วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์: ยุคเปลี่ยนผ่านวรรณกรรมไทย วรรณกรรมไทยยุคเปลี่ยนผ่าน

มุมมองต่อปฏิกิริยาของเหล่ากวีและนักเขียนเดือนตุลาที่ผู้คนเคยยกย่องต่อเหตุการณ์เดือน เม.ย.-พ.ค.53 หมุดหมายสำคัญของยุคเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย และความท้าทายในการสร้างสรรค์งานวรรณกรรม
(7 พ.ค.54) รศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “ยุคเปลี่ยนผ่านวรรณกรรมไทย วรรณกรรมไทยยุคเปลี่ยนผ่าน” ในงานแสดงมุทิตาจิต 'ชุมนุมปาฐกถา 70 ปี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ' ที่หอประชุมศรีบูรพา ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันที่ 7 พฤษภาคม 2554

 
ช่อการะเกดกับยุคเปลี่ยนผ่านของวรรณกรรมไทย
 
ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ กล่าวถึงเรื่องสั่นสะเทือนแวดวงวรรณกรรมกรณีที่สุชาติ สวัสดิ์ศรีประกาศปิดหนังสือวารสารช่อการะเกด ในงานชุมนุมช่างวรรณกรรมประจำปี เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.53 โดยระบุว่าเป็นการปิดแบบชั่วคราว แต่ส่วนตัวคิดว่าการจะเกิดปรากฎการณ์ช่อการะเกดอีกครั้งในสังคมไทยคงเป็นไปได้ยาก เพราะวารสารช่อการะเกดในประวัติศาสตร์ได้ชื่อว่ามีบทบาทสำคัญในการผลิตนักเขียนรุ่นใหม่ๆ เพื่อนำเสนอวาทะกรรมในแนวต่างๆ ที่หลากหลาย ท้าทาย น่าชื่นชม โดยเฉพาะในยุคที่สองช่วงปี 2532-2542 ช่อการะเกดได้กลายเป็นตำนานอันสำคัญที่คนยังพูดถึงกัน
 
จนกระทั่งในยุคที่สามของช่อการะเกด เมื่อ พ.ศ.2550 ที่ถูกคาดหวังให้ต่อยอดและขยายรากของช่อการะเกดในยุคสอง แต่จากการเปิดเผยของผู้ซึ่งสนับสนุนด้านการเงินของวารสารเล่มนี้ ระบุว่าการต้องปิดตัวลงนั้นเนื่องจากยอดจำหน่ายน้อยมาก เพียง 200 – 300 เล่มต่อฉบับ ในขณะที่มีผู้ส่งเรื่องมาให้พิจารณาตีพิมพ์จำนวนมากเป็นพันเรื่องต่อฉบับ ตรงนี้สื่อให้เห็นว่าเมืองไทยมีแต่นักเขียน แต่ไม่มีนักอ่าน อย่างไรก็ตามการปิดตัวลงของช่อการะเกดยังสะท้อนนัยยะบางอย่างที่สำคัญกว่า คืออวสานของช่อการะเกดอาจเป็นจุดเริ่มต้นการอวสานของวรรณกรรมในฐานะกิจกรรมอิสระของปัจเจกบุคคล และก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมวรรณกรรม ในบริบทของยุคอุตสาหกรรมวัฒนธรรมภายใต้เศรษฐกิจทุนนิยมผูกขาด
 
ชูศักดิ์ กล่าวถึงความสำคัญของวารสารช่อการะเกดว่า เป็นตัวแทนยุคสมัยของกิจกรรมอิสระทางปัญญาของนักเขียน ของปัญญาชน โดยเฉพาะในช่วงยุคที่สองซึงจะเห็นได้ชัดเจนว่าช่อการะเกดมีบทบาทในแง่นี้มากถึงขั้นที่สามารถกำหนดวาระบางวาระของแวดวงวรรณกรรมในสังคมไทยได้ เป็นตัวจุดประเด็น ซึ่งที่เป็นเช่นนั้นได้เพราะมีปัจจัยทางสังคมแวดล้อมที่ส่งเสริม เนื่องมาจากว่าวงการวรรณกรรมในยุคนั้นยังไม่ถูกครอบงำหรือผูกขาดโดยสิ้นเชิงจากทุนอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ที่เราพบเห็นกันในทุกวันนี้ ในตอนนั้นเจ้าของสื่อมวลชนยังไม่ได้เข้ามามีผลประโยชน์โดยตรงในวงการหนังสือและวรรณกรรม นักข่าวและนักวรรณกรรมยังมีอิสระในการรายงานข่าว แต่ในยุคที่สามกลับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ในปัจจุบันเจ้าของสื่อมวลชน เช่นหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารรายสัปดาห์ต่างก็มีสำนักพิมพ์ของตนเอง สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ หลายแห่งก็มีร้านค้า หรือหันมาทำธุรกิจสายส่งของตนเอง
 
“ผลประโยชน์ที่ทับซ้อนกันระหว่างสื่อสิ่งพิมพ์กับสำนักพิมพ์ ระหว่างสำนักพิมพ์และร้านหนังสือ หรือสายส่ง กลายเป็นเรื่องปกติสามัญ” ชูศักดิ์กล่าว
 
