วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

นักวิชาการดันกรรมการสิทธิฯ เจ้าภาพส่งศาล รธน.ตีความ ม.112-ประกันตัวผู้ต้องหา


18 พ.ค.54 ที่ห้อง 709 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการฯ มีการจัดการอภิปรายเรื่อง “การจัดการความรุนแรงในสังคมไทย: กรณีการบังคับใช้ประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112” โดยคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งมี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์ณวัชระ เป็นประธาน และมีนายสมชาย หอมลออ ,นายจอน อึ๊งภากรณ์ อนุกรรมการเข้าร่วมรับฟังปัญหาและข้อเสนอจากผู้อภิปราย โดย นพ.นิรันดร์ระบุว่าการจัดอภิปรายครั้งนี้เกิดขึ้นจากเมื่อเร็วๆ นี้มีการร้องเรียนเรื่องนี้จากหลายองค์กรในกรณีของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ สมยศ พฤกษาเกษมสุข

ทั้งนี้ มีผู้ให้ความสนใจเข้าฟังและร่วมแลกเปลี่ยนจำนวนมาก อาทิ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ , วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นิติศาสตร์ มธ., สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ศิลปศาสตร์ มธ., ปิยบุตร แสงกนกกุล นิติศาสตร์ มธ.,อธึกกิต แสวงสุข หรือคอลัมนิสต์ชื่อดัง “ใบตองแห้ง”, เดวิด สเตร็กฟัส นักวิชาการ ม.ขอนแก่น ซึ่งวิจัยและเขียนหนังสือเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ, มารค ตามไท นักวิชาการด้านสันติวิธี จาก ม.พายัพ, สุณัย ผาสุก จาก Human Right Watch,กลุ่ม article 112 รวมถึงผู้ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหานี้และผู้ได้รับผลกระทบ อาทิ บัณฑิต อานียา นักเขียนนักแปล, เอกชัย หงศ์กังวาน ผู้ต้องหาจำหน่ายซีดีสารคดีสำนักข่าว ABC ที่ได้รับการประกันตัว, บุญยืน ประเสริฐยิ่ง อดีตผู้ต้องขังที่เพิ่งพ้นโทษ, จีรนุช เปรมชัยพร จากเว็บไซต์ประชาไทที่กำลังถูกดำเนินคดี, จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ซึ่งถูกเลิกจ้างจากการกล่าวหาที่เกี่ยวพันกับข้อหานี้ เป็นต้น

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เริ่มต้นการอภิปรายโดยระบุว่าจะขอพูดในฐานจำเลยว่า ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้นมีความละเอียดอ่อน คนต้องเข้าใจว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีไว้ทำไมในระบอบประชาธิปไตย คนไทยไม่เคยพูดเรื่องนี้กันจริงๆจังๆ และถ้ามีไว้จะอนุรักษ์สถาบันกษัตริย์เพื่อประโยชน์ของราษฎรส่วนใหญ่ได้อย่างไร

การจะรักษาสถาบันนี้ไว้ จะต้องมีผู้ซึ่งมีความกล้าหาญทางจริยธรรม เชื่อมั่นในระบบนี้จริงจังมาพูดคุยกัน เป็นตัวแทนองคมนตรี พระราชวัง หรือแม้แต่คณะกรรมการสิทธิก็ได้ ที่มีกึ๋น มีความกล้าหาญพอจะมาพูดเรื่องเนือ้หาสาระ แต่เมืองไทยปราศจากคนเหล่านี้ที่จะทำอะไรนอกระบบนอกแบบ ในกรณีของสื่อก็เห็นจะมีแต่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันที่กล้าแสดงออก สื่อปัจจุบันกลัวเรื่องนี้กันไปหมด

สำหรับปัญหาที่ทุกคนเผชิญเรื่อง ม.112 นั้น สุลักษณ์กล่าวว่า เรื่องนี้ทำร้ายสถาบันยิ่งกว่าอุดหนุนสถาบัน และทุกคนที่เอามาตรานี้มาใช้จับคนอื่นๆ โดยอ้างว่ารักในหลวง อยากตั้งคำถามว่าทำไมไม่ฟังพระราชดำรัสที่ตรัสไว้ชัดเจนว่าใครฟ้องร้องเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นการทำร้ายพระองค์เป็นส่วนตัว และทำให้สถาบันคลอนแคลน

“ถ้าเราจะรักษาสถาบันฯ ไว้ต้องเลิกจับคนนู้นคนนี้ และหลายคนที่โดนจับเป็นคนที่หวังดีกับสถาบัน อย่างล่าสุด คุณสมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) ผมก็ไม่ได้นับถืออะไรมากนัก และหมันไส้ในหลายกรณี แต่ทีคุณสมศักดิ์พูด โดยเฉพาะที่แจกกับฟ้าเดียวกันฉบับก่อน มันเต็มไปด้วยสติและปัญญา และความหวังดีต่อสถาบัน” สุลักษณ์กล่าว และว่า ในกรณีคดีของตนนั้นคดียุติไปเพราะเรื่องขึ้นถึงพระเนตรพระกรรณ จึงมีพระราชดำรัสชัดให้ยุติคดี แต่เวลานี้พระองค์ทรงประชวร และมีการกีดกันอย่างมากไม่ให้เรื่องต่างๆ ขึ้นไปแถึงพระองค์

