Juan Carlos VS Otegi Mondragon
ความเดิมของคดีนี้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2003 เจ้าหน้าที่ตำรวจสเปนได้ขอหมายศาลเพื่อบุกเข้าไปสำนักงานของหนังสือพิมพ์ Euskaldunon Egunkaria เพื่อตรวจค้นและสั่งปิดหนังสือพิมพ์เนื่องจากมีหลักฐานว่าหนังสือพิมพ์นี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนบาสก์ (ETA) นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังจับกุมกรรมการบริหารและบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์นี้ไปอีก 10 คน หลังการคุมขังโดยลับผ่านไป 5 วัน มีการร้องเรียนจากผู้เกี่ยวข้องกับผู้ถูกคุมขังว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขังทั้งสิบอย่างทารุณ
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2003 กษัตริย์สเปนได้รับการเชื้อเชิญและต้อนรับจากหัวหน้ารัฐบาลของประชาคมปกครองตนเองบาสก์ในพิธีเปิดโรงไฟฟ้า ณ เมือง Biscaye ในวันเดียวกันนั้น นาย Arnaldo Otegi Mondragon โฆษกของกลุ่มชาตินิยมบาสก์ Sozialista Abertzaleakในสภาผู้แทนราษฎร ได้นัดสื่อมวลชนเปิดแถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ในระหว่างการตอบคำถามผู้สื่อข่าว เขาได้พูดว่าการเสด็จมายังเมือง Biscaye ของกษัตริย์ฆวน คาร์ลอสนั้นน่าเวทนาและน่าสลดใจ การที่ผู้นำฝ่ายบริหารของแคว้นบาสก์ไปร่วมพิธีเปิดโรงไฟฟ้ากับกษัตริย์ฆวน คาร์ลอส นับเป็น “นโยบายอันน่าละอายอย่างแท้จริง” และ “ภาพๆเดียวแทนคำพูดนับพัน” เขาแสดงความเห็นต่อไปว่า “จะเป็นไปได้อย่างไรที่วันนี้เราต้องไปถ่ายรูปที่เมือง Bilbao กับกษัตริย์สเปน ในขณะที่กษัตริย์สเปนเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกองทัพสเปน นั่นคือ เป็นผู้รับผิดชอบการทรมานผู้ต้องหา คือกษัตริย์นี่แหละที่ปกป้องการทรมาน และระบอบราชาธิปไตยของกษัตริย์ได้บังคับประชาชนด้วยวิธีการทรมานและรุนแรง”
นาย Otegi Mondragon ถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาว่านาย Otegi Mondragon มีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 490 วรรคสาม ต้องรับโทษจำคุก 1 ปี นาย Otegi Mondragon ใช้ช่องทางร้องทุกข์ต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไปแต่ไม่สำเร็จ เขายังไม่ยอมแพ้ เดินหน้าร้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป
เสรีภาพการแสดงความคิดเห็น VS การปกป้องเกียรติยศชื่อเสียงของบุคคล ในสังคมประชาธิปไตย
ตามมาตรา 10 ของอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรปวรรคแรกบัญญัติว่า “บุคคลมีสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก สิทธินี้ประกอบด้วยเสรีภาพในความคิดเห็น เสรีภาพในการรับหรือสื่อสารข้อมูลข่าวสารหรือความคิด โดยปราศจากการแทรกแซงของเจ้าหน้าที่รัฐ... ” และวรรคสองบัญญัติว่า “การใช้เสรีภาพดังกล่าวซึ่งต้องประกอบด้วยหน้าที่และความรับผิด อาจอยู่ภายใต้รูปแบบ เงื่อนไข ข้อจำกัด หรือการลงโทษ ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งต้องเป็นมาตรการจำเป็นในสังคมประชาธิปไตย เพื่อความมั่นคงแห่งชาติ การบูรณาการดินแดน ความปลอดภัยสาธารณะ การรักษาระเบียบ การป้องกันอาชญากรรม การคุ้มครองสุขภาพและศีลธรรม การคุ้มครองชื่อเสียงหรือสิทธิของบุคคลอื่น เพื่อมิให้มีการเปิดเผยข้อมูลลับ หรือเพื่อประกันอำนาจหน้าที่และความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ”
