วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2554

100 ปี วันสตรีสากล: ผู้หญิง ความเท่าเทียม และหนทางอีกยาวไกล

สตรีชาวอียิปต์เรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกัน เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี วันสตรีสากล พวกเธอถูกผู้ชายกล่าวผลักไสให้กลับไปยัง "ที่ที่พวกเธอสมควรจะอยู่" เสีย ซึ่งนั่นก็คือบ้าน

ผู้หญิงชาวคองโกเรียกร้องให้รัฐบาลปกป้องพวกเธอจากการข่มขืนที่ทำอย่าง "เป็นระบบ"

ขณะที่สตรีในโครเอเชีย ซึ่งกำลังตกงาน กล่าวหารัฐบาลว่า "โกงกินบ้านเมือง"


แต่เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี วันสตรีสากล ซึ่งถูกก่อตั้งโดยกลุ่มสตรีสังคมนิยม เพื่อเรียกร้องให้มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดีขึ้น สิทธิที่จะเลือกตั้งผู้แทนและได้ขึ้นปกครองบ้านเมือง และสิทธิความเท่าเทียมกับเพศชาย สตรีเกาหลีใต้นับร้อยออกมาเต้นรำบนท้องถนน ขณะที่สตรีชาวเม็กซิโกกว่า 8,000 คน ออกวิ่งเป็นระยะทาง 10 กม. ในกรุงเม็กซิโก ซิตี้

ขณะที่แดเนียล เครก ผู้สวมบทสายลับเจมส์บอนด์มาดเท่ห์ เปิดตัวในมาดสาวบอนด์ผมสีบลอนด์ ในชุดลายผ้าพิมพ์แบบผู้หญิง รองเท้าส้นสูง และสร้อยไข่มุกระยับ ในภาพยนตร์สั้นความยาวสองนาที เพื่อเรียกร้องให้คนทั่วโลกกลับมาสนใจในประเด็นความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ผู้หญิงทั่วโลกกำลังประสบ



นายบัน คี-มุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ กล่าวเรียกร้องว่า เมื่อ 100 ปีก่อน "ความเสมอภาคระหว่างเพศถือเป็นประเด็นที่สุดโต่ง"

ขณะที่กระบวนการพัฒนานับตั้งแต่นั้น ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ "เราต้องจดจำด้วยว่า ในหลายประเทศ ในหลายสังคม ผู้หญิงยังคงเป็นพลเมืองชั้นสอง ถูกปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานที่ตนเองสมควรได้รับ ไม่มีแม้กระทั่งโอกาสที่ถูกต้องตามกฎหมาย"

หลักฐานความเป็นพลเมืองชั้นสองของพวกเธอที่เห็นได้ชัด คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณจัตุรัสทาห์รีร์ ในกรุงไคโร  เมื่อผู้หญิงนับพันคน บ้างสวมผ้าคลุมศีรษะ บ้างอยู่ในชุดเสื้อยืดกางเกงยีนส์ ออกมาเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสดังกล่าว เพื่อเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมและยุติการคุกคามต่อผู้หญิง แต่ไม่นานนักพวกเธอก็ถูกกลุ่มผู้ชายที่มีจำนวนมากกว่าขับไล่ออกไป

"พวกเขาบอกว่า หน้าที่ของเราคือการอยู่กับบ้านและดูแลครอบครัว ไม่ใช่เพื่อเป็นผู้นำประเทศ" ฟารีดา เฮลมี ผู้สื่อข่าววัย 24 ปี กล่าว





ในประเทศไอวอรี่ โคสต์ ผู้หญิงนับพันออกมาแสดงความท้าทายด้วยการเดินชุมนุมบนท้องถนน หลังจากที่ผู้ร่วมเดินขบวนสตรีเจ็ดคนซึ่งมีอาวุธที่เป็นเพียงกิ่งไม้เพื่อแสดงถึงสันติภาพถูกทหารพร้อมอาวุธครบมือสังหารอย่างโหดเหี้ยมเมื่อสัปดาห์ก่อน พวกเธอพยายามที่จะออกมาเดินขบวนทุกวันนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ครั้งนั้น แต่ก็ต้องรู้สึกไม่สบายใจทุกครั้งที่ต้องตกอยู่ในสายตาของกองทัพทหารผู้ภักดีต่อนายโลรองต์ จีบักโบ ที่ประกาศว่าตนเองเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ขณะที่นายอลาสซาน อูอัตตาร่า ได้รับการรับรองจากนานาประเทศว่าเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งที่ถูกต้อง

ส่วนที่กรุงคินชาซา ของประเทศคองโก นางโอลีฟ คาบิลา สตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศ ร่วมเดินขบวนเพื่อต่อต้านการกระทำชำเราต่อสตรี ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือในการสู้รบมาช้านาน ตามรายงานเมื่อปี 2009 พบว่า สตรีอย่างน้อย 8,300 รายถูกข่มขืน แต่เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์คาดว่าตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้มาก

