วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

รายงานเสวนาวันปรีดี: แนวคิด ‘ปรีดี พนมยงค์’ ข้อคิดต่อสังคมไทยปัจจุบัน


11 พ.ค.54 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงานวันปรีดี ประจำปี 2554 โดยเวลา 10.00 น. มีการอภิปรายเรื่อง “แนวคิดของปรีดี พนมยงค์ กับการแก้ไขปัญหาทางการเมือง ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และข้อคิดต่อสังคมไทยในปัจจุบัน” โดย ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร และนายสันติสุข โสภณศิริ

ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กล่าวนำถึงบริบทโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีลักษณะเป็นสงครามเย็น เป็นการปะทะกันระหว่างขั้วสังคมนิยมและเสรีประชาธิปไตย ส่วนไทยนั้นบอบช้ำเล็กน้อย เพราะดีที่ไม่ต้องตกเป็นฝ่ายแพ้สงครามจากคุณูปการของขบวนการเสรีไทยที่มีปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวขบวน การรัฐประหารเมื่อ 8 พ.ย. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งสำคัญที่สุดที่ส่งผลถึงสภาพการเมืองไทยปัจจุบัน ที่เป็นประชาธิปไตยที่ไม่มั่นคง เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยถูกยึดอำนาจมาตลอด รัฐประหาร 2490 เป็นเส้นแบ่งที่ทำลายทุกอย่าง เป็นมรดกของ 8 พ.ย. 2490 ที่ทหารบกยึดอำนาจรัฐของไทยตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้

ธเนศเล่าถึงจุดเริ่มต้นของตัวเองที่ได้มารู้จักกับชีวิตของปรีดี พนมยงค์ ว่าเริ่มตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนหนังสือซึ่งยังไม่มีอนุสาวรีย์ปรีดี หรือวันปรีดี ตัวเองกับกลุ่มได้ออกวารสารเล่มหนึ่งชื่อว่า “ตื่นเถิดลูกโดม” ซึ่งได้สกรีนหน้าปกเป็นรูปอาจารย์ปรีดี ต่อมาสันติบาลตามหากันให้วุ่น แต่นั้นจึงรู้ว่าสังคมในขณะนั้นห้ามพูดถึงปรีดี แล้วตัวเองก็ถูกโจมตีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ก็เลยต้องออกใบปลิวสู้ ปะไปทั่วทั้งท่าพระจันทร์ อธิการบดีขณะนั้นคือกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์เรียกพบ ได้คุยกันท่านก็ยืนยันว่าปรีดีไม่ใช่คอมมิวนิสต์ นี่คือจุดเริ่มต้นที่รู้จักปรีดีในฐานะสัญลักษณ์ทางการเมืองที่รัฐบาลในขณะนั้นไม่ชอบ และสังคมไทยก็ใช้เวลาอีกนานนับจากนั้นกว่าจะมีอนุสาวรีย์ปรีดี และวันปรีดี พนมยงค์

เขาเล่าถึงปรีดี พนมยงค์ ด้วยแนวคิด 2 ด้าน ได้แก่ เศรษฐศาสตร์การเมือง และ การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย สำหรับความคิดด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองของปรีดีนั้นมีเนื้อหาที่ค่อนข้างละเอียด และเป็นโครงการที่มีลักษณะเป็นระบบพอสมควรมากกว่าความคิดและอุดมการณ์ทางการเมือง จึงนำไปสู่ความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ทั้งในกลุ่มผู้นำคณะราษฎรเอง และกับกลุ่มชนชั้นปกครองเก่า เค้าโครงการเศรษฐกิจถูกหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จึงส่งผลใหปรีดีต้องลี้ภัยไปในเวลาต่อมา แต่ปรีดีได้กล่าวไว้ว่า “การเปลี่ยนแปลงคราวนี้ไม่ใช่ Coup de’ tat เป็น Revolution ทางเศรษฐกิจ ไม่มีในทางปกครองซึ่งเปลี่ยนจากพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวมาเป็นหลายคนเท่านั้น”

