นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวในประเด็น "ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง" ในหลักสูตรโครงการผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 2 จัดโดยมูลนิธิสัมมาชีพ ร่วมกับบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 6 มี.ค.
เมืองไทยใน 4-5 ปีที่ผ่านมา เรามีปัญหาจนกระทบการลงทุน การท่องเที่ยว อย่าปฏิเสธว่าเราดีขึ้น ไปดูอัตราการเติบโตเมื่อเทียบกับเวียดนาม อินโดนีเซียดูว่าเป็นอย่างไร
การส่งออกไปได้ เพราะเอกชนเขาดิ้นรนตัวเป็นเกลียว และผลจาก
1.การรุกด้านการทูตที่ดีในอดีต มีเอฟทีเอ 10 ปีที่ผ่านมา การส่งออกของเราส่งไปอเมริกาเพิ่มขึ้นเพียง 12 เปอร์เซ็นต์ ส่งไปอียู เพิ่ม 45 เปอร์เซ็นต์ แต่ส่งไปอินเดีย จีน ออสเตรเลีย กว่า 500 เปอร์เซ็นต์ อาเซียนกว่า 150 เปอร์เซ็นต์ เป็นเพราะเอฟทีเอทั้งสิ้น แต่ตอนที่เริ่มทำเอฟทีเอกลับถูกว่าตลอดเวลา
2.ความสามารถจากการแข่งขันของสินค้า ไม่ใช่อยู่ๆ จะมีขึ้น แต่เป็นการสั่งสม ถ้าคุณไม่ลงทุนเพื่ออนาคต เอาแต่ชื่นชมว่าส่งออกเท่าไหร่ จีดีพีเท่าไหร่ เมื่อนั้นฐานแห่งอนาคตจะหายไป ถ้าการทูตเชิงรุก การเจรจาการค้าเชิงรุกหยุด การลงทุนเพื่ออนาคตหยุด มันจะส่งออกไม่ได้ แล้ว จะถดถอยลงมา
ต้องถามตัวเองว่า 5 ปีที่ผ่านมา การค้าเชิงรุกที่เปิดตลาดใหม่คืออะไรบ้าง เราลงทุนอะไรบ้างในเรื่องไอที โลจิสติกส์ ในเรื่องความจำเป็นของประเทศในอนาคต เดือนหน้าลาวจะเริ่มก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ปีหน้ากัมพูชาจะทำต่อมาจากจีน แต่เราทำอะไรอยู่ สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่ลงทุนจะเอาอะไรไปแข่งกับเขา
อย่างสิงคโปร์ พยายามเป็นศูนย์กลางการศึกษา เพราะผู้บริหารเขามองภาพรวมเห็นชัดทั้งหมด ไม่ได้มองทีละชิ้น เมื่อเขาประกาศเป็นหลักของการลงทุนของโลก ทรัพยากรมนุษย์จึงสำคัญที่สุด ดังนั้น ต้องเป็นศูนย์กลางการอบรม เมืองไทยเราต้องเดินทางนี้ เพราะเราสู้กับคนอื่นในทางอื่นไม่ได้ ทั้งต้นทุน นวัตกรรม
ดังนั้น เรื่องวิทยาศาสตร์ การทำวิจัยจึงมีความจำเป็น แล้วทำไมเราไม่ลงทุนกับเรื่องพวกนี้ หากใช้งบประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ก็เท่ากับร้อยละ 0.2 ของงบรายจ่าย เวียดนามเขาลงทุนถึง 2 เปอร์เซ็นต์ของงบรายจ่าย เมื่อเป็นอย่างนี้บริษัทใหญ่ก็ไปอยู่เวียดนาม
ปัญหาการศึกษาของเราคืออะไร เป็นเพราะครูใช่หรือไม่ อย่างฟินแลนด์ ครูจบไม่ต่ำกว่าปริญญาโท เลิกสอนแล้วไปทำงานที่ไหนก็ได้ แต่ของเราหนี้สินล้นพ้น หมุนเงินไม่สะดวก จะสอนยังไง
สังคมอาจารย์ทุกวันนี้เป็นอย่างไร มีงบวิจัยหรือไม่ การวิจัยเชื่อมต่อกับการผลิตหรือไม่ เงินก็ไม่มี ต่างคนต่างวิจัย รายได้ก็ไม่พอ สุดท้ายก็สอนอย่างเดียว ถ้าเป็นอย่างนี้จะแข่งอะไรในเชิงนวัตกรรมแห่งอนาคต