เขากล่าวอีกว่า หากยังมี ม.112 อยู่จะเป็นขวากหนามที่สำคัญสุดในการรักษาสถาบัน เว้นแต่จะมีการปรับปรุง เช่นการฟ้องร้องควรให้ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างสำนักราชเลขาธิการ หรือองคมนตรีเป็นผู้ฟ้อง มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งเพิ่งถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามความผิดมาตรา 112 เมื่อเร็วๆ นี้ เริ่มต้นกล่าวถึงผลกระทบที่นอกเหนือจากกฎหมายคือการคุมคามและการเพ่งเล็งจากส่วนต่างๆ แม้กระทั่งกรรมการหมู่บ้าน จนคนในครอบครัวซึ่งไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองมาก่อนมีความวิตกกังวลอย่างมาก ก่อนหน้านี้มีมอเตอร์ไซด์เข้ามาตามหาสมศักดิ์ 2 ครั้งในหมู่บ้าน หนึ่งในสองคนที่มีการแลกบัตรกับ รปภ.ไว้เมื่อนำไปเช็คประวัติทะเบียนราษฎรพบว่ารับราชการทหาร

“มันกลายเป็นการกดดัน ตลอดเดือนที่ผ่านมาปรึกษาคนโน้นคนนี้ แต่ละคนประเมินว่าผมมีสิทธิโดนอุ้ม อาจารย์ระดับผู้บริหารมหาวิทยาลัยยังพูดด้วยซ้ำว่าสักวันอาจโดนเก็บ ผมก็กึ่งๆ กลัว แต่คนรอบข้างภรรยา ญาติพี่น้อง กลัวกว่ามาก”

“หลายคนคงรู้ว่า ล่าสุด ตำรวจเรียกตัวผมไป ผมได้ยินมาว่ามีหมายจับด้วยซ้ำ ได้ยินหลายหนมากในระยะไม่กี่เดือน ตำรวจบอกบ้าง ทหารบอกบ้าง แต่ผมไม่สามารถยืนยันได้ ในที่สุดเป็นหมายเรียก มีการยื่นคำแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งกองทัพให้พระธรรรมนูญกองทัพบกจัดการ โดยมีทหารยศพันตรีคนหนึ่งไปแจ้งความ” สมศักดิ์กล่าวและว่า ข้อกล่าวหามีความยาว 3 หน้า ยกบทความของเขา 2 ชิ้นที่เป็นจดหมายเปิดผนึกถึงฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ ขณะนี้เขากำลังร่างคำแถลงอย่างเป็นทางการเพื่อชี้แจง แต่ก็รู้สึกค่อนข้างเซ็ง เพราะหลักฐานที่เจ้าหน้าที่ยกมานั้นอ่อนมาก หากมันเป็นความผิดจริง ในห้องเรียนเรื่องการเมืองไทยสมัยใหม่คงไม่ต้องพูด ไม่ต้องวิเคราะห์อะไรกันเลย ทุกอย่างต้องหยุดสอน

อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์หยิบยกรายละเอียดที่ถูกกล่าวหาในจดหมายฉบับแรกว่า มีการหยิบยกส่วนที่กล่าวทำนองว่า ...ตามหลักการที่ทั่วโลกอารยะถือกันในปัจจุบัน การที่บุคคลสาธารณะแสดงความเห็นในสาธารณะต้องเปิดโอกาสให้สาธารณชนโต้แย้งได้ ไม่อย่างนั้นถือว่าไม่ยุติธรรม บทบาทสาธารณะทุกอย่างในสาธารณะและการอบรมบ่มเพาะด้านเดียวที่ส่งเสริมบทบาทเหล่านั้นต้องได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ โต้แย้งและให้เอาผิดได้ตั้งแต่แรก..ซึ่งสมศักดิ์เห็นว่าการกล่าวหาโดยยกข้อความนี้อ่อนมากจนทำให้ไม่รู้ว่าจะเขียนตอบอย่างไร การกล่าวหานั้นระบุว่าเขากำลังกล่าวหาว่าในหลวง พระราชินีว่ากำลังยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทั้งที่ข้อความนี้ไม่ได้พูดถึงพระราชวงศ์เลย แต่พูดถึงกรอบที่ผู้คนยอมรับกันทั่วไป ในแง่บุคคลสาธารณะ ที่สำคัญไม่ใช้คำว่า “การเมือง” ด้วยซ้ำ แต่สมมติว่ามีการพูดว่าพระราชวงศ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองจริง อันนี้ก็เป็นการพูดซึ่งนักวิชาการที่สอนเกี่ยวกับการเมืองไทยสมัยใหม่ก็พูดในลักษณะนี้กันทั้งนั้น แต่เกี่ยวลักษณะไหนก็ว่ากันได้ ถึงจะมีการพูดแบบนั้นก็ไม่อาจนับเป็นหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายได้เลย

ส่วนบทความที่สองนั้น สมศักดิ์ใช้วิธีเปรียบเปรยเพื่อแสดงให้เห็นว่าในบทความเพียงแต่เขียนว่าใครพูดอะไร และมีใครแสดงความเห็นด้วยอย่างไร ซึ่งจะนับเป็นการวิจารณ์ก็ยังไม่ได้ด้วยซ้ำ อย่าว่าแต่การหมิ่นประมาท

