วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2554

จรรยา ยิ้มประเสริฐ: 100 ปีสตรีสากล ผู้หญิงอยู่ตรงไหน? ขับเคลื่อนอย่างไรในปี 2554?

จรรยา ยิ้มประเสริฐ
8 มีนาคม 2554


สิ่งที่อาจจะจำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนในทศวรรษใหม่ เพื่อความเสมอภาคหญิงชาย คนเลือกเพศต่าง รวมทั้งสิทธิวิถีเพศในสังคมไทย เรียบเรียงจากข้อคิดเห็นเพื่อแนวทาง ในปี 2554 พวกเราจำเป็นต้องระลึกถึง และย้ำเตือนความจำถึงศตวรรษแรกแห่งการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ในสังคมไทยและสังคมโลก พวกเราจำต้องย้อนมองประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงในรอบร้อยปีที่ผ่านมา เพื่อที่เราจะได้สามารถวางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเพื่อการสร้างสังคมเท่าเทียมในศตวรรษใหม่
 
แง่มุมทางประวัติศาสตร์ (Historical Context)
เมื่อมองย้อนไปในอดีต เราได้ผ่านการต่อสู้มาอย่างหนักหน่วง เริ่มตั้งแต่การต่อสู้เพื่อ ขนมปังและดอกไม้และ สิทธิสตรีในการมีสิทธิเลือกตั้งการประท้วงและเยียวยาผู้เสียหายจากความโหดร้ายป่าเถือนของสงครามโลก มาสู่การรณรงค์เพื่อสันติภาพ ต่อต้านสงครามนิวเคลียร์ และสงความเหยียดผิว - ทั้งนี้และทั้งนั้นเพื่อเป็นการต่อสู้ที่ฐานรากของการยืนหยัดซึ่งสิทธิสตรี ตั้งแต่การต่อสู้เพื่อสิทธิเจริญพันธุ์และการเลี้ยงดู และสิทธิทางเศรษฐกิจของผู้หญิง ซึ่งต่างก็อยู่ท่ามกลางการต่อสู้ที่หนักหน่วงและยากลำบากเพื่อหยุดการกดขี่ ขูดรีดแรงงานหญิง ที่ถูกส่งป้อนอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้แรงงานอย่างเข้มข้น ที่พากันย้ายตัวจากโลกเหนือมายังโลกใต้ ภายใต้วิถี ต้นทุนต่ำสุด-กำไรสูงสุดแห่งวิถีการค้าเสรีตามทฤษฎีเสรีนิยมใหม่ ที่ส่งผลเสียหายร้ายแรงจนทำให้พวกเรา ต้องมาต่อสู้และรับมือกับผลกระทบมากมาย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือสภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน
 
กระนั้นก็ตาม เมื่อมองย้อนไปในรอบร้อยปีที่ผ่านมา มันมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงในทางทีดีขึ้นให้้ เห็นอยู่มากมายเช่นกัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความจริงที่ประจักษ์ต่อหน้าต่อตาของพวกเรา คือการทำลายล้างอย่างรุนแรงที่มนุษย์กระทำต่อโลกอันสวยงามแห่งนี้ ช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 60 ปี มันได้สร้างความเสียหายต่อโลกอย่างที่ไม่มีทางฟื้นคืน ความสวยงามและความหลากหลายของธรรมชาติจำนวนมากมหาศาลได้สูญหายไปตลอดกาล ไม่มีทางที่จะฟื้นฟูให้เหมือนเดิมได้อีกต่อไป



เราต้องอยู่กับผลลัพธ์อันน่าสะพรึงกลัวและการแพร่ขยายเป็นวงกว้างของผลกระทบจากพิมพ์เขียวแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจักรวรรดินิยม เราไม่สามารถหรือไม่ควรจะลบเลือนความโหดร้ายที่เกิดจากสงครามจิตวิทยาของยุคสงครามเย็น รวมทั้งไม่ควรประมาณการความเสียหายและผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมต่ำเกินกว่าความเป็นจริง เพราะความเสียหายมากมายได้เกิดขึ้นทั้งต่ออากาศและต่อพื้นผิวดิน
 
ปัญหามากมายที่เกิดจากการปฏิบัติตามพิมพ์เขียวการพัฒนาของสถาบันแบรทตันวูดส์ (IMF และ ธนาคารโลก) ยังคงเป็นตัวบั่นทอนและสร้างความสับสนต่อทิศทางการพัฒนาประเทศของหลายประเทศในโลกใต้ แต่ไม่ใช่กับประเทศโลกใต้เท่านั้น! แนวนโยบายของสถาบันแบรทตันวูดส์ ยังคงให้การอุดหนุนระบอบเผด็จการ และคงความเป็นไปได้ของความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการกระทำของรัฐบาลเผด็จการกับประชาชนในประเทศของตัวเอง - ซึ่งบ่อยทีเดียวมักอ้างว่า ปราบปรามประชาชนในนามเพื่อประชาธิปไตย หรือในนามเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจหรือเพื่อการค้าเสรี เป็นต้น
 
