วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554

3 พรรคการเมืองรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ประสานเสียงคืนอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่น

3 มี.ค. 2554 ณ   ศูนย์การประชุมและนิทรรศการไบเทค บางนา น.ส. ผ่องศรี ธาราภูมิ ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย นายศุภชัย ใจสมุทร   ตัวแทนพรรคภูมิใจไทย ร่วมเสวนาเรื่อง นโยบายพรรคการเมืองต่อการคืนอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่น 

ปชป.: ถ้าท้องถิ่นไม่เข้มแข็งก็อย่าหวังว่าการเมืองระดับชาติจะเข้มแข็ง

น.ส. ผ่องศรี กล่าวว่า การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น เป็นแนวทางที่ประกาศตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรคเมื่อ 65 ปีที่แล้ว และเชื่อมั่นว่าชุมชนท้องถิ่นจะเป็นคำตอบในการทำให้ประเทศไทยเข้มแข็งและก้าวไปสู่เป้าหมายร่วมกันเพราะประเทศไทยใหญ่และซับซ้อนเกินกว่าจะให้ส่วนกลางหรือคนใดคนหนึ่งที่จะแก้ปัญหาได้

ทั้งนี้ ท้องถิ่นมีพลังอยู่ตัว แต่ที่ผ่านมาการพัฒนาหรือการบริหารประเทศไม่ได้จุดประกายให้ท้องถิ่นได้จัดการดูแลตนเองอย่างเต็มที่ โดยอนาคตต้องประสานความร่วมมือสร้างเครือข่าย เรื่องที่ท้องถิ่นถนัดก็ต้องให้ท้องถิ่นเป็นผู้ผลักดัน แต่บางประเด็นชุมชนอาจจะเข้มแข็งกว่า ก็ควรผลักดันให้ทำงานร่วมกัน

นโยบายที่พรรคสนับสนุนให้ท้องถิ่นดูแลจัดการตัวเอง มีรูปธรรมที่ชัดเจนเช่น ปัญหาที่ดินซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศมาอย่างยาวนาน ซึ่งปชป. มีนโยบายโฉนดชุมชน เพื่อแก้ปัญหาการสิทธิถือครองที่ดินในชุมชนที่เข้มแข็ง ขณะนี้มีการจัดตั้งสำนักงานโฉนดชุมชนที่สำนักนายกรัฐมนตรี นโยบายการจัดตั้งธนาคารที่ดินช่วยจัดสรรและกระจายการถือครองที่ดิน

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายการปรับโครงสร้างภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อเพิ่มรายได้ให้ท้องถิ่น
สำหรับการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนนั้นพรรคประชาธิปัตย์เคยเริ่มกองทุนเพื่อการจัดการทางสังคม หรือกองทุนซิป ที่ตั้งขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายกองทุนหมู่บ้าน นอกจากนี้มีการจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เพื่อเสริมความเข็มแข็งขององค์กรชุมชนตั้งแต่ระดับฐานราก

ตัวอย่างสุดท้ายคือการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน ซึ่งเป็นการเอาบทเรียนจากภาคประชาชนจริงๆ มาผลักดันนโยบาย โดยชุมชนเป็นผู้ริเริ่ม ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสุดท้ายรัฐบาลก็เข้าร่วมสนับสนุนด้วย ซึ่งปัจจุบันกำลังผลักดันร่าง พ.ร.บ. กองทุนสวัสดิการแห่งชาติ เพื่อให้เกิดบำเหน็จชาวบ้าน บำนาญประชาชน

นางผ่องศรีกล่าวว่า ท้องถิ่นต้องเป็นตัวของตัวเองและเชื่อมโยงกันซึ่งจะทำให้ประเทศมีความมั่นคงเข้มแข็งด้วย แต่ท้องถิ่นจะเข้มแข็ง คนของท้องถิ่นก็ต้องมีคุณภาพ โดยท้องถิ่น หน่วยงานราชการต้องร่วมมือกัน โรงเรียนในชุมชนก็ต้องเป็นที่พึ่งของชุมชนได้ ทำให้เกิดความรักถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอน  และอยากเรียกร้องให้ท้องถิ่นดูแลคนในท้องถิ่นมีคุณภาพ และเชื่อมโยงกับหน่วยงานราชการด้วย โดยพรรคสามารถหนุนเสริมในแง่นโยบาย เพราะหากประชาชนเข้มแข็ง ก็จะรู้เท่าทันทางการเมือง พร้อมสรุปว่าถ้าท้องถิ่นไม่เข้มแข็งก็อย่าหวังว่าการเมืองระดับชาติจะเข้มแข็ง แล้วนโยบายที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็จะกลับคืนสู่ท้องถิ่น