“ถ้าเอากรณีผมเทียบกับสมยศ [พฤกษาเกษมสุข] ไม่ต้องพูดถึงคนอื่นๆ อีกหลายคนที่ไม่ได้ประกัน กรณีผมอาจเรียกว่าสบายกว่าเพื่อน โชคดีกว่าเพื่อน แต่ประเด็นผมมีสองประเด็นใหญ่ ในทางกฎหมายเคสผมไม่ควรเกิดขึ้นเลยด้วยซ้ำ เชื่อเลยว่าแม้คนไม่เห็นด้วยกับผมก็ยังนึกไม่ออกเลยว่าจะเป็นการหมิ่นอย่างไร แต่มันเกิดขึ้นได้เพราะเป็นกระบวนการที่ไม่ใช่ normal legal process [กระบวนการปกติในทางกฎหมาย] มันเกิดจากกองทัพออกมาทุกวัน พูดโจมตีคนที่เขามองว่าหมิ่นฯ ไม่ใช่กระบวนการปกติตามกฎหมาย นี่เป็นการกดดันทางเมือง การเมืองติดอาวุธด้วยซ้ำ” สมศักดิ์กล่าว

สมศักดิ์กล่าวว่า สิ่งที่นักสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนน่าจะช่วยได้คือการทำให้สังคมตระหนักว่าการพูดถึงสถาบันเฉยๆ ไม่ใช่การหมิ่น การวิจารณ์ก็ไม่ใช่การหมิ่น แต่ประเทศไทยมาถึงจุดว่า ถ้าใครพูดอะไรเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์หรือราชวงศ์ที่ผิดจาก official version จะถูกหาว่าหมิ่นได้ทันที

“ผมอยากจะเรียกร้องคนในวงการสิทธิออกมาพูดเรื่องนี้ ต่อให้เห็นด้วยหรือไม่กับ 112  หรือเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยกับผมก็ตาม ไม่อย่างนั้นสังคมไทยมันจะกลายเป็นสังคมอะไรไม่รู้ อีกหน่อยการสอนในห้องเรียน การวิเคราะห์การเมืองไทยจะทำกันไม่ได้เลย” สมศักดิ์กล่าว

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กล่าวว่า มาตรา 112 มีปัญหาทั้งเรื่องการบังคับใช้ และเรื่องตัวบทกฎหมาย กรณีของสมศักดิ์นั้นชัดเจนว่านำสู่ฐานความผิดยากเพราะมีความไม่ชัดเจน 2 ประการ คือ บุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการเขียน จม.เปิดผนึกคือใคร ถ้าเป็นเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ ก็ชัดว่าไม่อยู่ในความคุ้มครองของ ม.112  ถ้าไม่ใช่ แต่เป็นการหมิ่นพระมหากษัตริย์กับพระราชินี ในสำนวนของตำรวจก็ยังขาดความชัดเจนว่าเข้าข่าย ม.112 อย่างไร แม้คำว่าดูหมิ่นจะค่อนข้างกว้างในการตีความ แต่ถ้าไม่ใช่การทำลายเกียรติยศชื่อเสียง ลดสถานะความเป็นมนุษย์ของบุคคลย่อมไม่อาจตีความว่าดูหมิ่นได้

“ถ้าเราไม่สามารถพูดถึงเรื่องนี้ได้เลย สังคมเราจะอยู่ในความเงียบ ปัญหาก็จะยิ่งรุนแรง การบังคับใช้แบบนี้จะนำมาซึ่งปัญหาใหม่ๆ ในที่สุดจะกระทบกับสถาบันโดยรวมด้วย” วรเจตน์กล่าว

เขากล่าวถึงปัญหาในทางตัวบทของม.112 ว่า เรื่องการกำหนดโทษสูงส่งผลต่อการไม่ได้ประกันตัวของผู้ถูกกล่าวหา และมีปัญหาเรื่องความพอสมควรแก่เหตุ โดยการกำหนดโทษจำคุกขั้นต่ำ 3 ปี ขั้นสูงจำคุก15 ปี ไม่ได้เกิดแต่แรกตอนประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญาเมื่อปี 2500 ตอนนั้นโทษไม่เกิน 7 ปี แต่มากำหนดแบบนี้โดยคณะปฏิวัติ หลังเหตุการณ์ตุลาคม 2519 และการไม่มีโทษปรับหมายความว่าต้องลงโทษจำคุกอย่างเดียวและต่ำกว่า 3 ปีไม่ได้

นอกจากนี้ตัวบทยังมีปัญหาการตีความ ปรับใช้ ซึ่งเกี่ยวพันกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยของไทยที่ไม่มีความชัดเจนซึ่งรองรับตัวบทอยู่

ทางออกของปัญหาตัวบทอาจพูดได้ 2 อย่างคือ ยกเลิกไปเลย ให้การคุ้มครองแบบคนธรรมดา อีกแบบคือให้การคุ้มครองไว้เป็นพิเศษ การคุ้มครองพิเศษนั้นก็ต้องไม่ต่างจากบุคคลธรรมดามากเกินไป หลายคนอาจมองไม่เห็น หมิ่นประมาทคนธรรมดา ไม่เกิน 1 ปี ดูหมิ่นไม่เกิน 1 เดือน ไม่มีอาฆาตมาดร้าย มีแต่ทำให้ตกใจกลัว โทษ 1 เดือน แต่สำหรับองค์ประมุขโทษไม่เกิน 15 ปี เมื่อเปรียบเทียบแล้วจะพบว่าไม่พอสมควรแก่เหตุ