ตลาดผู้บริโภคในประเทศโลกเหนือ ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการแข่งขันทางการค้า ดำรงระบบสังคมชายเป็นใหญ่ที่กดทับสิทธิสตรี และก็ยังคงพึงพิงต่อการต่อสู้เพื่อได้ ควบคุมการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในโลกใต้ และก็ยังคงเป็นพลังที่สามารถมีอำนาจทำลายล้างสรรพสิ่ง (ไม่ได้เป็นผลพวงมาจากแรงพลักของตลาดผู้บริโภคในโลกเหนือเท่านั้น แต่จากกลุ่มผู้บริโภคในโลกใต้ที่ขยายเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน) ผ่านทางการส่งเสริมเกษตรพาณิชย์ตามแนวปฏิวัติเขียว รวมทั้งการตรึงค่าจ้างขั้นต่ำในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นต้น พวกเรายังคงต้องเผชิญกับการทำลายพื้นที่ป่าและการล่มสลายของเกษตรกร ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานจำนวนมากทั้งในประเทศและไปยังต่างประเทศ และการสั่งสมความมั่งคั่งในหมู่คนเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้น
 
การวิเคราะห์การเมือง (Political analysis)
ในการค้นหาเส้นทางเพื่อก้าวเดินไปข้างหน้าในทศวรรษที่สองแห่งการสร้างความเข้ม แข็งให้กับผู้หญิง เราจำเป็นจะต้องไม่ละเลยถึงความจำเป็นที่จะต้อง . .
 
จัดการศึกษาอย่างเป็นองค์รวม การศึกษาที่เคารพและให้คุณค่าต่อความหลากหลายในทุกแง่มุมของสรรพชีวิต และตระหนักถึงความสำคัญที่จะต้องเชื่อมโยงมิติของการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองเข้าด้วยกัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำพาประเทศไปสู่่การพัฒนาที่ยั่งยืน แม้ว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนอาจจะเริ่มได้จากหลากหลายแง่มุม แต่บทบาทของพวกเราคือการสร้างความตระหนักถึงความจำเป็นที่สังคมจะต้องยกระดับของความอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง ต่อมุมมองและทัศนคติต่อเชื้อชาติ และศาสนาที่แตกต่างของคนในสังคม เป็นต้น
 

เป้าหมายของพวกเราคือมุ่งสู่การมีรัฐสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมผู้หญิงในการมีส่วนรร่วมทางการเมือง และการสร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างเท่าเทียมกับชาย
 
เสรีภาพในการพูดและสิทธิการเจรจาต่อรองร่วมขบวนการสิทธิสตรีจำเป็นต้องใช้ศักยภาพของพวกเราอย่างเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับกลุ่มผู้หญิงรากหญ้ามากขึ้น เพื่อที่ผู้หญิงรากหญ้าทั้งหลายจะได้มีโอกาสยื่นข้อเรียกร้องที่แสดงความต้องการของพวกเขาอย่างแท้จริง
 
พวกเราจะทำอย่างไรได้บ้างที่จะช่วยเปิดพื้นที่ทางการเมือง และสร้างความเข็มแข็งให้กับผู้หญิงมากขึ้น? ปัจจุบันนี้ โลกไม่ได้มีวิถีเศรษฐกิจเดี่ยวแต่ยังมีวิถีเศรษฐกิจและวิถีชีวิตที่หลากหลาย จึงจำเป็นที่ขบวนการผู้หญิงและภาคประชาชนเปิดพื้นที่ความคิด ความรู้ เพื่อมุ่งสร้างความสมานฉันท์กับกลุ่มคนที่มีการร่วมกลุ่มเพื่อที่จะเป็นอิสระจากการครอบงำของบรรษัทข้ามชาติ และการถูกผนวกรวมเข้าสู่วัฎจักรของการผูกขาดทางการค้า
 
พวกเราจำต้องตระหนักรู้เท่าทันและกระตุ้นให้เกิดวิถีเศรษฐกิจใหม่ๆ ทั้งในรูปแบบเศรษฐกิจชุมชนที่ดำรงอยู่บนการเคารพในจริยธรรมการผลิต ในวิถีการใช้ชีวิตร่วมกัน ในการจัดโครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่ดูแลคนทั้งสังคม ส่งเสริมเศรษกิจอินทรีย์ และเศรษฐกิจสมานฉันท์ และเศรษฐกิจในรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจนิเวศน์ เศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น
 
