โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
รายการคมชัดลึกของเนชั่นแชนเนลวันหนึ่ง สนทนากันเรื่องเด็กเปิดนมที่สีลม ระหว่างคู่สนทนาสองคน หนึ่งเป็นเด็กมัธยมจะชื่อเรียงเสียงไรก็ลืมไปแล้ว อีกคนหนึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จากกระทรวงวัฒนธรรม แล้วผมก็ลืมชื่อเสียงเรียงนามอีกเหมือนกัน
ทั้งคู่เป็นผู้หญิง สะท้อนว่าผู้จัดลืมไปว่า นมเด็กในสายตาของผู้หญิงและผู้ชายนั้นต่างกัน และด้วยเหตุดังนั้นจึงอาจให้ความหมายในเชิงสังคมต่างกันด้วย แม้กระนั้นความเห็นระหว่างผู้หญิงสองคนที่ร่วมวงสนทนากันนั้น ก็ต่างกันมาก
ฝ่ายเด็กมัธยมประกาศเลยว่า เธอไม่ต้องการจะ "พิพากษา" คนอื่น เพราะพฤติกรรมของคนย่อมเกิดในเงื่อนไขที่สลับซับซ้อนและแตกต่างกัน เราจึงไม่สามารถ "พิพากษา" ใครจากพฤติกรรมเพียงอย่างเดียว (ผมใช้คำนี้ให้ตรงกับชื่อนวนิยายของคุณชาติ กอบจิตติ ด้วยความเชื่อว่าเธอคงได้อ่านแล้ว และเข้าถึงได้ดีกว่าผู้ใหญ่อีกมาก) แต่เฉพาะตัวพฤติกรรมโดดๆ นั้น เธอไม่เห็นชอบด้วย
ยิ่งไปกว่านั้นเธอยังแสดงความห่วงใยเด็กเปิดนมที่สีลมว่า ป่านนี้เธอคงเจ็บปวดกับการกระทำเพียงชั่วแล่นนั้น และจะประคองตัวให้รอดพ้นจากคำประณามนานาไปได้หรือไม่ อย่างไร และอนาคตของเธอจะเป็นอย่างไรต่อไป
แม่เจ้าประคุณเอ๋ย จะเป็นลูกเต้าเหล่าใคร มีครูบาอาจารย์เป็นใครไม่ทราบได้ แต่ช่างสอนลูกสอนหลานมาดีเหลือเกิน ฟังแล้วก็อดเป็นห่วงน้องมัธยมคนนี้ไม่ได้ว่า ฉลาดต่อชีวิตในวัยเพียงเท่านี้ได้ถึงขนาดนี้ หนูเห็นจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยเมืองไทยไม่ได้เสียแล้วล่ะ
ส่วนคุณผู้หญิงคู่สนทนา ก็มีความเห็นไปในทางที่เป็นวัฒนธรรมของกระทรวงวัฒนธรรมแหละครับ เพราะเธอคงจบมหาวิทยาลัยมาแล้ว
อันที่จริงในสังคมไทยโบราณนั้น ส่วนหนึ่งของสงกรานต์เป็นอีกช่วงหนึ่งที่สังคมไทยเปิดให้มีการล่วงละเมิดในทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะการก้าวข้ามข้อกำหนดเกี่ยวกับสถานภาพของบุคคล หญิง-ชาย, พระ-ชาวบ้าน, ผู้ใหญ่-ผู้น้อย, รวย-จน, ฯลฯ เพราะในช่วงหนึ่งของประเพณีสงกรานต์นั้น ทุกคนอาจถูกล่วงละเมิดได้อย่างเท่าเทียมกัน
เขาละเมิดกันยิ่งกว่าเปิดนมอีกครับ
ในบางท้องที่ถึงขนาดผู้หญิงจับพระมัดไว้แล้วขู่จะถกสบงขึ้น หากไม่จ่ายเงินให้พวกเธอๆ เอาไปซื้อเหล้ากิน
ในทุกวันนี้การสาดน้ำโดยไม่ถามโคตรเหง้าเหล่าตระกูลกันก่อน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สืบทอดประเพณีเดิมมา ผมเชื่อว่าที่นักท่องเที่ยวสนุกกับการเล่นสาดน้ำ ไม่ใช่เพราะได้ใกล้ชิดกับคนท้องถิ่น แต่เพราะได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่แห่งความเสมอภาคเชิงพิธีกรรมต่างหาก
