สุรชาติ บำรุงสุข |
Edmund Burke
7 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1771
ระยะเวลาผ่านไปเนิ่นนานพอสมควรแล้วกับเหตุรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งในการเมืองไทยในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 และผลพวงจากการรัฐประหารครั้งนี้นำไปสู่เหตุการณ์สำคัญของไทยในเวลาต่อมาก็คือ วิกฤตการณ์พฤษภาคม 2535
ถ้าเราย้อนทวนความทรงจำ จะเห็นได้ถึงการเปลี่ยนผ่านของทางการเมืองไทย เพราะหลังจากรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 แล้ว ระบอบการเลือกตั้งของไทยพร้อมกับนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกด้วยนั้น กลายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
คณะรัฐประหารที่นำโดย พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนขวาจัดในวันที่ 20 ตุลาคม 2520 และตัดสินใจ "เปิด" ระบบการเมืองไทยด้วยการนำพาประเทศไทยกลับเข้าสู่วิถีการเลือกตั้งอีกครั้ง
แต่ก็ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า พรรคการเมืองไทยไม่ได้มีสถานะที่เข้มแข็งในทางการเมืองแต่อย่างใด เพราะอำนาจที่แท้จริงอยู่ในมือของผู้นำทหารต่างหาก
และแม้จะชนะการเลือกตั้ง แต่ก็จำเป็นต้องอาศัยผู้นำทหารในฐานะผู้มีอำนาจจริงขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี นักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งมีฐานะเป็นได้เพียงรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างๆ เท่านั้น
ระบอบการเลือกตั้งที่ควบคุมโดยผู้นำทหารเช่นนี้ถูกเรียกว่าเป็น "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" เพราะอำนาจที่แท้จริงอยู่กับผู้นำทหารมากกว่าอยู่ในมือของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง
และระบอบเช่นนี้ยังถูกอ้างถึงความชอบธรรมที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ความมั่นคงทั้งภายในและภายนอกประเทศ
นอกจากสงครามในชนบทของไทยแล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากการพังทลายของรัฐบาลนิยมตะวันตกในประเทศอินโดจีน (ลาว เวียดนาม และกัมพูชา) ในปี 2518 ทำให้สภาพแวดล้อมระหว่างประเทศของไทยเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง
และต่อมาก็เห็นถึงแนวโน้มใหม่ของความขัดแย้งระหว่าง "พรรคพี่พรรคน้อง" ในอินโดจีน ไม่ว่าความขัดแย้งนี้จะมีรากฐานมาจากลัทธิชาตินิยม หรือจากความแตกแยกของพรรคคอมมิวนิสต์ "สายจีน" และ "สายโซเวียต" แต่ผลที่เห็นได้ชัดก็คือ ความแตกแยกระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา (เขมรแดง) และพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม
ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นปัจจัยที่นำไปสู่สงครามระหว่างเวียดนามและกัมพูชาซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนมกราคม 2522 อันเป็นอีกเงื่อนไขสำคัญของการเป็น "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" ของไทย
รัฐบาล "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" ของ พล.อ.เกรียงศักดิ์พยายามถอยการเมืองไทยออกจาก "กระแสขวาจัด" ที่ถูกผลักดันโดยชนชั้นนำและผู้นำทหารบางส่วน ได้แก่
(1) การเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายต่างประเทศไทย ด้วยการหันไปกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน
(2) การแก้ปัญหาความแตกแยกภายใน ด้วยการลดความตึงเครียดภายในสังคมไทย โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับนักศึกษา จนนำไปสู่การเสนอแผนปรองดองด้วยการนิรโทษกรรมต่อผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
แต่รัฐบาล "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" ของพลเอกเกรียงศักดิ์ก็มีชีวิตอยู่ไม่ยืนยาวนัก เมื่อกลุ่มทหารที่เป็นรากฐานของอำนาจหรือบรรดานายทหารที่คุมกำลังหลัก (และรู้จักกันในชื่อของ "ยังเติร์ก") ที่นำโดย พันโทจำลอง ศรีเมือง พันโทมนูญ รูปขจร พันโทประจักษ์ สว่างจิตร และ พันโทพัลลภ ปิ่นมณี ได้กดดันให้รัฐบาลลาออก (ตัวละครการเมืองเหล่านี้ยังคงมีบทบาทการเมืองจนถึงปัจจุบัน!)
