“เหตุที่ฝ่ายหนึ่งดึงเอาสถาบันมาใช้ในทางการเมือง เป็นเพราะตัวระบบตัวกลไกกฎหมายระดับหนึ่งมันเอื้อให้เป็นอย่างนั้น มันเอื้อให้ทำแบบนั้นได้ด้วย ฉะนั้นเพื่อที่จะทำให้เข้าสู่ระบบตามหลักจริงๆ จึงต้องมีการปฏิรูปกฎเกณฑ์ทางกฎหมายทั้งหลายทั้งปวงที่เกี่ยวพันกับพระมหากษัตริย์เพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ของรัฐตลอดไป เป็นการปฏิรูปเพื่อรักษาสถาบันให้สอดรับกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย...ข้อเสนออันนี้ในที่สุดแล้วหากทำให้เกิดการปฏิรูปรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์อย่างจริงจังจะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่พ้นจากการเมืองอย่างแท้จริง และจะไม่มีใครเอามากล่าวอ้างได้ อย่างที่กำลังต้องการกันอยู่”
ปรากฏการณ์ทหารตบเท้าปกป้องสถาบัน มาจนถึง กกต.เตรียมออกระเบียบห้ามนำมาเป็นประเด็นหาเสียง มิฉะนั้นมีสิทธิ์ถูกตัดสินยุบพรรค และอ้างว่าทั้งหมดนี้คือการปกป้องสถาบัน แต่ถ้าพิจารณาให้ดีแต่ละฝ่ายต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่ากำลังดึงสถาบันมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองของตัวเองอยู่หรือเปล่า
ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หนึ่งในกลุ่มนิติราษฎร์ที่เสนอประเด็นปฏิรูปมาตรา 112 ยังคงยืนยันว่านี่คือกระบวนการแก้ไขกฎหมายให้สอดรับกับระบอบประชาธิปไตย เพื่อดำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแอบอิงใช้เป็นแต้มต่อได้อีกต่อไป
หนักกว่ายุค ร.5อ.วรเจตน์ลำดับความเป็นมาของตัวบทกฎหมาย และการใช้บังคับที่มีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ โดยให้ข้อสังเกตว่าก่อน พ.ศ.2475 ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โทษยังไม่รุนแรงเท่าทุกวันนี้ และไม่ค่อยมีการใช้
"ครั้งแรกสุดที่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นลายลักษณ์อักษรในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 5 คือ พระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ.๑๑๘ เป็นเรื่องหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี ประมุขของรัฐหรือผู้ครองรัฐต่างประเทศ หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์สมัยนั้นเขาใช้คำว่าหมิ่นประมาทพระผู้เปนเจ้าซึ่งดำรงสยามรัฐมณฑล ตอนนั้นกำหนดโทษโดยไม่มีโทษขั้นต่ำ คือกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 1,500 บาท ต่อมาพอมีกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ ซึ่งถือว่าเป็นประมวลกฎหมายสมัยใหม่ฉบับแรกของประเทศไทย ซึ่งออกมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เช่นกัน ก็มีการเพิ่มอัตราโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกินกว่า 5000 บาท แต่ไม่มีโทษขั้นต่ำ”
“ตอนทำประมวลกฎหมายอาญาฉบับปัจจุบัน ซึ่งเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2500 ก็มีการกำหนดโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปีเช่นกัน สังเกตได้ว่าไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ หมายความว่าศาลจะลงโทษน้อยเพียงใดก็ได้”