การประชุมขององค์กรผู้หญิงควรจะโฟกัสไปยังการใช้พลังของพวกเรา เพื่อเปิดพื้นทางการเมืองและการต่อรองให้กับกลุ่มผู้หญิงรากหญ้าต่างๆ เพื่อให้รูปแบบเศรษฐกิจแบบใหม่ได้มีการนำเสนอสู่สาธารณชน และมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความเข็มแข็งให้กับผู้หญิงและเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อที่การค้าที่ยุติธรรม (Fair Trade) จะเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ



ต่อไปนี้เป็นสถิติและข้อมูลที่รวบรวมเพื่อนำเสนอสถิติข้อมูลที่มีการศึกษาถึงความก้าวหน้าของผู้หญิงในหลายๆ ประเทศ เพื่อนำมาเปรียบเทียบและเป็นกระจกสะท้อนถึงความก้าวหน้าหรือล้าหลังของผู้ หญิงไทยเมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิงในบริบทโลก
 
ประชากรโลก ณ ขณะนี้อยู่ที่ 7,092 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2513 เกือบเท่าตัว (3,912 ล้านคน) และจำนวนผู้คนอยู่กระจุกตัวอยู่ตามเมือง หลวงที่แออัดมากขึ้นเรื่อยๆ
 
ในจำนวน 195 ประเทศ 140 ประเทศปกครองด้วยระบบรัฐสภาพที่มาจากการเลือกตั้ง มีจำนวนประชากรที่อยู่ในกลุ่มยากจน 1.3 พันล้านคน ในจำนวนนี้ 70% เป็นประชากรเพศหญิง 75-80% ของประชากร 27 ล้านคน ที่ต้องเป็นผู้ลี้ภัยการเมืองในโลกนี้เป็นผู้หญิง
 
ผู้หญิงและกำลังประชากร
เกือบทุกประเทศนี้มีสัดส่วนประชากรเพศหญิงมีอายุยืนกว่าเพศชายระหว่างปี 2513 – 2535 อายุเฉลี่ยของผู้หญิงในประเทศกำลังพัฒนาอยู่ระหว่าง 54-63 ปี และในประเทศพัฒนาแล้วจะอยู่ที่ระหว่าง 74-79.4 ปีภายในปี 2568 ผู้หญิงอายุ 60 ปี ขึ้นไปจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ ลาติน อเมริกา คาริเบี้ยน และอาฟริกาเหนือ ในประเทศโลกเหนือ จำนวนการมีบุตรโดยไม่แต่งงานเพิ่มขึ้นกว่า 50% ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ประมาณ 25% ของหัวหน้าครัวเรือนในโลกนี้เป็นผู้หญิง
 
ผู้หญิงและการจ้างงาน
คนงานหญิงได้รับค่าแรงโดยเฉลี่ยต่ำกว่าผู้ชายประมาณ 25% ในงานประเภทเดียวกัน ไม่แตกต่างกันไม่ว่าจะอยู่ในประเทศโลกเหนือและประเทศโลกใต้ (นอกภาคเกษตร)
สัดส่วนผู้หญิงที่ทำงานในการจ้างงานประจำมีเพียง 31% ในประเทศโลกใต้ และ 47% ในประเทศโลกเหนือ ผู้หญิงเป็นกำลังแรงงานที่ผลิตอาหารในสัดส่วน 55% ในประเทศโลกใต้ ผู้หญิงที่ต้องรับภาระงานบ้านและงานในชุมชมที่ไม่มีค่าจ้างมีสัดส่วนในแง่ทาง เศรษฐกิจสูงถึง 10-35% ของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) หรือคิดเป็นมูลค่า 11 ล้านล้านดอลลาร์ สัดส่วนของแรงงานหญิงและชายในประเทศอุตสาหกรรมมีสัดส่วนเท่ากันในเกือบทุกประเทศในโลกนี้ การสมทบแรงงานในนงานที่ไม่มีค่าจ้าง (งานดูแลบุตร ครอบครัว และงานบ้าน) ผู้หญิงทำมากกว่าผู้ชายถึงสองเท่าตัว
 