ดังนั้น แม้รัฐบาลจะมีทหารระดับสูงเป็นผู้นำ แต่เมื่อต้องเผชิญกับผู้นำทหารระดับกลางที่เป็น "ผู้คุมปืน" หรือคุมกำลังอย่างแท้จริงแล้ว รัฐบาลดังกล่าวก็ต้องยุติลงด้วยการประกาศลาออกของพลเอกเกรียงศักดิ์ในรัฐสภาในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2523
เป็นที่รู้กันว่าการลาออกของพลเอกเกรียงศักดิ์ เป็น "รัฐประหารเงียบ" ของกลุ่มยังเติร์ก และตามมาด้วยการผลักดันให้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน และกลุ่มยังเติร์กก็เข้ามาเป็น "กลไก" ในรัฐบาล อีกทั้งยังเป็นรากฐานสำคัญต่ออำนาจทางการเมืองของพลเอกเปรม
และแม้ในเวลาต่อมาจะเกิดความขัดแย้งระหว่างพลเอกเปรมกับบรรดานายทหารในกลุ่มนี้ถึง 2 ครั้งใหญ่ (กบฏ 1 เมษายน 2524 และ 9 กันยายน 2528) แต่ก็มิได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทิศทางการเมืองไทย
เพราะหลังจากกลุ่มยังเติร์กหมดอำนาจลงในกองทัพ พลเอกเปรมก็แสวงหาฐานสนับสนุนจากทหารกลุ่มอื่นในกองทัพ
ซึ่งก็คือการตอกย้ำความจริงของการเมืองไทยในยุคนั้น ว่าอำนาจรัฐยังอยู่ในมือของผู้นำทหาร และการเลือกตั้งอาจจะตัดสินว่าพรรคการเมืองใดชนะ แต่ไม่ใช่เป็นคำตอบว่าผู้นำพรรคนั้นจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะตำแหน่งนี้ถูกผูกไว้กับผู้นำทหาร
และจาก 3 มีนาคม 2523 จนถึง 30 เมษายน 2531 ตำแหน่งนี้ต้องเป็นของพลเอกเปรมเท่านั้น!
ปรากฏการณ์ "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" หรือในความเป็นจริงก็คือ ระบอบการเลือกตั้งภายใต้การควบคุมและกำกับของผู้นำทหาร จึงไม่ใช่เกิดจากเพียงอำนาจทางการเมืองของฝ่ายทหารที่เหนือกว่าพลเรือนเท่านั้น หากแต่ยังเกิดจากเงื่อนไขเฉพาะของการเมืองไทยที่ชนชั้นนำซึ่งแม้จะขัดแย้งกับพลเอกเกรียงศักดิ์จากรัฐประหาร 2520 ได้หันกลับมาใช้ "บริการ" ของผู้นำทหารในการควบคุมระบบการเมือง
และพลเอกเปรมกลายเป็น "ตัวเลือก" ที่สมบูรณ์ในกรณีนี้
เพราะไม่ใช่แต่เพียงเป็นเรื่องของการควบคุมระบบการเมืองเท่านั้น หากแต่ยังเป็นฐานสนับสนุนที่เข้มแข็งให้แก่ชนชั้นนำหลังจากยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้ว อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือของการจัดการกับภัยคุกคามของทหารบางกลุ่มได้เป็นอย่างดี
แต่แล้วในที่สุด ชัยชนะของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งในวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 ก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ เมื่อกลุ่มนักวิชาการเตรียมเคลื่อนไหวคัดค้านการตั้ง "นายกรัฐมนตรีคนนอก" ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง โดยมีการเตรียมถวายฎีกาเพื่อขอนายกรัฐมนตรีที่มาจากสภาผู้แทนราษฎร
แรงกดดันเช่นนี้เกิดขึ้นในภาวะที่สังคมการเมืองไทยเริ่มรู้สึกว่า ไม่จำเป็นที่การเมืองไทยจะต้องเป็น "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" โดยมีพลเอกเปรมเท่านั้นเป็นนายกรัฐมนตรี (ผู้นำทหารคนอื่นก็ไม่ได้!)
ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไทยก็ค่อยๆ ขยับตัวมากขึ้น ทั้งจากการลงทุนจากภายนอกและการเติบโตจากเศรษฐกิจภายใน พร้อมกันนั้น ภัยคุกคามทางทหารจากสงคราม พคท. ก็เริ่มลดลงแล้วนับตั้งแต่รัฐบาลประกาศชัยชนะต่อสงครามนี้ในปี 2525/2526
ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลโดยตรงให้ผู้คนโดยทั่วไปในสังคมไทยเริ่มมองเห็นว่า การเมืองไทยไม่จำเป็นต้องถูกพันธนาการอยู่กับ "ผู้ถืออาวุธ" เท่านั้น
หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีสูตรสำเร็จว่า "เลือกตั้งได้ แต่เป็นนายกฯ ไม่ได้" และ "ทหารเท่านั้นที่เป็นนายกฯ" ของประเทศไทย
ผลของความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ทำให้พลเอกเปรมต้องออกมาประกาศยุติการมีบทบาททางการเมืองด้วยคำว่า "ผมพอแล้ว" ดังนั้น รัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบของพลเอกเปรมซึ่งมีอายุยาวนานถึง 8 ปี 5 เดือน จึงสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เมษายน 2531
ซึ่งก็เท่ากับเปิดโอกาสให้ พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทยขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งเป็นคนแรกหลังจากเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2519
แม้การขึ้นสู่อำนาจครั้งนี้ถือว่าเป็นการสิ้นสุดยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่ก็มิใช่จะเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการสิ้นสุดของบทบาททหารในการเมืองไทยแต่อย่างใด เพราะเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้นำรัฐบาลกับผู้นำทหาร จนทำให้ข่าวเรื่องการรัฐประหารแพร่กระจายในวงกว้าง รัฐบาลโดย ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง จึงได้เตรียม "รถโมบายยูนิต" ที่จะถ่ายทอดสัญญาณวิทยุของรัฐบาล ถ้าเกิดการรัฐประหารขึ้น
และรถนี้ได้ถูก พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้นยึดไปเก็บไว้ที่ บก.ทหารสูงสุด โดยไม่ยอมส่งคืนรัฐบาล
ความขัดแย้งจากกรณี "รถโมบาย" ขยายตัวเป็นความหวาดระแวงระหว่างผู้นำรัฐบาลกับผู้นำทหาร โดยเฉพาะความกังวลว่ารัฐบาลจะปลดนายทหารระดับสูงที่แสดงอาการ "กระด้างกระเดื่อง" กับรัฐบาล
และขณะเดียวกัน ผู้นำทหารก็แสดงการท้าทายและการกดดันทางการเมือง เช่น พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก ออกคำสั่งห้ามประชาชนชุมนุมในบริเวณรอบทำเนียบรัฐบาล และที่สำคัญก็คือ ผู้นำกองทัพเรียกร้องให้ปลด ร.ต.อ.เฉลิมออกจากการเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะถือว่าเป็นบุคคลหลักที่มีปัญหากับกองทัพ