“แต่พอเกิดเหตุการณ์ตุลา 2519 หลังจากยึดอำนาจ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินก็ออกคำสั่งมาแก้กฎหมายมาตรานี้ กำหนดโทษหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี ฉะนั้นโทษ 3-15 ปี จึงเริ่มเกิดขึ้นในปี 2519 ไม่ได้มีมาแต่แรก และก็เป็นครั้งแรกที่เริ่มกำหนดโทษขั้นต่ำ หมายความว่าถ้ากระทำความผิดจริง ศาลจะลงโทษต่ำกว่า 3 ปีไม่ได้ อย่างน้อยคือต้อง 3 ปีขึ้นไป เป็นโทษต่ำสุดที่ศาลจะลงได้ตามกฎหมาย ไม่เหมือนก่อนปี 2519 ที่ไม่กำหนดโทษขั้นต่ำ ศาลจะลงโทษเท่าไหร่ก็ได้ 1 เดือนก็ได้"
"ประเด็นเรื่องโทษมันมีวิวัฒนาการ เราจึงบอกว่าโทษหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยกลับรุนแรงกว่าในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสียอีก ซึ่งไม่สมเหตุสมผล วิวัฒนาการของโทษเป็นอย่างนี้”
แล้วตอนที่เริ่มใช้โทษใหม่มีคดีไหม
“หลัง 2519 ออกกฎหมายนี้มาก็เกิดคดี จริงๆ คดีอาจจะเกิดขึ้นก่อน แต่ตัดสินปี 2521 ผมก็ไม่แน่ใจว่าโทษเท่าไหร่ แต่คล้ายๆ กับว่ามีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี เขาไม่ยืนและบอกว่าเพลงอะไรฟังไม่รู้เรื่อง ศาลพิพากษาว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ซึ่งความจริงเป็นการกระทำต่อสัญลักษณ์ ไม่ได้เป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ดังนั้นในการตีความของศาล ผมเห็นว่าศาลขยายความถ้อยคำออกไปมากๆ จนเกินขอบเขตของพลังแห่งถ้อยคำ และก้าวเข้าสู่แดนของการใช้กฎหมายแบบเทียบเคียง ซึ่งต้องห้ามในกฎหมายอาญา คือการทำต่อสัญลักษณ์ อาจจะเป็นเรื่องไม่เคารพสัญลักษณ์ แต่ก็ถูกตีความว่าเข้ามาตรา 112"
เมื่อก่อนไม่ได้ตีความถึงขนาดนี้หรือ
"มันไม่ค่อยมีตัวอย่างคดีขึ้นสู่ศาล แต่ผมเห็นว่ากรณีนี้ไม่ได้เป็นการพูดตรงๆ เป็นการกระทำต่อสัญลักษณ์หรือมีลักษณะไม่เคารพ มากกว่าที่จะเป็นหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย"
อ.วรเจตน์บอกว่ากฎหมายเดิมยังแยกโทษหมิ่นประมาทกับดูหมิ่นออกจากกัน ไม่ได้กำหนดโทษเท่ากัน
"ตัวบทเรื่องหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ ที่ใช้มาจนถึงสิ้นปี พ.ศ.2499 อยู่ในมาตรา 98 กำหนดความผิดฐาน “ทะนงองอาจแสดงความอาฆาตมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว...” ไว้ฐานหนึ่ง และความผิดฐาน “ทำให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายเพื่อจะให้ขาดความจงรักภักดีหรือดูหมิ่นต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว...” ในมาตรา ๑๐๔ อีกฐานหนึ่ง คือเรื่องแสดงความอาฆาตมาดร้ายหรือหมิ่นประมาท กับดูหมิ่น แยกออกจากกัน โดยกรณีดูหมิ่นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี่ โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 1,000 บาท”
หลังปี 2475 กฎหมายยังเปิดช่องให้วิจารณ์ได้ ถ้าเป็นประโยชน์สาธารณะ
“หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมีการยกเลิกมาตรา 104 และบัญญัติมาตรา 104 ขึ้นใหม่ว่าถ้ากระทำให้เกิดความดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์ รัฐบาล หรือข้าราชการแผ่นดินในหมู่ประชาชน ก็ให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่ถ้าการกระทำนั้นทำไปภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตหรือติชมตามปกติวิสัยในบรรดาการกระทำของรัฐบาลหรือราชการแผ่นดิน ก็ไม่ให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำความผิด”
