วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2554

เสวนา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ “จิตรา” ชี้แจ้งล่วงหน้าในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก


กลุ่มประกายไฟจัดเสวนา “พระราชบัญญัติการชุมนุมเกี่ยวอะไรกับเรา”  จิตรา คชเดช อดีตที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ชี้การที่จะต้องแจ้งล่วงหน้านี้เป็นปัญหาแน่ ในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้เลย 
วันนี้ (9 เม.ย. 54) เวลา 13.00 น. กลุ่มประกายไฟจัดเสวนา “พระราชบัญญัติการชุมนุมเกี่ยวอะไรกับเรา” โดยมี จิตรา คชเดช อดีตที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อานนท์ นำภา ทนายความสำนักราษฎรประสงค์ อนุสรณ์ อุณโณ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ สำนักงานวันอาทิตย์สีแดง อิมพีเรียลลาดพร้าว
จิตรา คชเดช อดีตที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ เมื่อมีการนัดหยุดงาน ก็ต้องมีการชุมนุม การนัดหยุดงานคือการนำเสนอให้สังคมรู้ว่าเขาต้องการเรียกร้องอะไร เวลานายจ้างปิดงานเราก็ต้องชุมนุม เคยถูกปิดงานครั้งหนึ่งตอนปี 42 เราก็ชุมนุมหน้าโรงงาน ถูกคดีแรกคือบุกรุกสถานที่ คือ นิคมอุตสาหกรรมในยามวิกาล ชุมนุมอยู่ 18 วัน ก็โดนอีกข้อหาหนึ่งคือ กีดขวางทางเข้าออกของบริษัท นายจ้างเลือกที่จะไปร้องศาลแรงงาน นี่ทำให้เห็นว่าในภาวะปกติก็มีกฎหมายไว้เล่นอยู่แล้ว มีการห้ามใช้เครื่องเสียง แต่ถ้าหากชุมนุมโดยไม่มีเครื่องเสียงแล้วเราจะสื่อสารกันอย่างไร นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอีกหลายตัว กฎหมายจราจร โดยเฉพาะกฎหมายหมิ่นประมาทโดยการแจกใบปลิว หรือการหมิ่นประมาทโดยการใช้เครื่องเสียง นี่คือกฎหมายที่เป็นเครื่องมือของรัฐ ถ้าไม่มี พ.ร.บ.ชุมนุมก็มีกฎหมายพวกนี้มากมายอยู่แล้ว  
ประเด็นที่น่าสนใจของ พ.ร.บ.นี้ คือต้องแจ้งล่วงหน้าก่อน การที่จะต้องแจ้งล่วงหน้านี้เป็นปัญหาแน่ๆ หากเกิดเหตุอะไรขึ้นเรารอไม่ได้ ในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้เลย  พ.ร.บ.นี้ ควรพูดถึงการอำนวยความสะดวกของผู้ชุมนุมด้วย ที่จำเป็นที่สุดคือห้องน้ำ ถ้าคุณไม่อยากให้เกิดการชุมนุม คุณต้องออกมาแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว และบอกกรอบเวลาการแก้ปัญหาอย่างแน่นอน
“ดูภาพรวมแล้ว พ.ร.บ การชุมนุมที่จะออกมานี้ไม่สามารถทำให้เราชุมนุมได้อย่างแน่นอน หากนำไปเปรียบเทียบกับต่างประเทศนี่เขาเชื่อว่า ชุมนุมแล้วก็แค่ถูกจับ แต่ของเรานี้ไม่ใช่ เราเชื่ออะไรไม่ได้เลย” จิตราเสริม
พ.ร.บ. นี้ จะทำให้ประชาชนแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันเอง ชี้รัฐไทยจารีตภายใต้รัฐสมัยใหม่
อนุสรณ์ อุณโณ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. กฎหมายฉบับนี้เป็นเครื่องมือที่รัฐสมัยใหม่ใช้ปกครองผู้คน ไม่ได้เป็นเรื่องของความมั่นคงของรัฐ ไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อผลประโยชน์ของรัฐ แต่เพื่อความสงบสุขของประชาชน เช่น ถ้าคุณไม่สวมหมวกกันน็อค นั่นไม่เป็นภัยต่อรัฐ แต่เพราะคุณไม่ดูแล ตัวเอง นี่เป็นลักษณะของรัฐสมัยใหม่ กฎหมายนี้ยังทำหน้าที่แบ่งประชาชนออกเปนสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายที่ก่อกวน คือ ผู้ชุมนุม อีกฝ่ายคือประชาชนที่ถูกปกป้อง