ผมคิดว่าสังคมไทยปัจจุบันนั้นเก่งมาก ที่ทำให้พื้นที่เชิงพิธีกรรมนี้ไม่มีความหมายของความเสมอภาคเหลืออยู่เลย โดยการกำหนดให้เป็นพื้นที่เฉพาะ และเปิดให้อำนาจของผู้ใหญ่แทรกเข้ามากำกับ เช่น ห้ามขายและดื่มเหล้า ห้ามเล่นแป้ง ห้ามจับนม และห้ามโป๊
ความจริงแล้วจะห้ามได้จริงหรือไม่ก็ไม่สู้สำคัญนัก แต่การมีอยู่ของอำนาจ "ผู้ใหญ่" ในการกำกับพื้นที่นั้นต่างหากที่สำคัญกว่า
ผมฟังข่าวเรื่องเด็กเปิดนมมาหลายวันด้วยความงุนงง เพราะเรื่องมันใหญ่ขึ้นทุกวัน จนเกินกว่านมผู้หญิงคนไหนในเมืองไทยจะบรรจุลงไปได้หมด
แต่ก็ยังมีช่องโหว่นะครับ วันหนึ่งเพื่อนผู้ชายมากระซิบข้างหูว่า เขาเข้าไปดูเว็บไซต์ที่มีคลิปเด็กเปิดนมไม่ทัน เพราะถูกราชการสั่งปิดไปหมดแล้ว เสียดายที่ไม่ได้เห็นนมเด็กสาวมาหลายปีแล้ว
ผมหัวเราะก๊ากเลย เพราะนี่เป็นปฏิกิริยาปกติธรรมดาของผู้ชายไทยที่ผมคุ้นเคยทีเดียว คือเป็นเรื่องเล็กๆ เรื่องหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็สนุกกับมันไปตามสภาพที่เป็นจริง แน่นอนว่าไม่อยากให้ลูกหลานทำอย่างนั้น แต่เรื่องที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องเล็กๆ เรื่องหนึ่งเท่านั้น มีแง่มุมที่จะขำขันและ "ทะลึ่ง" ได้ตามแบบผู้ชายไทย ซึ่งมักจะมีมิติหนึ่งของกามารมณ์แทรกอยู่ด้วยเสมอ
มิติทางกามารมณ์นี่แหละครับที่เป็นช่องโหว่ ทั้งในสื่อทั่วไปและในอินเตอร์เน็ต ไม่เห็นมีใครพูดเรื่องนี้เลย แม้แต่ขนาดหรือรูปทรงของนม ก็ไม่มีใครพูดถึง อาจเป็นเพราะว่าจะพูดเรื่องนี้ในที่สาธารณะได้ ก็ต้องปฏิบัติต่อนมในฐานะ "ปัญหาสังคม" เพียงอย่างเดียว หากอยากจะพูดความจริงอีกด้านหนึ่งคืออารมณ์ความรู้สึกทางเพศ ก็ต้องกระซิบ
ผมเดาเหตุผลที่เป็นอย่างนี้ว่ามีอยู่สองอย่าง
อย่างแรกก็คือ นมผู้หญิงเป็นสิ่งที่คนไทยปัจจุบันคุ้นเคยเป็นอย่างดีแล้ว ไม่ต้องย้อนกลับไปในยุคโบราณหรอกครับ เอาแต่ยุคปัจจุบันที่เรามีชีวิตอยู่นี่แหละ เราทุกคนต่างคุ้นตากับนมผู้หญิง (แม้ไม่ทั้งเต้า) ในโฆษณา, ในเสื้อคอลึกที่ผู้คนสวมใส่, และในภาพโป๊ดาษดื่น แม้ยังกระตุ้นความรู้สึกทางเพศอยู่ แต่ก็เหมือนอากาศร้อน-หนาว ฉะนั้นหากใครจะบอกว่าเปิดนมคือการยั่วยุอารมณ์ทางเพศรุนแรงผิดปกติ ก็ดูจะดัดจริตเกินไป เพราะถ้าอย่างนั้นก็แทบจะมีชีวิตอยู่ในเมืองไทยไม่ได้เอาเลย
อย่างที่สอง นั้นน่าสนใจกว่า เราจำกัดความหมายของนมผู้หญิงให้เหลือแต่มิติทางสังคม ที่เรียกว่า "วัฒนธรรมไทย" นั่นแหละครับ โดยปฏิเสธหรือไม่สนใจกับอีกมิติหนึ่ง คือความจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นความจริงที่เกิดขึ้นในใจของผู้ชาย หรือความจริงที่นมผู้หญิงถูกเปิดเผยกันอะร้าอร่ามทั่วไปในเมืองไทย ประหนึ่งว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย
ถ้าอย่างนั้น สิ่งที่เรียกกันว่า "วัฒนธรรมไทย" ซึ่งเราถูกยุยงให้รักษาไว้เพื่อสืบไปถึงลูกถึงหลาน คืออะไรกันแน่?