จะเห็นได้ว่ามาตรา 10 วรรคแรกรับรองเสรีภาพการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นไว้ ส่วนวรรคสองเป็นการจำกัดเสรีภาพดังกล่าว โดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไข 3 ประการ ดังนี้
1. การจำกัดเสรีภาพนั้นกำหนดโดยกฎหมาย
2. การจำกัดเสรีภาพนั้นต้องเป็นมาตรการจำเป็นในสังคมประชาธิปไตย
3. การจำกัดเสรีภาพนั้นเป็นไปเพื่อ “ความมั่นคงแห่งชาติ การบูรณาการดินแดน ความปลอดภัยสาธารณะ การรักษาระเบียบ การป้องกันอาชญากรรม การคุ้มครองสุขภาพและศีลธรรม การคุ้มครองชื่อเสียงหรือสิทธิของบุคคลอื่น เพื่อมิให้มีการเปิดเผยข้อมูลลับ หรือเพื่อประกันอำนาจหน้าที่และความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ”
ศาลฯได้พิจารณาว่าการกระทำของรัฐสเปน (ศาลฎีกาสเปนพิพากษาลงโทษนาย ในฐานความผิดหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 490 วรรคสาม) เป็น “การแทรกแซงของเจ้าหน้าที่รัฐ” ต่อเสรีภาพแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าการแทรกแซงดังกล่าวจะกระทำได้หรือไม่ ซึ่งการแทรกแซงจะกระทำได้และชอบด้วยอนุสัญญาฯมาตรา 10 ก็ต่อเมื่อเข้าเงื่อนไขข้อจำกัดเสรีภาพ 3 ประการตามมาตรา 10 วรรคสอง
ศาลฯพิจารณาเงื่อนไขข้อจำกัดไปทีละประการ ดังนี้
ประการแรก การจำกัดเสรีภาพนั้นกำหนดโดยกฎหมายหรือไม่? ศาลฯเห็นว่ากรณีนี้ศาลสเปนได้ตัดสินพิพากษาลงโทษนาย โดยอาศัยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 490 วรรคสาม
ประการที่สอง การจำกัดเสรีภาพนั้นเป็นไปเพื่อ “ความมั่นคงแห่งชาติ การบูรณาการดินแดน ความปลอดภัยสาธารณะ การรักษาระเบียบ การป้องกันอาชญากรรม การคุ้มครองสุขภาพและศีลธรรม การคุ้มครองชื่อเสียงหรือสิทธิของบุคคลอื่น เพื่อมิให้มีการเปิดเผยข้อมูลลับ หรือเพื่อประกันอำนาจหน้าที่และความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ” หรือไม่? ศาลฯเห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 490 วรรคสามของประมวลกฎหมายอาญา และคำพิพากษาของศาลสเปน เป็นไปเพื่อคุ้มครองชื่อเสียงหรือสิทธิของบุคคลอื่น ซึ่งในกรณีนี้คือกษัตริย์สเปน
ประการที่สาม การจำกัดเสรีภาพนั้นต้องเป็นมาตรการจำเป็นในสังคมประชาธิปไตยหรือไม่? ในส่วนนี้ ศาลฯพิจารณาว่า การจำกัดเสรีภาพการแสดงความเห็นในกรณีนี้ไม่เป็นมาตรการจำเป็นในสังคมประชาธิปไตย โดยได้เหตุผลไว้ 2 ประเด็นสำคัญ
ประเด็นแรก ศาลฯเห็นว่า “ไม่มีที่ให้กับการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในการถกเถียงทางการเมือง” และการแสดงความเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะนั้นย่อมได้รับความคุ้มครอง กรณีนี้ Otegi Mondragon ได้แสดงความเห็นในเรื่องการเมือง ในประเด็นสาธารณะ และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่ประเด็นนี้ไม่สำคัญเท่ากับประเด็นที่สองที่ศาลฯยืนยันว่า “การวิจารณ์อันอาจยอมรับได้ต่อบรรดานักการเมืองและบุคคลสาธารณะต้องมีขอบเขตที่กว้างขวางกว่าบุคคลธรรมดา” อีกนัยหนึ่ง คือ บรรดาบุคคลสาธารณะจำต้องอดทนอดกลั้นต่อคำวิจารณ์มากกว่าบุคคลทั่วไป แน่นอน บุคคลสาธารณะย่อมมีสิทธิในการปกป้องชื่อเสียงเกียรติยศของตน แต่ต้องพิจารณาประกอบกันไปด้วยว่าการคุ้มครองชื่อเสียงนั้นต้องสมดุลกับประโยชน์สาธารณะที่ได้จากการถกเถียงทางการเมืองและวิจารณ์บุคคลสาธารณะนั้น
