วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ศีลธรรมกับ ‘พื้นที่ความเป็นมนุษย์’

ผม “ถูกใจ” การ์ตูน “เชีย” ข้างล่างนี้มากครับ
(ภาพจากไทยรัฐออนไลน์, 2 พ.ค. 2554)

ในความเห็นของผมเป็นภาพการ์ตูนที่เสนอ “ประเด็นทางศีลธรรม” อย่างแหลมคมที่เราควรช่วยกันคิดอย่างจริงจัง หากเราต้องการปกป้อง “พื้นที่ความเป็นมนุษย์” ของเราจากการครอบงำของศีลธรรมอำมหิต

ความเป็นมนุษย์ของเรานั้นมี “พื้นที่” ทั้งมิติกว้างและลึกที๋เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย สถานการณ์และบริบทที่หลากหลาย ซับซ้อน แต่ดูเหมือนว่าสถาบันทางศีลธรรมเช่น สถาบันทางศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ฯลฯ พยายามใช้พื้นที่ทางศีลธรรมมาสวมทับหรือครอบงำพื้นที่ความเป็นมนุษย์ของเรา แทบทุกมิติ

พูดอีกอย่างว่า ความเป็นมนุษย์แทบทุกมิติของเรา “ถูกยัด” เข้าไปในพื้นที่ทางศีลธรรมที่เป็นเรื่องดี-ชั่วแบบขาว-ดำ เช่น ศีลธรรมเข้าไปจัดการพื้นที่ภายในจิตใจของเราว่า เรามีความคิดสองประเภทคือคิดดีกับคิดชั่ว เมื่อคิดดีก็เป็นบุญเมื่อคิดชั่วก็เป็นบาป การพูดและการกระทำของเราก็ถูกจัดเป็นสองประเภทคือดีกับชั่วหรือบุญกับบาป เท่านั้น

และโดยที่กรอบคิดทางศีลธรรมแบบขาว-ดำนี้ ถูกขยายไปครอบคลุมแทบทุกกิจกรรมของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ กิจกรรมทางเพศ และแม้แต่ละคร ภาพยนตร์ ภาพเปลือยก็ไม่ได้มีความหมายในเชิงศิลปะที่เป็นอิสระหรือพ้นไปจากกรอบของ ดี-ชั่วแบบขาวดำ หากแต่จำเป็นต้องถูกพิพากษา กระหนาบ สำทับ ลงโทษโดยอ้างอิงกรอบของศีลธรรมแบบขาว-ดำได้เสมอ

ฉะนั้น เรื่องราวของตัวละครอย่าง “เรยา” จึงไม่ใช่เพียงเรื่องราวของตัวละครที่ถ่ายทอดผ่านบทละครและการแสดงซึ่งเป็น ศิลปะอย่างหนึ่ง หากนัยยะสำคัญกว่าคือมันมีความหมายถูก-ผิด ดี-ชั่วในทางศีลธรรมหรือไม่? หากผิดศีลธรรม รัฐย่อมมีความชอบธรรมในการใช้ “อำนาจ” เข้าไปจัดการ เช่น ด้วยการตักเตือน เซ็นเซอร์ แบน ฯลฯ

จะเห็นว่า ความหมายของศีลธรรมแบบ ขาว-ดำดังกล่าวไม่ใช่สัมพันธ์อยู่กับ “เหตุผล” แต่สัมพันธ์กับ “อำนาจ” เช่น พฤติกรรมของเรยา จะถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควรเลียนแบบเป็นต้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเหตุผลหรือวิจารณญาณของคนดูละครแต่ละคน แต่ขึ้นอยู่กับ “อำนาจ” เช่น อำนาจวินิจฉัยของนักศีลธรรม นักเทศน์ สถาบันศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม เป็นต้น