ผมสรุปว่า สิ่งนั้นต้องไม่ใช่ "วัฒนธรรม" ในความหมายถึงระบบความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นจริงในหมู่คนไทยปัจจุบัน รวมถึงโลกทรรศน์และค่านิยมที่แฝงอยู่เบื้องหลังทั้งหมด แต่ "วัฒนธรรมไทย" เป็นเพียงประดิษฐกรรมที่วางมาตรฐานของอุดมคติ พูดง่ายๆ ก็คือ "วัฒนธรรมไทย" เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น ไม่ได้มีอยู่จริง แต่ปั้นแต่งให้ตรงตามอุดมคติ แล้วยัดเยียดให้คนทั่วไปเชื่อว่า "วัฒนธรรมไทย" มีอยู่จริง หากมีปรากฏการณ์ใดที่ขัดต่อ "วัฒนธรรมไทย" ก็ต้องถือว่าเป็นความเบี่ยงเบน, ความเสื่อมโทรม, หรือแม้แต่เป็นอาชญากรรม (ดังกรณีเปิดนมที่สีลมก็มีการแจ้งความแล้ว รวมทั้งข้อวิจารณ์ว่า "เจ้าหน้าที่" ไม่คอยดูแล เพราะมี "เจ้าหน้าที่" น้อยเกินไปกว่าจะเฝ้านมได้ทุกเต้า)
ผมมีข้อสังเกตจากข้อสรุปข้างต้นด้วยว่า
1."วัฒนธรรมไทย" ตามอุดมคตินั้น ไม่ใช่มาตรฐานลอยๆ ที่วางไว้ให้คนปฏิบัติตามเฉยๆ แต่มีอำนาจแฝงอยู่ นับแต่อำนาจในเชิงสังคมไปจนถึงอำนาจทางกฎหมาย ผู้ฝ่าฝืนจึงอาจถูกลงโทษได้ มาตรฐานนี้ตายตัวเหมือนกฎหมาย จึงละเลยต่อเงื่อนไขและบริบท วางอยู่เหนือความเป็นมนุษย์ของผู้คน ดังจะเห็นได้จากความแตกต่างระหว่างการอภิปรายของเด็กมัธยม และคุณผู้หญิงจากกระทรวงวัฒนธรรม
2.ถามว่าอุดมคติที่วางแนวของมาตรฐาน "วัฒนธรรมไทย" นั้น เป็นอุดมคติของใคร? คำตอบคือไม่ใช่ของคนไทยทั่วไป ไม่อย่างนั้นคงไม่มีการฝ่าฝืนอยู่ตลอดเวลา เช่นการโชว์นมครึ่งเต้าซึ่ง "วัฒนธรรมไทย" ก็ไม่ยอมรับอยู่นั่นเอง อุดมคตินี้จึงเป็นของชนชั้นนำ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไป (อย่างจริงใจหรือหน้าไหว้หลังหลอกก็ตาม) แต่คนกลุ่มนี้คือผู้คุมสื่อและกลไกของกฎหมายไว้ในมือ และอาจลงโทษผู้ฝ่าฝืนที่อาจเป็นอันตรายต่อ "วัฒนธรรมไทย" ได้
3.ดังนั้นเมื่อวิเคราะห์เนื้อหาของ "วัฒนธรรมไทย" จึงไม่แปลกที่จะพบว่าเนื้อหาคือการกล่อมเกลาไปจนถึงบังคับให้ยอมจำนนต่อความไม่เท่าเทียม ยอมจำนนต่อโครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่ หัวใจสำคัญของเนื้อหา "วัฒนธรรมไทย" คือการรู้จักที่ต่ำที่สูง และความวิเศษเลิศลอยที่เป็นอกาลิโกของแบบแผนทางวัฒนธรรมชนชั้นสูง
การประกวดมารยาทของเด็กนักเรียน คือประกวดการใช้ภาษากายเพื่อยอมรับความไม่เท่าเทียมระหว่าง "ผู้ใหญ่" กับ "ผู้น้อย"
ภาษาสุภาพของไทยคือการเปลี่ยนภาษาให้เหมาะกับสถานภาพโดยเปรียบเทียบระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง ซึ่งละเอียดซับซ้อนอย่างยิ่ง
โครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันนี้เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะมีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนใครในโลก หรือเป็นส่วนหนึ่งของ "จิตวิญญาณ" ความเป็นไทยไปโน่นเลย
การเปิดนมในที่สาธารณะจึงไม่ใช่เรื่องเล็กอย่างที่ผมเข้าใจ เพราะเป็นสัญลักษณ์ของการขัดขืน "วัฒนธรรมไทย" แม้เป็นการขัดขืนเชิงพิธีกรรมดังที่กล่าวข้างต้น ก็ต้องถือว่าเป็นพิธีกรรมที่อาจพัฒนาไปสู่การล่วงละเมิด "วัฒนธรรมไทย" หนักข้อขึ้น จนในที่สุดก็อาจกระเทือนโครงสร้างอำนาจที่ "วัฒนธรรมไทย" จรรโลงไว้ จนพังสลายไปได้
4.เพราะ "วัฒนธรรมไทย" เป็นสมบัติของชนชั้นนำที่ถูกนำมาใช้เพื่อรักษาโครงสร้างอำนาจของตนเอง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในสังคมไทย "วัฒนธรรมไทย" จึงมีความอ่อนแออย่างยิ่ง สั่นสะเทือนไปจนแทบจะถึงรากด้วยแรงปะทะของนมสี่เต้าเท่านั้น
จะมีหรือไม่มี "ไพร่" มาชุมนุมกันที่ราชประสงค์ก็ตาม แต่ "วัฒนธรรมไทย" กำลังถูกท้าทายหนักขึ้นตลอดมา ทั้งโดยคนที่ตั้งใจและคนที่ไม่ได้ตั้งใจ สไนปเปอร์อย่างเดียวหยุดการท้าทายนี้ไม่ได้
ที่มา : มติชนออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น