ศาลฯยอมรับว่าคำพูดของนาย Otegi Mondragon มีลักษณะยั่วยุและดูหมิ่น แต่การถกเถียงทางการเมืองและการอภิปรายสาธารณะ ท่ามกลางบรรยากาศดุเดือดเช่นนี้ อาจเป็นไปได้ที่ผู้พูดจะหลุดคำพูดลักษณะยั่วยุจึงเป็นเรื่องที่ต้องอดทนยอมรับและลดความเข้มข้นในการพิจารณาว่าหมิ่นประมาทหรือไม่ลง และคำพูดของนาย Otegi Mondragon เป็นการกล่าวถึงกษัตริย์ในฐานะสถาบัน และศาลฯเห็นว่าไม่ได้ประทุษร้ายหรือแสดงการเกลียดชังหรือยั่วยุให้ใช้ความรุนแรง
ศาลฯยังพบอีกว่าบทบัญญัติมาตรา 490 วรรคสามของประมวลกฎหมายอาญาที่ศาลภายในของรัฐสเปนนำมาใช้ตัดสินลงโทษนาย Otegi Mondragon นั้นเป็นกฎหมายที่มีลักษณะพิเศษและแตกต่างจากกฎหมายกำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป ความข้อนี้ย่อมไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรปดังที่ศาลฯเคยวินิจฉัยไปแล้วในคดีก่อนๆว่าการกำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาทประมุขของรัฐต่างประเทศและหมิ่นประมาทประธานาธิบดีให้แตกต่างจากความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปนั้นไม่ชอบ แม้อ้างว่ามีความแตกต่างระหว่างประธานาธิบดีกับกษัตริย์อยู่ แต่แนวคำวินิจฉัยบรรทัดฐานนี้ก็ต้องนำมาใช้ทั้งสิ้นไม่ว่าประเทศนั้นจะมีประมุขของรัฐเป็นประธานาธิบดีหรือเป็นกษัตริย์ การอ้างว่ากษัตริย์ทรงเป็นกลางทางการเมือง เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติไม่อาจทำให้กษัตริย์หลบอยู่ภายใต้หลืบเงาเพื่อหลีกหนีการวิพากษ์วิจารณ์ไปได้ โดยเฉพาะในคดีนี้เป็นการวิจารณ์กษัตริย์ในฐานะสถาบัน วิจารณ์กษัตริย์ในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ วิจารณ์กษัตริย์ในฐานะผู้แทนของชาติ และท้าทายถึงความชอบธรรมของโครงสร้างระบบการเมืองการปกครองตามรัฐธรรมนูญของรัฐ รวมทั้งการวิจารณ์ระบอบราชาธิปไตย
ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปยังได้ให้เหตุผลที่น่าสนใจอย่างยิ่งและอาจส่งผลกระทบกระเทือนถึงระบบรัฐธรรมนูญของประเทศประชาธิปไตยที่อนุญาตให้กษัตริย์เป็นประมุขได้ในอนาคต ศาลฯเห็นว่า “ข้อเท็จจริงที่ว่ากษัตริย์ไม่ต้องรับผิดตามรัฐธรรมนูญสเปน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางอาญานั้น ไม่เป็นเครื่องขัดขวางต่อการถกเถียงอย่างอิสระในประเด็นที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบของกษัตริย์ทั้งในฐานะสถาบัน ทั้งในฐานะสัญลักษณ์ ตามตำแหน่งประมุขของรัฐ เว้นแต่เป็นกรณีที่ต้องเคารพต่อเกียรติยศชื่อเสียงของกษัตริย์ในฐานะบุคคลคนหนึ่ง” นั่นหมายความว่า แม้รัฐธรรมนูญกำหนดว่ากษัตริย์ไม่ต้องรับผิดและไม่อาจถูกละเมิดได้ก็ตาม เราก็ยังสามารถวิจารณ์กษัตริย์ได้ในฐานะที่กษัตริย์เป็นสถาบันการเมือง
ในส่วนของโทษที่ศาลภายในสเปนกำหนดนั้น ศาลฯเห็นว่าไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำ เพราะโทษจำคุก 1 ปีนั้นถือว่ามากเกินไปเมื่อเทียบกับการกระทำอันเป็นความผิด อาจกล่าวได้ว่า ในการวิจารณ์ประเด็นการเมือง ผู้วิจารณ์ไม่ควรต้องรับโทษจำคุก
เป็นอันว่าศาลสิทธิมนุษยชนโดยมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่าการที่ศาลภายในของรัฐสเปนพิพากษาให้นาย Otegi Mondragon จำคุก 1 ปีในความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ เป็นการละเมิดมาตรา 10 ของอนุสัญญาฯ ให้รัฐสเปนชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทางจิตใจให้แก่นาย Otegi Mondragon เป็นจำนวนเงิน 20,000 ยูโร และชดใช้ค่าธรรมเนียมศาลและค่าใช้จ่ายจากการดำเนินคดีในศาลเป็นจำนวนเงิน 3,000 ยูโร
กาลอวสานของ Lèse Majesté ในยุโรป?
