8 เม.ย.54 ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก นายอุดม โปร่งฟ้า ทนายความของมูลนิธิบ้านเลขที่111 นำนายถาวร คำน้อย กับพวกรวม 16 คน ซึ่งเป็นญาติของผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เมื่อปี 2553 เป็นโจทก์ฟ้อง กระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหม และกองทัพบก เป็นจำเลยที่1-3 ตามลำดับ เรื่องละเมิด ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ.2539 มาตรา 5 โดยแยกเป็น16สำนวน เรียกค่าเสียหายจำนวนทุนทรัพย์ 40 ล้านบาท โดยโจทก์ระบุฟ้องสรุปว่า
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 53 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการฉุกเฉิน (ศอฉ.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. (ขณะนั้น) พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 (ขณะนั้น)กับพวก ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสิบหก กล่าวคือ นายกรัฐมนตรี ได้ออกคำสั่งให้นายสุเทพ และผู้บังคับบัญชาการเหล่าทัพตามลำดับ นำกำลังทหาร ออกปราบปรามสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ที่ชุมนุมโดยสันติปราศจากอาวุธ ที่บริเวณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สะพานผ่านฟ้าลีลาศ สี่แยกคอกวัว และบริเวณอื่นๆ โดยใช้รถถัง รถหุ้มเกราะ ปืนกล ซึ่งเป็นลูกกระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมจนได้รับบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก โดยจำเลยได้อ้างว่า ต้องการกระชับพื้นที่ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก ไม่ปฏิบัติตามหลักสากล กลับใช้วิธีการที่รุนแรงต่อผู้ชุมนุม การกระทำของพวกจำเลยจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน สิทธิเสรีภาพของพวกโจทก์ ทั้งหมด
ทั้งนี้โจทก์สำนวนที่ 1 -14 เป็นญาติผู้บาดเจ็บ ขอฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน ค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะ รายละ 1-2ล้านบาท ส่วนผู้บาดเจ็บ เป็นโจทก์ที่ 15-16 ซึ่งบาดเจ็บสาหัสพิการขาขาด อาชีพวิศวกร กับนักศึกษา ซึ่งถึงกับพิการตาบอด จึงเรียกค่าสินไหมทดแทน ค่าขาดไร้แรงงาน ค่าขาดการประกอบการงาน ค่ารักษาพยาบาลรายละ 5 ล้านบาท โจทก์ทั้งหมดล้วนเป็นผู้ยากจน ไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระค่าธรรมเนียมศาลได้ จึงขอความเมตตาจากศาลฟ้องจำเลยเป็นคดีอนาถา โดยให้ศาลยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลด้วย
ศาลรับฟ้องไว้เป็นคดีดำที่ 1228 - 1244/2554 โดยนัดสืบพยานวันที่ 4 ก.ค.นี้ เวลา 09.00น. โดยอ้างว่าเป็นผู้ยากจน ศาลรับคำร้องไว้พิจารณา
นายอุดม โปร่งฟ้า กล่าวว่า คดีนี้ ทีมทนายความไม่ฟ้องนายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีโดยตรง เพราะเลือกใช้วิธีการตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิด ซึ่งมีอายุความ 1 ปี และไม่ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นจำเลย
ที่มา: สำนักข่าวไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น