จุดยืนเพื่อไทย: ต้องคืนอำนาจกลับไปให้ถึงเจ้าของอำนาจประชาธิปไตยซึ่งก็คือประชาชน

น.อ. อนุดิษฐ์ กล่าวว่า หลักการและจุดยืนของพรรคเพื่อไทยคือ การถ่ายโอนอำนาจต้องไม่ใช่การถ่ายโอนจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่นด้วยรูปแบบเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องกำหนดหลักการและกฎหมายให้คืนอำนาจกลับไปให้ถึงเจ้าของอำนาจประชาธิปไตยซึ่งก็คือประชาชน ทั้งนี้ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นปรากฏอยู่ในประเทศที่เจริญแล้วทั้งสิ้น และหากดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ต้องมุ่งไปสู่ความสำเร็จในการกระจายอำนาจและคืนอำนาจให้กับท้องถิ่นได้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่ต้องตระหนัก 5 ประการ ได้แก่ 1) การถ่ายโอนอำนาจรัฐไปสู่การบริหารส่วนท้องถิ่น ต้องกำหนดการปฏิบัติที่ถูกต้องเพื่อให้การถ่ายโอนอำนาจเป็นไปอย่างครบถ้วน 2)ผู้นำชุมชนท้องถิ่นต้องยึดโยงกับประชาชน เพราะยังมีผู้นำชุมชนยึดโยงกับนักการเมืองท้องถิ่นและแยกแยะจากกันไม่ได้ 3) การพัฒนาบุคลากรส่วนกลางซึ่งเป็น ‘ผู้รับใช้’ และต้องติดอาวุธทางปัญญาหรือองค์ความรู้ให้กับประชาชนในชุมชน ซึ่งป็น ‘ผู้ใช้’ ด้วย 4) การจัดการเลือกตั้งผู้บริหารชุมชนควรมาจากการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมโดยชุมชนของตนเอง ส่วนกลางควรจะถอยออกมาเป็นเพียงพี่เลี้ยง จะทำให้ผู้นำท้องถิ่นมีประสิทธิภาพและไม่ยึดโยงกับการเมืองส่วนกลาง และ 5) ต้องมีองค์กรพี่เลี้ยง โดยต้องคิดใหม่ทำใหม่ ให้เกิดองค์กรอิสระที่สามารถเชื่อมโยงเรื่องการบริหารชุมชน

น.อ. อนุดิษฐ์กล่าวว่าพรรคเพื่อไทยพยายามปรับปรุงและพัฒนาแนวทางมาตลอด เช่น โครงการเอสเอ็มแอล เป็นหลักการหรือหลักคิดในการกระจายอำนาจ เพราะส่วนกลางมีหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงอนุมัติงบประมาณตามโครงการที่ชุมชนคิดเองทำเอง มีการทำประชาคมคิดโครงการที่เหมาะสมกับตนเอง และบริหารจัดการเอง ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจชุมชน ใช้ทรัพยากรในชุมชน จ้างบุคคลในชุมชน ซึ่งสะท้อนความสำเร็จมาระดับหนึ่ง

น.อ. อนุดิษฐ์ กล่าวด้วยว่ากรุงเทพฯ เป็นตัวอย่างของการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทำให้ประชาชนมีสิทธิมีเสียงในการเลือกผู้ว่าฯ ซึ่งสะท้อนภาพของการกระจายอำนาจสู่ชุมชนได้เป็นอย่างดี และแสดงให้เห็นว่าการคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นเรื่องที่ทำได้และจะสำเร็จด้วย เมื่อมีการคืนอำนาจในระดับที่สมบูรณ์แล้วประชาชนจะได้สิ่งที่ตนต้องการอย่างแท้จริง กรุงเทพฯ มีทั้งโรงพยาบาล โรงเรียน และหน่วยงานอื่นๆ ที่สังกัดกรุงเทพฯ ไม่ได้ใช้เงินอดหนุนจากรัฐบาลมาก ใช้การเก็บภาษีและรายได้จากคนในกรุงเทพฯ มาใช้ประโยชน์ให้กับพื้นที่

