วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

รำลึก 19 ปี พฤษภา 35 ถึง 1 ปีพฤษภา 53 ตั้งคำถามต่อความตาย เรียกร้องปฏิรูปกองทัพ


กิจกรรมรำลึก 19 ปี พฤษภา 35 และ 1 ปีพฤษภา 53 เรียกร้องปฏิรูปกองทัพ ตั้งคำถามต่อความตายและความชอบธรรมในการเชิญ อภิสิทธิ์ เข้าร่วมงานรำลึก "พฤษภาทมิฬ"
17 พ.ค.54 เวลา 18.00 น. ที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยและองค์กรแนวร่วม ประมาณ  40 คน ได้จัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์การปราบปรามประชาชน 19 ปี พฤษภา 35 ถึง 1 ปี พฤษภา 53 เพื่อเรียกร้องให้มีการทบทวนบทเรียนความรุนแรงโดยรัฐทหาร พร้อมเสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพอย่างจริงจัง เพื่อเสริมสร้างอำนาจประชาชนในระบอบประชาธิปไตย พร้อมทั้งตั้งคำถามกับบทบาทของสื่ออิสระที่ก่อตั้งตามเจตจำนง พฤษภา 35 ที่เหมือนจะไม่ทำหน้าที่เจตจำนงดังกล่าวในช่วงเหตุการณ์ พฤษภา 53

โดยกิจกรรมได้มี การบอกเล่าเรื่องราวแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้ที่ผ่านเหตุการณ์ที่รัฐบาลนำโดยทหารมาปราบปรามประชาชน ในเหตุการณ์ 17-20 พฤษภาคม พ.ศ.2535 และเหตุการณ์ เมษา-พฤษภาคม 53, การแสดงดนตรี, การอ่านแถลงการณ์ “จาก พ.ค.35 ถึง พ.ค 53 ถึงเวลาปฏิรูปกองทัพ ลดอำนาจลดงบทหาร = เสริมสร้างอำนาจประชาชน”, การเวียนเทียนแดงรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อรำลึกถึงผู้ที่เสียชีวิตทั้ง 2 ช่วงเวลาของเหตุการณ์ และปิดท้ายด้วยการร้องเพลงนักสู้ธุลีดินร่วมกัน เสร็จผู้ชุมนุมจึงแยกย้ายออกจากบริเวณดังกล่าวในเวลา 22.00 น.

ในกิจกรรมการพูดคุยเสวนา นอกจากจะมีการทบทวนถึงบทบาทนักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ พ.ค.35 จำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์แล้ว ผู้เข้าร่วมหลายคนได้ตั้งคำถามถึงความตายที่เกิดขึ้นในปี 2535 ด้วยว่า"ความตายของผู้ที่ถูกขนานนามว่าวีรชนพฤษภานั้นได้เกิดประโยชน์โภคผลต่อสังคมไทยจริงหรือไม่ เหตุใดกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้องกับความตายในปี 2535 จึงพยายามที่จะไม่พูดถึงความรุนแรงโหดร้ายใน เหตุการณ์ เมษา-พฤษภา 2553 ??เมื่อความจริงไม่ได้ถูกนำมาเปิดเผย ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษแล้วเราจะเรียกว่าพฤษภาประชาธรรมได้อย่างไร ??และการที่คณะผู้จัดงาน เชิญให้นายอภิสิทธิ์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนในการที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ เมษา-พฤษภา 2553 มาร่วมงานรำลึก 17-20 พฤษภาคม 2535 มีความเหมาะสมหรือไม่และเอื้อประโยชน์ต่อใคร ??
แถลงการณ์ดังกล่าว :