กล่าวโดยสรุปเค้าโครงการเศรษฐกิจของคณะราษฎรมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ การบำรุงสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ อันเป็นหนึ่งในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร โดยใช้หลักการจัดการสหกรณ์ครบรูปแบบ ที่มีแนวคิดให้รัฐบาลจัดการเศรษฐกิจเสียเอง ไม่ใช่ปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำดำเนินการเศรษฐกิจไป โดยรัฐบาลเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ส่วนแรงงานก็โดยการให้ราษฎรเป็นข้าราชการของรัฐเสีย เพราะปรีดีเชื่อว่านิสัยคนไทยชอบทำราชการ คือชอบเอาแรงงานของตนมาแลกกับเงินเดือนของรัฐบาล

แนวคิดของปรีดีเช่นนี้เมื่อผนวกกับลัทธิโซลิดาริสม์ ที่ถือว่ามนุษย์ต้องร่วมประกันภัยต่อกันและร่วมในการประกอบการเศรษฐกิจ และผนวกกับลัทธิสหกรณ์ที่ขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปถึงการสาธารณสุข ที่สุดจะปลดปล่อยคนออกไปสู่ความสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจ และมีเสรีภาพโดยสมบูรณ์ด้วย เค้าโครงการเศรษฐกิจเชื่อว่าเสรีภาพและความเสมอภาคนั้นอยู่ที่ท้อง ไม่ได้อยู่ที่หัวหรือใจ ปรีดีกล่าวว่า “ราษฎรจะต้องการเสรีภาพโดยไม่มีอาหารรับประทานเช่นนั้นหรือ ทั้งนี้ไม่ใช่ความประสงค์ของราษฎรเลย”

ธเนศ กล่าวสรุปว่า แนวคิดของปรีดีไม่ใช่ซ้าย ไม่ใช่คอมมิวนิสต์อย่างที่ถูกกล่าวหา แต่ปัญหาคือสิ่งที่ปรีดีเสนอมานั้นเป็นการนำเสนอที่ล้ำหน้าและราดิคัล (radical) อย่างยิ่ง เพราะเท่ากับเป็นการยกระดับและนำราษฎรไทยพ้นจากระบบไพร่และแรงงานภายใต้พันธนาการรูปแบบหนึ่งแบบใด ไปสู่ระบบสหกรณ์และสังคมนิยมโดยรัฐ ที่ราษฎรหลุดจากพันธนาการและอยู่ใต้การอุปถัมภ์ของนาย กลายเป็นข้าราชการภายใต้รัฐโดยส่วนใหญ่ ในทางทฤษฎีกระบวนการดังกล่าวจึงเป็นการปฏิวัติอย่างแท้จริง และไม่น่าแปลกใจที่   เค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือพูดให้เจาะจงก็คือความคิดราดิคัลและทันสมัยภายในเค้าโครงฯ ได้นำไปสู่การเผชิญหน้าและการปะทะกันทางการเมืองระหว่างกลุ่มพลังต่างๆ อย่างที่ไม่อาจประนีประนอมกันได้

ด้านการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย ปรีดีให้ความสำคัญต่อการรักษาความต่อเนื่องของระบอบปกครองและสังคม คือปรีดีไม่ได้ต้องการล้มสถาบันเพราะเห็นว่าสมควรจะยังมีต่อไปตราบนาน สิ่งที่ปรีดีกล่าวย้ำอยู่เสมอได้แก่อำนาจในระบอบประชาธิปไตยนั้น มีความชอบธรรมและเด็ดขาดเช่นเดียวกับอำนาจในระบอบเก่า ต่างกันที่ว่าอำนาจใหม่นั้นวางอยู่บนกฎหมาย ซึ่งประชาชนให้ความยินยอมและรับรองโดยผ่านผู้แทนของพวกเขาในสภา ไม่ใช่อำนาจตามอำเภอใจและอัธยาศัยของผู้มีอำนาจเท่านั้น

ความต่อเนื่องที่สำคัญยิ่งในทรรศนะของปรีดี ได้แก่ความต่อเนื่องของระบบประชาธิปไตยในสังคมไทยสยาม เพราะประชาธิปไตยคือการถือมติปวงชนเป็นใหญ่ เกิดขึ้นตามธรรมชาติพร้อมกันกับการมีมนุษยชาติในโลกนี้ ต่อมาได้ถูกทำลายโดยระบบทาสและระบบศักดินา คนไทยก็เช่นเดียวกับคนชาติอารยะอื่น ๆ ที่รู้จักระบอบนี้มาแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว แต่ระบบทาสและศักดินาทำลายไปเสื่อมไปชั่วหลายพันปี การยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นั้นแท้ที่จริงแล้วคือ "การที่ปวงชนชาวไทยได้รับพระราชทานสิทธิประชาธิปไตยคืนมาจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โดยคณะราษฎรเป็นผู้นำขอพระราชทาน"