สำหรับทางออกที่ประนีประนอมนั้น เคยมีการเสนอไปแล้วในเรื่องการดำเนินคดีว่า ควรให้สำนักราชเลขาธิการเป็นคนแจ้งความ นอกจากนี้ยังต้องทำอีกสองเรื่องเพื่อทำให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นไปได้ คือ 1.ต้องยอมให้มีการกำหนดเหตุยกเว้นความผิดไว้ เหมือนกรณีการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ถ้าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ติชมโดยสุจริต เพื่อประโยชน์สาธารณะ แม้มีการดำเนินคดีคนก็ไม่ถูกกลั่นแกล้ง 2.ต้องยอมให้มีเหตุยกเว้นโทษ ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง คนที่พูดก็ไม่ควรถูกลงโทษ แต่หากเป็นเรื่องส่วนพระองค์โดยแท้นั้นไม่ควรมีเหตุยกเว้นโทษ

“ด้วยวิธีการอยางนี้เท่านั้นที่สาถบันฯ จะอยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง” วรเจตน์กล่าว

วรเจตน์กล่าวว่า แม้จะชื่นชมการจัดเวทีในครั้งนี้ แต่เท่านี้ยังไม่พอ เพราะเป็นการแก้ปัญหาจุลภาคเป็นรายกรณี คดีนี้เป็นเรื่องที่เกิดกับตัวคนเล็กคนน้อยทั่วไป คนไหนไม่มีชื่อเสียงในสังคมอาจไม่ได้รับการดูแล กรณีสมศักดิ์ถือเป็นนักวิชาการ เท่าที่ได้สัมผัสและอ่านงานของอาจารย์มาตลอดเห็นว่าการแสดงความเห็นค่อนข้างรัดกุม ทำภายใต้กรอบวิชาการ จึงถือเป็นการล่วงล้ำในแดนวิชการมาก แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีคนอื่นๆ ที่ต้องถูกคุมขังอยู่ เขาอาจกระทำความผิดจริง แต่รัฐต้องมองคนเหล่านั้นเป็นมนุษย์ ต่อให้เขากระทำความผิดจริงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ สิทธิในการประกันตัว เป็นเรื่องต้องทำให้เสมอภาคกันในแง่การบังคับใช้กฎหมาย

อย่างไรก็ตาม กรณีอย่างนี้จะเกิดขึ้นตามมาอีกมากโดยเฉพาะในโลกออนไลน์  แม้แค่เฉียดๆ สังคมมองไม่เหมาะ แต่ไม่ผิดตามกฎหมายก็อาจโดนดำเนินคดีได้ ดังนั้น คณะกรรมการสิทธิฯ อาจมีส่วนในการเสอนเรื่องนี้ไปยังรัฐบาลได้ว่า มันเป็นบทกฎหมายที่กระทบสิทธิ โทษจำคุกขนาดนี้น่าจะขัดรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ ยังไม่มีใครเสนอศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า ที่คณะปฏิรูปการปกครองปี 2519 กำหนดมาแบบนี้มันเหมาะสมไหม อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการบีบบังคับให้ศาลรัฐธรรมนูญได้แสดงความเห็นทางกฎหมายขึ้นมา ถัดมา ต้องพูดถึงสถาบันในบริบทในกฎหมายทั้งหมด มีแต่แบบนี้ที่จะรักษาสถาบันให้เป็นประมุข ศูนย์รวมใจของชาติไว้ได้นาน

วรเจตน์กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัญหาคือนอกจากเรื่องนี้จะไม่ได้รับการพูดในสื่อกระแสหลัก ในระดับการเมือง พรรคการเมืองก็ไม่ได้จับประเด็นเหล่านี้ ทั้งที่เป็นประเด็นที่ต้องทำและเป็นภารกิจอันหนึ่งในทางนโยบาย หลังเลือกตั้งองค์กรต่างๆ คงต้องหันมาดูเรื่องนี้มากขึ้น

ปิยบุตร แสงกนกกุล นำเสนอปัญหาอีกประการเพิ่มเติมว่า เมื่อพูดถึงคดีนี้เราจะไม่รู้เลยว่าขั้นตอนไปถึงไหนแล้ว สื่อไม่รายงาน เจ้าหน้าที่ไม่เปิดเผยให้เห็น คนที่โดนกล่าวโทษเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้เกือบทั้งหมดไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว แสดงให้เห็นว่าอุดมการณ์กษัตริย์นิยมครอบงำทั้งหมดแม้แต่ในแวดวงกระบวนการยุติธรรม มีโอกาสน้อยมากที่คนใช้กฎหมายจะบังคับให้เป็นคุณต่อผู้ถูกกล่าวโทษ พรรคการเมืองก็เช่นกัน ไม่มีใครกล้าพูด กลัวโดนยัดข้อหาล้มเจ้า ไม่ได้เป็นรัฐบาล