“ประมาณว่ามีตัวบทอีกอันหนึ่งเพิ่มขึ้นมาและกำหนดเหตุยกเว้นความผิดเอาไว้ ซึ่งเท่ากับว่าหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง อุดมการณ์ประชาธิปไตยเข้ามาและเปิดให้วิจารณ์ได้ แต่เรื่องนี้ก็ตีความได้เหมือนกันว่าเขาไม่ได้เว้นการวิจารณ์พระมหากษัตริย์เอาไว้ตรงๆ แต่ถ้าเป็นการวิจารณ์เรื่องราชการแผ่นดินที่มันเกี่ยวพันกับพระมหากษัตริย์ ก็เข้าเหตุที่ไม่ถือว่าเป็นการกระทำความผิดฐานดูหมิ่นนี้ได้"
"ตัวบทนี้เริ่มในปี 2477 ผู้ใดวิพากษ์วิจารณ์ติชมภายใต้ความมุ่งหมายรัฐธรรมนูญถือว่าไม่มีความผิด เพียงแต่ข้อยกเว้นความผิดไม่ได้เขียนถึงตัวพระมหากษัตริย์โดยตรง ต้องตีความในแง่ที่เป็นราชการแผ่นดิน เพราะต้องถือหลักว่า The King can do no wrong พระมหากษัตริย์ไม่ได้เกี่ยวพันอะไรอยู่แล้ว เว้นว่ามีเรื่องเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ซึ่งอาจจะไปกระทบกับพระมหากษัตริย์ก็ต้องถือว่าไม่ได้เป็นความผิดฐานดูหมิ่นด้วย ต้องถือว่าวิจารณ์ได้"
จากนั้นไม่นานตัวบทนี้ก็ถูกยกเลิก
"ประมวลกฎหมายอาญาของเราทำครั้งใหญ่ 2 ครั้ง ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ร.ศ.๑๒๗ ใช้บังคับตั้งแต่ พ.ศ.2451 ใช้มาจนถึงสิ้นปี พ.ศ.2499 ครั้งที่ 2 ก็คือประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้บังคับในปัจจุบัน ประกาศเมื่อปี พ.ศ. 2499 ใช้บังคับตั้งแต่ พ.ศ.2500 จนถึงปัจจุบันนี้ ตั้งแต่ปี 2500 ตัวบทที่ยกเว้นความผิดนี้ก็ไม่มีแล้ว”
“เรื่องยกเว้นความผิดมันมีในกรณีหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา คือ ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลย่อมกระทำ หรือเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตน หรือส่วนได้เสียตามทำนองคลองธรรม พวกนี้ไม่เป็นความผิด แล้วก็ยังมีกรณียกเว้นโทษอีก ถ้าพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง”
“แต่ถ้าการพูดความจริงที่หมิ่นประมาทนั้นเป็นการพูดถึงเรื่องส่วนตัวและการพิสูจน์ไม่เป็นประโยชน์กับประชาขน เขาห้ามพิสูจน์ อันนี้คือการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา กฎหมายกำหนดทั้งเหตุยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษเอาไว้ แล้วหมิ่นประมาทกับดูหมิ่นก็แยกกัน ดูหมิ่นเป็นลหุโทษ หมิ่นประมาทเป็นความผิดที่ไม่ใช่ลหุโทษ"
แต่มาตรา 112 รวมทุกอย่างไว้ด้วยกัน ทั้งหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย
"การแสดงความอาฆาตมาดร้ายหากเป็นกรณีบุคคลธรรมดาก็คือการข่มขู่ให้เกิดความตกใจกลัว ซึ่งเป็นความผิดเหมือนกัน แต่โทษไม่เยอะ แต่มาตรา 112 เอาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย มาไว้ด้วยกัน และศาลไม่ยอมให้พิสูจน์เหตุยกเว้นความผิด คือศาลบอกว่าวิพากษ์วิจารณ์ติชมก็ไม่ได้ เหตุยกเว้นความผิดที่ใช้ในความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาเอามาใช้เป็นเหตุยกเว้นความผิดในมาตรา 112 ไม่ได้ เพราะฉะนั้นโดยการที่มาตรา 112 โทษมันสูง รวมเอาองค์ประกอบหลายอย่างไว้ในมาตราเดียวกัน ไม่ยอมให้มีเหตุยกเว้นความผิด ไม่ยอมให้มีเหตุยกเว้นโทษ พร้อมๆ กับเป็นความผิดอยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐ ซึ่งใครๆ ก็สามารถไปแจ้งความดำเนินคดีได้ มันจึงทำให้ลักษณะของมาตรา 112 เป็นอะไรที่พิเศษมากๆ ในระบบของเรา”
ย้อนไปสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กฎหมายตัวนี้ก็ดูเหมือนแทบไม่ได้ใช้ เพราะเคยอ่านเจอว่าก่อน 2475 หนังสือพิมพ์ก็วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งก็คือรัฐบาลของรัชกาลที่ 7
