วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2554

คำประกาศ: 10 สิทธิและหลักการอินเทอร์เน็ต


ชื่อเดิม : 10 สิทธิและหลักการอินเทอร์เน็ต
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2554 ณ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน กลุ่มความร่วมมือด้านสิทธิและหลักการอินเทอร์เน็ต (Internet Rights and Principles Dynamic Coalition: IRP) ซึ่งเป็นกลุ่มพหุภาคีของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต ทั้งจากภาครัฐ ธุรกิจ และประชาสังคม ได้ร่วมกันประกาศ 10 สิทธิและหลักการอินเทอร์เน็ต เพื่อใช้เป็นหลักการพื้นฐานในการพัฒนาและจัดการดูแลอินเทอร์เน็ต หลักการดังกล่าวมีรากฐานมาจากหลักสิทธิมนุษยชนสากลซึ่งได้รับการยอมรับระหว่างประเทศ โดยในการประกาศดังกล่าว มีนายแฟรงค์ ลา รู ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมและการคุ้มครองเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ร่วมกล่าวแสดงความยินดีด้วย อ่านหลักการดังกล่าวในภาษาต่าง ๆ ได้ที่www.irpcharter.org
10 สิทธิและหลักการอินเทอร์เน็ต
เอกสารนี้นิยามสิทธิและหลักการสำคัญสิบประการ ที่จะต้องประกอบเป็นพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตภิบาล สิทธิและหลักการเหล่านี้ถูกรวบรวมโดย กลุ่มความร่วมมือด้านสิทธิและหลักการอินเทอร์เน็ต (Internet Rights and Principles Dynamic Coalition: IRP) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่เปิดกว้างของบุคคลและองค์กรที่ทำงานสนับสนุนสิทธิมนุษยชนในสิ่งแวดล้อมอินเทอร์เน็ต หลักการดังกล่าวมีรากฐานจากมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และสืบทอดมาจาก กฎบัตรสิทธิมนุษยชนและอินเทอร์เน็ต ที่ทางกลุ่มได้ร่วมมือกันพัฒนา
อินเทอร์เน็ตได้มอบโอกาสมากมายอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการจะทำให้สิทธิมนุษยชนเป็นความจริง และมันมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในชีวิตประจำวันของพวกเรา ดังนั้นมันจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้มีส่วนร่วมทั้งหมด ทั้งภาคสาธารณะและภาคเอกชน จะต้องเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชนบนอินเทอร์เน็ต เช่นเดียวกับที่ขั้นตอนต่าง ๆ จะต้องถูกนำไปปฏิบัติ เพื่อให้แน่ใจว่าอินเทอร์เน็ตนั้นทำงานและพัฒนาไปในทางที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนให้สมบูรณ์ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อช่วยให้วิสัยทัศน์ในการที่จะทำให้สภาพแวดล้อมอินเทอร์เน็ตนั้นตั้งอยู่บนฐานของสิทธิได้เป็นความจริง 10 สิทธิและหลักการอินเทอร์เน็ต ดังกล่าว ได้แก่ :
1) ความเป็นสากล และ ความเสมอภาค
มนุษย์ทุกคนต่างเกิดมามีอิสระและเสมอกันในศักดิ์ศรีและสิทธิต่าง ๆ ซึ่งจะต้องได้รับความเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมในสภาพแวดล้อมออนไลน์
2) สิทธิ และ ความยุติธรรมทางสังคม
อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่เพื่อการส่งเสริม ปกป้อง และบรรลุสิทธิมนุษยชนและพัฒนาความยุติธรรมทางสังคม เราทุกคนมีหน้าที่ผูกพันในการเคารพสิทธิมนุษยชนของคนอื่น ๆ ทั้งหมด ในสิ่งแวดล้อมออนไลน์
3) ความเข้าถึงได้