ชูศักดิ์ อธิบายภาพวงการวรรณกรรมที่เห็นในปัจจุบันว่า คอลัมน์แนะนำหนังสือของหนังสือพิมพ์ปัจจุบันที่จะแนะนำเฉพาะหนังสือในสังกัดของตนเองเป็นส่วนใหญ่ ร้านหนังสือก็เลือกโชว์หนังสือของสำนักพิมพ์ในสังกัดตัวเองให้เด่นสะดุดตามมากเป็นพิเศษ และนักเขียนเองก็เริ่มเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสังกัดมากขึ้น แม้จะไม่ถึงขั้นเซ็นต์สัญญาผูกมัดเหมือนนักร้อง นักแสดงที่มีกลุ่ม มีค่าย นอกจากนั้นการเขียนยังถูกเปลี่ยนจากกิจกรรมสำหรับเชาว์ปัญญาและการสร้างสรรค์เป็นไปการเขียนเพื่อส่งประกวดชิงรางวัลเสียเป็นส่วนใหญ่ จนเห็นได้ว่าวงการวรรณกรรมปัจจุบันอยู่ในสภาพของอุตสาหกรรมไม่ต่างจากวงการดนตรี วงการละคร หรือวงการสื่อมวลชน สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลที่ทำให้เชื่อว่าช่อการะเกดในยุคที่สามเมื่อปิดตัวไปแล้วจะไม่กลับมาอีก
 
ชูศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ลักษณะของงานของช่อการะเกดนั้นเป็นตัวแทนของวาทะกรรมแบบเดิมที่มีลักษณะเป็นอิสระ ไม่มีทุนใหญ่หนุนหลัง ไม่มีสื่อสนับสนุน ไม่ได้อยู่ในอำนาจรัฐและทุน การเกิดขึ้นได้ของช่อการะเกดในฐานะเป็นกิจกรรมทางปัญญาส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากภาพเชิงอุดมคติของวาทะกรรมและสื่อมวลชนที่คนรุ่นก่อนหน้านี้ อาทิ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือในนามปากกาศรีบูรพา เป็นผู้มีบทบาทในการต่อสู้ผลักดันให้นักเขียนและสื่อมวลชนได้รับการยอมรับจากสังคม ในฐานะเป็นอาชีพอิสระจากอิทธิพลของทุนและอิทธิพลรัฐ แต่ปัจจุบันภาพเชิงอุดมคตินั้นได้แปรเปลี่ยนไปจนแทบไม่เหลือเค้า เช่นตัวอย่างที่เห็นในกรณีของสื่อมวลชน แม้แต่ในแวดวงวรรณกรรมที่ดูไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจใดๆ มากนักเมื่อเทียบกับสื่อมวลชนแขนงอื่นๆ ก็พบว่าน่าจะเป็นสื่อรายสุดท้ายที่จะถูกผูกขาด ครอบงำด้วยระบบธุรกิจ และเรากำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านของวรรณกรรม
 
สิ่งที่น่าวิตกมากกว่านั้นคือจากความพยายามยุคสมัย กุหลาบ ในการสร้างนิยามของการเขียน นิยามของวรรณคดีในฐานะอาชีพอิสระที่ปลอดจากรัฐและทุน ในขณะเดียวกันก็พยายามจะสร้างนิยามของการเขียนให้กลายเป็นผู้ยึดมั่นในอาชีวปฏิญาณ หรือจรรยาบันวิชาชีพในภาษาปัจจุบัน โดยนิยามความเป็นนักเขียนและสื่อมวลชนว่าเป็นผู้สื่อสัตย์ต่อความจริง มุ่งผดุงความยุติธรรม และเป็นปากเสียงให้ผู้ต่ำต้อยและผู้ถูกกระทำ ในช่วงรอยต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งได้รับการตอบรับในวงการวรรณกรรม และมีนักเขียนรุ่นต่อมาอาทิ นายผี, จิตร ภูมิศักดิ์, ลาวคำหอม พยายามสืบทอดและนำนิยามดังกล่าวมาขยายความต่อ
 
“ปัญหาปัจจุบันไม่ใช่เพียงสถานะอาชีพอิสระของนักเขียนกำลังจะตายไปเท่านั้น อย่างกรณีของช่อการะเกด แต่เกียรติภูมิของนักเขียนในฐานะผู้ผดุงความยุติธรรมก็กำลังถูกตั้งคำถาม และท้าทายเช่นกัน” ชูศักดิ์ระบุ
 
อดีตที่ไม่ร่วมสมัย
 
ชูศักดิ์ ยกตัวอย่างคำกล่าวของไอดา บรรณาธิการวารสารอ่าน ที่ตั้งคำถามถึงนักเขียนในอดีต 2 ยุค คือยุค ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ และนายผี กับนักเขียนยุค 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สืบทอดพันธกิจอันสักสิทธิ์ของนักเขื่อนรุ่นกุหลาบ สายประดิษฐ์ โดยไอดาได้บรรยายความรู้สึกเมื่อครั้งได้หวนกลับไปอ่านนิตยสารทางประวัติศาสตร์ของนักเขียนหัวก้าวหน้าในยุค 14 ตุลาฯ ไว้ว่า
 
“มันเป็นโลกของคนเก่าๆ รุ่นอดีตนั้น อดีตที่มันไม่ร่วมสมัย อดีตที่คนเหล่านั้นไม่อยู่ให้ยอกแสยงใจเหมือนอดีตยุคใกล้กว่านั้น”
ไอดา อรุณวงศ์ “เถ้าเป่าเปลว” อ่าน 2:2
 
