วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ประชัน Social Media"ประชาธิปัตย์" ก้าวล้ำเข้าถึงทุกตัวละคร "เพื่อไทย"ขายอิมเมจ"ยิ่งลักษณ์"โดดเด่น

ท่ามกลางความก้าวหน้าทันสมัย ในโลกแห่งการสื่อสารทาง Social Media ที่กำลังบุกเข้าไปเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีไลฟ์สไตล์อยู่ทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ มือถือ ไอโฟน ไอแพด หรือแท็บเล็ต แทนที่สื่อกระดาษ รวมถึงโทรทัศน์ และวิทยุมากขึ้น  ในการติดต่อสื่อสารพูดคุยกันไม่ว่าจะเรื่องใดๆ

ยิ่งในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง  Social Media จึงกลายเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

เห็นได้ชัดเจนจาก  2 พรรคการเมืองใหญ่ อย่าง ประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย ก็ใช้ Social Media เป็นอีกหนึ่งช่องทางเพื่อติดต่อสื่อสารกับประชาชนในการเผยแพร่ประชันสารพัดนโยบาย (ทำได้จริงหรือเปล่าไม่รู้) ของพรรคตัวเอง รวมถึงเปิดช่องทางให้มีการติดต่อพูดคุยกับประชาชนที่มีฟีดแบคกลับมาอีกด้วย


มติชนออนไลน์ จึงได้สอบถามทัศนะ 2 นักวิชาการด้านสื่อ 

นายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการฝ่ายวิจัย โครงการมีเดียมอนิเตอร์ Media Monitor  ซึ่งให้ความเห็นว่า ในมุมมองส่วนตัว ถ้าให้เปรียบเทียบ การทำ Social media ที่ใช้ในการนำเสนอนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ค่อนข้างแตกต่างกันตรงที่ว่า พรรคเพื่อไทยมีการใช้สื่อสาธารณะทางอินเตอร์เน็ตแบบช่องทางเดียว ซึ่งการใช้เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ของผู้สมัครส.ส.ของพรรคยังมีน้อยอยู่  จึงค่อนข้างไม่ค่อยอัพเดท  

ขณะที่ในตัวหน้าเว็บหลักของพรรคเพื่อไทยเองนั้น โดยรวมค่อนข้างเป็นแบบแผนและทำออกมาได้ดี แต่ก็เป็นเพียงแค่การชูนโยบายของพรรค การโฆษณาที่ใช้ในการหาเสียง ผลงานที่ผ่านมาของทางพรรคเท่านั้น และค่อนข้างเน้นไปที่ตัวบุคคลเพียงคนเดียว อย่างเช่นการนำเสนอ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัครส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ อันดับหนึ่งของพรรคเพื่อไทย จนทำให้ผู้สมัครคนอื่นๆ ของพรรคโดนกลบหมดในโลกของSocial Media 

 ขณะที่ ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ต้องยอมรับว่า ในแง่ของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่หลายคนมีการใช้ โซเชี่ยล มีเดีย เพื่อบ่งบอก โฆษณาความเป็นตัวตนของตัวเองกันอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นของตัวเฟซบุ๊กของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเอง นายอภิรักษ์  โกษะโยธิน นายกรณ์ จาติกวณิช นายกอร์ปศักดิ์ สภาวะสุ หรือนายสาทิตย์ วงษ์หนองเตย เป็นต้น  

หรือแม้กระทั่งหน้าเว็บเพจของพรรคประชาธิปัตย์เอง ก็มีการอัพเดทข้อมูลข่าวสารอยู่เรื่อยๆ และมีการเปิดให้แสดงความคิดเห็น  หรือให้ประชาชนเข้าไปโพสข้อความต่างๆ ตอบโต้กันผ่านทางเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ เพื่อติดต่อสื่อสารกับคนของพรรคประชาธิปัตย์   รวมถึงมีการถ่ายทอดสดการลงพื้นที่หาเสียงต่างๆ ของสมาชิกพรรคนอกเหนือไปจากตัวของนายอภิสิทธิ์ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคเอง จึงทำให้การหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ผ่านทางโลกของอินเตอร์เน็ตดูมีความยืดหยุ่น ใกล้ชิด และดูเข้าถึงประชาชน โดยต้องยอมรับว่า ทางปชป.มีทีมงานที่เข้มแข็งและทำงานกันเป็นทีมในการช่วยแพร่กระจายนโยบายของพรรค

