในขณะนั้น
นายบัง มอคตาร์ ราดิน และซิเซ็ตต์ ซาหมัด

เมื่อปีที่แล้ว นายบัง วัย 51 ปี ให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิด ในข้อหานอกใจภรรยาของตน หลังจากที่เขาแต่งงานกับซิเซ็ตต์ ซาหมัด ดาราหญิงหน้าใหม่วัย 31 ปี

ที่มา : มติชนออนไลน์

วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

นิติราษฎร์ ฉบับที่ ๑๗ (สาวตรี สุขศรี)

::: ประกาศนิติราษฏร์ :::


กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ : ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

ในประกาศนิติราษฏร์ฉบับที่ ๑๖ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้เขียนวิเคราะห์บทบัญญัติพร้อมทั้งชี้ให้เห็นปัญหาของมาตรา ๑๑๒ ในแง่กฎหมายสารบัญญัติ และการใช้การตีความโดยองค์กรตุลาการไว้แล้วอย่างชัดเจน แต่เพื่อสะท้อนภาพให้ครบถ้วนยิ่งขึ้น ประกาศนิติราษฎร์ฉบับนี้จึงขอกล่าวถึงปรากฎกาณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวพันกับมาตรา ๑๑๒ ในมิติของกระบวนการทางคดี ซึ่งเป็นปัญหาในแง่มุมของกฎหมายวิธีสบัญญัติ ทั้งนี้นับตั้งแต่การกล่าวโทษ การสืบสวนสอบสวน ไปจนถึงการพิจารณาพิพากษาในชั้นศาล อนึ่ง ควรต้องกล่าวเสียก่อนว่า ความบิวเบี้ยวของลักษณะการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมดังจะกล่าวต่อไปนี้ บางกรณีเป็นสิ่งสืบเนื่องมาจากตำแหน่งแห่งที่ในประมวลกฎหมายอาญา และปัญหาอันมีมาแต่ชั้นสารบัญญัติของมาตรา ๑๑๒ เอง ในขณะที่บางกรณีก็เกิดจากทัศนะคติ และความไม่เข้าใจอุดมการณ์การปกครองของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญของผู้บังคับใช้กฎหมายในระดับต่าง ๆ โดยมิอาจโทษบทบัญญัติได้ ซึ่งหลัก ๆ พอสรุปปัญหาได้ ๔ ประการ ดังนี้...

ประการแรก คือ บุคคลทั่วไปมีอำนาจกล่าวโทษการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๑๒ ได้

อันที่จริงประเด็นนี้มีผู้กล่าวถึงไว้บ่อยครั้งแล้ว และถือเป็นปัญหาสำคัญ ทั้งนี้ ด้วยเหตุที่ความผิดตามมาตรา ๑๑๒ เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจึงให้อำนาจบุคคลใดก็ได้ โดยไม่จำต้องเป็น "ผู้เสียหาย" ริเริ่มคดีหรือกล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ได้ว่ามีบุคคลกระทำความผิดในฐานนี้ขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจยังสามารถริเริ่มคดีเองได้ แม้ไม่มีประชาชนคนใดดำเนินการกล่าวโทษเลยก็ตาม หลักการดังกล่าวนี้อาจไม่มีปัญหาใด ๆ เลย หรือมีปัญหาน้อยมาก หากถูกนำไปใช้กับการกล่าวโทษการกระทำความผิดอาญาแผ่นดินฐานอื่น ๆ ที่มีหลักเกณฑ์ชัดเจนในตัวของมันเองในการพิจารณาความถูกผิดอย่างฐานฆ่าคนตาย ทำร้ายร่างกาย หรือลักทรัพย์ ฯลฯ ที่สามารถพิจารณาจากพยานหลักฐานได้อย่างตรงไปตรงมาว่าเป็นความผิดหรือไม่ กล่าวอีกอย่างก็คือ ฐานความผิดดังกล่าวมานั้นเป็นความผิดที่ใช้วิธีพิจารณาอย่างเป็น "ภาวะวิสัย" ไม่ใช่เป็นเรื่องตาม "อัตวิสัย" ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่การให้อำนาจบุคคลใดกล่าวโทษก็ได้นี้จะเกิดปัญหาทันทีเมื่อนำมาใช้กับความผิดอย่างการหมิ่นประมาท หรือการดูหมิ่น เพราะล้วนเป็นความผิดที่เกี่ยวกับการแสดงข้อเท็จจริง หรือความคิดเห็นโดยบุคคล ซึ่งการจะพิจารณาว่าถ้อยคำหรือท่าทางที่ถูกแสดงออกมานั้นเข้าข่ายเป็นความผิดหรือไม่ ย่อมผูกโยงอยู่กับทัศนคติ แนวคิด มุมมอง และความเชื่อของบุคคลแต่ละคนซึ่งมีความแตกต่างกัน บางคนมองว่าพูดหรือทำอย่างไรในเรื่องนี้ก็เป็นความผิด ในขณะที่บางคนเห็นว่าถ้อยคำเช่นนั้นไม่มีทางเป็นความผิดได้เลย ฉะนั้น ในทางที่ถูกต้องตามหลักการแล้ว ผู้มีอำนาจในการพิจารณาเบื้องต้นว่าข้อเท็จจริง หรือความคิดเห็นเหล่านั้นเป็นความผิด และเสียหายถึงขนาดต้องนำความไปร้องทุกข์หรือไม่ จึงควรหมายเฉพาะ "ผู้เสียหาย" ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการนั้นจริง ๆ เท่านั้น แต่เมื่อมาตรา ๑๑๒ มิได้วางอยู่บนหลักการที่ควรจะเป็นดังกล่าว ผลอันไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ทั้งในแง่ของจำนวนคดีความ หรือการแจ้งความโดยขาดเหตุผลสนับสนุนที่ชัดเจนจึงย่อมเกิดขึ้นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

