วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2554

๘ มีนาคม วันสตรีสากล



ความเป็นมา วันสตรีสากล ๘ มีนาคม
ปี ค.ศ.๑๗๘๙ (พ.ศ.๒๓๓๒)
บรรดาสตรีชาวปารีสพร้อมใจกันเดินขบวนไปยังพระราชวัง แวร์ ซายส์ ระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส พร้อมทั้งเรียกร้องเสรีภาพความเสมอภาค และภราดรภาพและเรียกร้องความคุ้มครองแก่สตรีขึ้นเป็นครั้งแรก
ปี ค.ศ.๑๘๕๗ (พ.ศ.๒๔๐๐)
เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม กลุ่มผู้ใช้แรงงานสตรีจากโรงงานทอผ้าและตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ได้พากันเดินขบวนประท้วงในกรุงนิวยอร์ก เพื่อเรียกร้องสิทธิในการทำงานและให้มีการรับรองสภาพการทำงานของสตรีที่ดียิ่งขึ้น โดยเรียกร้องเพิ่มค่าจ้างและปรับปรุงสภาพการทำงาน แต่แล้วเหตุการณ์ก็จบลงด้วยการฆาตกรรมคนงานหญิง ๑๑๙ คน โดยการเผาโรงงานในขณะที่คนงานหญิงกำลังประท้วงอยู่
ปี ค.ศ.๑๘๖๖ (พ.ศ.๒๔๐๙)
การประชุมสมัชชาของบรรดาสมาคมผู้ใช้แรงงานนานาชาติ ครั้งที่ ๑ ได้มีการออกมติเกี่ยวกับการทำงาน อาชีพของสตรี นับว่าเป็นการท้าทายอย่างเปิดเผยต่อขนบประเพณีดั้งเดิมในสมัยนั้น ที่กำหนดให้สตรีต้องอยู่แต่เฉพาะในบ้านเท่านั้น
ปี ค.ศ.๑๘๘๙ (พ.ศ.๒๔๓๒)
เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ค.ศ.๑๘๘๙ คลาร่า เซทกิ้น ได้แสดงสุนทรพจน์เป็นครั้งแรก เรื่องปัญหาของสตรีต่อที่ประชุมผู้ก่อตั้งสภาคองเกรสสากลครั้งที่ ๒ ในกรุงปารีส โดยเรียกร้องให้สตรีมีสิทธิในการทำงาน ให้มีการคุ้มครองสตรีและเด็ก รวมทั้งยัได้เรียกร้องให้สตรีมีส่วนร่วมในการประชุมระดับชาติและระดับสากลอีกด้วย นับเป็นเสียงเรียกร้องที่สำคัญและมีความหมายอย่างยิ่ง
ปี ค.ศ.๑๘๙๙ (พ.ศ.๒๔๔๒)
ได้มีการจัดประชุมกลุ่มสตรีผู้ต่อต้านสงครามขึ้นที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งการประชุมดังกล่าว นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการต่อต้านสงครามที่พัฒนาและเติบโตขึ้นมาก ในช่วงศตวรรษที่ ๒๐
ปี ค.ศ.๑๙๐๗ (พ.ศ.๒๔๕๐)
กรรมการสตรีในโรงงานทอผ้าได้ลุกฮือขึ้นเดินขบวนประท้วง การเอาเปรียบ กดขี่ ขูดรีด ทารุณ จากนายจ้างที่เห็นผลผลิตสำคัญกว่าชีวิตคน ณ เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของคลาร่า เซทกิ้น โดยเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาทำงานจากวันละ ๑๒-๑๕ ชั่วโมง ให้เหลือวันละ ๘ ชั่วโมง พร้อมทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการภายในโรงงาน และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย ในการเรียกร้องครั้งนี้ แม้จะมีหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากสตรีทั่วโลก และส่งผลให้วิธีการแบบทุนนิยมเริ่มสั่นคลอน
ปี ค.ศ.๑๙๑๐ (พ.ศ.๒๔๕๓)
เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ได้มีการประชุมครั้งที่ ๒ ของสมัชชานักสังคมนิยมหญิงนานาชาติ (International Conference of Socialist Woman) ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมี คลาร่า เซทกิ้น นักสังคมนิยมจากเยอรมัน ในฐานะที่เป็นเลขาธิการของสตรีสากล ได้เสนอให้วันที่ ๘ มีนาคม เป็นวันสตรีสากล เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ของคนงานหญิงโรงงานทอผ้าในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่การต่อสู้จบลงด้วยการฆาตกรรมหมู่ และก็ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นเอกฉันท์จากผู้เข้าร่วมการประชุมนับร้อยจากองค์กรต่างๆ ๑๗ ประเทศ อันประกอบด้วย ออสเตรีย เดนมาร์ก เยอรมัน และสวิสเซอร์แลนด์
มีประชาชนชายหญิงมากกว่า ๑ ล้านคนเข้าร่วมชุมนุม มีการเรียกร้องสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง สิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพิ่มเติมจากการเรียกร้องสิทธิในการทำงาน การเข้ารับการอบรมวิชาชีพ และการให้ยุติการแบ่งแยกในการทำงาน
ปี ค.ศ.๑๙๑๑ (พ.ศ.๒๔๕๔)
มีการจัดวันสตรีสากลเพิ่มขึ้นในประเทศฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และสวีเดน
ปี ค.ศ.๑๙๑๓ (พ.ศ.๒๔๕๖)
มีการจัดชุมนุมเนื่องในวันสตรีสากลขึ้นในรัสเซียเป็นครั้งแรก ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบอร์ก แม้ว่าจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขัดขวางก็ตาม
ปี ค.ศ.๑๙๑๔ (พ.ศ.๒๔๕๗)
วันสตรีสากลได้จัดขึ้นโดยได้เชิดชูคำขวัญของขบวนการสันติภาพ ทั้งนี้ เพื่อต่อต้านสงครามที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในยุโรป หลังจากนั้นเป็นต้นมา การฉลองวันสตรีสากลก็ทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สตรีในทวีปต่างๆ ทั้งแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกา ต่างก็ร่วมมือกันต่อสู้เพื่อสิทธิที่เท่าเทียมกัน เพื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งร่วมกันผลักดันให้มีการตระหนักในเรื่องสิทธิมนุษยชนของสตรีอย่างสมบูรณ์
ปี ค.ศ.๑๙๕๗ (พ.ศ.๒๕๐๐)
องค์การสหประชาชาติได้เห็นความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วมโดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้มีมติที่ ๓๒/๑๔๒ ในการเชิญชวนให้ทุกประเทศทั่วโลก กำหนดให้วันหนึ่งวันใดเป็นวันฉลองแห่งชาติว่าด้วยสิทธิสตรี และสันติภาพสากล โดยทั้งนี้ให้ขึ้นอยู่กับขนบธรรมเนียม ประเพณีและสภาพทางประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ ซึ่งหลายประเทศส่วนใหญ่ได้กำหนดให้ วันที่ ๘ มีนาคม ของทุกปีเป็นวันสตรีสากล (International Woman's Day)
การริเริ่มของสหประชาชาติในการยกระดับสภาพ เงื่อนไขของสตรี มีผลทำให้เกิดการจัดตั้งองค์กรทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันในทางกฎหมายให้เกิดขึ้น และมีองค์กรในสหประชาชาติอีกหลายองค์กรที่ทำงานผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง โดยการทำให้ประชาชนทั่วไปมีความเข้าใจมากขึ้น และพยายามเปลี่ยนแปลงแก้ไขขนบธรรมเนียม และเจตคตที่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติมาเป็นเวลานาน
องค์กรที่สำคัญในระบบของสหประชาชาติที่ทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิสตรี ได้แก่