สำหรับข้อเสนอระยะสั้น ปิยบุตรระบุว่า 1.ให้ภาคประชาชนเสนอคำร้องให้คณะกรรมการสิทธิฯ เพื่อให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่า มาตรานี้ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน 2.เสนอให้กรรมการสิทธิฯเป็นผู้ประกันตัวผู้ต้องหามาตรา 112 การที่กรรมการสิทธิฯ ไปประกันตัวเอง เป็นการส่งสัญญาณไปยังสาธารณะอย่างสำคัญ

สำหรับข้อเสนอระยะยาวคือ 1.เป็นครั้งแรกที่องค์กรภาครัฐหยิบยกเรื่องนี้มาพูด เราจะทำอย่างไรให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องที่เอามาอยู่บนโต๊ะ เป็นประเด็นสาธารณะ ทุกคนพูดได้โดยไม่ต้องกลัว อนาคตระยะยาวมีโอกาสถกเถียงเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้อย่างตรงไปตรงมา

ทั้งนี้ นิติราษฎร์เคยเสนอร่างกฎหมายนี้แล้ว สามารถดาวน์โหลดทั้งภาคไทยและอังกฤษได้จากเว็บไซต์นิติราษฎร์ หากนักการเมืองไม่นำเสนอ ภาคประชาชนก็สามารรวบรวมรายชื่อนำเสนอได้ บางคนบอกว่าทำไม่ได้เพราะเป็นกฎหมายอาญา ทำได้เฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพเท่านั้น อยากจะบอกว่ามาตรานี้ทำได้ เพราะกระทบกระเทือนต่อการแสดงความคิดเห็น

‘ใบตองแห้ง’ ตั้งข้อสังเกตว่า น่าสนใจว่าทำไมสมศักดิ์จึงโดนข้อกล่าวหาช่วงนี้ทั้งที่น่าจะโดนมานานแล้วหากใช้มาตรฐานจากกรณีอื่นๆ นอกจากนี้การที่สมศักดิ์โดนจากบทความเกี่ยวกับฟ้าหญิงจุฬาภรณ์นั้นทำให้ค่อนข้างน่าประหลาดใจ เพราะน่าจะหยิบยกกรณีอื่นมากกว่า อาจสรุปได้ว่า การใช้กฎหมายนี้ใช้ตามอามรณ์ และใช้ตามการเมือง ไม่มีกฎเกณฑ์ และมุ่งเน้นที่จะหยุดตัวบุคคล เพราะกรณีของสมศักดิ์เจ้าหน้าที่ก็ไม่พูดถึงเว็บไซต์ที่เผยแพร่ กรณีของสมยศ ก็ไม่พูดถึงผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหรือคนเขียน แต่เล่นงานสมยศซึ่งเป็น บก.บห.

ใบตองแห้งระบุว่า คนที่โดนคดีนี้มี 2 ประเภท นักวิชาการ เช่น สมศักดิ์ ใจ อึ๊งภากรณ์ และอาจรวมจักรภพ เพ็ญแข ด้วยเพราะพูดเหมือนนักวิชาการพูด ทั้งก่อนและหลังโดนแจ้งความก็ยังมีคนพูดถึง “ระบบอุปถัมภ์” เหมือนจักรภพแต่ไม่โดนดคี แต่ในทางการเมืองนั้นโดนเล่นงานไล่มาเลยตั้งแต่ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, สมยศ, จตุพร พรหมพันธ์ เป็นการดำเนินคดีตามอารมณ์ อย่างสมยศไม่ยุติธรรมมาก ไปจับตอนเขาจะไปต่างประเทศแล้วหาว่าเขาหลบหนี ทั้งที่หมายจับออกนานแล้ว ก่อนหน้านั้นก็เข้าออกประเทศอยู่ น่าคิดว่าถ้ากรณีจีรนุช ผอ.เว็บประชาไทยโดนจับตอนขาออกไม่ใช่ขาเข้าบ้าง เธออาจโดนหาว่าหลบหนีแล้วไม่ได้ประกันตัวด้วยเช่นกัน

สำหรับเนื้อหาก็มีสองระดับคือ หนึ่งระดับนักวิชาการ กับระดับมวลชนที่แสดงอารมณ์ มวลชนใช้ถ้อยคำที่เป็นสัญลักษณ์ดังเช่นกรณีของดา ตอร์ปิโด อัยการก็ตั้งข้อหาทำนองว่าคำนี้ตีความได้ว่าหมิ่นสถาบัน ทั้งที่ในชั้นศาลฎีกายังไม่มีการตีความว่าการใช้สัญลักษณ์นั้นผิดจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้อุ้มว่าคนใช้ถ้อยคำสัญลักษณ์ว่าเป็นเรื่องเหมาะสมหรือไม่หมิ่น บางคนก็เข้าข่ายล่อแหลม แต่เราก็ต้องเข้าใจว่ามันเป็นการแสดงอารมณ์ทางการเมือง ในฐานะที่สถาบันฯ ถูกดึงเข้ามาในการเมือง

ใบตองแห้งระบุว่า กรณีอำพล ตั้งนพกุล หรือ “อากง”ชายวัย 61 ปีทีโดนจับกรณีส่งเอสเอ็มเอสเข้าข่ายหมิ่นให้เลขาฯ นายกฯ ก็มีบันทึกของ กอ.รมน.ด้วยว่าขึ้นบัญชีดำ เป็นเสื้อแดงฮาร์ดคอร์ ถ้าไม่มีบันทึก กอ.รมน. เขาอาจไม่ผิดใช่ไหม หรืออาจมีความเป็นไปได้อื่น แต่เพราะมีบันทึก กอ.รมน.จึงไม่ให้ประกันตัวทั้งที่แกเป็นมะเร็ง