เมื่อความหมายอของศีลธรรมสัมพันธ์กับอำนาจ ศีลธรรมจึงไม่ได้มาจากเหตุผลที่แต่ละคนมีเสรีภาพในการวินิจฉัยด้วยวิจารณญาณ ของตนเอง หากแต่ศีลธรรมเป็นเรื่องที่ต้องเชื่อฟังผู้มีอำนาจ ถูก-ผิดอยู่ที่ผู้มีอำนาจเป็นผู้บอก

ฉะนั้น เมื่อผู้มีอำนาจบอกว่าการสลายการชุมนุมที่เป็นเหตุให้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวน มากเป็นเรื่องที่ไม่ผิด ประชาชนก็ต้องเชื่อ ไม่ต้องออกมาเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจรับผิดชอบเหมือนที่เรียกร้องให้แบนหรือ เซ็นเซอร์ละคร หรือภาพยนตร์ ฯลฯ ที่ผู้มีอำนาจวินิจฉัยหรือชี้นำว่าผิดหลักศีลธรรม

ดังกรณีวัยรุ่นโชว์เปลือยกายในงานสงกรานต์ที่สีลมเช่นกัน ผมหดหู่ใจมากเมื่อเห็น “พระชื่อดัง” ออกมาพูดว่า เป็น “ความเสียหายระดับสากล” พร้อมเรียกร้องว่าหน่วยงานในพื้นที่ควรมีส่วนรับผิดชอบ ไล่ไปตั้งแต่ผู้ว่าฯ กทม.จนถึง “มหาเถรสมาคม” ที่หดหู่ใจเพราะผมไม่เคยเห็นพระชื่อดังรูปใดๆ รวมไปถึงมหาเถรสมาคมออกมาเรียกร้องให้ “ผู้มีอำนาจ” รับผิดชอบต่อการสลายการชุมนุมที่ประชาชนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก

กลายเป็นว่า พื้นที่ความเป็นมนุษย์ในมติที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ความเป็นมนุษย์ในมิติที่เจ็บปวด บาดเจ็บ ล้มตาย เพราะถูกอำนาจอันอยุติธรรมกดขี่เข่นฆ่า กลับเป็นพื้นที่ที่ศีลธรรมแผ่ไปไม่ถึง ศีลธรรมแบบขาว-ดำ + อำนาจนิยม ไม่เคยไม่เคยแคร์ต่อความไม่เป็นธรรมทางสังคม และไม่เคยโอบอุ้ม หรือแม้แต่ปลุกปลอบใจประชาชนคนเล็กคนน้อยที่ถูกกดขี่บีฑาใดๆ เลย

นอกจากจะไม่เคยอยู่ข้างคนเล็กคนน้อย หรือประชาชนที่ถูกกดขี่เอาเปรียบแล้ว ศีลธรรมแบบขาว-ดำ + อำนาจนิยม ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ ทั้งในรูปของ “ยากล่อมประสาท” ที่มอมเมาประชาชนให้สยบยอมต่ออำนาจที่ศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นปกครอง ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการเซ็นเซอร์ ลดทอน ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ตลอดถึงใช้เป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามประชาชนที่เรียก ร้องประชาธิปไตยตลอดมา

ฉะนั้น เป็นความจริงหรือไม่ว่า หากพื้นที่ความเป็นมนุษย์ในมิติที่สำคัญอย่างยิ่งคือ พื้นที่ที่เป็นมิติเสรีภาพ ความเสมอภาคในความเป็นคน และความเป็นธรรม ศีลธรรมแบบขาวดำ+ อำนาจนิยม ที่สืบทอดโดยสถาบันทางศาสนาและชนชั้นปกครองนอกจากจะไม่ได้ช่วย “ปกป้อง” หรือช่วย “ขยาย” พื้นที่ความเป็นมนุษย์ในมติดังกล่าวแล้ว

ยังนับวันจะทำลายอย่างอำมหิตและน่าสยดสยอง !

ที่มา : ประชาไท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น