วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

‘สมชาย-ศรีประภา’ หนุนปรับ ม.112 เคารพเสรีภาพแสดงความเห็นดีต่อทุกฝ่าย


เมื่อวันที่ 9 พ.ค.53 ที่ ม.ขอนแก่น นักกฎหมายและนักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงกระแสการจับกุม และแจ้งข้อหาหมิ่นเบื้องสูงแก่นักกิจกรรมและนักวิชาการก่อนขึ้นอภิปรายในเวทีเสวนาวิชาการ “หนึ่งปีผ่านมากับความคืบหน้าของรายงานกรณีการสลายชุมนุมเสื้อแดง”
สมชาย หอมละออ
สมชาย หอมละออ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ การจับกุมก็กลายมาเป็นเรื่องการเมือง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสถาบันเอง อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้เขาเคยออกแถลงการณ์วิจารณ์เรื่องการเพิ่มขึ้นของการจับกุมด้วยข้อหานี้ แต่ไม่มีสื่อกระแสหลักฉบับได้ตีพิมพ์แม้แต่น้อย
สมชายกล่าวว่า เราเห็นว่าการมีบทบัญญัติพิเศษเพื่อปกป้องประมุขของรัฐเป็นเรื่องปกติ แต่มาตรา 112 ควรต้องมีการทบทวน เช่น โทษมาเพิ่มสมัยสมัคร สุนทรเวช เป็นคนเสนอหลัง 6 ตุลา และกลายเป็นความผิดที่ใครจะแจ้งความก็ได้โดยอ้างความจงรักภักดี กลายเป็นข้อหาที่เป็นเครื่องมือทางการเมืองไป ซึ่งในระยะยาวจะเป็นผลเสียต่อสถาบันเอง ฉะนั้น ควรมีกระบวนการในการกลั่นกรอง ไม่ใช่ให้ใครก็ได้ที่เป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองเอาไปกล่าหาอีกฝ่าย
“ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตบนพื้นฐานของเสรีภาพทางวิชาการ หรือการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ควรเป็นสิ่งที่น่าจะทำได้ แต่ก็ไม่เห็นด้วยที่จะไปใช้วิธี ถ้อยคำที่หยาบคาย หรือมีลักษณะไปละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล” สมชายกล่าว
ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี
ด้านศรีประภา เพชรมีศรี นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวถึงกรณีการออกหมายเรียกสมศักดิ์  เจียมธีรสกุลว่า ประเด็นหลักซึ่งเราพูดกันมาตลอดคือ academic freedom (เสรีภาพทางวิชาการ) อาจารย์สมศักดิ์ชัดเจนและพูดเรื่องนี้มาไม่รู้กี่สิบปี พูดมาตลอด น่าสนใจว่าทำไมถึงมาถูกจับตอนนี้ นอกจากนี้ยังจำได้ว่าในรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คปอ.) มีข้อหนึ่งที่ให้ทบทวนเรื่องการใช้กฎหมายนี้ แต่มันก็สวนทางกับข้อเสนอของทุกฝ่าย สิ่งที่รัฐบาลทำคือมีการจับเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่เคารพเสรีภาพทางวิชาการเลย


ศรีประภากล่าวต่อว่า ในสังคมไทยมีพื้นที่สำหรับเสรีภาพในการแสดงออกน้อยลงทุกทีในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เรื่องนี้ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เคยกล่าวว่า ถ้าอยากให้สถาบันเป็นที่รักไปตลอด สิ่งที่จำเป็นต้องมีการทบทวนอย่างยิ่งก็คือเวลาเราพูดว่าสถาบันอยู่เหนือการเมืองมันแปลว่าอะไร คือ เหนือแบบอยู่ข้างบน หรือเหนือแบบไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว
“มหิดลเคยจัดสัมมนา เราต้องการให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สาธารณชนควรลุกขึ้นมาพูดได้อย่างเปิดเผย ในเมื่อเป็นสถาบันที่เราทุกคนก็เห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย อะไรที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมก็หมายความว่าคนในสังคมควรจะพูดได้ แน่นอนที่สุด การหมิ่นประมาทก็มีกฎหมายอยู่แล้ว ก็ฟ้องร้องกันธรรมดา ไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรที่แตะไม่ได้” ศรีประภากล่าวและว่า ที่สำคัญ คือ การจับคุณสมยศ หรือการเชิญตัวอาจารย์สมศักดิ์ ขณะนี้มันมีการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวอีกด้วย บรรยากาศแบบนี้ไม่ได้เป็นผลดีสำหรับสังคมที่บอกว่ากำลังจะสร้างประชาธิปไตย
ขณะที่วสันต์ พานิช อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน ให้ความเห็นว่าจะมีการจับกุมด้วยข้อหานี้เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต กรณีอย่างสมศักดิ์ และสมยศ กฎหมายถูกนำมาใช้เพื่อหยุดกิจกรรมที่พวกเขาทำเสียมากกว่า 
ส่วนเดวิด สเตร็กฟัส นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ศึกษาเรื่องคดีหมิ่นสถาบัน กล่าวว่า สาธารณะไม่มีข้อมูลว่ามีผู้คนจำนวนมากเท่าไรที่โดนคดีนี้ และทางการก็ไม่เคยเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม คิดว่าจำนวนผู้ที่ถูกกล่าวหาด้วยคดีนี้ทั้งหมดน่าจะมีถึงหลายร้อยราย
ที่มา : ประชาไท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น