ด้วยสถิติจำนวนการแจ้งความคดีประเภทนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงยามที่เกิดความสับสนวุ่นวายทางการเมือง คงเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า ในที่สุดแล้ว มาตรานี้ได้ถูกกลุ่มการเมืองฝ่ายต่าง ๆ รัฐบาล หรือบุคคลอื่นใดผู้กุมอำนาจนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของฝ่ายตรงข้าม หรือของประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายตน อันมีลักษณะของการใช้บทบัญญัติอย่างไม่สุจริต และไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ประการที่สอง หลักประกันสิทธิผู้ต้องหาในเรื่องต่าง ๆ ที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และปรากฎอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มักถูกยกเว้น หรือไม่ได้รับการปฏิบัติโดยเคร่งครัดจากฝ่ายผู้บังคับใช้กฎหมาย หากปรากฎว่าผู้ต้องหาถูกกล่าวหาด้วยมาตรา ๑๑๒

นับเนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นมา ปรัชญาการอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญาในประเทศไทยได้ถูกปรับเปลี่ยนจากการมุ่งเน้นที่การปราบปรามอาชญากรรม ใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเด็ดขาด เพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษอย่างรวดเร็ว (The Crime Control Model) ไปสู่การให้น้ำหนักกับการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในทุก ๆ ขั้นตอนของการดำเนินคดีอาญาจนกว่าจะถูกพิพากษาตัดสิน (The Due Process Model) หลักประกันสิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลยหลายเรื่องซึ่งขยายความมาจากหลักสากลที่ว่า "ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ากระทำความผิด“ (Presumption of Innocence) อาทิ หลักไม่รับฟังพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย, ผู้ต้องหาต้องได้รับการแจ้งสิทธิต่าง ๆ ในการต่อสู้คดี, สิทธิในการมี พบ หรือปรึกษาทนายความ, สิทธิในการแจ้งข่าวให้ญาติหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจทราบ หรือมาร่วมฟังการสอบปากคำ ฯลฯ ถูกเพิ่มเติมไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกลับปรากฎว่าผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา ๑๑๒ จำนวนไม่น้อยไม่ได้รับการประกันสิทธิดังกล่าว หรือมิเช่นนั้นก็อาจถูกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกระบวนการที่ไม่ปรากฎอยู่ในตัวบทกฎหมาย