"วิจารณ์รัฐบาลก็วิจารณ์พระมหากษัตริย์นั่นแหละ สมัย ร.5 ร.6 ร.7 เพราะตอนนั้นรัฐกับกษัตริย์เป็นอันเดียวกัน"
ก็ยังมีคนเขียนวิจารณ์ เช่น ก.ศ.ร.กุหลาบ
"สมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงเขียนตอบข้อวิจารณ์ต่างๆ ด้วยซ้ำไป มันมาอ่อนไหวมากในช่วงหลังนี่แหละ ตอนปี 2519”
วิธีคิดในการตีความ“เดิมทีมันก็อาจจะไม่ค่อยมีปัญหามากนัก หรือไม่ค่อยมีการใช้กันเท่าไหร่ มีการใช้ในบางช่วงบางเวลา อย่างกรณีคุณวีระ มุสิกพงศ์ ซึ่งกรณีนั้นผมก็ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาล เพราะเป็นการพูดทั่วๆ ไปเปรียบเทียบชีวิตคน ไม่ได้มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายอะไร เรื่องนี้ก็อยู่ที่ศาลตีความตัวบท ผมถึงบอกว่าปัญหาเรื่องมาตรา 112 มันไม่ใช่เป็นปัญหาแค่ตัวบท แต่เป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ในการตีความ วิธีคิด ความรู้ความเข้าใจในระบอบการปกครองของผู้พิพากษา ส่งผลอย่างยิ่งต่อการให้ความหมายหรือการตีความถ้อยคำ อันนี้ต้องแก้วิธีคิด ทำให้เข้าใจว่านี่เป็นตัวบทกฎหมายในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ตัวบทกฎหมายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ฉะนั้นการให้ความหมาย การดูบริบทของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายจะต่างกัน"
"สภาพของปัญหามาตรา 112 มันเป็นแบบนี้ หนึ่งคือโทษสูง สองคือไม่มีการแยกแยะระหว่างพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการ ออกจากกัน ขณะที่โทษปลงพระชนม์ หรือพยายามปลงพระชนม์ จะแยกกัน ถ้าเป็นพระมหากษัตริย์จะอยู่ในมาตราหนึ่ง ถ้าเป็นพระราชินี รัชทายาท จะอยู่อีกมาตราหนึ่ง แต่พอถึงหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย ทั้ง 4 ตำแหน่งนี้อยู่ในมาตราเดียวกัน"
"มันมีปัญหาเรื่องของการตีความการดูหมิ่นด้วยว่าจะตีแค่ไหน และอย่างไรเรียกว่าดูหมิ่น ซึ่งความจริงถ้าตีความเรื่องนี้เหมือนกับตัวบทเรื่องหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นบุคคลธรรมดาก็จบ เพราะมันเป็นคำในกฎหมายอาญาเหมือนกัน แล้วกฎหมายใช้คำเดียวกัน คนธรรมดาถ้าเราไปพูดในทางทำให้เขาเสื่อมเสียชื่อเสียงเป็นหมิ่นประมาท กรณีพระมหากษัตริย์ก็ต้องเป็นแบบนั้น ดูหมิ่นคนธรรมดาเป็นแบบไหน ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ก็ต้องเป็นแบบนั้น แต่ถ้าเราไปอ่านคำพิพากษาจะเห็นว่าในเชิงการตีความในศาลคล้ายๆ กับว่าจะให้ความหมายเฉพาะลงไป ในคำว่าดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์”
“ในทางตำราก็มีความพยายามอธิบายให้มันพิเศษ โดยเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 ที่ว่าองค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ซึ่งการอธิบายแบบนี้มีข้อบกพร่อง 2 ประการ คือ หนึ่ง มาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญกำหนดเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น ไม่รวมพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ การให้ความหมายดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายตามมาตรา 112 โดยโยงไปหารัฐธรรมนูญมาตรา 8 กับทุกตำแหน่ง จึงไม่ถูกต้อง”
“และสำคัญกว่านั้นอีก คือ สอง บทบัญญัติมาตรา 8 มีขึ้นเพื่อแสดงว่าพระมหากษัตริย์ต้องอยู่พ้นไปจากการเมือง จึงเป็นที่เคารพสักการะ ไม่อาจนำใช้ขยายความความหมายคำว่าหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายได้ เพราะถ้อยคำดังกล่าวเป็นถ้อยคำเดียวกับกรณีหมิ่นประมาท ดูหมิ่นบุคคลธรรมดา มาตรา 112 ไม่ได้กำหนดถ้อยคำเฉพาะขึ้น”