(๑) คณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี (UNCSW) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.๑๙๔๖ (พ.ศ.๒๔๘๙) โดยเป็นองค์กรภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (ECOSOC) มีหน้าที่กำหนดแนวทางการยกระดับสถานภาพสตรี ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และด้านการศึกษา
(๒) คณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี (CEDAW) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.๑๙๘๒ (พ.ศ.๒๕๒๕) เพื่อเป็นองค์กรในการติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ องค์กรนี้มีหน้าที่ตรวจสอบว่า ประเทศภาคี อนุสัญญาฯ กว่า ๑๐๐ ประเทศ ปฏิบัติตามข้อกำหนดของอนุสัญญา หรือไม่
แผนกเพื่อความก้าวหน้าของสตรี เป็นหน่วยงานภายใต้ศูนย์พัฒนาสังคมและกิจการด้านมนุษยธรรม ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการ ดำเนินการวิจัยและทำงานสนับสนุนองค์กรทั้งสองข้างต้น 
กองทุนพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNIFEM) เป็นกองทุนภายใต้โครงสร้างของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ทำหน้าที่สนับสนุนโครงการต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์ในการผสานสตรีในกระบวนการพัฒนา ด้วยวิธีการส่งเสริมกิจกรรมสร้างเสริมรายได้ขนาดย่อม 
สถาบันวิจัยและฝึกอบรมระหว่างประเทศเพื่อความก้าวหน้าของสตรี (INSTRAW) เป็นแหล่งให้เงินทุนอุดหนุนและมีหน้าที่ทำวิจัยเพื่อยกระดับวิธีการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับการพัฒนา 
ประเทศไทย ริเริ่มจัดกิจกรรม เนื่องในวันสตรีสากล โดยองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๘ ต่อมาเมื่อปี ๒๕๓๒ หน่วยงานภาครัฐได้มีการก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับชาติด้านสตรี อยู่ภายใต้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และจัดให้มีกิจกรรมเนื่องในวันสตรีสากลดำเนินเรื่อยมา ขณะนี้ หน่วยงานระดับชาติด้านสตรีอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ปัจจุบันหน่วยงานภาคเอกชนและภาครัฐอีกหลายแห่ง ได้ตระหนักถึงความสำคัญของวันสตรีสากล ๘ มีนาคม จึงจัดให้มีกิจกรรมเป็นประจำทุกปี

ผู้ให้กำเนิดวันสตรีสากล
คลาร่า เซทกิ้น (Clara Zetkin) ค.ศ.๑๘๕๗-๑๙๓๓ (พ.ศ.๒๔๐๐-๒๔๗๖)
คลาร่า เซทกิ้น เธอได้รับการขนานนามว่า มารดาแห่งการเคลื่อนไหวสตรีสากล เป็นผู้ให้กำเนิดวันสตรีสากล เธอเป็นนักการเมืองหญิงสายมารค์ซิสต์ และอิตถีนิยม ชาวเยอรมัน ชื่อเดิม คลาร่า ไอนส์เนอร์ เกิดที่เมืองไวเดอรูว์ แคว้นแซกโซนี เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ค.ศ.๑๘๕๗ (พ.ศ.๒๔๐๐) จบการศึกษาจากวิทยาลัยครู เมืองไลป์ซิก และพบรักกับเพื่อนนักศึกษาชาวรัสเซีย นามว่า ออพซิป เซทกิ้น และได้แต่งงานกันในเวลาต่อมา มีบุตร ๒ คน และเป็นหม้ายในปี ค.ศ.๑๘๘๙ (พ.ศ.๒๔๓๒) ในปี ค.ศ.๑๘๘๔ (พ.ศ.๒๔๒๔) ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democratic Party) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะถูกยุบโดยมหาเอกอัครเสนาบดีของปรัสเซีย (เยอรมัน) นามว่า ออทโต ฟอนบิสมาร์ค และคลาร่าได้ถูกเนรเทศไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์