ในประเด็นนี้ มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงอย่างน้อย ๒ เรื่อง เรื่องแรก คือ คดีที่ไม่เป็นคดี โดยเหตุเกิดจากหญิงสาวคนหนึ่งถูกประชาชนกลุ่มหนึ่งจับและนำตัวส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ด้วยเหตุแจกเอกสารที่น่าสงสัยว่าอาจมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นสถาบันฯ อย่างไรก็ตาม ด้วยความไม่ชัดเจนบางอย่าง หรือความอ่อนด้วยเหตุผลที่จะใช้สนับสนุนว่าเอกสารเหล่านั้นมีเนื้อหาเป็นความผิด ทั้งประชาชนผู้จับ และพนักงานสอบสวนจึงไม่ได้แจ้งข้อหาใด ๆ แก่หญิงสาวที่ถูกจับ แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฎว่า เธอได้ถูกพนักงานสอบสวนสอบถามเรื่องราว รวมทั้งตรวจสอบทัศนคติที่มีต่อสถาบันฯ อยู่ที่สถานีตำรวจนานกว่า ๕ ชั่วโมง ภายหลังการสอบถามและทำบันทึกพนักงานสอบสวนแจ้งว่า เธอควรลงนามรับรองในใบบันทึกด้วย จากนั้นเจ้าหน้าที่จะขอตรวจสอบที่พักอาศัย แต่คำถามก็คือ พนักงานสอบสวนใช้อำนาจตามมาตราใดในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในการกักตัว สอบปากคำ หรือกระทั่งขอตรวจสอบที่พักอาศัยอันถือเป็นที่รโหฐานที่ตามปกติต้องมีหมายค้น ทั้งที่ไม่มีการแจ้งข้อหา เรื่องที่สอง คือ คดีหนึ่งที่เป็นคดี และจำเลยเพิ่งถูกพิพากษาว่ามีความผิดตามมาตรา ๑๑๒ ประกอบมาตราอื่นให้จำคุกถึง ๑๓ ปี แต่น้อยคนที่จะทราบข้อเท็จจริงว่า ในชั้นสอบสวนของคดีนี้ ผู้ต้องหาใช้สิทธิร้องขอติดต่อญาติ หรือคนที่ตนเชื่อใจได้หลายครั้ง แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานสอบสวน อีกทั้งยังมีการพูดกล่าวให้ลงนามรับรองเอกสารข้อกล่าวหาที่น่าสงสัยในเรื่องความสมัครใจของผู้ต้องหา เพราะในขณะถูกขอให้รับรองเอกสารเหล่านั้น บุตรชายของผู้ต้องหาอยู่ในการควบคุมดูแลของพนักงานสอบสวน

นอกจากที่ผ่านมา ผู้ต้องหาคดี ๑๑๒ มักไม่ค่อยได้รับความคุ้มครอง หรือได้รับหลักประกันสิทธิอย่างเต็มที่และเสมอภาคในกระบวนวิธีพิจารณาในฐานะคดีอาญาปกติ แล้ว ปัจจุบัน ด้วยเหตุผลที่มาตรา ๑๑๒ เป็นความผิดอาญาที่อยู่ในหมวดที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ คดีที่มีข้อหาเกี่ยวด้วยมาตรานี้จำนวนมากจึงกลายเป็น "คดีพิเศษ" ที่มีเจ้าหน้าที่ของหน่วยสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ และสามารถใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนแบบพิเศษตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้ ซึ่งควรต้องทราบว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้มีบทบัญญัติยกเว้นหลักประกันสิทธิของผู้ต้องหาตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอยู่อีกหลายประการ

กรณีต่าง ๆ ดังกล่าวมา ยังมิพักได้กล่าวถึง สิทธิในการขอประกันตัว หรือขอปล่อยชั่วคราวซึ่งรับรองไว้ในกฎหมายมานานแล้วตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ในฐานะ "หลักการ" ที่ควรต้องพิจารณาให้ประกันตัวเสมอหากไม่มีเหตุต้องด้วยข้อยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ยังไม่ถูกพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด แต่ที่ผ่านมา การปล่อยชั่วคราวกลับถูกนำมาใช้แบบไม่เสมอภาค ใช้ในสถานะเสมือนเป็น "ข้อยกเว้น" นำมาใช้เพียงเท่าที่จำเป็น หรือไม่อาจหลีกเลี่ยงเสียได้กับผู้ต้องหาคดี ๑๑๒ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ต้องหาที่ไม่มีตำแหน่งสำคัญใด ๆ หรือไม่ใช่บุคคลสาธารณะ มักไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว หรือถ้าหากต้องการประกันตัวก็ต้องจ่ายหลักประกันจำนวนสูงมากกว่าคดีอื่น ๆ ด้วยเหตุผลว่าเป็นคดีที่มีความร้ายแรง เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ หรือเกรงว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี ที่น่าสนใจก็คือ ผู้ต้องหาคดีอุกฉกรรจ์กว่าอย่างการฆ่า หรือทำร้ายร่างกายหลายคดี กลับได้รับอนุญาตให้ประกันตัวได้โดยไม่ติดด้วยเหตุผลดังกล่าวมา