“คือการแก้ไขปัญหานี้ ถ้าในระดับการตีความทำให้เป็นธรรมดา มันก็จบในระดับหนึ่ง ถ้าเรายอมรับกันก็โอเค ไม่ควรมีคนมาดูหมิ่นเหยียดหยามเรา พระมหากษัตริย์ก็ควรได้รับการคุ้มครองเช่นกัน ส่วนโทษจะสูงขึ้นบ้าง เพราะพระองค์ดำรงตำแหน่งเป็นประมุขของรัฐ อันนี้ก็คุยกันได้ แต่นี่มันเป็นปัญหาว่า เมื่อตัวบทถูกใช้โดยคนซึ่งมีอำนาจในการตีความ การตีความตรงนี้มันมีความไม่แน่นอนสูง เวลาพูดถึงพระมหากษัตริย์ทุกคนจึงเกร็งหมด ไม่รู้ว่าพูดได้แค่ไหนอย่างไร แต่ถ้ามันชัดก็โอเค ถ้าลักษณะการให้ความหมาย ดูหมิ่น หมิ่นประมาท ตีความเป็นแบบเดียวกับคนธรรมดา มันก็จะลดทอนบรรเทาปัญหานี้ลง”
ปัญหาการตีความก็คล้ายๆ กรณีจักรภพ เพ็ญแข แม้คดีนี้ศาลยังไม่ตัดสิน แต่เป็นคำพูดที่ไม่มีอะไรเลย นักวิชาการก็ใช้คำนี้กันทั่ว แต่จักรภพก็ถูกกล่าวหา
"หรือแม้แต่กรณีเสื้อแดง กรณีชุมนุมวันที่ 10 เมษา แล้วมีการพูดปราศรัยบนเวที ก็ยังมีความพยายามบอกว่านี่มันเข้ามาตรา 112 ผมไปดูคลิปบางคนที่ถูกกล่าวหา ดูแล้ว ผมก็ยังงงๆ ว่ามันเข้าองค์ประกอบมาตรา 112 ตรงไหน ปัญหาคือถ้าตีความแบบนี้ข้างหน้า ผมจะบอกให้นะว่ามันจะถูกใช้แบบสุดๆ และมันจะยิ่งบีบ ในทางกลับกันมันจะเป็นผลลบอย่างรุนแรง มันจะทำให้ต่อไปคนจะใช้สัญลักษณ์มากขึ้นเวลาพูดถึงสถาบัน ถามว่าคุณจะคุมการใช้สัญลักษณ์ได้เหรอ ก็เขาประดิษฐ์คำขึ้นมา ต่อให้คุณเขียนกฎหมายห้ามว่าถ้าพูดคำคำนี้หมายถึงพระมหากษัตริย์ พระราชินี ดังนั้นห้ามพูด สมมติเป็นอย่างนี้นะ ถามว่าจะห้ามอย่างไรถ้าเขาเปลี่ยนคำไปเรื่อย เปลี่ยนภาษาไปเรื่อย ถ้าเขาใช้สัญลักษณ์แบบกระพริบตากัน อย่างนี้คุณจะทำอย่างไร พอวันหนึ่งถ้าคุณไปกดแบบนี้กฎหมายมันเอาไม่อยู่หรอก และถ้าเป็นอย่างนั้นจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงความกดขี่ทันทีเลย มันจะเข้าสู่ความเป็นรูปของรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จไปเลย เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาเรื่องนี้มันจึงไม่ใช่แก้ปัญหาในทางกฎหมายโดยคงโทษที่สูงๆ แบบนี้เอาไว้ หรือว่าเพิ่มโทษอีก มีบางคนเสนอไอเดียเพิ่มโทษเป็น 20 ปีก็มี ถามว่าแก้ปัญหาได้หรือ"
มาตรา 112 ยังมีปัญหาที่ใครก็แจ้งความได้
“ปัญหาที่มันหนักขึ้นก็คือกรณีบุคคลธรรมดา คนที่ถูกหมิ่นประมาทเขาเป็นคนแจ้งความ แต่กรณีพระมหากษัตริย์ ใครๆ ก็แจ้งความได้ แจ้งที่ไหนก็ได้ ทำผิดที่หนึ่งหากทำโดยการโฆษณาไปแจ้งอีกจังหวัดหนึ่งยังได้เลย”
“ฉะนั้น ถ้าจะมาบอกว่ามาตรา 112 ไม่มีปัญหาหรอก มันไม่จริง มันมีทั้งในทางหลักการและทางปฏิบัติ เพราะฉะนั้นถ้าเราเห็นว่ามีปัญหาก็ต้องมาคิดแก้ คนที่มองว่าแก้หรือไปแตะแล้วเป็นเรื่องกระทบถึงสถาบัน ถ้ายังไม่ได้ฟังข้อเสนอ แล้วด่วนสรุปเช่นนั้น มันไม่มีเหตุผล"
ไม่ได้เลิกแค่ปรับปรุงอ.วรเจตน์ย้ำว่า แนวทางที่กลุ่มนิติราษฎร์เสนอคือยังคงมาตรา 112 แต่ต้องแก้ไขปรับปรุง
"เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมเราเสนอแบบนี้ก่อนคือ หนึ่ง ให้เลิก 112 ก่อนหรือเอา 112 ออกจากความผิดในหมวดความมั่นคงของรัฐก่อน นี่เป็นประเด็นที่ค่อนข้างใหญ่ เพราะเราเห็นว่าความผิดเรื่องหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ไม่ใช่เรื่องความมั่นคง เรื่องความมั่นคงคือเรื่องที่กระทบต่อการดำรงอยู่ของราชอาณาจักร โอเคถ้าเป็นเรื่องการปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ ประมุขของรัฐ อย่างนี้พอบอกได้ว่าเป็นเรื่องกระทบความมั่นคง แต่กรณีของการดูหมิ่น คือการพูดจาไปทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ กำหนดเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ มันไกลไป เพราะเราต้องเข้าใจว่าสมัยใหม่เราแยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐออกจากกัน”