ชูศักดิ์ กล่าวถึงการตอบคำถามถึงที่มาของความรู้สึกดังกล่าวว่า ต้องย้อนไปยังหมุดหมายของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ คือเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และเหตุการณ์ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 ซึ่งส่วนตัวเขาคิดว่าเหตุการณ์ครั้งหลังสุดเป็นการปราบปรามประชาชนอย่างล้ำลึกที่สุด แม้หลายคนจะมองว่าการสังหารหมู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลามีความโหดเหี้ยมรุนแรงมากกว่า แต่ความรุนแรงนั้นเป็นความรุนแรงแบบเฉียบพลัน และสงบอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง ในขณะที่การไล่ล่าทั้งที่ราชดำเนินและที่ราชสงค์เป็นไปอย่างยืดเยื้อและเลือดเย็น เกิดการปะทะย่อยๆ ขึ้นหลายจุด หลายครั้ง แต่ละวันที่ผ่านไปมีผู้ชุมนุมและผู้สังเกตการณ์ถูกยิงโดยกองกำลังทหารที่โอบล้อมโดยรอบที่ชุมนุม ซึ่งภาพเหตุการณ์ทั้งหมดถูกบันทึกและเผยแพร่ไปทั่วโลก แต่คนเมืองบางกลุ่มกลับโห่รองยินดี ในขณะที่คนบางกลุ่มที่อ้างตัวว่ารักสันติ ต่อต้านความรุนแรง รักประชาชนและต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม กลับนิ่งดูดายต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
 
“ในแง่นี้ ความอำมหิตของเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.2553 ก็คือความเลือดเย็นในการฆ่าของฝ่ายรัฐ และความเลือดเย็นของคนเมืองที่ปล่อยในการเข่นฆ่าดำเนินไปโดยไม่รู้ร้อนรู้หนาว”
 
“ผมอดถามไม่ได้ว่า แล้วบรรดาเหล่ากวีและนักเขียนที่ได้รับอานิสงส์จากความเป็นนักเขียนเพื่อประชาชน จนกระทั่งเชิดหน้าชูตาในฐานะตัวแทนของเสียงแห่งมโนธรรม พวกเขาไปอยู่ที่ไหนในช่วงเวลาดังกล่าว หรือเพราะพวกเขาไม่เห็นว่าผู้ชุมนุมเหล่านั้นเป็นคน ดังนั้นความตายของพวกเขาจึงไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เหตุการณ์เดือนเม.ย.-พ.ค.2553 จึงอำมหิตกว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาในแง่ที่ไม่เพียงคนตามเท่านั้นที่ถูกปฏิเสธความเป็นมนุษย์ แต่ผู้ชุมนุมนับหมื่นนับแสนในเหตุการณ์นี้ถูกทำให้ด้อยค่า ไร้ความหมายยิ่งเสียกว่าโค กระบือ ซึ่งคนเมืองชอบไปซื้อขายชีวิตเป็นประจำ”
 
วรรณกรรมในยุคเปลี่ยนผ่าน
 
ชูศักดิ์ กล่าวต่อมาว่า เหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.2553 และปฏิกิริยาของนักเขียนจำนวนหนึ่ง เป็นหมุดหมายสำคัญของการแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยกำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน ซึ่งก็เป็นความท้าทายของกวีและนักเขียนไทยว่าจะสร้างสรรค์งานวรรณกรรมในยุคเปลี่ยนผ่านนี้ไปในทิศทางใด
 
ตามคำนิยามของ อันโตนิโอ กรัมชี่ นักคิดชาวอิตาเลียน ได้อธิบายเรื่อง “ภาวะเปลี่ยนผ่านของสังคม” ไว้ว่าเมื่อใดที่อำนาจนำที่ได้รับการยอมรับโดยดุษฏีจากชนทุกชั้นของสังคมเริ่มคลายมนต์ขลัง และสูญเสียสถานะความเป็นอำนาจนำ เมื่อนั้นสังคมจะเกิดวิกฤติครั้งใหญ่กับการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งขยายความเพิ่มเติมโดยให้ภาพเปรียบเปรยที่กลายเป็นวรรคทองที่คนนิยมนำมาใช้กล่าวอ้างกัน คือ 
 
“แท้จริงแล้ว วิกฤตสังคมเป็นผลมาจากการที่สิ่งเก่ากำลังตายไป และสิ่งใหม่ถูกขัดขวางมิให้ก่อเกิด ในระหว่างรัชสมัยเยี่ยงนี้ อาการวิปลาสนานาชนิดจะสำแดงตัวออกมา”
 
“The crisis consists precisely in the fact that the old is dying and the new cannot be born; in this interregnum a great variety of morbid symptoms appear.”
 
อันโตนิโอ กรัมชี่ (1971)
 
และ
 
“เมื่อโลกใหม่ดิ้นรนจะบังเกิด และโลกเก่ากำลังตาย เมื่อนั้นอสูรกายจะปรากฏตัว”
“The old world is dying away, and the new world struggles to come forth: now is the time of monsters.”
 