ค.ศ.๑๙๐๗ (พ.ศ.๒๔๕๐) คือ ๘ ปีให้หลังคลาร่าได้กลับสู่เยอรมันดินแดนมาตุภูมิ คลาร่ากลับมาพร้อมกับการก่อตั้งกลุ่มนักสังคมนิยมหญิง หลังจากนั้นในปี ค.ศ.๑๙๑๐ (พ.ศ.๒๔๕๓) ได้ริเริ่มในการเสนอให้กำหนดวันที่ ๘ มีนาคมของทุกปี เป็นวันสตรีสากล
นับจากปี ค.ศ.๑๙๑๔ (พ.ศ.๒๔๕๗) ในขณะที่ประเทศเยอรมันกำลังทำสงครามโลกครั้งที่ ๑ คลาร่า เซทกิ้น ได้ร่วมมือกับ โรซ่า ลัมเซมเบอรค์ (นักคิดสายมาร์คซิสต์หญิงคนสำคัญ) ร่วมกันรณรงค์ต่อต้านสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในนามกลุ่มสปาร์ตาซิสต์ จึงทำให้คลาร่าเดินเข้าออกจากคุกนับครั้งไม่ถ้วน
กลุ่มสปาร์ตาซิสต์ (Spatarcist) เป็นกลุ่มกรรมกรในเยอรมันที่ประท้วงรัฐบาลเยอรมันสมัยนั้น ในการทำสงครามโลกครั้งที่ ๑ ภายใต้การนของ ๒ นักสังคมนิยมเยอรมัน โรซ่า ลัมเซมเบอรค์ (Rosa Luxemburg) และ คารล์ เลี๊ยบเนคท์ (Karl Liebknecht) ด้วยความคิดที่ว่า ทหารที่ส่งไปรบและล้มตายก็คือประชาชน หรือผู้ใช้แรงงาน สงครามเป็นการกระทำที่สนองตัณหาของรัฐบาลในการต้องการความยิ่งใหญ่ แต่ประชาชนมีแต่ต้องสูญเสีย (กลุ่มสปาร์ตาซิสต์ เป็นชื่อที่นำมาจากชื่อของสปาร์ตาคัส ผู้นำของทาสในยุคโรมันโบราณ ที่หาญกล้าขึ้นปฏิวัติล้มอำนาจของจักรพรรดิโรมันยุคโบราณ)
ในปี ค.ศ.๑๙๑๘ (พ.ศ.๒๔๖๑) ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกคนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน และได้เป็นผู้แทนในสภาไรช์สตัก (สภาผู้แทนของเยอรมนยุคนั้น) ตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๒๐-๑๙๓๒ (พ.ศ.๒๔๖๓-๒๔๗๕) สุนทรพจน์ครั้งสุดท้ายของคลาร่าในสภาเยอรมัน คลาร่าได้กล่าวโจมตี ประณาม อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ อย่างรุนแรง และเรียกร้องหาแนวร่วมที่จะช่วยกันต่อต้านพรรคนาซีเยอรมัน ซึ่งกำลังมีบทบาทอย่างสูงในการเมืองเยอรมัน จนเรียกได้ว่าเป็นยุคเผด็จการรัฐสภาอย่างสมบูรณ์แบบ
ปี ค.ศ.๑๙๓๓ (พ.ศ.๒๔๗๖) พรรคนาซีเยอรมันได้ประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจทางการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ด้วยการมีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญยุบเลิกระบอบรัฐสภา และให้อำนาจทุกอย่างขึ้นอยู่กับท่านฟูเร่อร์ (ผู้นำ) แต่เพียงผู้เดียว
คลาร่า เซทกิ้น จึงเป็นหนึ่งในนักการเมืองสายความคิดสังคมนิยมที่ถูกกวาดล้าง จนต้องลี้ภัยการเมืองไปใช้ชีวิตที่รัสเซีย และถึงแก่กรรมในปีเดียวกันนี้
(จาก "ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน ๒๕๕๑". กรุงเทพฯ . สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, มีนาคม ๒๕๕๑ หน้า ๑๐-๑๘)
ดูประวัติของ คลาร่า เซทกิ้น เพิ่มเติมที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Clara_Zetkin


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น