ประการที่สาม มีเหตุอันชวนสงสัยว่า เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของมาตรา ๑๑๒ และของอุดมการณ์บางอย่างที่อยู่เบื้องหลังมาตรานี้แล้ว กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการข่มขู่ประชาชน มากกว่าเป็นไปเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม

ในช่วงที่ผ่านมา หากใครติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับเรื่องนี้ คงพบการแถลงข่าวโดยเจ้าหน้าที่รัฐบ่อยครั้งทำนองว่า ขณะนี้มีรายชื่อผู้กระทำความผิดอยู่ในข่ายว่าน่าจะกระทำความผิดฐานหมิ่นสถาบันฯ (หรือถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าคดี "ล้มเจ้า") และทางการได้ออกหมายจับคนกลุ่มดังกล่าวไปจำนวนหนึ่งแล้ว แต่ในที่สุดกลับไม่มีข้อเท็จจริงปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามหมายนั้นกับใครอย่างจริงจัง คงตั้งหน้าตั้งตาอยู่กับการแถลงข่าวเกี่ยวกับการออกหมาย ปรากฎการณ์เช่นนี้นับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง คำถามก็คือ หมายจับที่ว่านี้ แท้ที่จริงแล้วมีหน้าที่อะไรกันแน่ในทางกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และการที่เจ้าพนักงานไม่ดำเนินการตามหมาย ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้วน่าจะดำเนินการได้ (ระบุตัวผู้กระทำความผิด) เป็นเรื่องถูกต้องชอบธรรมหรือไม่

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา "หมายจับ" คงมีผลบังคับอยู่ตลอดไปจนกว่าจะจับได้ หรือศาลถอนหมายคืน ดังนั้น ในทางกฎหมายย่อมไม่มีปัญหา หากเจ้าพนักงานผู้ปฎิบัติการตามหมายจะใช้เวลานานกับหมายนั้น ตราบใดที่คดียังไม่ขาดอายุความหมายจับในคดีนั้นก็ยังคงใช้บังคับได้ แต่ในทางปฏิบัติ(ที่ควรจะเป็น) ข้อขัดข้อง หรือความจำเป็นที่ต้องใช้เวลานานเพื่อกระทำการตามหมายในคดีอื่น ๆ มักเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานหาตัวผู้ต้องหาเหล่านั้นไม่พบ อันเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจปฏิบัติการให้เป็นไปตามหมายได้โดยเร็ว หรือภายในเวลาอันเหมาะสม (ต่อปัญหาเรื่องนี้ เคยเขียนถึงบ้างแล้วกรณีการออกหมายจับ และการจับกุม จีรนุช เปรมชัยพร ผอ.เว็บไซต์ประชาไท ณ สนามบินสุวรรณภูมิ) จริงอยู่ที่ว่า ปัจจุบันไม่มีบทบัญญัติใดในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดเป็นข้อบังคับว่า เจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบหมายจับควรต้องปฏิบัติการตามหมายโดยไม่ชักช้า หรือดำเนินการจับในเวลาแรกที่กระทำได้ แต่หากพิจารณาจากวัตถุประสงค์ของการจับซึ่งมีเป้าหมายหลักสำคัญ ๔ ประการ (ตามเหตุแห่งการออกหมายจับ) แล้ว คือ