อันโตนิโอ กรัมชี่ (1971)
 
กรัมชี่มองว่าการเปลี่ยนผ่านที่เกิดอาการวิปลาสทั้งปวงเป็นผลสืบเนื่องจากภาวะชะงักงันของความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมที่เดินมาจนถึงจุดหัก เมื่อพลังฝ่ายจารีตนิยมอ่อนเปลี้ย ใกล้ตาย และพลังฝ่ายก้าวหน้าก็ยังไม่สามารถเผด็จศึกได้โดยเด็ดขาด
                                           
ชูศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ในวัฒนธรรมไทยเองก็มีการมองเรื่องยุคเปลี่ยนผ่านเช่นเดียวกัน แต่จะอิงอยู่กับแนวคิดทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏอยู่ในมหาสุบินชาดก ที่คุ้นเคยกันดีในรูปของเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา โดยแจกแจงเหตุอาเพศ 16 ประการ และระบุไว้ชัดเจนว่าเหตุปัจจัยของอาเพศเหล่านี้เกิดขึ้นมาด้วยพระมหากษัตริย์มิได้ทรงทศพิธราชธรรม
 
มิใช่เทศกาลร้อนก็ร้อนระงม
มิใช่เทศกาลลมลมก็พัด
มิใช่เทศกาลหนาวก็หนาวพ้น
มิใช่เทศกาลฝนฝนก็อุบัติ
 
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
 
วิธีการมองเหตุอาเพศของไทยอธิบายด้วยกรอบชนชั้นของสังคมอย่างไม่อ้อมค้อม เริ่มด้วยอธิบายอาเพศโดยธรรมชาติ โยงเข้ากับความสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป แล้วนำสู่ข้อสรุปว่าความเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ในสังคมเป็นอาเพศ เป็นความวิปริต แต่หากนำกรอบความคิดสมัยใหม่เข้าไปมอง จะเห็นว่าความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่การเป็นผู้ใหญ่-ผู้น้อย สถานะในสังคมจะเท่าเทียมกันตามกรอบประชาธิปไตย แต่การมองอาเพศในแบบของไทยเป็นการมองโดยชนชั้นนำในอดีตที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
 
“ลูกศิษย์จะสู้ครูพัก   
จะหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย
ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจ
นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย
น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม
ผู้มีตระกูลจะสูญเผ่า  
เพราะจันฑาลมันเข้ามาเสพสม”
 
ทั้งนี้ ในทัศนะของไทย “การเปลี่ยนผ่าน” และ “อาเพศ” แตกต่างจากในทัศนะของกรัมชีอยู่มากพอสมควร โดยกรัมชี่ใช่คำว่า “วิปลาส” มาใช้เป็นคำอุปมาเพื่อบรรยายถึงภาวะวิปริต อาการแปรปรวนภายในมาใช้อธิบายถึงวิกฤติในยุคเปลี่ยนผ่าน ซึ่งตรงนี้ช่วยเตือนสติว่า “อาการวิปลาส” ที่มันเกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งอยู่ภายในสังคม อยู่ในตัวเรา คนที่อยู่ใกล้ตัวเราเอง โดยในภาวะปกติอาจแฝงตัวอยู่ในสถานะผู้รักเพื่อนมนุษย์ รักสันติ รักประชาธิปไตย อยู่ในภาพที่สูงส่งและดีงาม แต่ในภาวะวิกฤติของการเปลี่ยนแปลง ผู้คนก็จะแสดงความวิปลาสที่ซ่อนอยู่ในตัวออกมา
 
กวีเพื่อประชาชนที่ผู้คนเคยยกย่อง ท่าทีต่อการสังหารหมู่ เม.ย.-พ.ค.53
 
ชูศักดิ์ แสดงความเห็นต่อคำถามของบรรณาธิการวารสารอ่านถึงวาทกรรมนักเขียนยุคอดีตอันใกล้ (คนเดือนตุลา) ซึ่งในอดีตเคยได้ชื่อว่าเป็นผู้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและประชาชนที่ยอกแสยงใจผู้อ่าน โดยอธิบายง่ายๆ ว่านักเขียนในยุคสมัยการเปลี่ยนผ่านปัจจุบัน เกิดปรากฎการณ์วิปริต วิปลาส ไม่ต่างกับที่เกิดขึ้นในแวดวงตุลาการ สื่อมวลชน และนักวิชาการ ฯลฯ พร้อมแสดงตัวอย่าง อาการวิปลาสเบื้องต้นของเหล่านักเขียน-กวี ที่ไม่ลุกขึ้นมาแสดงออกต่อเหตุการณ์เดือน เม.ย.-พ.ค.2553 ว่า คืออาการ หูหนวก ตาบอด เป็นใบ้
 
ชูศักดิ์ ยังกล่าวถึงบทกวีของเนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์ ในหนังสือรวมบทกวี “คำขาดของทิดเที่ยง” ซึ่งพูดถึงเหตุการณ์ในสมัย 14 ตุลาฯ จนมาถึงปี 2553 เมื่อบรรดาทิดเที่ยงออกมาสวมใส่เสื้อแดงรวมกันเรียกร้องประชาธิปไตยจากบรรดาเหล่าผู้ดีตีนแดงในเมืองหลวง แต่ทิดเที่ยงในนามเนาวรัตน์กลับมองไม่เห็นหัวคนเสื้อแดง และกลับมองว่าพวกเขาเป็นลูกสุมโจรร้ายที่กำลังต้องการเปลี่ยนประเทศ เปลี่ยนธงประเทศไทย
 
ชาติผู้ดีตีนแดง
แต่ข้าวแกงยังไม่กิน
จะตากแดดนอนดิน
กระไรได้

. . . . .