แถลงการณ์จาก พ.ค.35 ถึง พ.ค. 53
ถึงเวลาปฏิรูปกองทัพ ลดอำนาจลดงบทหาร = เสริมสร้างอำนาจประชาชน
ณ ช่วงเวลานี้เมื่อ19 ปีที่แล้ว ประชาชนได้เคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 นำไปสู่เหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมหมู่กลางกรุงที่นำโดยทหาร พร้อมกับตำรวจ จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก จนเป็นเหตุให้ต่อมา พล.อ.สุจินดา ได้แถลงลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 พ.ค.35
18 ปีต่อมาเหมือนเราจะไม่เคยจดจำบทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือน พ.ค.35 คือในช่วงวันที่ 14-19 พ.ค.53 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ทำการวิสามัญฆาตกรรมหมู่ประชาชนกลางกรุงโดยให้มือสังหารของรัฐอย่างทหารออกปฏิบัติการอีกครั้ง จะว่าไปแล้วอาจไม่ต้องย้อนไปทบทวนบทเรียนถึง 18 ปี หากแต่ช่วงเวลานั้นย้อนไปเพียง 1 เดือน คือวันที่ 10 เมษา 53 เราก็ได้เห็นบทเรียนการสูญเสียจากการพยายามเข้าสลายการชุมนุมของรัฐอยู่แล้ว แต่ไม่มีการทบทวน จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน และบาดเจ็บหลายพันคน มากกว่าเหตุการณ์ พค 35 แต่ที่น่าหดหู่มากกว่าคือ ไม่มีการแสดงความรับผิดชอบจากผู้บริหารประเทศ นายกอภิสิทธิ์ ยังสามารถนั่งบนเก้าอี้ที่นองไปด้วยเลือดอีก 1 ปี เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
สิ่งที่น่าสนใจคือหลังเหตุการณ์ พ.ค.35 ทหารได้ถอยกลับเข้ากรมกอง งบประมาณทางการทหาร(ที่ขูดรีดมาจากประชาชน ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีการเรียกร้องรัฐธรรมนูญจนได้มาซึ่ง รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 อีกทั้งยังได้มาซึ่งสื่อมวลชนที่เป็นอิสระจากรัฐอย่าง ITV เป็นต้น 
แต่ทั้งหมดนี้กลับถูกทำลายลงเมื่อเกิดการรัฐประหาร 19 กย 49 ที่ไม่เพียงรัฐธรรมนูญของประชาชน ปี 40 จะถูกฉีกทิ้งไปเท่านั้น งบประมาณทางการทหารก็เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ยิ่งหลังวิสามัญฆาตกรรมหมู่ประชาชนกลางกรุงเหมือนกับว่าจะได้รับรางวัลเลือด โดยงบประมาณทางการทหารสูงขึ้นแบบทวีคูณ นอกจากบทบาทของทหารที่จะต้องถูกตั้งคำถาม สื่ออิสระที่เกิดจากเจตจำนง พ.ค.35 หายไปไหนในช่วงเหตุการณ์ พ.ค.53
และที่กังวล 19 ปี พ.ค 35 ถึง 1 ปี พ.ค. 53 ไม่เพียงผู้มีส่วนในการวิสามัญฆาตกรรมหมู่ประชาชนกลางกรุงในปี 53 จะถูกลงโทษ หรืออย่างน้อยถ้าใช้มาตรฐาน พ.ค.35 ก็ควรจะลาออกตั้งแต่ต้นนั้น ยังจะได้รับเกียรติมางานรำลึก 19 ปี พ.ค.35 ยิ่งส่งผลให้ดูเหมือนว่าโดยเนื้อแท้เหตุการณ์ การเข่นฆ่าประชาชน 2 เหตุการณ์นี้เป็นเพียงแค่ตัวเลข พ.ศ.ท้ายที่ สลับกันระหว่าง 35 กับ 53 เท่านั้น ไม่ได้จดจำอะไรเลย ภายใต้วาทะกรรมลวงๆว่า "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ศิษย์เก่าราชดำเนิน 35" อีกด้วย
ด้วยเหตุนี้เราจึงขอตั้งคำถามจาก พ.ค.35 ถึง พ.ค.53 ใน พ.ค.54 ว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องปฏิรูปกองทัพอย่างจริงจัง เช่น ห้ามกองทัพในการเข้ามาแทรกแซงการเมือง ลดงบประมาณทางการทหารเอาเงินส่วนนี้ไปจัดสวัสดิการให้กับประชาชนดีกว่า ให้ทหารออกจากเขตเมือง เพราะคงไม่มีความจำเป็นที่เราต้องมีรั้วของชาติมาอยู่กลางบ้าน เปลี่ยนพื้นที่ค่ายทหารดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยในเมือง โอนหน้าที่ของที่ซ้ำซ้อนเปลืองงบประมาณแถมลำบากทหารเปล่าๆมาให้ประชาชน เช่น กิจกรรมสาธารณะภัยมาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรอาสาสมัครหรือองค์กรของพลเรือนอื่นๆ ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร โอนสถานีวิทยุและโทรทัศน์ของกองทัพให้แก่รัฐสภาหรือหน่วยงานอื่นที่มีที่มาจากประชาชน เป็นต้น เพราะการลดอำนาจทหาร = การเสริมสร้างอำนาจประชาชน
เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย และองค์กรแนวร่วม
แถลง ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
17 พ.ค.54
ขอบคุณข้อมูลจาก ประชาไท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น