ขณะที่กรุงซาเกรบ ประเทศโครเอเชีย และเมืองท่าริเยก้า ผู้ประท้วงร่วมแสดงพลังเนื่องในวันสตรีสากล โดยเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก และเพิ่มการจ้างงาน ในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์  ผู้ประท้วงเรียกร้องความยุติธรรมต่อ "comfort women" ซึ่งถูกบังคับให้เป็นโสเภณีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และที่เขตฉนวนกาซา สตรีปาเลสไตน์หลายร้อยคนเรียกร้องให้ยุติความแตกร้าว ระหว่างกลุ่มฮามาส ซึ่งควบคุมฉนวนกาซา และกลุ่มฟาตาห์ ซึ่งควบคุมเขตเวสต์แบงค์




ขณะที่ดาราหญิงและสตรีผู้มีชื่อเสียง ร่วมชุมนุมในกรุงวอชิงตัน ดีซี โดยนางฮิลลารี คลินตัน รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า ผู้หญิงจำเป็นต้องถูกควบรวมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการปฏิรูปประชาธิปไตยในตะวันออกกลาง

"ในอีกหลายเดือนและปีถัดที่กำลังจะมาถึง สตรีในอียิปต์และตูนิเซียและประเทศอื่นๆ ควรมีสิทธิเท่าเทียมกับชายในการสร้างรัฐบาลของตน เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบ ไว้วางใจได้ และโปร่งใส" เธอกล่าวต่อหน้าสตรีจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงนางมิเชล โอบามา, ประธานาธิบดีหญิงแห่งเคอร์จีกิสถาน และนายกรัฐมนตรีแห่งออสเตรเลีย

นางมิเชล บาเชเลต์ อดีตประธานาธิบดีชิลี ซึ่งขณะนี้ดำรงตำแหน่งตัวแทนของยูเอ็นเพื่อส่งเสริมสิทธิสตรี กล่าวต่อสตรีที่เข้าร่วมพิธีฉลองครบรอบ 100 ปี วันสตรีสากล ว่าหลายคนอาจมองโลกในปัจจุบัน "ทั้งด้วยความมีศักดิ์ศรีและความสิ้นหวังระคนกันไป"

ผู้หญิงและผู้ชายทั่วโลกมากกว่า 1 ล้านคนทั้งในออสเตรีย เดนมาร์ค เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ ต่างร่วมออกมาเดินขบวนตามท้องถนนเพื่อรำลึกวันสตรีสากล ซึ่งแต่เดิมเรียกว่าวันสตรีผู้ใช้แรงงานสากล ที่มีการก่อตั้งในวันที่ 19 มี.ค. 1911 เพื่อเรียกร้องให้มีการหยุดยั้งการเลือกปฏิบัติ

ต่อมาในปี 1975 ระหว่างปีสตรีสากล ยูเอ็นเริ่มกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ในการเฉลิมฉลองวันสตรีสากล โดยสองปีต่อมา คณะมนตรีแห่งยูเอ็นได้กำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันแห่งสิทธิและสันติภาพสตรีสากล

ขณะที่กระบวนการเปลี่ยนแปลงในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาจะดีขึ้นเป็นลำดับ "ความหวังของความเท่าเทียมกัน ยังคงต้องเดินทางอีกไกล กว่าจะถึงสิ่งที่เราคาดหวังกันไว้นับตั้งแต่วันสตรีสากลวันแรกเมื่อ 100 ปีก่อน" นางมิเชล บาเชเลต์กล่าว



"เด็กหญิงยังคงได้ไปโรงเรียนน้อยกว่าเด็กผู้ชาย เกือบสองในสามของผู้ไม่รู้หนังสือวัยผู้ใหญ่คือผู้หญิง และทุกๆ 90 วินาทีมีผู้หญิงเสียชิวิตจากการตั้งครรภ์หรือคลอดบุตร แม้ว่าวิทยาการทางการแพทย์จะก้าวหน้าไปเพียงใดก็ตาม นอกจากนั้น ผู้หญิงยังมีรายได้น้อยกว่าผู้ชายในสาขาอาชีพเดียวกัน ขณะที่สิทธิในการรับมรดกและการครอบครองที่ดินยังคงเหลื่อมล้ำอยู่มาก" เธอกล่าว

"แม้ว่าผู้หญิงจะได้สิทธิในการรับตำแหน่งหน้าที่การงานในระดับสูง แต่ก็มีเพียง 28 ราย ที่อยู่ในฐานะผู้นำแห่งรัฐ และเพียง 8% ทำหน้าที่เพื่อการเจรจาด้านสันติภาพ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา องค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ รายงานว่า ขณะที่จำนวนผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะพุ่งขึ้นสูงสุดถึง 19.1% เมื่อปี 2010 เป้าหมายด้านความสมดุลระหว่างเพศทางการเมืองยังคงเป็นเรื่องที่ห่างไกล" 


ที่มา : มติชน 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น