๑) เพื่อนำตัวผู้ที่มีหลักฐานน่าจะเป็นผู้กระทำความผิดมาควบคุมหรือส่งฟ้องต่อศาล

๒) เพื่อป้องกันมิให้ผู้นั้นก่อเหตุร้ายหรือกระทำความผิด

๓) เพื่อป้องกันมิให้ผู้นั้นไปข่มขู่พยาน หรือยักย้ายหลักฐาน และ

๔) เพื่อดำเนินการแก่ผู้ต้องหาตามกฎหมายกำหนด (เช่น แจ้งข้อหา หรือสอบปากคำ ฯลฯ)

การปล่อยหมายให้เนิ่นช้าไปทั้งที่ทำได้ จึงไม่น่าจะชอบด้วยเจตนารมณ์แห่งการออกหมาย หากกล่าวกันอย่างตรงไปตรงมาแล้ว การประกาศว่ามีหมายจับ แต่ไม่ยอมจับทั้งที่ทำได้ หรือการพยายามประโคมข่าวถึงการออกหมายจับ แทนที่จะแถลงข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับการจับกุมผู้ต้องหาตามหมาย และกระบวนการต่อไปภายหลังจับ จึงมิอาจคิดเป็นอื่นไปได้เลย นอกจากรัฐกำลังใช้กฎหมาย และบทบัญญัติว่าด้วยการออกหมายเป็นเครื่องมือในการข่มขู่ และสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวและไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ให้เกิดขึ้นทั้งกับคนที่คาดหมายได้ว่าตนอาจมีชื่ออยู่ในหมายจับ และทั้งประชาชนโดยทั่วไป

ประการที่สี่ นอกจากปัญหาในแง่การใช้การตีความของศาลที่ไม่ใคร่จะสอดคล้องกับระบอบการปกครองในยุคสมัยปัจจุบัน (ตามที่ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้เขียนถึงไปแล้ว) แล้ว ปัญหาข้อถกเถียงอีกเรื่องหนึ่งในชั้นพิจารณาคดีของศาล ก็คือ ได้ปรากฎว่าคดี ๑๑๒ จำนวนไม่น้อยถูกทำให้เป็นเรื่องลึกลับที่ประชาชนทั่วไปไม่อาจรับรู้หรือตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของศาลได้ ทั้งที่อำนาจฟ้องก็ดี และทั้งเนื้อหาแห่งคดีก็ดี มีลักษณะของความสาธารณะ

หนึ่งในหลักการทั่วไปของการพิจารณาคดีอาญาในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็คือ การพิจารณาคดีในชั้นศาลต้องกระทำโดยเปิดเผย (มาตรา ๑๗๒ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) คำว่า "เปิดเผย" ในที่นี้ หมายรวมทั้งเปิดเผยให้ประชาชนทั่วไปที่แม้ไม่ได้มีความเกี่ยวพันกับคดีโดยตรงเข้าฟังการพิจารณาคดีในศาลได้ และเปิดกว้างให้สื่อมวลชนรายงานข่าวหรือสรุปการพิจารณาคดีเพื่อเผยแพร่โดยทั่วไป เท่าที่ไม่ทำให้เกิดอิทธิพลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศาล ทั้งนี้เพื่อแสดงความโปร่งใสของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานและการใช้ดุลพินิจของศาลได้ อย่างไรก็ตาม "เพื่อประโยชน์แห่งความสงเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศมิให้ล่วงรู้ถึงประชาชน" ศาลไทยมีอำนาจสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับได้ ตามมาตรา ๑๗๗ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การสั่งเช่นนี้อาจมาจากการร้องขอโดยคู่ความ หรือศาลสั่งเองโดยคู่ความไม่ได้ขอก็ได้ ที่ผ่านมา คดีที่มักพิจารณาลับ ก็อาทิ คดีข่มขืนกระทำชำเรา คดีครอบครัว คดีที่มีเด็กหรือเยาวชนเป็นจำเลย หรือที่เกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นต้น ผลของการพิจารณาคดีลับนี้ นอกจากประชาชนทั่วไปเข้าฟังในศาลไม่ได้ และห้ามสื่อมวลชนโฆษณาหรือทำข่าวแล้ว ในคำพิพากษาฎีกาที่เผยแพร่ก็จะไม่มีการระบุรายละเอียดของคดีที่พิจารณาลับไว้ด้วย นั่นย่อมหมายความว่าการใช้ดุลพินิจโดยศาลในเรื่องนั้นมิอาจถูกตรวจสอบโดยประชาชนได้เลย