“นี่คือประเด็นแรกก่อนในทางหลักการ เมื่อสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รัฐก็คือกษัตริย์ กษัตริย์ก็คือรัฐ เรียกว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่รัฐในสมัยใหม่มีการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง เพราะตัวรัฐนั้นมีความเป็นตัวตนในทางกฎหมายแยกออกจากองค์พระมหากษัตริย์ องค์พระมหากษัตริย์พูดง่ายๆ ว่าเป็นองค์กรของรัฐ เป็นประมุขของรัฐ เป็นคนซึ่งกระทำการแทนรัฐ ในด้านต่างๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ใช่อันหนึ่งอันเดียวกับรัฐแล้ว เพราะฉะนั้นการกระทำต่อตัวองค์กรของรัฐอย่างตำแหน่งประมุขของรัฐ จึงไม่ใช่ทุกกรณีที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคง ในหลายๆ ประเทศในโลกนี้การหมิ่นประมาทประธานาธิบดีซึ่งเป็นประมุขของรัฐเหมือนกันหรือแม้แต่หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เขาก็ไม่ถือเป็นความมั่นคงของรัฐ เพราะฉะนั้นการเอาความผิดเรื่องนี้มาไว้ในหมวดความมั่นคงของรัฐจึงไม่ถูกต้องตามระบบ หรือหลักคิดในแง่ของการแยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐออกจากกันตามแนวคิดของรัฐสมัยใหม่"
"อีกอย่างหนึ่งก็คือตัวบท 112 ที่ใช้ในปัจจุบัน มันมีฐานมาจากคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ในเชิงสัญลักษณ์ 112 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมันย้อนกลับไปหาการรัฐประหารในปี 2519 มันเป็นผลพวงเกิดขึ้นตามมาจากเหตุการณ์ล้อมฆ่านักศึกษาในปี 2519 ที่มาของตัวบท 112 มาในลักษณะแบบนั้น เพราะฉะนั้นในเบื้องต้นต้องเอาอันนี้ออกจากหมวดความมั่นคงก่อน เพื่อสร้างอุดมการณ์ใหม่ในแง่ของการตีความ 112 ขึ้นมา ว่า 112 อันใหม่ที่เราจะทำขึ้นต่อไปจะต้องสอดรับกับหลักประชาธิปไตย”
“อันนี้คือข้อเสนอเบื้องต้น คือเลิกเพื่อบัญญัติใหม่ เราไม่ได้เลิกไปเลย คนเข้าใจผิดว่าเลิกไปเลย เราเลิกเพื่อบัญญัติใหม่ มีบางคนเสนอให้เลิกไปเลยไม่มีความผิดฐานนี้ เพราะถือว่าถ้าใครไปหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ก็ได้รับโทษเหมือนกัน โทษเท่ากับบุคลธรรมดา มันก็เป็นไอเดียอันหนึ่งแต่ถ้าจะทำแบบนั้นต้องไปปรับเรื่องการดูหมิ่นศาล ดูหมิ่นผู้พิพากษา ดูหมิ่นเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะถ้าไปเลิกเฉยๆ แต่ฐานความผิดเหล่านั้นยังมีอยู่ ก็จะไม่สมเหตุสมผลในเชิงตรรกโครงสร้างของกฎหมาย เพราะเราถือว่ากฎหมายนี้คุ้มครองบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรของรัฐอยู่ เหมือนกับเราคุ้มครองศาล ผู้พิพากษา เจ้าพนักงาน ใครดูหมิ่นได้รับโทษที่มากกว่าบุคคลธรรมดา เพราะฉะนั้นผมจึงเห็นว่าการเลิกเป็นการเลิกเพื่อไปเขียนใหม่ให้ถูกต้องตามหลักการ"