ถ้าผิดคำสามข้อ
เล่นหลอกล่อให้หลง
ก็เปลี่ยนประเทศเปลี่ยนธง
ประเทศไทย
 
เนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์ “คำขาดของทิดเที่ยง” 2517
 
อีกตัวอย่างหนึ่ง จากบทกวีของ จิระนันท์ พิตรปรีชา ในหนังสือ “ใบไม้ที่หายไป” ที่บันทึกเรื่องราวการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมขณะที่เธอเป็นผู้นำนักศึกษาหัวก้าวหน้า ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อปี 2519 แต่ทว่าเหตุการณ์สังหารหมูเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 ก็มีคนบาดเจ็บลมตายนับร้อยนับพันคน ไม่ต่างจากกรณี 14 ตุลาฯ สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเหมือนว่าใบไม้ดูจะหายไปชนิดที่ไม่หวนกลับมาอีกเลย
 
สันติวิธี พูดดีก็แล้ว                       
ไร้วี่แววที่วาดหวังห่างจุดหมาย
ยิ่งประท้วงยิ่งปะทะ อันตราย           
ทั้งลวงล่อทั้งทำร้ายประชาชน
บทพิสูจน์ทีละบทจดจารึก  
คั่งหัวใจที่คึกแค้นเข้มข้น
เห็นเพื่อนล้มเลือดปรี่ทีละคน          
เห็นแล้วหนทางใด ... ใช่! ทางเดียว
 
จิระนันท์ พิตรปรีชา “ความในใจจากภูเขา” 2519
 
ชูศักดิ์ กล่าวว่า ข้างต้นคือตัวอย่าง 2 กรณีจากนับสิบ นับร้อยของหมู่กวีและนักเขียนที่ได้รับอานิสงส์จากการได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนที่ปกป้องและเรียกหาความยุติธรรมให้หมู่ประชาชนผู้ยากไร้ ซึ่งหากจะอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ในแง่หนึ่งคือทัศนะต่อประชาชน ประชาธิปไตย และสังคมของพวกเขาได้เปลี่ยนไปแล้ว พวกเขาไม่ได้เชื่อมั่นในกระบวนการประชาธิปไตยหรือศรัทธาในประชาชนเหมือนครั้งอดีตอีกต่อไป ผลงานวรรณกรรมของพวกเขาเป็นอดีตที่ไม่ร่วมสมัยกับตัวตนใหม่ของพวกเขาในปัจจุบันอีกต่อไปแล้ว ซึ่งตรงนี้ไม่ได้มีแต่กวีและนักเขียน แต่นักอุดมคติจำนวนมากเมื่อเวลาผ่านไปก็อาจละทิ้ง หมดศรัทธา หรือกระทั้งทรยศต่ออุดมการณ์ที่เคยยึดถือในอดีตได้เช่นกัน
 
อย่างไรก็ตามส่วนตัวมองว่า กวีและนักเขียนมีนิยามที่ถูกสร้างไว้ตั้งแต่ยุคอดีต โดยผูกติดกับพันธะกิจต่อประชาชนและความเป็นธรรมทางสังคม และสังคมมีความคาดหวังในการแสดงออกบางอย่างเมื่อสังคมเกิดวิกฤติ โดยที่พวกเขาไม่สามารถสลัดทิ้งสถานะของนักเขียนและกวีไปได้ แม้ในช่วง 80 ปีที่ผ่านมา นิยามของนักเขียนและกวีจะมีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยน แปลงโฉม รวมถึงลดทอนความสำคัญของความเป็นนักเขียนหรือวรรณกรรมที่อาจจะเป็นภัยต่อสถาบันต่างๆ ในสังคมอยู่ตลอดเวลา แต่ด้วยรากฐานในอดีตที่ถูกสร้างมาอย่างเข้มแข็ง ในท้ายที่สุดการช่วงชิงนิยามความหมาย แม้ว่าฝ่ายวรรณกรรมสร้างสรรค์ของกลุ่มกระดุมพีจะสามารถเบียดขับฝ่ายวรรณกรรมเพื่อชีวิตให้ตกไปจากประวัติศาสตร์วรรณกรรมไปแล้ว แต่ก็ยังไม่อาจปฏิเสธนิยามวรรณกรรมเพื่อชีวิตอย่างสิ้นเชิงได้
 
ชูศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ถึงวันนี้ไม่มีใครกล้าพูดว่าวรรณกรรมหรือกวีเขียนขึ้นเพื่อความเพลิดเพลินเจริญใจ หรือเพื่อโชว์ฝีมือของตนเอง ดังเช่นนิยามแบบเดิมในสังคมศักดินายุคก่อนกุหลาบ สายประดิษฐ์ แต่จะเห็นแต่นิยามที่สูงส่งอลังการว่านักเขียนมีภารกิจอันยิ่งใหญ่กอบกู้จิตวิญญาณมนุษย์ และจากนิยามนี้ทำให้เห็นได้ว่านักเขียนมีสถานะค่อนข้างสูงส่งมากในสังคมสมัยใหม่ แม้ว่าจะเป็นนักเขียนที่มีคนอ่านน้อย หรือหาแทบไม่ได้ เพราะการขายไม่ได้ส่วนหนึ่งอาจกลายเป็นเรื่องค้ำประกันความศักดิ์สิทธิ์ของงาน เพื่อยืนยันว่าวรรณกรรมสูงส่งไม่ใช่ของตลาดที่หาซื้อได้
 