ข้อที่ควรพิจารณาในชั้นนี้ ก็คือ คดี ๑๑๒ ควรหรือไม่ที่ให้มีการดำเนินการพิจารณาโดยลับ ดังกล่าวไปแล้วว่าการกระทำที่เกี่ยวกับการแสดงข้อเท็จจริงหรือความคิดเห็นนั้นจะเป็นความผิดหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับแนวคิด และทัศนคติส่วนบุคคลเป็นสำคัญ ฉะนั้นเมื่อการกระทำนี้ถูกเสนอให้เป็นคดีความ จึงย่อมกลายเป็นดุลพินิจของผู้พิพากษาโดยเด็ดขาด เรื่องที่เป็นอัตวิสัยอย่างมากเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดที่มีความละเอียดอ่อน อีกทั้งมีอัตราโทษสูงมากอย่างกรณี ๑๑๒ ผู้พิพากษาจึงยิ่งต้องแสดงความโปร่งใสว่าไม่ได้ใช้อำนาจไปอย่างอำเภอใจ หรือถือตามอคติส่วนตน ต้องระมัดระวังการใช้ดุลพินิจอย่างมาก การไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตรวจสอบการใช้อำนาจของศาลในเรื่องนี้เลย จึงไม่น่าจะชอบด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

กล่าวโดยสรุป ย่อมเป็นที่ชัดเจนว่า นอกจากสาเหตุในเรื่องตำแหน่งแห่งที่ของมาตรา ๑๑๒ กล่าวคือ บัญญัติอยู่ในส่วนความมั่นคงของรัฐ ซึ่งไม่น่าจะสอดคล้องกับลักษณะความผิด และระดับความรุนแรงของผลจากการกระทำ แล้ว ปัญหาในประการต่าง ๆ ดังกล่าวมาอีกอย่างน้อย ๓ ปัญหา (ยกเว้น ปัญหาการให้อำนาจบุคคลทั่วไปกล่าวโทษได้) เป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยทัศนคติของบรรดาผู้บังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมในระดับชั้นต่าง ๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ เพราะหลักประกันสิทธิผู้ต้องหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยชั่วคราว การออกหมายจับตามเหตุแห่งกฎหมาย หรือการพิจารณาคดีต้องกระทำโดยเปิดเผย ล้วนเป็นหลักทั่วไปที่ได้รับการรับรองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญ และในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภายใต้ปรัชญาการดำเนินคดีอาญาด้วยความเป็นธรรมในทุกขั้นตอน (Due Process) ย่อมสามารถ หรือควรนำมาปรับใช้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกับผู้ถูกกล่าวหา หรือจำเลยสำหรับความผิดทุกประเภทที่อยู่ในบริบทแวดล้อมแบบดียวกัน แต่การณ์กับไม่เป็นเช่นนั้น หรือย่อหย่อนอย่างมากกับคดี ๑๑๒

ดังนั้น ตราบใดที่ในระบบกฎหมายไทยยังคงความผิดในฐานหมิ่นประมาทสถาบันฯ หรือความผิดตามมาตรา ๑๑๒ ไว้ในสถานภาพเช่นนี้ ตราบใดที่ทัศนคติของคนในกระบวนการยุติธรรมยังไม่ได้รับการปรับแก้ให้ถูกต้องสอดคล้องกับอุดมการณ์การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ยังมองเห็นผู้แสดงออกซึ่งความคิดเห็นซึ่งถูกกล่าวหาตามมาตรา ๑๑๒ เป็นอาชญากรคดีอุกฉกรรจ์ หรือถึงขั้นบ่อนทำลายชาติกระทบกระเทือนความมั่นคง หรือตราบใดที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งผู้คนจำนวนมากในประเทศนี้ยังมีแนวคิดเหมือนอยู่ในยุคการปกครองในสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ให้น้ำหนักกับการต้องแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี มากแบบเกินไปมาก กว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น กระทั่งเสรีภาพในชีวิตร่างกายของประชาชน หลักประกันสิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลยสำหรับผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา ๑๑๒ ก็คงเป็นเรื่องไร้ความหมายอยู่ต่อไป.