วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

“คำ ผกา” ชี้ “ณัฐวุฒิ” พาลูกเมียกินข้าวนอกบ้านถือว่าถูกต้องตามธรรมเนียมไพร่


คำ ผกา” เขียนบทความสอน “กรณ์ จาติกวณิช” ชี้ “ไพร่-อำมาตย์” ไม่เกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินเงินทอง แต่เป็นเรื่องการต่อสู้ทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2549 โดยฝ่ายแย่งอำนาจคือ “อำมาตย์” ส่วนเรื่องกินข้าวนอกบ้านถือเป็นสำนึกแบบไพร่กระฎมพี เพราะใช้ภาชนะร่วมกับคนอื่น ย้ำณัฐวุฒิและครอบครัวออกมากินข้าวนอกบ้านถือว่าถูกต้องตามธรรมเนียมไพร่ รวมทั้งกรณ์และเมียก็ถือว่าเป็นไพร่ 
ตามที่เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ลงในบัญชีผู้ใช้ facebook ว่า "เมื่อสักครู่ ได้มาทานข้าวกับภรรยาที่ร้านอาหารแถวๆทองหล่อ คนที่นั่งอยู่โต๊ะข้างๆบอกว่า ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ กับครอบครัวเพิ่งลุกไปจากโต๊ะที่ผมนั่งอยู่ไม่ถึง 5 นาทีที่ผ่านมานี้เอง ทำให้เราอดนึกขำไม่ได้ว่า คนที่เรียกตัวเองว่า "ไพร่" ก็ไม่ได้ใช้ชีวิตแตกต่างไปจากคนที่เขาเรียกว่าเป็นพวก "อำมาตย์" สักเท่าใดนัก" และตามมาด้วยวิวาทะออนไลน์ จากนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อนั้น (อ่านข่าวย้อนหลัง)
ล่าสุดเมื่อวานนี้ มีในหนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ มีการเผยแพร่บทความหัวเรื่อง ไพร่ VS อำมาตย์” เขียนโดย “คำ ผกา” นักเขียน และคอลัมน์นิสต์หนังสือพิมพ์ ซึ่งวิจารณ์วิวาทกะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดย คำ ผกา ระบุว่า “ให้ตายเถอะ ฉันไม่คิดเลยว่า ประเทศไทยจะโชคร้ายมีรัฐมนตรีคลังที่ทัศนคติทางการเมืองและสังคมที่เสื่อมทรามขนาดนี้ ทั้งสะท้อนความคับแคบของโลกทัศน์ วิธีคิด แสดงอาการของคนที่สักแต่ได้เรียนหนังสือทว่าขาดการศึกษาอย่างรุนแรง”
คำ ผกา ได้อธิบายเรื่อง ไพร่-อำมาตย์ ว่าไม่ใช่เรื่องของความสามารถในการบริโภค แต่เป็นเรื่องการต่อสู้ทางการเมือง “วาทกรรม ไพร่-อำมาตย์ นั้นคนที่มีปัญญาย่อมเข้าใจได้ทันทีว่ามันหมายถึงการต่อสู้ของประชาชนที่ออกมาบอกว่า สังคมไทยต้องการระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ทว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย โดยเฉพาะนับตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี 2549 คือการกระทำที่ดึงเอาระบอบประชาธิปไตยออกจากสังคมไทย-คือขบวนการล้มประชาธิปไตย, ล้มประชาชน-พลันพวกเราที่เป็นประชาชนอยู่ดีๆ ต้องกลายไปเป็น "ไพร่" ส่วนชนชั้นนำที่แย่งอำนาจไปจากประชาชนจึงกลายเป็น "อำมาตย์"-กลับไปสู่การปกครองยุคก่อนสมัยใหม่”
ย้ำอีกรอบ เพราะดูเหมือนคนอย่างกรณ์น่าจะสมองช้า การรับรู้ช้า และเข้าใจอะไรได้ช้า (ไม่อย่างนั้นคงไม่เขียนทัศนคติเสื่อมๆ ออกมาเช่นนั้น) - ย้ำว่า - ความเป็นประชาชนถูกพรากไปจากคนไทยเพราะการรัฐประหาร และนับแต่นั้นคนไทยแบ่งออกเป็น อำมาตย์+เครือข่าย, ไพร่ และสุดท้าย คือกลุ่มสมองช้าปัญญาทึบ นึกว่าใครมีปัญญาไปกินข้าวร้านแพงๆ แปลว่า "อำมาตย์" คนกลุ่มนี้เลยเลือกอยู่ข้างเป็นสมุนอำมาตย์คอยเห่าเป็นคอรัสให้อำมาตย์แลกเศษเนื้อเศษกระดูกเท่านั้น” บทความที่เขียนโดย คำ ผกา ระบุ และย้ำว่า พรรคประชาธิปัตย์ “เป็นแค่สมุนรับใช้อำมาตย์ – ไม่แม้แต่จะเป็นอำมาตย์ด้วยตนเอง”