อย่างไรก็ตามวาทะกรรมที่ถูกสร้างขึ้นนี้สร้างความลำบากให้กับนักเขียนที่อยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านทางสังคมมาก ด้วยความคาดหวังของผู้คน นักเขียนและกวีน้อยใหญ่จึงถูกบีบให้ออกมาแสดงความเห็นต่อเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.2553 และแม้จะมีนักเขียนบางกลุ่มออกมาแสดงความสนใจต่อเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วออกมาโจมตีรัฐบาลอยู่ แต่โดยส่วนตัวสนใจในกลุ่มที่เคยได้ชื่อว่าเป็นนักเขียน เป็นกวีเพื่อประชาชน
 
ชูศักดิ์ กล่าวต่อมาว่าในช่วงหลังเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.2553 ในกลุ่มนักเขียนและกวีได้ต่อสู้กันว่าจะนิยามเหตุการณ์ดังกล่าวว่าอย่างไร โดยแบ่งออกเป็น 2 นิยามใหญ่ๆ คือ นิยามเผาบ้านเผาเมือง กับการปราบปรามประชาชน พร้อมยกตัวอย่างบทนำในหนังสือ “เพลิงพฤษภา รวมบทกวีร่วมสมัยบันทึกไว้ในความทรงจำ” โดยมีแก้ว ลายทอง ทำหน้าที่บรรณาธิการคัดสรรเรื่อง
 
“ภาพควันไฟที่ครั่นคลุ้มขึ้นคลุมฟ้ามหานครและในอีกหลายเมืองใหญ่ ตึกที่ถูกเผาทำลาย ร้านค้าและคูหา หลากหลายที่กลายเป็นเหยื่อ หยาดเลือดชีวิตคนทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องที่ต้องสังเวยให้กับสถานการณ์อันรุนแรง คนกี่คนต้องสิ้นเนื้อประดาตัว คนกี่คนที่ต้องสูญสิ้นอาชีพ ...และคนอีกกี่คนสิ้นหวัง... ภาพเหล่านี้ย่อมฝังลึกลงในความทรงจำของประชาชาติ”
 
แก้ว ลายทอง
 
ชูศักดิ์ ให้ความเห็นว่า ข้อความนี้แทนทัศนะของกวีหลายๆ คน ที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ ที่บันทึกความทรงจำของชาติในช่วงเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.2553 ว่าความสูญเสียไม่ใช่ชีวิตผู้คนที่บาดเจ็บล้มตาย แต่เป็นตึก ร้านค้า เหยื่อของเหตุการณ์คือผู้สูญสิ้นอาชีพ ผู้สิ้นเนื้อประดาตัว ผู้สูญสิ้นความหวัง การพูดถึงผู้เสียชีวิตเป็นการพูดอย่างเสียไม่ได้ หนังสือแสดงความเป็นห่วงและเศร้าโศกกับความเสียหายของตึกมากกว่าชีวิตคนนับร้อยนับพันที่มาชุมนุม พร้อมยกตัวอย่าง บทกวีของเนาวรัตน์ ที่เขียนบทกวีไว้อาลัยโรงหนังสยามที่ถูกเพลิงไหม้จากเหตุการณ์ครั้งนี้ โดยไม่พูดถึงผู้ชุมนุมร่วมร้อยที่เสียชีวิตและคนบาดเจ็บนับพันด้วยน้ำมือของรัฐ
 
เจ้าเล่นเป็นตัวโกง
ก็โกงได้เป็นไฟเปลว
เผาแพรกจนแหลกเหลว
แล้วพวกเจ้าก็เผาโรง
 
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, “โรงหนังสยาม”
ผู้จัดการรายวัน 1 ก.ค. 2553
 
ขณะที่บทกวีจำนวนมากในหนังสือ “เพลิงพฤษภาฯ” แม้ไม่ได้แสดงความเสียใจต่อวัตถุ หรืออาคารที่ถูกเพลิงไหมอย่างชัดแจ้งดังเช่นกรณีของเนาวรัตน์ แต่ก็ไม่ได้พูดถึงความตายของคน เพียงแต่พูดถึงความเสียหายของประเทศไทย โดยมีการใช้จินตภาพของไฟมาเป็นจินตภาพหลักในการบรรยายถึงเหตุการณ์ ส่วนเนื้อหาโดยรวมไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่ารัฐใช้อำนาจของทหารที่เข่นฆ่าประชาชน แต่จะเลือกพูดภาพกว้างๆ ของความสูญเสีย ความพินาศย่อยยับ เมื่อพูดถึงการตายก็จะไม่มีการระบุว่าผู้ชุมนุมตายอย่างไร หรือพูดถึงการเข่นฆ่าว่าเป็นการฆ่ากันเอง แทบไม่มีบทไหนเลยที่ระบุว่าคนตายเป็นเหยื่อของอำนาจรัฐอันโหดเหี้ยม อีกทั้งยังมีการนำจินตภาพของธรรมชาติอันแปรปรวนมาใช้จำนวนมากโดยที่ไม่พูดถึงภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างตำตา
 
“ขณะไฟ...ลามไหม้...ใกล้เข้ามา” ไพวรินทร์ ขาวงาม

“ไฟสงครามลุกลามเรือง” เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ 
 
“กระนี้หนอเมืองไทยจึงไหม้หมอง” กานติ ณ ศรัทธา
 
“ที่นี้...เมืองไทยยุคเกรี้ยมกร้าว เราสุมไฟผ่าวขึ้นแผดไหม้” รมณา โรชา 
 
“ในมือเรามีไฟโถมใส่กัน พ่นละอองของน้ำมันเข้าใส่ไฟ” ไพฑูรย์ ธัญญา
 
“ร่วมเปลี่ยนไทยร้อนร้ายให้กลับเย็น!” สถาพร ศรีสัจจัง
 
“กลางฝนเลือด น้ำตาก็บ่าริน ธรนินท์ร้องไห้เป็นเลือดนอง” สถาพร ศรีสัจจัง
 
“หยดเลือดลูกหลานสะท้านทุกข์ รานรุกไล่ล่าฆ่ากันเอง”
 