"อันที่สองก็คือว่าถ้าเราเลิก 112 เพื่อไปบัญญัติใหม่ในอีกหมวดหนึ่งซึ่งอยู่นอกเรื่องความมั่นคง เป็นหมวดว่าด้วยการคุ้มครองพระเกียรติพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือเกียรติยศผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไปอยู่ในอีกหมวดหนึ่งแล้ว เราก็เห็นว่าเพื่อให้รับกับโครงสร้าง จึงควรแยกตำแหน่งพระมหากษัตริย์กับตำแหน่งอื่นออกจากกัน คือแยกตำแหน่งพระมหากษัตริย์กับพระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ออกจากกัน ถ้าจะมีการคุ้มครอง 4 ตำแหน่งนี้ ต้องคุ้มครองแยกกัน”
“เราก็เลยเสนออย่างนี้ว่าถ้าเป็นกรณีพระมหากษัตริย์โทษก็ควรจะลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท แต่ไม่กำหนดโทษขั้นต่ำ หมายความว่าในกรณีที่เป็นความผิดจริงก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลในการลงโทษว่าจำคุกหรือไม่ก็ได้ หรืออาจจะลงโทษแค่ปรับก็ได้ ถ้าจำคุกจะจำคุกให้น้อยแค่ไหนก็ได้ ซึ่งเป็นการหันกลับไปหาตัวบทที่เคยมีมาแต่เดิมสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั่นแหละ ในขณะที่การหมิ่นประมาทพระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เราก็เสนอว่าควรลงโทษไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท ก็แยกกัน”
“ข้อเสนออันนี้ผมเรียนว่าเป็นเรื่องซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ดีเบตกันได้แน่ๆ เพราะตอนที่ทำเรื่องนี้ในกลุ่มเราก็ถกเถียงกัน รวมถึงเรื่องโทษด้วย บางคนก็มีความรู้สึกว่าโทษจำคุก 3 ปียังแรงไป เรายังถกเถียงกันว่าควรจะคุ้มครองตำแหน่งราชินี รัชทายาท เป็นพิเศษหรือไม่ หรือว่าให้เป็นเหมือนกรณีหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา แต่ที่สุดเราก็เห็นว่าเนื่องจากตำแหน่งเหล่านี้สัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ และในความผิดอาญาก็มีการกำหนดแยกออกเป็นสองส่วน เราก็เลยเสนอมาเป็นตุ๊กตาเพื่อดีเบทกัน"
ขัดรัฐธรรมนูญ?“เรื่องโทษเราเห็นว่าต้องกำหนดให้พอสมควรแก่เหตุ ในส่วนตัวผมเห็นอย่างนี้นะ ผมเห็นว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในปัจจุบันถ้าว่ากันถึงที่สุดในทางหลักรัฐธรรมนูญน่าจะขัดรัฐธรรมนูญ ทำไมผมถึงเห็นว่าขัด ประเด็น 112 ที่ผมเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญยังไม่มีการหยิบเรื่องนี้ขึ้นต่อสู้ในศาลเลยนะ ทนายความของคนที่สู้คดี 112 ไม่เคยหยิบประเด็นว่า 112 ขัดรัฐธรรมนูญขึ้นสู้ในศาล"
“ผมเห็นว่าที่ขัดรัฐธรรมนูญมองได้สองอย่างทั้งอัตราโทษและที่มาของกฎหมาย ประเด็นที่ขัดอยู่ตรงที่ว่า โทษที่กำหนดใน 112 มันไม่สอดคล้องกับหลักความพอสมควรแก่เหตุ ซึ่งเป็นหลักรัฐธรรมนูญ หลักนี้เริ่มอยู่ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา รัฐธรรมนูญ 2540 มีการนำเอาหลักกฎหมายต่างประเทศเข้ามาบรรจุอยู่ในมาตรา 29 เรื่องการตรากฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลจะกระทำให้เกินสมควรกว่าเหตุไม่ได้ ฉะนั้น การกำหนดโทษในทางอาญาก็ต้องอยู่ภายใต้หลักการแบบนี้เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น สมมติเรากำหนดโทษฝ่าฝืนกฎจราจรหรือโทษอื่นๆ ที่เป็นความผิดเล็กๆ น้อยๆ ใครทำความผิดฐานลักทรัพย์เล็กๆ น้อยๆ ลงโทษประหารชีวิต แล้วสภาดันผ่านกฎหมายนี้ เป็นกฎหมายอาญา ถามว่าโทษที่กำหนดแบบนี้สอดรับกับรัฐธรรมนูญไหม ผมเห็นว่ามันขัดรัฐธรรมนูญ"