ทั้งนี้ ความเป็นไพร่และอำมาตย์นั้นไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับปริมาณของเงินทอง ทรัพย์สินที่ครอบครองอยู่ ทว่า มันเกี่ยวพันโดยตรงกับสิ่งที่เรียกว่าสิทธิในฐานะที่เป็นประชาชนในระบอบการปกครองที่มิใช่ประชาธิปไตย "อำมาตย์" มีสิทธิจะชี้บอกว่าสิ่งมีชีวิตหน้าไหนคือคนและหน้าไหนไม่ใช่คน”
คำ ผกา อธิบายด้วยว่า "วัฒนธรรมการกินข้าวนอกบ้านเป็นวัฒนธรรมของไพร่กระฎุมพี การที่ครอบครัวของนายณัฐวุฒิออกมาทานข้าวนอกบ้านนั้นถือว่าถูกต้องตามธรรมเนียมไพร่ทุกประการ"
การกินข้าวนอกบ้าน เท่ากับว่าเราได้ใช้ จาน ชาม ช้อน ส้อม แก้วน้ำ ร่วมกับคนอื่น เครื่องครัว มีด ครก เขียงของร้านนั้นทำอาหารมาให้คนร้อยพ่อพันแม่กินมาแล้ว ปราศจากสำนึกแบบกระฎุมพี วัฒนธรรมการกินการใช้ของร่วมกับคนร้อยพ่อพันแม่ที่เราไม่รู้จักไม่มีวันเกิดขึ้นได้
ขยายความต่อไปว่า สำนึกแห่งการใช้ของร่วมกันเป็นสาธารณะ เป็นส่วนหนึ่งของสำนึกและวัฒนธรรมประชาธิปไตยด้วย (ด้วยความที่เราตระหนักว่าคนที่กินช้อนคันเดียวกับเราเมื่อวานก็เป็นคนเหมือนกับเราจึงไม่เห็นมีอะไรน่ารังเกียจกับการไปกินข้าวในร้านอาหาร)
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และครอบครัวเป็นไพร่ออกมากินข้าวนอกบ้านนั้นถูกต้องตามธรรมเนียมไพร่ทุกประการ กรณ์และเมียก็เป็นไพร่ด้วยเช่นกัน จึงมีวัฒนธรรมการกินข้าวนอกบ้านเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน”
คำ ผกา อธิบายด้วยว่ามีความแตกต่างของไพร่สองคนคือกรณ์และณัฐวุฒิ โดยที่ “ไม่ได้ต่างตรงที่ใครมีเงินมากกว่ากัน แต่ที่ต่างกันที่ณัฐวุฒิเป็นไพร่ที่ออกมาต่อสู้เพื่อให้มาซึ่งความเป็นประชาชนกลับมาสู่คนไทยทุกคน ส่วนกรณ์เป็นไพร่ที่ต้นตระกูลก็โล้สำเภามาจากหมู่บ้านเล็กๆ จากเมืองจีน (ซึ่งไม่แปลกเพราะสังคมไทยก็เป็นสังคม Mestizo หรือสังคมลูกครึ่งอยู่แล้ว แต่ที่แปลกคือ Mestizo ของไทยเลือกจะจำว่าตนเองเป็นอำมาตย์ มากกว่าเป็นลูกครึ่งจีนอพยพ) อาศัยเกาะกิน หาสัมปทาน ค้าขาย เป็นนายหน้าให้กับอำมาตย์จนมั่งคั่งขึ้นมาระดับหนึ่ง และด้วยทางครอบครัวมิได้อบรมให้ตระหนักรู้จักรากเหง้าที่มาของตนเอง”
วันดีคืนดีเลยลืมตัวเป็นวัวลืมตีน ลืมไปว่าบรรพบุรุษของตนก็เป็นไพร่จ่ายส่วยเท่านั้น เมื่อเป็นวัวลืมตีนเช่นนี้ คนอย่างกรณ์จึงมีความสุขที่จะหากินในฐานะสมุนอำมาตย์มากกว่าจะตระหนักในความสำคัญของประชาธิปไตยและสิทธิของคนไทยในฐานะที่เป็นประชาชน บวกกับเป็นเพียงผู้ที่ได้เรียนหนังสือแต่มิได้มีการศึกษาจึงขาดความลึกซึ้ง มีความคิดและความสามารถในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมได้แต่เพียงผิวเผิน ทั้งไร้รสนิยมในการเขียน ถกเถียง และแสดงความรู้สึก” ตอนหนึ่งของบทความโดย “คำ ผกา” ระบุ (อ่านบทความทั้งหมดที่นี่)
ที่มา : ประชาไท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น