“ไทยต่อไทยจึงแหลกลาญรบกันเอง” ชมัยภร แสงกระจ่าง
 
ชูศักดิ์ แสดงความเห็นว่า ตามบทกวีที่สอดคล้องไปในทางเดียวกันนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นความรู้สึกร่วมของกลุ่มกวี และทำให้มองเห็นได้ว่าเป็นการนำเสนอภาพเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องมาจากภาพในจอโทรทัศน์ที่มุ่งเสนอแต่ภาพควั่นไฟที่พวยพุ่งอยู่บริเวณราชประสงค์ โดยไม่ได้ใส่ใจให้ความสำคัญกับภาพของคนตาย คนที่ถูกฆ่าในเหตุการณ์เดียวกันนั้น แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นไปได้ว่าตัวกวีเห็นความสำคัญของตึกมากกว่าชีวิตคน เนื่องจากพวกเขาไม่เห็นว่าผู้ชุมนุมเป็นคนมีชีวิต มีเลือดเนื้อ มีอารมณ์ มีความรู้สึก มีญาติพี่น้องให้ห่วงหา และมีความเป็นมนุษย์ หรืออาจเป็นไปได้ว่าพวกเขาเห็นไม่ต่างเนาวรัตน์ที่มองเห็นคนรากหญ้าเป็นโจร แล้วคิดว่าคนเหล่านี้สมควรตาย
 
เรายกย่องผองผู้สู้ไม่ถอย
กับเถื่อนถ่อยอยุติธรรมความบ้าคลั่ง
หากแต่เรารังเกียจ โกรธ ชิงชัง
กับการตั้งตัวเป็นเช่นซ่องโจร
 
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ “กลางใจเมือง”
ผู้จัดการรายวัน 28 พ.ค. 2553
 
“คำถามก็คือ กวีใช้เกณฑ์อะไรมาเป็นตัวชีวัดว่าการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของคนรากหญ้าเสื้อแดงเป็นซ่องโจร และการชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญของนักศึกษาประชนเมื่อปี 2516 เป็นความงดความงาม ใช่ความชั่ว หรือแท้จริงแล้วกวีถูกม่านโมหาคติและมายาคติบังตา จนมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของคนเสื้อแดง หรือว่าโดยลึกๆแล้วกวีท่านนี้เห็นแต่พวกตัวเองเท่านั้นที่ฉลาดและสูงส่งด้วยคุณธรรมจึงมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่ท่านไม่ชอบหน้าได้ ส่วนพวกหญ้าแพร่เสื้อแดงนั้นเถื่อนถ่อยและโง่งมงายเกินกว่าจะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ”
 
โดยสรุป ในส่วนนี้ได้เกิดกระบวนการขึ้น 2 กระบวนการ คือ 1.การลดทอนและปฏิเสธความเป็นมนุษย์ของคนเสื้อแดง โดยแสดงออกในสองด้านคือการให้ความสำคัญกับซากตึก สถานที่ และการสร้างภาพให้ผู้ชุมนุมกลายเป็นโจร 2.ความพยามยามในการนิยามเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.2553 ให้เป็นเหตุการณ์การเผาบ้านเผาเมือง ไม่ใช่การปราบปรามประชาชนอย่างโหดเหี้ยม แล้วนิยามดังกล่าวนี้จะช่วยทำหน้าที่ปกปิดและปกป้องฆาตกรให้ลอยหน้าลอยตาอยู่ในสังคมได้ต่อไป โดยความผิดทั้งหมดถูกโยนให้ผู้ชุมนุม
 
“เมื่อเหยื่อถูกทำให้เป็นอาชญากร และฆาตกรมือเปื้อนเลือดกลายเป็นอภิสิทธัตถะ”
 
“ศีลธรรม” ยาครอบจักรวาล
 
ชูศักดิ์ เสนอในประเด็นสุดท้ายว่า บนกวีส่วนหนึ่งในช่วงเวลานี้ได้หันไปหยิบฉวยศีลธรรมมาใช้อธิบายและเป็นคำตอบให้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นความพยายามแสดงบทบาทตามพันธะกิจในการชี้นำความคิดให้กับสังคมด้วยการเรียกหาโนธรรม แต่โดยส่วนตัวกรอบคิดเรื่องศีลธรรมเป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตของแต่ละคน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเป็นจริยธรรมที่แต่ละคนพึงเรียกร้องต่อตัวเอง มากกว่าจะใช่เป็นบรรทัดฐานไปเรียกร้องจากผู้อื่น แต่จะเห็นได้ว่าสังคมไทยทำในทางตรงกันข้าม คือไปเรียกร้องศีลธรรมจากสังคม ศีลธรรมจึงกลายเป็นแก้วสารพัดนึก และถูกเห็นเป็นยาแก้ปัญหาทุกปัญหาในสังคม แต่เมื่อยิ่งเรียกร้องเรื่องการยกระดับมาตรฐานศีลธรรมของสังคมมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเห็นว่าศีลธรรมในสังคมตกต่ำมากเท่านั้น เพราะทุกคนชี้นิ้วไปที่ศีลธรรมจนกลายเป็นแพะรับบาปในทุกๆ ปัญหาของสังคมไทย
 