“ในแวดวงสื่อก็เถียงกันมาก กรณีจักรภพว่า เขาพูดในสิ่งที่คนอื่นพูดทั้งนั้น มีคนเถียงผมว่าเพราะเขารู้ว่าจักรภพมุ่งหมายอะไร จะโค่นใคร เฮ้ย เอาอย่างนี้มาจับหรือ ในเมื่อถ้อยคำมันไม่ผิด เอาเจตนาที่คุณคิดเอาเองมาจับ คุณคิดผิดหรือถูกก็ไม่รู้” ใบตองแห้งกล่าว และว่า นอกจากนี้ยังเห็นชัดว่าการดำเนินคดีเป็นการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะการเป็นเสื้อแดง

จากนั้น นพ.นิรันดร์ ประธานในเวทีได้เชิญให้ มารค ตามไท พูดถึงเรื่องความขัดแย้งและความรุนแรง ซึ่งมารคระบุว่า ไม่ได้คิดโยงกับความขัดแย้ง แต่คิดเหมือนทุกคนที่พูดประเด็นนี้ว่ามันมีปัญหาบางประการ
“ผมรู้สึกว่า ทุกอย่างที่พูดถูกต้องสำหรับการเวลานี้ เช่น การบังคับใช้ คนบังคับใช้รู้เรื่องดีพอหรือเปล่า หรือตัวบทกฎหมายต้องเปลี่ยน ไม่ได้ปกป้องสถาบันฯ จริง แต่ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่ประเด็น มันยังพูดรอบๆ ประเด็นหลัก ประเด็นหลักที่กำลังจะมาถึง ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของกรรมการสิทธิฯ อย่างเดียว แต่ของทั้งสังคมต้องคิดว่า คนที่ไม่ต้องการปกป้องสถาบันมีที่ยืนหรือเปล่าในสังคมไทย มันไม่จริงที่ทุกคนต้องจะต้องยอมรับ”

มารคระบุว่า สิ่งหนึ่งที่จะป้องกันความรุนแรงได้ดีที่สุดคือให้ความจริงออกมา แต่มันอาจไม่ใช่เวลาช่วงนี้ อย่างไรก็ดี ทุกคนก็เห็นว่ามันจะมาถึงคำถามนี้ในที่สุด เฉพาะหน้า คนโดนแกล้งมีเยอะก็ควรพูดถึงเรื่องนี้ แต่คำถามคือ ปกป้องสถาบันยังไง เขียนกฎหมายอย่างระมัดระวังได้หรือเปล่า ซึ่งเขามองว่า วิธีปกป้องที่ดีที่สุดคือไม่ห้ามให้คนไม่เห็นด้วยไม่ให้พูด จะให้ดีที่สุดคือให้คนนั้นออกมาในเวทีสาธารณะเลย ทั้งนี้ เขายังไม่รู้ว่าเหมือกันว่าควรทำอย่างไรเวลาประเด็นนี้มาถึง มันไม่เกี่ยวกับเรื่องหมิ่นแล้ว แต่เป็นเรื่องว่าอะไรดีสำหรับสังคม เป็นเรื่องว่าเราจะอยู่กันยังไง การคุยเรื่องวิธีอยู่ร่วมกันจะทำให้ปัญหามาตรา 112 แก้ไปได้ด้วยในตัว สุดท้าย มันอาจมีข้อห้ามบางอย่างว่า ห้ามทำลายสิ่งซึ่งสุลักษณ์พูดถึง คือ “ประโยชน์ต่อราษฎร” ถ้าใครทำลายมีความผิด มันอาจกลายเป็น 112 รูปแบบใหม่ก็ได้

“ตอนนี้คนกลัวที่จะพูด ถ้ากลัวก็ไม่เกิดอะไรที่จะแก้ไขความขัดแย้ง เราจะแก้ความขัดแย้งได้ยังไงถ้าคนไม่พูดถึงความขัดแย้งนั้น” มารคกล่าว

บัณฑิต อานียา ผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯ ซึ่งปัจจุบันคดีอยู่ในชั้นศาลฎีกา กล่าวถึงประวัติชีวิตอันโหดร้ายของเขา และว่าความโหดร้ายในครอบครัวเขา ทำให้เขากลัวพ่อจนรนราน เหมือนกันกับกฎหมายนี้ ทำให้คนไทยกลัวมาตรา 112 จนรนราน ไม่กล้าพูดความจริงออกมา เขากล่าวด้วยว่า ถูกจำคุกอยู่นานหลายสิบวันก่อนมีนักวิชาการต่างประเทศช่วยประกันตัว นอกจากนี้คดีของเขาก็ยังมีการพิจารณาแบบปิดลับด้วย
“เรื่องมาตรา 112 นั้นนอกจากเข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว เรายังต้องเข้าใจเจตนาของผู้ออกกฎหมายด้วย” บัณฑิตกล่าว