ครั้นต่อมาในวันเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก 28 มิ.ย. ได้มีการอัญเชิญพระราชกระแสรับสั่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯมาอ่านในที่ประชุม ซึ่งปรีดีอธิบายว่าพระราชกระแสรับสั่งนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานเอง ไม่ได้ขอหรือทำตามธรรมเนียม "ซึ่งแสดงว่าพระองค์เต็มพระทัยพระราชทานพระบรมราชานุมัติเป็นปฏิญญาแห่งระบอบปกครองประชาธิปไตย" อันถือว่าเป็นพันธะสัญญาระหว่างสถาบันกษัตริย์กับปวงชนและผูกพันสถาบันกษัตริย์ตลอดไป

นายสันติสุข โสภณศิริ กล่าวว่า ปีใน พ.ศ.2489 อยู่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านอยากแก้ปัญหาบ้านเมืองหลายอย่าง โดยเฉพาะปัญหาทางเศรษฐกิจ การเงินการคลัง ตามที่ได้แถลงเป็นนโยบาย 12 ข้อ ต่อที่ประชุมรัฐสภา ดังที่มีข้อที่ 4 ที่เกี่ยวกับการทหารมีสาระว่าจะปรับปรุงการทหารให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ทันได้แก้ปัญหาตามที่วางไว้ก็เกิดกรณีสวรรคตเสียก่อน

ที่สำคัญ ปรีดีต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นสถาบันที่สำคัญของชาติบ้านเมืองอีกสถาบันหนึ่ง แต่ว่าการเมืองช่วงนั้นมีความขัดแย้งมาก อาจจะมากกว่าเวลานี้เสียด้วยซ้ำถ้าเทียบกัน เพราะเกิดปัญหาคือการจะเอาระบอบประชาธิปไตยกับราชาธิปไตยเข้ามาอยู่รวมกันให้ได้ดีได้อย่างไร ทางยุโรปเขาทำได้เพราะประชาธิปไตยเขาเข้มแข็งมาก ประมุขต้องไม่ถูกดึงลงมายุ่งเกี่ยวหรือเป็นเครื่องมือทางการเมือง เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ เป็นต้น ถ้าถูกดึงลงมาสถาบันจะไม่มั่นคง ปรีดีมองว่าประมุขจะต้องมีตลอดไปตามประเพณี คณะราษฎรหรือจอมพล ป. ก็เช่นกัน ไม่เคยคิดจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบที่ไม่มีกษัตริย์

โดยสรุป 2 ปีที่ปรีดีเป็นนายกฯ ต้องเผชิญกับปัญหาทั้งการเมือง เศรษฐกิจ แต่สิ่งที่ปรีดียึดถือมาตลอดคือ สร้างสามัคคีธรรม สันติสุข และยึดมั่นในรัฐธรรมนูญ แต่ก็เผชิญความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับกลุ่มอำนาจเก่า ผนวกกับกรณีสวรรคต จึงทำให้ปรีดีประสบชะตากรรมอันไม่ราบรื่นอย่างที่ทราบกัน

ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร กล่าวถึงปรีดี พนมยงค์ โดยแยกดูเป็น 3 ช่วงของชีวิต คือ ช่วง 30 ปีแรกของชีวิตจนถึงกระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ช่วง 15 ปีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารบ้านเมืองจนพ้นไปจากบ้านเมือง และช่วงราว 30 ปีท้ายของชีวิต โดยในช่วงชีวิตแรกนั้นปรีดีเติบโตเล่าเรียน มีความรู้ประสบการณ์จากบ้านเมืองอื่นที่พัฒนาแล้ว จึงเห็นว่าประเทศไทยยังมีการปกครองแบบล้าหลัง คือ absolutely monarchy หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ปรีดีเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ได้เปลี่ยนมาก แค่เปลี่ยนจากคำ ‘absolutely’ มาเป็น ‘constutitional’ เท่านั้นเอง เพราะเห็นว่า monarchy อย่างไรก็จะต้องมีอยู่ต่อไป แล้วมาทำให้เป็น democratic มากขึ้นในทางกติกา เช่น มีการเลือกตั้ง แต่ต้องเป็น democratic ในกรอบ ดังที่กรอบคือหลัก 6 ประการของคณะราษฎรนั่นเอง