“รัฐอำพรางตัวเอง ผลักตัวเองจากการเป็นคู่ขัดแย้งของประชาชนอีกฝ่ายหนึ่ง แต่เอาประชาชนอีกฝ่ายมาขัดแย้งกันเอง ผมว่านี่เป็นข้อที่น่ากังวล หากยังมีกฎหมายแบบนี้ออกมาเรื่อยๆ เราต้องตามให้ทัน” อนุสรณ์ กล่าว
วิธีการใช้อำนาจแบบนี้เป็นอำนาจของรัฐสมัยใหม่ แต่ไทยยังมีลักษณะที่เป็นจารีตสูงมาก ขึ่งมันไม่เนียน หากเราจะดูตะวันตก เราจะพบว่ามันเนียนมาก ยกตัวอย่างเช่น มาตราแปด ระบุชัดเจนว่า การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางสถานที่ต่างๆ เช่น สถานที่พักของกษัตริย์ หน่วนงานรัฐ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่ประชาชนเข้าออก แต่มันคือศูนย์กลางของอำนาจรัฐต่างหาก ไม่ใช่เรื่องการกีดขวางทางสัญจรในชีวิตประจำวัน แต่เป็นการปกป้องอำนาจของประเทศ
“นี่คือความลักลั่นที่เกิดขึ้น ไม่มีข้อห้ามการชุมนุมที่ตลาดสด หรืออะไรก็ตามที่คนทั่วไปจะต้องใช้ คุณต้องพูดเรื่องแบบนี้ด้วย” อนสรณ์ เสริม
มันจึงไม่ใช่การปกครองในรูปแบบสมัยใหม่ที่ใช้ประชาชนบังหน้า แต่เป็นการใช้โวหารแบบใหม่ซึ่งยังคงไว้ซึ่งอำนาจแบบเก่า มันเป็นการขยายอำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาสู่ชีวิตประจำวัน ท้ายที่สุดเราจะแยกไม่ออก ว่าอะไรปกติหรือไม่ปกติ
ถ้ามองในแง่ที่เลวร้ายที่สุดหากกฎหมายนี้ผ่านขึ้นมา เราจะอยู่กับมันอย่างไร มันยังมีพื้นที่ให้เราต่อต้านขีดขืนมันได้ ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายนี้ไม่บังคับใช้ในกรณีที่มีการชุมนุมเพื่อประกอบพิธีกรรรมทางศาสนา ต้องใช้กิจกรรมทางวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือ ทำให้การตีความทางกฎหมายมันซับซ้อนมากขึ้น การชุมนุมในพื้นที่ที่ไม่น่าจะชุมนุมได้ ก็มีหลายทาง เช่น คุยกันในครัว
อนุสรณ์ทิ้งท้ายว่า กฎหมายนี้เกิดจากการผลักดันทางการเมือง แต่การเคลื่อนไหวของคนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่มีอำนาจทางการเมืองจะมีข้อจำกัดมาก และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมสักแค่ไหนที่จะเป็นปัญหา และถ้าหากว่าเป็นปัญหาจริงๆเราจะจัดการอย่างไร มันจะต้องมีกฎหมายเป็นการเฉพาะ
สมบัติ บุญงามอนงค์ กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง กล่าวว่า ไม่รู้ว่ามีใครเคยขออนุญาตไปใช้ที่สนามหลวงหรือเปล่า เคยขอไปหลายครั้ง แต่ไม่เคยได้รับอนุญาติเลย นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ขนาดสถานที่ที่สามารถให้ขอใช้ได้ ยังใช้ไม่ได้เลย
"ถ้าหากผมไปที่ที่ไม่สาธารณะอย่างเช่น เซนทรัลเวิลด์ นี่ผิดกฎหมายไหม หรือคุณอยากให้เราอยู่บนรถอย่างเดียวแล้วขับไปเรื่อยๆ หรือเราอาจจะไม่ชุมนุมแต่เราจะแสดงออกในรูปแบบอื่น ให้คุณเหวอไปเลย คุณจะเอาไหม"
ที่มา : ประชาไท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น