จิตรา คชเดช กล่าวในฐานะผู้รับผลกระทบจากมาตรานี้ เนื่องจากบริษัทใช้ข้ออ้างความไม่จงรักภักดีจากการใส่เสื้อรณรงค์ “ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากรรม คิดต่างไม่ใช่อาชญากร” ในกรณีของโชติศักดิ์ อ่อนสูง ผู้ต้องหาไม่ยืนในโรงภาพยนต์ ไปออกรายการทีวีและถูกทำให้เป็นประเด็นขบวนการล้มล้างสถาบัน ซึ่งศาลก็ตัดสินให้บริษัทเลิกจ้างได้ โดยให้เหตุผลว่าเพราะไม่มีจิตวิญญาณประชาชาติไทย ทั้งที่บริษัทไม่ได้นำเสนอความเสียหายของบริษัท แต่กลับนำเสนอว่าตนเองไม่ยอมใส่เสื้อสีเหลืองทุกวันจันทร์ เป็นต้น

“ดิฉันตกงานโดยไม่ได้รับค่าชดเชข ไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายแรงงานใดๆ แรงงานก็ไม่กล้าออกมาต่อสู้ด้วย เพราะบอกว่ากลุ่มนี้ไม่จงรักภักดี ข้อหานี้มันกลายเป็นการทำลายสหภาพแรงงานไปด้วย เอามาอ้างกันแบบง่ายๆ ที่สำคัญ เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัทอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับรัฐด้วย เพราะตอนเราออกมาต้านรัฐประหาร ช่วงนั้น กอ.รมน.ทำจดหมายเวียนว่า สหภาพไม่ควรออกมายุ่งเกี่ยว” จิตรากล่าว และพูดถึงกรณีสมยศ พฤกษาเกษมสุข ว่า สมยศถูกคุกคามมาโดยตลอด ปิดโรงพิมพ์ ถูกแจ้งจับ คุมขังที่ค่ายอดิศร ที่สุดเมื่อรัฐไม่มีเครื่องมืออะไรก็เอากฎหมายนี้มาเล่นงาน

“เราควรเรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎหมาย เก็บไว้คนได้รับผลกระทบมีมาก คนที่เป็น “อำมาตย์” จะรอดพ้น แต่คนชั้นล่างลำบาก คนที่ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีต้นทุนทางสังคมอะไร เขาโดนกฎหมายนี้แล้วเขาจะมีชีวิตอยู่ได้ยังไง” จิตรากล่าว

จีรนุช เปรมชัยพร กล่าวถึงการใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งปัจจุบันเหมือนภาคขยายของ มาตรา 112 และกล่าวถึงหลายกรณีที่ไม่ได้ประกันตัว พร้อมทั้งเสนอว่าอาจถึงเวลาที่สังคมไทยต้องพูดถึง “นักโทษทางความคิด” หรือ “อาชญากรทางความคิด” ซึ่งคิดต่าง ไม่สอดรับกับอุดมการณ์หลักของชาติ เพื่อให้เกิดวิธีการ หรือกระบวนการที่จะดูแลบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในทางความคิด จำได้ว่ายุค 6 ตุลา มีการจับกุมคนในความคิดทางการเมือง ความคิด จำนวนมาก ซึ่งสถานที่คุมขังก็ไม่ใช่ทัณฑสถาน

เดวิด สเตร็กฟัส กล่าวถึงสถิติของการถูกดำเนินคดีนี้เพื่อให้เห็นขนาดของปัญหาว่า จำนวนคดี 2535-2547 เฉลี่ยมี 5-10 คดีที่ถึงศาลชั้นต้น หลังจากนั้นปี 2548 มี 30 คดี หลังจากรัฐประหารปี 49 มีประมาณ 126 คดี ปีต่อมา มี 77 คดี ปี 2552 มี 164 คดี สูงที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมี โดยคนส่วนมากรับสารภาพเพื่อให้คดีสิ้นสุดลง เพื่อจะขออภัยโทษ ที่จริงแล้วมีรุ่นใหม่ของจำเลยคดีหมิ่นฯ ที่ดูเหมือนไม่รับสารภาพ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มี 40 คดีอยู่ศาลอุทธรณ์ และมี 9 คดีค้างไว้ที่ศาลฎีกา หากเราดูว่าอัตราเอาผิดในคดีหมิ่นก่อน 47 ประมาณ 94% มีโอกาสแค่ 6% ที่จะรอด ดังนั้นน่าจะมี 200 กว่าคนอยู่ในคุกที่เป็นนักโทษการเมือง

เดวิดเสนอว่า กรรมการสิทธิอาจจะช่วยได้โดยการขอรายละเอียดเกี่ยวกับคดีต่างๆ กับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งคนอื่นๆ เข้าไม่ถึง ไม่มีการเปิดเผย ถ้ามีข้อมูลชุดนี้ อาจทำให้เราเข้าใจคดีในชุดปัจจุบัน ศาลมองอย่างไร ตัดสินอย่างไร ถ้ามีโอกาสที่จะเปิดเผยให้สังคมเห็นจะเห็นปัญหาและนำไปสู่ทางแก้ปัญหา
  