ในอนาคต ประเทศจะลดความสำคัญลง แต่ส่วนภูมิภาคจะทวีความสำคัญขึ้น จีนเจริญได้ ไม่ได้ใช้จากส่วนกลาง แต่เป็นเพราะจังหวัดวางยุทธศาสตร์ของตัวเอง เอาตัวแทนมาแข่งขันในระดับโลก จนตอนนี้จีนมีเมืองใหญ่ไม่ต่ำกว่า 40 เมือง แต่เมื่อหันมาดูประเทศไทย ทำไมทุกอย่างต้องเข้าส่วนกลางให้เป็นผู้วางยุทธศาสตร์ กำหนดงบประมาณ แต่ละจังหวัดได้งบนิดเดียว แล้วจะเจริญได้ยังไง
ทำไมเราไม่เปลี่ยน วันนี้ดุลอำนาจของโลกเปลี่ยน แปลงไป เอเชียกำลังผงาดขึ้นมา เมืองไทยน่าจะได้รับอานิสงส์ แต่ของเหล่านั้นจะได้ต่อเมื่อคุณชาญฉลาด คือรู้จักทำตัวเองให้มีความหมายต่อประเทศอื่นในโลก
แต่เราเล่นอะไรบ้างในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ที่เรามาถึงตรงนี้ได้ ประเทศอื่นเขารักเพราะอะไร ตั้งแต่ในหลวงรัชกาลที่ 5 สร้างสั่งสมจนเป็นศูนย์กลางของอาเซียน มีมิตรสหายเต็มไปหมด มาวันนี้เรากลับไม่เป็นศูนย์กลาง แต่กลายเป็นภาระของอาเซียน
นอกจากนี้เรายังต้องปรับเปลี่ยนอีกอย่าง คือเรื่องงบประมาณที่ 80 เปอร์เซ็นต์เป็นงบประจำ มีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นงบลงทุน การจัดทำงบประมาณ ต่างคนต่างคิดต่างทำ ทำไมไม่ลองคิดใหม่ เอาทุกส่วนที่เกี่ยวข้องมาดูว่าต้องทำอะไรบ้าง งบประมาณมีอะไร ถ้ารุกต่างประ เทศ ต้องเอาพาณิชย์ ต่างประเทศ อุตสาหกรรม มาวางแผน ถ้าต้องการปฏิรูปเกษตร ก็ต้องเกษตร วิทยา ศาสตร์ มาไล่ดูว่าต้องทำอะไร
เอาสิ่งที่เกี่ยวข้องมารวมกันอย่างมียุทธศาสตร์ วิธีการอย่างนี้จะทำให้การใช้งบประมาณมีประโยชน์ ดีกว่าดึงเข้าสู่ส่วนกลาง
ถ้าเราไม่ปรับเปลี่ยน ก็จะเป็นอย่างนี้สะสมไปเรื่อยๆ หลายคนบอกอยากเปลี่ยน แต่การเมืองมันไม่ดี ต้องถามว่าเมื่อไหร่การเมืองจะดี แล้วมันไม่ดีเพราะอะไร ประชาธิปไตยในขณะนี้มันใช้ได้หรือไม่ กลไกทำงานจริงหรือไม่ หรือมีแค่เปลือกและข้ออ้างของการเป็นประชาธิปไตย ใครที่ได้ประโยชน์
เราบอกเราเป็นประชาธิปไตย แต่ความโปร่งใสมีหรือไม่ กลายเป็นว่าต้องมีเสบียงหาเสียง ซื้อเสียง ความจริงที่ขมขื่น แต่ยอมรับกันเป็นสัจธรรม ถ้าการเมืองซื้อเสียง คุณจะได้คนดีที่เขาไม่มีเงินได้ยังไง คนที่เขาดีไม่มีที่เกาะเกี่ยวก็ต้องยอมศิโรราบ เป็นส่วนหนึ่งของการซื้อเสียง คนเรามันเริ่มซื้อเสียงก็เหมือนกินอาจม ก็ต้องกินเรื่อยไป เหมือนแมลงวัน
อินโดนีเซียพลิกได้เพราะมาจากการนำ จู่ๆ ลอยจากฟ้าไม่ได้ ต้องเอาจริง ประชาธิปไตยจะใช้ได้ต้องรู้ขีดจำกัด ความเหมาะสม ถ้าไม่มีความพอดี ประชาธิปไตยจะนำไปสู่ความสับสน วุ่นวาย บริหารจัดการไม่ได้
ถ้าต้องการปรับเปลี่ยนประเทศให้ดี ต้องมีเงื่อนไข 2 ข้อ 1. ต้องมีผู้นำซึ่งมีเจตนานำความเปลี่ยนแปลงจริงๆ มีความมุ่งมั่น เจตนาดี ตั้งใจทำงานให้บ้านเมือง มองได้ขาดว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น แล้วหนทางการแก้ไขต้องทำยังไง 2.ความสามารถในการสื่อสารกับคนให้เห็นด้วย ให้เดินทาง เมื่อเป็นผู้นำก็ต้องมีผู้ตาม เขาจะตามก็ต่อเมื่อเขาศรัทธา ดำเนินรอยตามได้