 แต่ทุกอย่างไม่ได้สวยหรู ก็ยังมีข้อบกพร่อง เช่น การใช้งบประมาณโดยไม่เกิดประโยชน์ตามความพอใจของประชาชน แต่การปรับเปลี่ยนนั้นอาจค่อยปรับเปลี่ยนในสิ่งที่ค่อยเป็นค่อยไปและเป็นไปได้และขยับตัวไปเรื่อยๆ การคืนอำนาจให้กับประชาชนจะเกิดได้จริง โดยมีเงื่อนไขสองข้อ คือ 1) การพัฒนาบุคลากรของท้องถิ่นเอง ต้องรู้และเข้าใจวิถีท้องถิ่นอย่างแท้จริง และ 2) การใช้อำนาจ หรือมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจ รวมถึงอำนาจในการใช้งบประมาณด้วย

น.อ.อนุดิษฐ์ ย้ำว่าแม้การพูดเรื่องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจะเหมือนเป็นการพูดเชิงอุดมคติ แต่การจะพิจารณาว่าท้องถิ่นพร้อมจะรับการกระจายอำนาจหรือไม่นั้น ต้องบอกว่าความพร้อมนั้นอยู่ที่ประชาชน และความพร้อมของประชาชนในวันนี้ โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่าดีกว่าประชาชนในกรุงเทพฯ เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วที่เปลี่ยนรูปแบบมาสู่การปกครองพิเศษเป็นเป็นกรุงเทพมหานครด้วยซ้ำไป ปัจจุบันเป็นโลกาภิวัตน์ คนสื่อสารกันได้รวดเร็ว โลกพัฒนาไปแล้ว และเอื้อสู่การเป็นประชาธิปไตย อำนาจนั้นมาจากประชาชน แต่ต้องปรับให้ผู้ที่มีอำนาจเข้าใจ 

ข้อเสนอจากภูมิใจไทย: ต้องกล้าหาญชาญชัยในการออกแบบประเทศใหม่

นายศุภชัย กล่าวว่าต้องยอมรับว่าประเทศไทยถูกออกแบบให้รวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ มานานพอสมควร การกระจายอำนาจเป็นคำที่เลื่อนลอย การรวบอำนาจที่ส่วนกลางยังคงต้องดำรงอยู่และต้องดำเนินต่อไป เพราะประเทศไทยออกแบบไว้เช่นนี้ การกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นของไทยยังเป็นปัญหาที่ยังถกเถียง และยังต้องตั้งคำถามว่าท้องถิ่นมีความพร้อมแค่ไหนในการดำเนินการ เช่น การโอนเรื่องการศึกษาให้ท้องถิ่นทำ จะทำได้ทุกที่จริงหรือ เมื่อพูดถึงการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นต้องมาร่วมกันออกแบบประเทศใหม่ เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ให้ส่วนกลางมีอำนาจน้อยลง
นอกจากนี้ยังมีปัญหาว่าชุมชนท้องถิ่นก็กำลังถูกรุกล้ำ เช่น กรณี อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งรัฐกำลังสำรวจทรัพยากรน้ำมันในพื้นที่ โดยนายศุภชัยกล่าวว่า ต่อไปปัญหาจะสลับซับซ้อนขึ้นในแง่การแย่งชิงทรัพยากรซึ่งป็นปัญหาพื้นฐานของมนุษย์และจะรุนแรงขึ้น

ประเทศไทยต้องกล้าหาญชาญชัยในการออกแบบประเทศใหม่ ทั้งนี้พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคเล็ก ต่อให้คิดก็ไม่อาจจะทำให้เป็นจริงได้ แต่ทำได้ในแง่การผลักดันให้กับพรรคการเมืองใหญ่ อย่างไรก็ตามพรรคมีแนวคิดเรื่องการคืนอำนาจให้ประชาชน พร้อมเสนอแนวคิดทดลองจากท้องถิ่นที่พร้อมในการบริหารจัดการตนเอง เช่น พัทยา ภูเก็ต โดยระบุว่าการกระจายโดยให้เงินหรือให้งาน อาจจะไม่ใช่แนวคิดที่ท้องถิ่นอยากได้ ท้องถิ่นอาจเรียกร้องที่จะการดูแลตัวเอง แต่ท้องถิ่นก็ต้องถามตัวเองให้ดีว่าสามารถต่อยอดได้จริงหรือไม่ ปกครองตัวเองโดยมีอำนาจในการบริหารจัดการจริงหรือไม่ สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือการให้การศึกษากับประชาชนอย่างเพียงพอ และมีกฎหมายที่เอื้อต่อการใช้สิทธิของชุมชน

การเสวนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการจัดประชุมวิชาการเวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 มี.ค.โดยคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ คณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาติแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).-

ที่มา : มติชนออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น