สุณัย  ผาสุก กล่าวว่า Human Right Watch กังวลในเรื่องความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน และไม่มีมาตรฐานแน่นอนในการใช้กฎหมาย ขาดความโปร่งใสในหลักเกณฑ์ความผิดว่าอย่างไรจึงจะดำเนินคดีได้ และเมื่อกเกิดคดีแล้วก็มีการตราหน้าไปแล้วจากสังคมในวงกว้างว่า เป็นภัยคุกคามต่อ “ความมั่นคง” ของชาติ เป็นการยากจะเรียกร้องความยุติธรรม แม้แต่ในองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายก็ตาม

บุญยืน ประเสริฐยิ่ง อดีตนักโทษคดีหมิ่นฯ กล่าวถึงเหตุที่โดนคดีและเล่าถึงประสบการณ์ในเรือนจำ พร้อมทั้งระบุว่า ถ้าโดนคดีแล้วอย่าต่อสู้คดีเด็ดขาดเพราะจะโดนหนัก นี่เป็นการบอกกล่าวให้เตรียมตัวกันล่วงหน้า พร้อมมองไปยังสมศักดิ์ซึ่งนั่งฝั่งตรงกันข้าม เป็นที่ขำขันของผู้เข้าร่วมการอภิปราย

เอกชัย หงส์กังวาน  ผู้ต้องหาที่ถูกจับกรณีขายซีดีสารคดีของสำนักข่าว ABC ออสเตรเลียและเอกสารวิกิลีกส์ เล่าถึงเหตุการณ์ที่ถูกจับกุม และตั้งคำถามว่า เหตุใดการประกันตัวในคดีนี้ซึ่งส่วนใหญ่ทำผิดเพียงการพูดจึงมีความยากเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับคดีอื่นๆ ที่น่าจะมีความผิดมากกว่าเช่น ฆ่าคนตาย หรือคดีก่อการร้าย ในกรณีของคดีก่อการร้ายที่โทษสูงสุดถึงประหารชีวิตนั้นใช้เงินประกันตัว 600,000 บาท แต่คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งมีโทษสูงสุดเพียง 15 ปี ต้องใช้เงินประกันตัวในกรณีของตนถึง 500,000 บาท ซึ่งนับว่าสูงเกือบเท่าคดีก่อการร้าย

สมชาย หอมละออ อนุกรรมการสิทธิฯ และว่าที่คณะกรรมการพัฒนากฎหมายกล่าวว่า ประเด็นอาจารย์มารคนั้นน่าสนใจ และเกี่ยวพันอย่างมากต่อการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงในสังคม การให้สังคมเปลี่ยนแปลง พัฒนาได้อย่างไม่ติดขัดในลักษณะที่เกิดความขัดแย้งรุนแรงเกินไป พื้นฐานนั้นอาจต้องพูดถึงเรื่องเสรีภาพที่สำคัญ 3 ประการ คือ เสรีภาพในความคิด การเชื่อถือลัทธิการเมืองหรืออะไรก็แล้วแต่ ประเด็นนี้ยังมีรายละเอียดว่าเสรีภาพชนิดนี้แค่ไหน ในทางวิชาการถือว่าเป็นเสรีภาพที่สัมบูรณ์ ไม่สามารถห้ามได้ ประเด็นคือให้คิดเฉยๆ หรือแสดงออกได้แค่บางระดับ , เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น , การรวมตัวเป็นกลุ่ม องค์กร และเสรีภาพในการชุมนุม ในบางช่วงอาจจำกัดได้ แต่ได้มากน้อยแค่ไหน สังคมไทยอาจต้องหาคำตอบจากจุดนี้ ถ้าส่วนเหล่านี้ไม่ได้รับการยึดถือปฏิบัติตามหลักการที่ถูกต้องมันก็จะเป็นปัญหาอย่างที่อาจารย์มาร์คว่า

นิรันดร์ ตอบคำถามเรื่องแนวทางการดำเนินการต่อจากนี้เป็นการทิ้งท้ายว่า เราคงทำหน้าที่ในการตรวจสอบ กรณีสมยศและสมศักดิ์ว่าการใช้มาตรานี้มีการละเมิดตรงไหน อันนี้เป็นหน้าที่ตามกฎหมายของกรรมการสิทธิที่จะเชิญหน่วยงานของรัฐ และเรียกเอกสารได้ ส่วนงานวันนี้เรารับฟังความคิดเห็นจากผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมาย เห็นมุมมองในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย เป็นกระบวนการหนึ่งในการตรวจสอบเช่นกัน ไม่ใช่ตรวจสอบเพื่อเขียนรายงาน แต่จะหามาตรการป้องกันใช้มาตรานี้ในการละเมิดสิทธิ และเป็นอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของเราที่จะประสานหน่วยงานของรัฐที่ต้องให้ความคุ้มครองสิทธิ เช่น สิทธิในการประกันตัว หรือการตั้งข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงเกินไป

ประเด็นนี้ต้องทำให้ชัดในพื้นที่ ไม่ใช่ชัดในเรื่องการปกป้องสิทธิ แต่ชัดในแง่ที่ไม่ให้ประเด็นนี้ทำให้สังคก้าวไปสู่ความรุนแรง หรือความขัดแย้งหนักกว่าที่เป็นอยู่

ทั้งนี้ ยังไม่สามารถระบุเวลาที่แน่ชัดในการดำเนินการได้ แต่เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ

ขอบคุณข้อมูล : ประชาไท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น