คนทุกคนมีสิทธิเสมอกันในการเข้าถึงและใช้อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยและเปิดกว้าง
4) การแสดงออก และ การสมาคม
คนทุกคนมีสิทธิในการค้นหา ได้รับ และแจ้งข้อมูลข่าวสารอย่างเสรีบนอินเทอร์เน็ต โดยไม่ถูกปิดกั้นหรือรบกวนในทางอื่นใด คนทุกคนยังมีสิทธิในการคบค้าสมาคมกันผ่านอินเทอร์เน็ตและบนอินเทอร์เน็ต เพื่อวัตถุประสงค์ทางสังคม การเมือง วัฒนธรรม และวัตถุประสงค์อื่น ๆ
5) ความเป็นส่วนตัว และ การปกป้องข้อมูล
คนทุกคนมีสิทธิในความเป็นส่วนตัวออนไลน์ ซึ่งสิทธิดังกล่าวนี้รวมถึงเสรีภาพในการที่จะพ้นจากการถูกสอดส่องตรวจตรา สิทธิในการใช้การเข้ารหัส และสิทธิที่จะไม่เปิดเผยตัวตนออนไลน์ คนทุกคนยังมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองข้อมูล ซึ่งรวมถึงการควบคุมการรวบรวม การเก็บ การประมวล การกำจัด และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
6) ชีวิต อิสรภาพ และ ความมั่นคงปลอดภัย
สิทธิที่จะมีชีวิต มีอิสรภาพ และมีความมั่นคงปลอดภัย จะต้องได้รับการเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมในสภาพแวดล้อมออนไลน์ สิทธิเหล่านี้จะต้องไม่ถูกละเมิด หรือใช้เพื่อละเมิดสิทธิอื่น ในสภาพแวดล้อมออนไลน์
7) ความหลากหลาย
ความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมบนอินเทอร์เน็ต จะต้องได้รับการส่งเสริม นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและทางนโยบายควรได้รับการสนับสนุนเพื่ออำนวยความเป็นพหุลักษณ์ของการแสดงออก
8) ความเสมอภาคทางโครงข่าย
คนทุกคนจะต้องมีช่องทางเข้าถึงเนื้อหาอินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้างและไม่เลือกปฏิบัติ เป็นอิสระจากการถูกจัดลำดับ กรองและควบคุมการจราจรอย่างแบ่งแยก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางการค้า การเมือง หรือเหตุผลอื่นใด
9) มาตรฐาน และ การวางข้อกำหนด
สถาปัตยกรรม ระบบสื่อสาร และรูปแบบเอกสารและข้อมูล ของอินเทอร์เน็ต จะต้องอยู่บนฐานของมาตรฐานเปิด ที่จะทำให้แน่ใจได้ว่า คนทุกคนจะสามารถประสานงานระหว่างกันได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ถูกกันออกไป และได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน
10) การจัดการดูแล
สิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมทางสังคม จะต้องเป็นสิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นพื้นฐานทางกฎหมายและแบบแผนปฏิบัติ ซึ่งอินเทอร์เน็ตจะใช้ดำเนินการและถูกจัดการดูแล สิ่งนี้จะต้องเกิดขึ้นอย่างโปร่งใสและเป็นไปในลักษณะพหุภาคี บนหลักการของความเปิดกว้าง การมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุม และการให้เหตุผลและรับผิดได้
**ร่วมพัฒนากฎบัตร IRP ที่ www.irpcharter.org ติดตามเราบนทวิตเตอร์ที่ @netrights หรือเข้ากลุ่ม Internet Rights and Principles บนเฟซบุ๊ค  www.facebook.com/internetrightsandprinciples **

ดาวน์โหลด PDF OpenDocument
เอกสารนี้แปลจาก 10 Internet Rights & Principles ดู www.irpcharter.org สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม และคำแปลในภาษาอื่น ๆ
This is a Thai translation of 10 INTERNET RIGHTS & PRINCIPLES. Other translations and more information at www.irpcharter.org.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น