แม้คำวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาภายในของรัฐสมาชิกที่ได้ตัดสินเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว แต่ผลพลอยได้จากคำวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป คือ วางหลักการและวิธีการปฏิบัติแก่รัฐสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจนำไปสู่การกระตุ้นเตือนให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายภายในหรือวิธีปฏิบัติขององค์กรต่างๆของรัฐสมาชิกให้สอดคล้องกับหลักการในคำวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปนั้น
ดังปรากฏให้เห็นจากผลต่อเนื่องจากคดี Colombani et autres c. France ภายหลังจากศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปวินิจฉัยว่าการที่ศาลภายในของฝรั่งเศสพิพากษาลงโทษนาย Colombani ในความผิดฐานหมิ่นประมาทประมุขของรัฐต่างประเทศนั้นเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2004 รัฐสภาฝรั่งเศสได้ลงมติให้ความเห็นชอบแก้ไขรัฐบัญญัติลงวันที่ 29 กรกฎาคม 1881 ว่าด้วยเสรีภาพสื่อมวลชน โดยยกเลิกบทบัญญัติมาตรา 36 ความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาทประมุขของรัฐต่างประเทศ (โปรดดูบทความของผู้เขียน http://www.onopen.com/piyabutrs/09-06-11/4851)
เมื่อคำวินิจฉัยนี้ได้กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่ากฎหมายกำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ขัดกับเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น และกรณีที่รัฐธรรมนูญสเปนกำหนดให้กษัตริย์ไม่ต้องรับผิดและไม่อาจถูกละเมิดไม่อาจกีดขวางการวิจารณ์กษัตริย์ เช่นนี้แล้ว ก็น่าคิดต่อไปว่า ในอนาคตสเปนจะมีการผลักดันให้แก้ไขหรือยกเลิกความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือไม่ และประเทศอื่นๆในยุโรปที่เป็นประชาธิปไตยอันอนุญาตให้กษัตริย์เป็นประมุขจะดำเนินการแก้ไข-ยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือไม่
คดี Otegi Mondragon v. Spain มีความสำคัญต่อระบบกฎหมายของประเทศในยุโรป ต่อระบอบการเมืองการปกครองของประเทศในยุโรป โดยเฉพาะประเทศที่ประมุขของรัฐเป็นกษัตริย์ และเป็นหมุดหมายสำคัญหมุดหมายหนึ่งของประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุผล ดังนี้
1. เป็นคำวินิจฉัยแรกที่กล่าวถึงอย่างตรงไปตรงมาว่ากฎหมายกำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ขัดกับเสรีภาพการแสดงความเห็น จากเดิมที่เคยวินิจฉัยเฉพาะกรณีความผิดฐานหมิ่นประมาทประมุขของรัฐที่เป็นประธานาธิบดี และกรณีความผิดฐานหมิ่นประมาทประมุขของรัฐต่างประเทศ (ทั้งที่เป็นกษัตริย์และเป็นประธานาธิบดี) ขัดกับเสรีภาพการแสดงความเห็น และจากคดีนี้ ศาลฯยอมรับแล้วว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ไม่ได้มีความวิเศษไปกว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป
2. เป็นคำวินิจฉัยที่แสดงให้เห็นถึงแนวทางของศาลฯว่าโน้มเอียงมาทางเสรีภาพการแสดงความเห็นมากกว่าการคุ้มครองเกียรติยศและชื่อเสียงของบุคคล
3. เป็นคำวินิจฉัยที่อาจส่งผลสะเทือนถึงระบบรัฐธรรมนูญของประเทศประชาธิปไตยที่อนุญาตให้กษัตริย์เป็นประมุขในยุโรปว่า ในอนาคต บทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองเป็นพิเศษแก่กษัตริย์นั้น จะเอาอย่างไรต่อไป คงเดิม? ลดความเข้มข้น? ยกเลิก?
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในราชอาณาจักรสเปน
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในยุโรป
น่าเสียดาย... ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปไม่มีเขตอำนาจถึงราชอาณาจักรไทย
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในยุโรป
น่าเสียดาย... ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปไม่มีเขตอำนาจถึงราชอาณาจักรไทย
(โปรดอ่านบทความเรื่องนี้แบบละเอียดและพิสดารได้ในวารสารฟ้าเดียวกันเล่มถัดไป)
ที่มา : ประชาไท
ที่มา : ประชาไท
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น