วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554

การเมืองของกฎหมายคุมม็อบ

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ร่างกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะอันเป็นกฎหมายถูกให้เหตุผลว่าจำเป็นที่จะต้องมีขึ้นเพื่อจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งปกป้องประโยชน์ของสาธารณชนและไม่ให้เป็นการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง รวมถึงการกำหนดโทษในกรณีที่เป็นการชุมนุมซึ่งดำเนินไปโดยไม่ชอบด้วยขั้นตอนและกระบวนการของกฎหมายนี้
อย่างไรก็ตาม มีเหตุผลและข้อพิจารณา 3 ประการที่สังคมควรต้องตระหนักและไตร่ตรองก่อนที่จะมีการพิจารณาร่างกฎหมายนี้กันต่อไป ดังนี้
ประการแรก การออกกฎหมายเพื่อควบคุมการชุมนุมสะท้อนถึง “สำนึก” เกี่ยวกับการมองการชุมนุมของประชาชนว่าได้กลายเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญสำหรับสังคมไทย แต่ไม่ได้สนใจในด้านของการใช้อำนาจและความรุนแรงกับผู้ชุมนุม
การชุมนุมในที่สาธารณะได้กลายเป็นเวทีทางการเมืองที่มีความสำคัญสำหรับกลุ่มคนต่างๆ ซึ่งถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง ไม่เพียงเฉพาะในความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสี การเคลื่อนไหวผลักดันของกลุ่มประชาชนจำนวนมากก็เลือกใช้การชุมนุมเป็นเครื่องมือในการจุดประเด็น เรียกร้อง โต้แย้งกับอำนาจรัฐ เช่น การชุมนุมของผู้คนซึ่งได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล ชาวบ้านจากลำพูนซึ่งถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม แรงงานที่ถูกเลิกจ้างในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เป็นต้น
ในการชุมนุมหลายครั้งที่เกิดขึ้นก็จะถูกการใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่และกลไกอำนาจรัฐ บางครั้งอาจเป็นความรุนแรงในระดับที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายจากกระบอกปืน การใช้อาวุธทำร้ายประชาชนไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์พฤษภาปี 2535, 6 ตุลาคม 2519 หรือแม้กระทั่งความรุนแรงเมื่อปีที่แล้ว ก็เกิดขึ้นโดยอำนาจรัฐเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญ
โดยบางครั้งผู้ชุมนุมอาจเผชิญหน้ากับความรุนแรงโดยตรงหรือบางครั้งเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกลไกของอำนาจรัฐ เช่น ข้อหาพื้นฐานที่จะใช้กับการชุมนุมก็คือการชุมนุมมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปตามมาตรา 215 ของประมวลกฎหมายอาญา และเมื่อเจ้าหน้าที่สั่งให้เลิกแต่ยังมีการชุมนุมกันต่อก็เป็นความผิดตามมาตรา 216 อีกหนึ่งข้อหา
โดยไม่จำเป็นที่จะต้องมีการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กฎหมายการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือแม้กระทั่งการประกาศกฎอัยการศึก ก็มีกฎหมายเป็นจำนวนมากที่สามารถนำมาลงโทษกับผู้ชุมนุมได้อย่างสะดวก
ประชาชนที่ถูกกระทำจากอำนาจรัฐเหล่านี้มีเป็นจำนวนมาก และจำนวนไม่น้อยก็ยังคงได้รับความเสียหายอยู่ในปัจจุบัน ญาติพี่น้องของผู้ที่เสียชีวิตจากการใช้อำนาจรัฐ ลูกเมียของผู้ถูกกักขังจำคุกกระทั่งขาดความมั่นคงในชีวิต กลายเป็นบาดแผลรุนแรงจากการใช้อำนาจรัฐก็ตกอยู่ในฐานะที่ตกแบกรับภาระต่างๆ บนบ่าของตน
คำถามสำคัญก็คือ ในขณะที่กระเหี้ยนกระหือรือจะออกกฎหมายเพื่อลงโทษกับการชุมนุมสาธารณะ แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับไม่มีความตระหนักเลยว่าการใช้อำนาจรัฐที่ทำให้เกิดปัญหาจะถูกกำกับ ตรวจสอบหรือลงโทษได้อย่างไร
ประการที่สอง มักจะให้เหตุผลว่าไม่ว่าประเทศไหนก็ล้วนต้องมีกฎหมายควบคุมการชุมนุมในที่สาธารณะทั้งสิ้น การออกกฎหมายฉบับนี้จึงไม่ได้เป็นสิ่งที่แปลกประหลาดแต่อย่างใด
กฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างสำคัญ หมายความว่าระดับความเป็นประชาธิปไตย ความโปร่งใส ความสามารถในการตรวจสอบของสังคมต่อการใช้อำนาจรัฐ ระบบการตรวจสอบและความรับผิดของผู้มีอำนาจในสังคมแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน แม้ว่าประเทศต่างๆ เหล่านี้จะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยเหมือนกันก็ตาม