ผู้หญิงกับสุขภาพ
ประมาณการว่าทุกปีจะมีผู้หญิงกว่า 20 ล้านคนที่ต้องทำแท้งในสภาพที่ไม่ปลอดภัย ทุกปีจะมีผู้หญิง 600-700,000 เสียชีวิต (ประมาณ 1,600 คน/วัน) จากสาเหตุอันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์ การคลอดบุตรและการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ในเขตซาฮาร่าของอาฟริกา ผู้หญิง 1 ใน 13 คน เสียชีวิตจากการตั้งครรภ์ การคลอดบุตร ต่างกันมากเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วน 1 ใน 3,300 คน ของสถิติของประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน 51% ของผู้ที่ต้องอยู่กับเชื้อโรคเอดส์ (มากกว่า 20 ล้านคน) เป็นผู้หญิง (UNIFEM, 2003) ทั่วโลก สัดส่วนผู้ติดเชื้อ HIV เกิดขึ้นในกลุ่มอายุ 15-24 ปี และ 60% ของเยาชนที่มีเลือด HIV + ระหว่างอายุ 15-24 ปี คือผู้หญฺง (UNIFEM, 2003)
 
ผู้หญิงกับความรุนแรง
ทุกปีเด็กหญิงกว่า 2 ล้านคนต้องทุกข์ทรมาณจากการคลิบอวัยะเพศ ผู้หญิง 20 – 50% ต่างก็ต้องทนกับความรุนแรงในครอบครัวในหลายระดับตลอดช่วงอายุการแต่งงาน
ในปาปัว นิวกีนี ผู้หญิง 60-70% ต้องเผชิญกับการถูกทำร้ายในครอบครัว ในสหรัฐอเมริกา ทุก 8 วินาทีจะมีผู้หญิงถูกทำร้าย และผู้หญิงถูกข่มขืนทุก 6 นาที
ในอินเดีย จะมีผู้หญิง 5 คน ถูกเผาทั้งเป็นทุกวัน การข่มขืนถูกใช้เป็นอาวุธทำร้ายประชาชนในประเทศที่มีสงคราม ในราวันดาระหว่างปี 2534-2538 มีเด็กสาวและผู้หญิงถูกข่มขืนโดยมีตัวเลขประมาณการระหว่าง 15,700 คน ถึง 250,000 คน ขึ้นอยู่กับว่าถามข้อมูลจากใคร
 
ผู้หญิงที่ถูกฆาตกรรมอาจจะมีสัดส่วนสูงถึง 70% ที่ถูกสังหารโดยคู่รักหรือคู่ครอง (WHO 2002)
 
ในเคนย่า มีผู้หญิงไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ หนึ่งคนที่ถูกฆาตกรรมโดยคู่ครอง (Joni Seager, 2003)
 
ในอียิปต์ 35% ของผู้หญิงรายงานว่าถูกสามีทำร้ายทุบตี (UNICEF 2000) ผู้หญฺิง 47% ที่ถูกทำร้ายไม่เคยปริปากบอกเรื่องนี้กับใคร (WHO 2002)
 
ทุก 15 วินาที จะมีผู้หญิงถูกทำร้ายโดยคู่ครองหรือคนรัก ในสหรัฐอเมริกา (UN Study on the World’s Women, 2000)
 
ในบังคลาเทศ 50% ของคดีฆาตกรรมคือผู้หญิงที่ถูกฆ่าโดยสามีของตัวเอง (Joni Seager, 2003)
ในปากีสถาน 42% ของผู้หญิง จำต้องก้มหน้ายอมรับว่าการถูกทำร้ายร่างกายเป็นชะตากรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ 33% ปิดปากเงียบ 19% ลุกขึ้นประท้วงการทำร้ายร่างกาย และ 4% แจ้งความดำเนินคดี(Government study in Punjab 2001)
 
ในอาฟริกาใต้ ผู้หญิงถูกข่มขืน 147 คนทุกวัน (South African Institute for Race Relations 2003)
 
ในตุรกี 35.6% ของผู้หญิงถูกข่มขืนโดยสามีของตัวเอง (WWHR Publications: Istanbul, 2000)
 
ในอินเดีย มีการประมาณการว่ามีผู้หญิงถูกฆ่าเพื่อสินสอดประมาณปีละ 15,000 คน ส่วนใหญ่ถูกทำให้เหมือนกับการตายจากอุบัติเหตุไฟลวกตายในครัว (Injustices Studies. Vol. 1, November 1997)
 
ในประเทศจีนมีผู้หญิงที่ถูกข่มขืนเพียง 3% ที่กล้าแจ้งความ
 
ผู้หญิงกับการศึกษา
2 ใน 3 ของสัดส่วนผู้ไม่รู้หนังสือในโลกนี้ เป็นผู้หญิง
2 ใน 3 ของเด็กกว่า 130 ล้านคนทั่วโลกที่ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือเป็นผู้หญิง
 
ผู้หญิงและสงคราม
80% ของผู้สี้ภัยการเมืองคือผู้หญิงและเด็ก

ที่มา : ประชาไท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น