ปฏิกิริยาของทหารในกรณีนี้ก็คือ การแสดงตนอย่างชัดเจนว่า กองทัพยังคงเป็น "กลุ่มกดดัน" ที่การแสดงออกไม่ใช่ว่าจะเป็นเพียงการกดดันในทางลับเท่านั้น แต่เป็นการกระทำให้ปรากฏอย่างชัดเจนในเวทีสาธารณะ หรือในทางทฤษฎีก็คือการ "แบล๊กเมล์" (Blackmail) ในทางการเมือง อันเป็นปรากฏการณ์ของการปะทะเชิงอำนาจระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ หรือเป็นการคุกคามต่ออำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
อันเป็นสัญญาณว่า ถ้ารัฐบาลไม่ทำตามก็จะตามมาด้วยการรัฐประหาร
แม้จะมีการปรับคณะรัฐมนตรีเพื่อลดแรงกดดันของทหาร แต่ความหวาดระแวงที่ดำรงอยู่อย่างมากระหว่างกองทัพกับรัฐบาล พร้อมกันนั้น ผู้นำกองทัพก็กลัวว่า รัฐบาลอาจจะปลดพลเอกสุนทร (ผู้บัญชาการทหารสูงสุด) และพลเอกสุจินดา (ผู้บัญชาการทหารบก) ออกจากตำแหน่ง โดยจะ "ยืมมือ" ของ พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้ดำเนินการ
ดังนั้น ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 เมื่อนายกรัฐมนตรีชาติชายพร้อมพลเอกอาทิตย์เตรียมเดินทางไปเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ หลังจากได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งแล้ว ทหารกลุ่มหนึ่งจึงได้ "จี้อากาศยาน" เครื่องบินซี-130 บนทางวิ่งของสนามบินดอนเมืองก่อนที่เครื่องบินดังกล่าวจะทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า และได้มีการประกาศการยึดอำนาจโดย "คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ" (รสช.) ในเวลา 11.30 น. ของวันดังกล่าว
รัฐประหารสิ้นสุดลงอย่างง่ายดายอีกครั้ง แต่ดูเหมือนผู้นำทหารจะไม่ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้า และปัญหาที่รออยู่ไม่ง่ายอย่างการรัฐประหารของพวกเขาเลย เพราะกองทัพไม่สามารถจะพึ่งพาได้แต่เพียงอำนาจอาวุธเช่นในอดีต
ดังนั้น เมื่อประชาชนได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่า ต้องการให้ประเทศไทยถอยออกจากการเมืองแบบ "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" ของยุค รสช. ความพยายามในการใช้อำนาจทหารเพื่อต่อต้านการเรียกร้องของประชาชนจึงยุติลงด้วยการปะทะบนถนนราชดำเนิน
แม้การล้อมปราบจะเกิดขึ้น แต่ก็เป็นชัยชนะของทหารบนความพ่ายแพ้ทางการเมือง จนในที่สุด กองทัพต้องถอนตัวออกจากการเมือง
ในทุกเดือนพฤษภาคม เรามักจะชอบพูดถึงแต่บทเรียนของเหตุการณ์ "พฤษภา "35" แต่ดูเหมือนเราไม่ค่อยจะพูดถึง "รัฐประหาร รสช." ที่เป็นจุดเริ่มต้นอันนำไปสู่ "จุดจบ" ของทหารในการเมืองไทยยุคหนึ่ง
เรื่องราวเช่นนี้อาจจะนานถึง 20 ปีแล้ว แต่ก็เป็นบทเรียนที่ผู้นำทหารไทยต้องนำมาใคร่ครวญให้ดี เพราะชัยชนะทางทหารที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ทางการเมืองของกองทัพนั้นเป็นสิ่งที่ไร้ค่าเป็นอย่างยิ่ง
อย่างน้อยชีวิตที่เหลืออยู่ของผู้นำทหารของยุค รสช. ก็เป็นคำตอบที่ดีในกรณีนี้!
: มติชนออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น