การบัญญัติกฎหมายขึ้นใช้บังคับในสังคมแต่ละแห่งจึงทำให้เกิดการบังคับใช้และผลกระทบติดตามมาที่แตกต่างกัน รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกากับรัฐธรรมนูญไทยก็ล้วนแต่บัญญัติหลักการเรื่องความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญเอาไว้ แต่ก็ประจักษ์ชัดกันเป็นอย่างดีว่าหลักการดังกล่าวในรัฐธรรมนูญไทยมีความหมายน้อยเพียงใด
การตระหนักถึงความแตกต่างของระบบการเมืองจึงทำให้ในการพิจารณากฎหมายการชุมนุมสาธารณะต้องมีความละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก ระหว่างการชุมนุมของประชาชนห้าหมื่นคนในประเทศไทยกับการชุมนุมของประชาชนฝรั่งเศสย่อมให้ผลทางการเมืองที่ต่างกัน
การตอบสนองของอำนาจรัฐต่อการชุมนุมจึงมีผลทำให้รูปแบบของการชุมนุมมีธรรมชาติที่ต่างกันไปได้ ชาวบ้านจากปากมูลซึ่งเคลื่อนไหวเรียกร้องอันรวมถึงการชุมนุมมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนองในประเด็นสำคัญแต่อย่างใด การกำหนดการชุมนุมว่าจะต้องดำเนินไปตามการอนุญาตของรัฐก็จะไม่ได้ทำหน้าอื่นใดเลยนอกจากเพิ่มข้อหาในการชุมนุมให้กับประชาชนเพิ่มเท่านั้น
ประการที่สาม ข้อควรระวังสำหรับการออกกฎหมายเพื่อขยายอำนาจรัฐให้มากขึ้นจะเป็นผลต่อการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน
การบัญญัติกฎหมายจำนวนมากในสังคมไทยให้ห้วงระยะเวลาปัจจุบันซึ่งเกิดขึ้นบนพื้นฐานที่ต้องการให้มีการใช้อำนาจรัฐหรือมีการตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรรัฐให้เกิดประสิทธิภาพ เฉพาะอย่างยิ่งการอ้างถึงสถานการณ์พิเศษบางอย่าง เช่น การก่อการร้าย อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เป็นต้น ได้ทำให้นำไปสู่การออกกฎหมายพิเศษจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการก่อการ้าย การฟอกเงินของอาชญากรรมข้ามชาติ แม้กระทั่งการกระทำความผิดโดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์
ในเบื้องต้นอาจจะทำให้ดูราวกับว่ากฎหมายต่างๆ เหล่านี้ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อให้หน่วยงานรัฐมีอำนาจและเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการเผชิญหน้ากับปัญหาในเรื่องต่างๆ ที่มีเงื่อนไขแวดล้อมแตกต่างไปจากเดิม และกฎหมายที่มีอยู่แต่เดิมก็ไม่เป็นการเพียงพอต่อการจัดการปัญหาจึงจำเป็นต้องมีการบัญญัติกฎหมายและรวมถึงการจัดตั้งองค์กรใหม่ๆ จำนวนมากขึ้น เช่น องค์กรอิสระ กรมสืบสวนคดีพิเศษ
แต่ในทางปฏิบัติจะพบว่าองค์กรของรัฐจำนวนไม่น้อยกลับทำหน้าที่ด้วยการใช้กฎหมายเหล่านี้เพื่อตอบสนองกับอำนาจในทางการเมือง โดยที่ไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามความมุ่งหวังในการจัดตั้งองค์กรขึ้น หน่วยงานพิเศษจำนวนมากจึงกลายเป็นมือที่สามของรัฐบาลในการจัดการกับบุคคลหรือฝักฝ่ายที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับตน มากกว่าการจัดการกับลักษณะของปัญหาที่มีความพิเศษ
การมุ่งออกกฎหมายต่างๆ จึงมีแนวโน้มไปสู่การสร้างปัจจัยพื้นฐานให้กับการใช้อำนาจรัฐแบบฉ้อฉลมากกว่าการจัดระเบียบของการใช้ดังที่ถูกคาดหวังกัน
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาจึงทำให้สามารถมองเห็นได้ว่าแท้จริงแล้วกฎหมายการชุมนุมสาธารณะจะแปรเปลี่ยนไปเป็นกฎหมายว่าด้วยการคุมม็อบในทางปฏิบัติ และพร้อมที่จะถูกนำไปใช้เพื่อลิดรอนสิทธิของประชาชนซึ่งใช้การชุมนุมสาธารณะเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องกับรัฐ
และทุกรัฐบาลก็สามารถที่จะใช้กฎหมายนี้ได้เฉกเช่นเดียวกับกฎหมายอำนาจนิยมฉบับต่างๆ ที่ถูกใช้มาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะโดยรัฐบาลชุดใดก็ตาม
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 28 เม.ย.54
ที่มา : ประชาไท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น