สิ่งนี้คือสิ่งที่ต้องสั่งสม และจะต้องมีศิลปะในการบริหารการเปลี่ยนแปลงได้ และต้องมีความจริงใจที่จะทำ อดทนไม่ท้อถอย
ในประเทศประชาธิปไตย ผู้นำที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ต้องเป็นผู้นำของทุกคน ถ้าทำอย่างนั้นทุกคนจะเชื่อว่าคุณทำเพื่อทุกคน แต่ถ้าทำตัวเป็นผู้นำของคนเพียงบางส่วน เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ยังไงก็เปลี่ยนแปลงในแนวทางที่ดีไม่ได้
ดังนั้น การเป็นผู้นำ ต้องทำให้คนศรัทธาทั้งประเทศ ไม่ใช่ทำเพื่อตัวเอง
ประชาธิปไตยมันสะท้อนสังคม ทำยังไงให้พลังประชา ชนตื่นขึ้นมามีส่วนร่วม เมื่อนั้นนักการเมืองต้องระวัง เอาจริงเอาจัง รับผิดชอบ ถ้าอยู่ 4 ปีไม่มีกฎหมายที่มีประโยชน์ออกมาเลย อยู่ได้ยังไง โชคดีที่มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่สะท้อนว่าในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
การเปลี่ยนแปลงก็มีโอกาสเกิดขึ้น ถ้าทำให้คนตั้งใจดีสามารถเข้าถึงข้อมูล ติดต่อกันได้ ถ้าพวกนี้รู้จักใช้ ให้ประชาชนเกิดกระแสในทางบวก ให้เป็นพลังการเปลี่ยนแปลงที่ดี ให้นักการเมืองรับผิดชอบมากขึ้น
ประเทศที่โชคดีคือประเทศที่ได้ผู้นำที่สามารถ และทำให้เกิดพลังตื่นตัวของภาคประชาชนเพื่อต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ประเทศไทยเราอยู่ในจุดที่เปราะบาง ด้านเศรษฐกิจ เราเน้นช่วงสั้น แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ขาดการมองอนาคต การลงทุนพื้นฐานไปสู่อนาคต ด้านสังคมมีความแตกแยก ด้านต่างประเทศมีปัญหากับชาวบ้าน เคยใกล้ชิดอเมริกา จีน แต่ทำไมวันนี้จีนไปอยู่ไกลนัก เขมรอยู่ใกล้จีนกว่าเราได้ยังไง ต้องมีอะไรบางอย่างผิดพลาดแล้ว
ประชาธิปไตยเราออกจากสภาไปอยู่บนท้องถนน การ เมืองไม่มีเสถียรภาพ จนทำนายไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้เมืองไทยที่เคยมั่นคง วันนี้คำว่ามั่นคงต้องใส่เครื่องหมายคำถาม ถึงเวลาหรือยังที่จะปรับเปลี่ยนสถานะให้ดีขึ้น
เราต้องการผู้นำที่มาปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ให้คนทุกระดับมั่นใจ การปฏิรูปไม่ใช่ตั้งกรรมการแล้วหยุด จะต้องลงมาเอง สื่อสารกับประชาชน เมืองไทยจะอยู่ได้คนรุ่นใหม่ รู้จักคิดเพื่อส่วนรวม เชื่อผม คนคิดดีทำดีเทวดาคุ้มครอง คนประพฤติดี ทำเพื่อบ้านเมือง แม้มีชีวิตจะไม่ได้ชัยชนะ เจออุปสรรค แต่ประวัติศาสตร์จะบันทึกว่าเป็นผู้ชนะเสมอไป
ตรงกันข้าม คนที่ชนะในวันนี้ ไม่ตั้งอยู่ในฐานความดี ผู้นำที่ไม่รับผิดชอบต่อความถูกต้อง ไม่มีประโยชน์ สุดท้ายจะจารึกในฐานะผู้แพ้
ที่มา : ข่าวสด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น