วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ญาติผู้ต้องขังวอนอัยการสูงสุดถอนฟ้องตั้งข้อหาแรงเกินจริงยันเจตนาสู้เพื่อประชาธิปไตย

ญาติผู้ต้องขังแดงเรียกร้องความเป็นธรรมต่อกรรมการสิทธิฯ และอัยการสูงสุด พร้อมอ่านแถลงการณ์พวกเขาถูกขังเพียงเพราะมาเรียกร้องประชาธิปไตย
20 พ.ค. 2554 เวลาประมาณ 11.00 น.กลุ่มญาติผู้ต้องขังคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ประมาณ 20 คน  ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง  ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อขอความเป็นธรรมให้กับพี่น้องเสื้อแดงที่ถูกกุมขังทั่วประเทศที่ยังไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว  ณ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ อาคารบี  โดยมีนายมานพ กระจ่างภักตร์ เจ้าหน้าสำนักงานฝ่ายตรวจสอบด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เป็นผู้ลงมารับเรื่องหนังสือแทน  พร้อมกันนี้ กลุ่มญาติได้มอบข้อมูลผู้ต้องขังในคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้น 118 คน เป็นผู้ต้องขังที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาทั้งในศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ โดยไม่ได้รับการประกันตัว 97 ราย ทั้งนี้ นายมานพกล่าวว่า จะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของอนุกรรมการฯ แต่อาจล่าช้าสักนิด เพราะเป็นเรื่องใหญ่


จากนั้น  กลุ่มญาติฯ ได้เดินทางต่อไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด  อาคารหลักเมือง สนามหลวง กทม. เพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม แต่เนื่องจากห้องทำงานของอัยการสูงสุดได้ย้ายไปที่ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะฯ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา นายธนิตศักดิ์ พิศาลกุลพัฒน์ ผู้ช่วยเลขานุการรองอัยการสูงสุด จึงเป็นตัวแทนลงมารับหนังสือ โดยมีตัวแทนกลุ่มญาติกล่าวถึงวัตถุประสงค์ที่มายื่นหนังสือ เพื่อมาขอความเป็นธรรมให้อัยการสูงสุดถอนฟ้องในคดีเผาศาลากลางจังหวัดมุกดาหารและอุดรธานี เนื่องจากครอบครัวต่างได้รับผลกระทบและยากลำบาก อีกทั้ง จำเลยเป็น เพียงผู้ร่วมการชุมนุมเท่านั้น หาใช่เป็นผู้กระทำผิดจริง การจับกุมจำเลยบางรายก็ไม่มีหลักฐานชัด นอกจากนี้  ในส่วนของจังหวัดมุกดาหาร พนักงานอัยการยังมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเป็นบางราย
นายธนิตศักดิ์ กล่าวว่า "สนง.อัยการสูงสุดและพนักงานอัยการมีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของบ้านเมืองและผลประโยชน์ของชาวบ้านด้วย ดังนั้น จะนำเรื่องร้องเรียนของญาติในวันนี้ไปให้ทางฝ่ายบริหารพิจารณาและดำเนินการต่อไป" จากนั้น กลุ่มญาติฯได้มอบพวงกุญแจเป็นรูปแพะสิแดง เขียนว่า "รณรงค์ปล่อยแพะทางการเมือง" และโปสเตอร์ “อย่าลืมว่าพวกเขาถูกขัง อย่าขังพวกเขาจนลืม” ให้แก่นายธนิตศักดิ์เป็นที่ระลึก
ทั้งนี้ ในระหว่างที่รอตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดลงมารับหนังสือ กลุ่มญาติได้ยืนถือแผ่นป้ายที่มีเรื่องของนักโทษการเมืองในจังหวัดต่างๆ พร้อมทั้งอ่านแถลงการณ์ ซึ่งมีใจความว่า หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม 2553 มีประชาชนถูกจับกุมคุมขังจำนวนมาก โดยกระบวนการจับกุมจนถึงการพิจารณาคดีมีความไม่เป็นธรรมโดยตลอด คนที่ถูกจับกุมมีทั้งจับผิดตัว ยัดข้อหา ตั้งข้อหาร้ายแรง จนถึงไม่ได้รับการประกันตัว ในโอกาสครบ 1 ปี ของการถูกกักขัง กลุ่มญาติจึงมาเพื่อร้องขอความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ผู้ต้องขังเหล่านั้นถูกขังเพียงเพราะพวกเขามาเรียกร้องประชาธิปไตย

ขอบคุณ : ประชาไท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น