"การเผยแพร่ของข้อมูลข่าวสารของพรรคประชาธิปัตย์ ไปได้ไกลกว่าทางพรรคเพื่อไทย เห็นได้จากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนผู้ใช้ระบบสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตกับกับตัวของพรรค ซึ่งต้องยอมรับว่า ปชป.เขาใช้ช่องทางนี้ในการแตกกระจายนโยบายต่างๆ ในการหาเสียงเพื่อเป็นแรงผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ เท่ากับว่า ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว และก็ไม่ได้ดูว่า นายอภิสิทธิ์ โดดเด่นเหนือลูกพรรคคนอื่นๆ เหมือนที่เพื่อไทยพยายยามชูยิ่งลักษณ์ให้มีภาพกลบผู้สมัครคนอื่นๆ ด้วย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่ใช้โซเชี่ยลเน็ตเวิร์คจะต้องชื่นชอบประชาธิปัตย์กว่าเพื่อไทยนะ" นายธามกล่าว

ด้าน ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์    อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  มองว่า ในภาพรวมของการใช้ Social Media ของนักการเมืองไทย ยังคงเป็นเหมือนการพูดคุยสื่อสารเพียงด้านเดียว ส่วนใหญ่ผู้ใช้ยังไม่ค่อยเข้าใจธรรมชาติของ ความเป็นสื่อสังคมออนไลน์ สารที่นำเสนอไปก็ยังไม่ได้ก่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้   เมือพูดด้านเดียวก็เหมือนกับเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ นโยบายของพรรคเพียงเท่านั้น

ทั้งๆที่มันควรที่จะมีการทำความเข้าใจและเข้าให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย ความต้องการของประชาชนในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องนโนยบายทางการศึกษา ซึ่งทางพรรคการเมืองนั้นๆ ควรเปิดช่องทางในสื่อออนไลน์ในการทำการพุดคุยกับนักเรียน นักศึกษา พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรืออาจารย์ในความต้องการปัญหา และสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในแวดวงการศึกษาด้านต่างๆ เพื่อให้มีความเข้าใจว่า สิ่งไหน เป็นแบบใด  เพื่อที่จะทำให้นโยบายของตนเองสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ 

ดร.มานะ กล่าวต่อว่า การใช้ Social Media ของพรรคการเมืองต้องมีการวางแผนการใช้งานตลอด ซึ่งอย่างในเมืองนอกเขามีแบบแผนที่ดีและก็เข้าถึงประชาชนให้มีการตอบโต้สื่อสารกันไปมา อย่างที่ บารัค โอบาม่า  ใช้ในการหาเสียงก่อนเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ เขาก็ใช้มายสเปซ ในการสื่อสารกับประชาชนรวมถึงใช้ในการะดมทุนเพื่อใช้ในการเลือกตั้ง ซึ่งตอนนั้น เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ยังไม่ได้รับความนิยม   แต่ของเมืองไทยเอง เราใช้สื่อตรงนี้ตามกระแสโดยเฉพาะช่วงนี้ ซึ่งอาจจะดูคึกคักและมีการตื่นตัวขึ้นมาหน่อย   แต่ขาดการวางแผนในระยะยาว  และไม่ค่อยประกอบกับสื่อหลักเท่าที่ควร

ส่วนการใช้สื่อดังกล่าวนี้ ของพรรคใหญ่ๆ อย่างประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย ที่มีการประชันนโยบาย กันนั้น ก็ต้องยอมรับว่า ประชาธิปัตย์นำหน้าเพื่อไทยในเรื่องนี้มานาน ซึ่งนักการเมืองในพรรคก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีการใช้เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ส่วนตัว แต่ความจริงจะว่าก็ไม่ต่างอะไรกันมากกับพรรคเพื่อไทย ที่บางทีก็ยังคงเป็นการป้อนข้อมูลข่าวสารเพียงทางเดียว อาจไม่ค่อยเกิดประโยชน์  ไม่ได้ติดต่อ พุดคุยหรือแชร์นโยบายของพรรคตนเองกับประชาชนเท่าใดนัก

" จริงๆ แล้วอยากจะให้พรรคการเมืองต่างๆ ใน Social Media  อย่างเข้าใจธรรมชาติของมัน มีการกำหนดแผน กลยุทธ์แนวทางของพรรคให้ชัดเจนว่า ตรงกับความเป็นจริงด้านไหน อยากให้หวังผลในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น" ดร.มานะ กล่าว

มติชนออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น