วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

กระแส "ยิ่งลักษณ์" ทะยาน เหนือ "อภิสิทธิ์" คลื่นใหญ่ ลมแรง

เป็นอันว่ากระแส น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จุดติด

ไม่เพียงแต่ยืนยันโดยผ่านกระบวนการของ "โพล"จากหลายสำนัก หากแต่แถลงของ นายเนวิน ชิดชอบ นั่นเองเป็นคำอธิบายที่สำคัญและทรงความหมาย

1 แสดงว่าพรรคเพื่อไทยชนะพรรคประชาธิปัตย์แน่นอน

ขณะเดียวกัน 1 ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้มีโอกาสสูงยิ่งที่แม้จำนวน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ผนวกเข้ากับ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ก็สู้ไม่ได้

ตรงนี้ซิจึงเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับพรรคภูมิใจไทย

การออกมาฟันธงว่า ทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เสมอเป็นเพียงกลยุทธ์ 1

เป็นกลยุทธ์ 1 อีหรอบเดียวกับที่เคยตีปลาหน้าไซว่าพรรคเพื่อไทยถึงจะชนะก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล เป็นกลยุทธ์ 1 อีหรอบเดียวกับที่เคยตีปลาหน้าไซว่า "มือที่มองไม่เห็น"ไม่เปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทยแน่นอน

แถลงของ นายเนวิน ชิดชอบ การตอบโต้จากพรรคประชาธิปัตย์ ในอีกด้านหนึ่งจึงเท่ากับยอมรับความพ่ายแพ้ในทางความคิดต่อพรรคเพื่อไทย



ขณะเดียวกัน ก็ยอมรับว่ากระแส น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จุดติด

ปัจจัย 1 ที่ทำให้กระแส น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จุดติดในทางการเมือง มาจากความล้มเหลวของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ที่สำคัญก็คือ เป็นความล้มเหลวเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 

จุดต่างไม่เพียงเพราะรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นำเอากลุ่มของ นายเนวิน ชิดชอบ เข้ามาร่วมแล้วไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีธรรมาภิบาล หากแต่ยังอยู่ที่การลอกนโยบายประชานิยมอย่างขาดความเข้าใจในปรัชญาและกระบวนการอย่างเพียงพอ

คิดง่ายๆ เพียงว่าถมเงินเข้าไปก็ยอดเยี่ยมแล้ว

แม้แต่ นายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งเคยทำงานร่วมกับพรรคไทยรักไทยก็ไม่สามารถสร้างผลงานให้เป็นของตนเองได้ การปฏิเสธผ่านการเลือกตั้งซ่อมที่สกลนครคือรูปธรรมอันเด่นชัดที่สุด

เหตุผลก็เพราะทั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายเนวิน ชิดชอบ ไม่รู้โนว์-ฮาวอย่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีอยู่ในมือ ไม่ว่าจะเป็นโนว์-ฮาวแนวทางประชานิยม ไม่ว่าจะเป็นโนว์-ฮาวของการบริหารจัดการ

ในที่สุด ผลงานของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงดำเนินไปตามบทสรุปที่ว่า กู้มาโกง กู้มาตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

เป็นรัฐบาลดีแต่พูด ทำไม่เป็น

ปัจจัย 1 อันเป็นผลสะเทือนและความต่อเนื่องจากปัจจัยแรกคือ การเปรียบเทียบระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
มิได้เป็นการเปรียบเทียบ สาวสวย หนุ่มหล่อ อันเป็นเรื่องรูปแบบ

ที่สำคัญเป็นอย่างมาก คือ การเปรียบเทียบในลักษณะอันเป็น "ตัวแทน" ของความแตกต่างแห่งแนวคิดและกลุ่มพลังทางสังคมซึ่งอยู่ข้างหลัง

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นโคลนนิ่งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างแน่นอน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นตัวแทนทางความคิดของกลุ่มที่บงการให้เกิดการก่อรัฐประหารเดือนกันยายน 2549

จุดต่างอย่างสำคัญอยู่ตรงที่ 2 กลุ่มนี้เป็นเงาสะท้อนของความคิดและพลังอะไรในสังคม

นิยามที่เห็นเป็นรูปธรรมอย่างที่สุดก็คือ กลุ่มที่บงการให้เกิดการก่อรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ไม่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในแนวทางที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำเนินการผ่านรัฐบาลพรรคไทยรักไทยระหว่างเดือนมกราคม 2544 ถึงเดือนกันยายน 2549

ขณะที่การดำรงอยู่ของแนวทางอันเสนอโดยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยมิได้เป็นการดำรงอยู่อย่างโดดเด่น ตรงกันข้าม ได้รับการยอมรับจากประชาชนที่เด่นชัดมาก 1 คือการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2548 และ 1 คือกระแสอันสำแดงผ่านความนิยมต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
การยอมรับจากประชาชนต่างหากคือเครื่องมือสำคัญของพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน

มิได้เป็นเรื่องแปลกที่กระแสขานรับต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะสูงขึ้นๆ อย่างไม่ขาดสาย

เพราะว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นตัวแทนแห่งพลังเกิดใหม่ในสังคม เพราะว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นตัวแทนแห่งพลังเก่าซึ่งกำลังถดถอย เสื่อมทรุดเป็นลำดับ

ผลการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม จะเป็นคำตอบของความเป็นจริงนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น