อีกทั้ง แม้ไม่ต้องอาศัยกวีหรือนักเขียน เราต่างรู้ว่าปัญหาวิกฤติที่นำมาสู่เหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.2553 ไม่ได้เกิดจากปัญหาความตกต่ำทางศีลธรรม และเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิกฤติจากเรื่องความเหลื่อล้ำทางเศรษฐกิจหรือการเมือง
 
ตัวอย่าง บทกวีของเนาวรัตน์ที่ยกเอาเรื่องศีลธรรมมาอธิบายเรื่องการชุมนุมคนเสื้อแดง
 
ไม่ใช่ชนชั้นไพร่ไล่อำมาตย์
หากเป็นความพินาศแห่งยุคสมัย
เถื่อนอธรรมย่ำยีบีฑาไทย
อันอุกอาจอุบัติในใจกลางเมือง
 
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ “กลางใจเมือง”
ผู้จัดการรายวัน 28 พ.ค. 2553
 
ในส่วนทางออกของวิกฤตการณ์ในสังคมไทย บทกวีชื่อหวัง ของจิระนันท์ ถูกใช้ปิดท้ายเล่มในหนังสือ “เพลิงพฤษภาฯ” 2 ท่อนสุดท้ายคล้ายกับเป็นการอวยพรให้คู่บ่าวสาวในงานวิวาห์
 
“หวัง”
            โลกงามเมื่อยามไหน
            เมื่อหัวใจมีรักครอง
            และรักโดยครรลอง
            ที่โอบเอื้อเกื้อเมตตา
 
กวีฝนแรก โดยจิระนันท์ ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 35 ซึ่งไม่เห็นบทกวีลักษณะที่บ่งชัดในเรื่อง “ฝนเหล็กอันรุนแรง ทะลวงร่างเลือดพร่างพราว” เช่นนี้เขียนในหนังสือ “เพลิงพฤษภาฯ” อย่างไรก็ตาม  ชูศักดิ์ได้อ่านบทกวีนี้เพื่อรำลึกเหตุการณ์เดือนพฤษภา 2553
 
ฝนแรกเดือนพฤษภา  รินสายมาเป็นสีแดง
ฝนเหล็กอันรุนแรง   ทะลวงร่างเลือดพร่างพราว
หลั่งนองท้องถนน    เป็นสายชลอันขื่นคาว
แหลกร่วงกี่ดวงดาว  และแหลกร้าวกี่ดวงใจ
บาดแผลของแผ่นดิน  มิรู้สิ้นเมื่อวันใด
อำนาจทมิฬใคร     ทมึนฆ่าประชาชน
              “ฝนแรก” จิระนันท์ พิตรปรีชา
 
ชูศักดิ์ กล่าวด้วยว่า คนสมัยใหม่ยกย่องกวีมาก ในขณะที่คนรุ่นเก่าก็สถาปนาบทบาทของกวีไว้แทบจะเรียกได้ว่าเป็นศาสดาของสังคม จนมีการพูดกันว่า “กวีเห็นในสิ่งที่คนทั่วไปไม่เห็น” แต่หากได้อ่านงานกวีในช่วงเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.2553 เราจะได้ข้อสรุปว่า “กวีไทยไม่เห็นในสิ่งที่คนทั่วไปเห็น” ซึ่งโดยส่วนตัวไม่ปฏิเสธว่าในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าวมีความซับซ้อนและมีปัจจัยหลายประการที่ซ้อนทับจนไม่สามารถชี้ชัดเหตุการณ์หรือสถานการณ์ได้อย่างเด็ดขาดและชัดเจน แต่การละเลยที่จะยอมรับความจริงตรงหน้าว่ามีคนนับร้อยถูกยิงเสียชีวิต หลายคนบาดเจ็บปางตายนั้นเป็นเรื่องยากเกิดที่จะเข้าใจได้
 
หากไม่ใช้ด้วยคำว่าม่านบังตาที่ทำให้กวีไม่เห็นในสิ่งที่คนทั่วไปเห็นอยู่ตำตา ก็อาจอธิบายได้ว่าเหตุการณ์ก่อนหน้านี้อย่าง 14 ตุลาฯ และพฤษภาทมิฬ จบลงด้วยชัยชนะในระดับหนึ่งของผู้ชุมนุม อย่างน้อยก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำรัฐบาล จึงทำให้เหล่ากวีและนักเขียนสะดวกใจที่จะเขียนสดุดีแด่ผู้ชุมนุม แต่เหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.2553 เป็นความผ่ายแพ้ ที่คล้ายเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ด้วยเหตุนี้นักเขียนจึงปิดปากเงียบ ไม่ยอมแม้จะเอ่ยปากว่ามีคนตาย โดยบทกวีเรื่องวันฆ่ามัจจุราช ที่พูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ โดยเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เขียนในปี 2522 ซึ่งบรรยากาศทางการเมืองผ่อนคลายลงแล้ว
 
ชูศักดิ์ กล่าวปิดท้ายบทสรุปกวีไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน โดยวรรคท้ายบทกวีของศักดิ์สิริ มีสมสืบ
 
“ข้าต้องเสียศักดิ์ศรีกวีไทย
 เขียนกลอนเป็ดเป๋ไป๋ไปไม่เป็น”
 
ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ, “สันติป้าบ”



ขอบคุณข้อมูลจาก ประชาไท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น