อีกเรื่องคือแม้จะมีการเลิกทาสไปแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ก็ยังมีไพร่ ปรีดีจึงได้ทำการเลิกไพร่โดยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองความรู้สึกไพร่มันหมดไป แต่เดี๋ยวนี้เห็นมีคนขุดเอามันกลับมาอีก อย่างไรก็ตาม นั่นนับเป็นความสำเร็จอันดับหนึ่งของคณะราษฎร ร.5 ใช้เวลา 40 ปี เลิกทาส แต่คณะราษฎรใช้เวลา 5 ปีเลิกไพร่

ด้านเศรษฐกิจ ปรีดีไม่ได้ปล่อยมันไปตามยถากรรม เพราะราษฎรที่ยากจนตามชนบทถ้ารัฐบาลไม่เข้าไปช่วยก็คงแย่ แม้ปัจจุบันเวลาล่วงเลยมา 70 กว่าปีแล้วก็ยังแย่อยู่อย่างนั้น ปรีดีจึงคิดแก้ปัญหา แล้วสเก็ตช์ความคิดออกมาเป็นเค้าโครงฯ แต่สมัยนั้นไม่เหมือนสมัยนี้ โทรทัศน์ก็ยังไม่มี ไมโครโฟนก็ไม่แน่ใจว่ามีหรือเปล่า ท่านก็ทำได้แค่นั้น ทั้งผู้คนก็ไม่ได้มีการศึกษามากมายเท่าสมัยนี้ มันก็เกิดความสับสน ก็เลยพูดกันเข้าใจยาก

ส่วนความคิดด้านการเมืองของปรีดี พนมยงค์ ดร.วิชิตวงศ์ ยกเอาสุนทรพจน์ของปรีดีที่แสดงในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 7 พ.ค. 2489 มาตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามีความจำเป็นที่จะต้องซ้อมความเข้าใจถึงหลักประชาธิปไตยตามหลักรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะราษฎรได้ขอพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ว่าระบอบประชาธิปไตยนั้น  เราหมายถึงประชาธิปไตยอันมีระเบียบตามกฎหมายและศีลธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ใช่ประชาธิปไตยอันไม่มีระเบียบ หรือประชาธิปไตยที่ไร้ศีลธรรม เช่น การใช้สิทธิเสรีภาพอันมีแต่จะให้เกิดความปั่นป่วน ความไม่สงบเรียบร้อย ความเสื่อมศีลธรรม ระบอบชนิดนี้เรียกว่า อนาธิปไตย  หาใช่ประชาธิปไตยไม่ ขอให้ระวัง อย่าปนประชาธิปไตยกับอนาธิปไตย  อนาธิปไตยเป็นภัยอย่างใหญ่หลวงแก่สังคมและประเทศชาติ  ระบอบประชาธิปไตยจะมั่นคงอยู่ได้ ต้องประกอบด้วยกฎหมาย ศีลธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต...”

วิชิตวงศ์ กล่าวสรุปว่า ปรีดี พนมยงค์ ไม่ใช่ประชาธิปไตยข้างถนนที่มาโกงกินกันอย่างในปัจจุบัน “ผมเห็นแต่พวกอ้างปรีดี แต่ไม่ได้ประพฤติอะไรอย่างปรีดีเลย ผมอยากสรุปจากปรีดีเป็นบทเรียนว่า ประชาธิปไตยทางการเมืองมีฐานรากคือประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจจะสร้างทัศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ประชาธิปไตยจะไปสร้างการเมืองประชาธิปไตย อยากให้ยึดตรงนี้เป็นหลัก เราต้องทำเศรษฐกิจให้เป็นประชาธิปไตย เพื่อให้สังคมมีทัศนะประชาธิปไตย จึงจะเกิดการเมืองประชาธิปไตย” วิชิตวงศ์กล่าว

ขอบคุณข้อมูลจาก : ประชาไท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น