วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

กรรมกรคึกคัก เดินเท้ายื่นข้อเรียกร้องวันเมย์เดย์

(1 พ.ค.54) เนื่องในวันที่ 1 พ.ค.ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันกรรมกรสากล หรือวันแรงงานแห่งชาติ คนงานกลุ่มต่างๆ ออกมาเดินขบวนแสดงพลังและเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล
เวลาประมาณ 11.00น. 12 สภาองค์การลูกจ้างฯ ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนการจัดงานจากรัฐบาล แต่งกายด้วยเสื้อสีเขียวมีตราสำนักงานประกันสังคม เดินจากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าไปยังลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดยยื่นข้อเรียกร้อง 9 ข้อกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ดังนี้ 1.ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 ข้อ 2.ให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้ลูกจ้างในกรณีที่สถานประกอบการปิดกิจการ เลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย 3.ให้รัฐบาลปรับค่าจ้างที่เป็นธรรมพร้อมกำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้างและรายได้แห่งชาติทุกสาขาอาชีพ


4.ให้รัฐบาลปฏิรูประบบประกันสังคม อาทิ ยกระดับให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เป็นองค์กรอิสระและนิรโทษกรรมผู้ประกันตน ม.39 ให้กลับมาเป็นผู้ประกันตน 5.ให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ 2542 และยกเลิกแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกกิจการ 6.ให้รัฐบาลยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้ของลูกจ้างในกรณีเงินค่าชดเชยและเงินรายได้อื่นๆ ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย 7.แก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานเกี่ยวกับค่าชดเชย 8.ให้รัฐบาลจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กและศูนย์เก็บน้ำนมแม่ 9.ให้รัฐบาลรวมประมวลกฎหมายแรงงานทุกประเภทเป็นประมวลกฎหมายแรงงานฉบับเดียวและบังคับใช้ทั้งภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ
ขณะที่กลุ่มของสภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ เคลื่อนขบวนมาหยุดปราศรัยที่หน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา นายเฉลย ชมบุหรัน ประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ ระบุว่า สิ่งที่ทางกลุ่มผลักดันและขับเคลื่อนมาตลอดคือการเรียกร้องรัฐสวัสดิการ ทั้งนี้อธิบายว่าสีแดงเป็นสีของกรรมกรมาโดยตลอดอยู่แล้ว ขณะที่นายบุญผิน สุนทรารักษ์ อดีตประธานสหพันธ์เหล็กและโลหะแห่งประเทศไทย วิจารณ์ว่าที่ผ่านมา สภาฯ ไม่ได้ดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อกรรมกร ทั้งยังทำให้กระบวนเสียหาย อาทิ กรณีของคนงานไทรอัมพ์ และไทยเกรียง ทั้งนี้ ระบุด้วยว่า ตามยุทธศาสตร์การต่อสู้ในทางสากลแล้ว แรงงานไม่ควรหันหลังให้การเมือง
อนึ่ง สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องอำนาจประชาธิปไตย 3 ด้านได้แก่ อำนาจประชาธิปไตยทางการเมือง นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง รัฐสภาต้องมาจากการเลือกตั้ง องค์กรอิสระต้องปฏิบัติหน้าที่ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และในการเลือกตั้ง ผู้ใช้แรงงานให้ใช้สิทธิเลือกตั้งในสถานประกอบการ
อำนาจประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ต้องมีหลักประกันคุณภาพชีวิตการทำงานในสถานประกอบการ สิทธิการจัดการหลักประกันสังคมต้องตอบสนองต่อผู้ใช้แรงงาน ค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมในสถานประกอบการประเภทเดียวกันต้องมีบรรทัดฐานเดียวกัน และอำนาจประชาธิปไตยทางวัฒนธรรม เรียกร้องให้รัฐต้องจัดการศึกษาฟรีทุกระดับ รัฐต้องส่งเสริมการเรียนรู้
จากนั้น เวลาประมาณ 12.00น. คนงานหลายพันคนนำโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย (สรส.) เดินเท้าจากหน้ารัฐสภามาหยุดตั้งเวทีปราศรัยที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีข้อเรียกร้อง 13 ข้อ ได้แก่ 1.รัฐต้องให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98  2.ประกาศใช้ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ (ฉบับขบวนการแรงงาน) 3.ปฏิรูประบบประกันสังคม 4.รัฐต้องกำหนดค่าจ้างที่เป็นธรรม กำหนดโครงสร้างค่าจ้างรายได้และรายได้แห่งชาติทุกสาขาอาชีพ 5.ยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ 6.ให้คนงานมีสิทธิในการเลือกตั้งในพื้นที่สถานประกอบการ
7.เร่งจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน 8.ตั้งกองทุนความเสี่ยงจากการลงทุน เพื่อคุ้มครองสิทธิคนงานกรณีถูกเลิกจ้าง    9.จัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กและศูนย์เก็บน้ำนมแม่ในย่านอุตสาหกรรม 10.คุ้มครองแรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ 11.ยกเลิก พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 12.ยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้ของลูกจ้างในกรณีเงินค่าชดเชย และเงินรายได้อื่นๆซึ่งเป็นเงินงวดสุดท้าย และ 13.แก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 ให้กับลูกจ้างจากเดิมอายุงาน 10 ปีขึ้นไป จ่ายค่าชดเชย 300 วัน เป็นอายุงาน 10 ปีขึ้นไปเพิ่มอีกปีละ 30 วัน








ริ้วขบวนล้อการเมือง โดยนักศึกษาจากกลุ่มกิจกรรมต่างๆ อาทิ YPD กลุ่มสะพานสูง มธ., ชมรมมหาวิทยาลัยชาวบ้าน ม.เกษตร, กลุ่มลูกชาวบ้านและชมรมวรรณศิลป์ ม.บูรพา, ซุ้มลาดยาว ม.รามคำแหง
ด้านพรรคการเมือง ได้แจกแถลงการณ์ในโอกาสวันกรรมกรสากล เรียกร้องให้ผู้ใช้แรงงานรวมพลังกันตั้งสหภาพแรงงานให้เข้มแข็งเพื่อใช้สิทธิปกป้องเสรีภาพอันขอบธรรมของตนเอง ลุกขึ้นต่อสู้ทางการเมือง ต่อต้านทุนนิยมสามานย์ผูกขาด ต่อต้านการขายรัฐวิสาหกิจ เพื่อผลักดันให้เกิดระบบรัฐสวัสดิการ กระบวนการสหกรณ์ โอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกัน ตามวิถีทางประชาธิปไตย เพื่อสร้างหลักประกันให้พี่น้องแรงงานหญิงชายมีชีวิตอย่างปกติสุข ตั้งแต่จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ใช้สิทธิใช้เสียงทางการเมืองไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของพี่น้องคนงาน ในการรวมพลังขับเคลื่อนสร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม เป็นประชาธิปไตยทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอย่างแท้จริง
ที่มา : ประชาไท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น