"คำถามที่จะต้องคิดจะต้องถามกันก็คือ ในการออกกฎหมายสภาจะกำหนดโทษอย่างไรก็ได้ใช่หรือไม่ อย่างเช่นหมิ่นประมาทแล้วมีโทษจำคุก 50 ปี 100 ปี เขาไม่มี limit เลยหรือในการกำหนดโทษ ดุลยพินิจการตรากฎหมายของเขาไม่มี limit หรือ คำตอบคือมันต้องมี limit เพราะถ้ามันไม่มี limit มันขัดหลักความพอสมควรแก่เหตุ เพราะฉะนั้นโดยไอเดียเรื่องหลักความพอสมควรแก่เหตุ ซึ่งก็เถียงกันว่าแค่ไหนล่ะคุณถึงจะไม่พอสมควรแก่เหตุ ผมบอกว่ามันก็ดูไม่ยากหรอก ก็ดูเปรียบเทียบกับความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา และก็ดูอัตราโทษ วันนี้ความผิดฐานหมิ่นประมาทคนธรรมดาโทษจำคุกปีเดียว หรือปรับไม่เกิน 20000 บาท ไม่มีโทษขั้นต่ำ หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์โทษสูงสุด 15 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับบุคคลธรรมดา แล้วถ้าไปเปรียบเทียบกับดูหมิ่นบุคคลธรรมดาหรือทำให้ผู้อื่นตกใจกลัว ยิ่งหนักใหญ่ เพราะโทษดูหมิ่นบุคคลธรรมดาหรือทำให้ผู้อื่นตกใจกลัว คือ จำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท ลองเทียบดูว่ามันต่างกันกี่สิบเท่า ถามว่ามันพอสมควรแก่เหตุไหมล่ะ ถ้าเราเห็นว่านี่ไม่พอสมควรแก่เหตุ ก็แปลว่าตัวโทษที่กำหนดเอาไว้มันไม่ถูก มันขัดรัฐธรรมนูญแน่ๆ ไม่ต้องพูดถึงว่าโทษที่กำหนดอย่างนี้เกิดขึ้นจากรัฐประหารปี 2519"
บทลงโทษยังสูงกว่าคดีอาญาร้ายแรง
“โทษทำร้ายร่างกายจนผู้ถูกทำร้ายได้รับอันตรายสาหัส คือจำคุก 6 เดือนถึง 10 ปี โทษกรรโชกทรัพย์ จำคุก 5 ปี วางเพลิงเผาทรัพย์ จำคุก 6 เดือน ถึง 7 ปี เป็นต้น ปัญหาการดำรงไว้ซึ่งพระเกียรติพระมหากษัตริย์จะใช้โทษอย่างนี้หรือ พูดง่ายๆ การดำรงไว้ซึ่งพระเกียรติของพระมหากษัตริย์จะใช้พระเดชในทางกฎหมายยิ่งกว่าพระคุณในทางสังคมหรือ เพราะฉะนั้นในแง่นี้ผมจึงบอกว่ามันควรจะมีการหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาในคดีได้แล้ว ทนายความที่สู้คดีนี้ต้องสู้เลยว่า 112 ในแง่ของตัวโทษมันขัดรัฐธรรมนูญ มันอาจจะไม่ขัดรัฐธรรมนูญปี 2534 ปี 2521 ที่ย้อนกลับไปนั้นเพราะหลักเรื่องความพอสมควรแก่เหตุไม่ปรากฏชัด แต่รัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 มันมีหลักการนี้ปรากฏอยู่แล้ว และรัฐธรรมนูญ 2550 ยังเขียนเรื่องหลักนิติธรรมด้วย หรือความเป็นนิติรัฐในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหลักทั่วไป”
“ตัวกฎหมายต้องอนุวัตรตามหลักนี้เพราะหลักนี้เป็นหลักมูลฐานในการปกครองบ้านเมือง มันเป็นหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติที่ลงไปอยู่ในรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องเปลี่ยนความคิดที่ว่าออกกฎหมายอย่างไรก็ได้ และผู้พิพากษาหรือศาลต้องเปลี่ยนความคิดที่ว่าถ้าออกกฎหมายอะไรมาต้องทำตามแบบนั้นหมด มันต้องดูกฎหมายนั้นด้วยว่าถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือเปล่า ซึ่งประเด็นนี้คนที่จะชี้คือศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องวินิจฉัย แต่แน่นอนว่าระบบอย่างนี้ถ้า function มันจะทำงาน การประกันสิทธิต่างๆ มันจะดำเนินไป มันจะสมเหตุสมผล ก็ขึ้นอยู่กับองค์กรศาลรัฐธรรมนูญด้วย ว่าเราไว้เนื้อเชื่อใจศาลรัฐธรรมนูญได้แค่ไหน ศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันเราจะไว้เนื้อเชื่อใจได้แค่ไหน ก็ต้องไปดูงานที่เขาทำมา ก็ลองประเมินดู ผมพูดมาเยอะแล้ว ศาลจะบอกว่าขัดหรือไม่ขัดก็ต้องให้เหตุผล ถ้าศาลบอกว่าไม่ขัดก็แปลว่าศาลบอกว่าจำคุก 15 ปีได้ หรือศาลอาจจะบอกว่าเท่าไหร่ก็ได้ ซึ่งผมก็มีสิทธิที่จะบอกว่ามันไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ แต่อันนี้เป็นการสู้ในทางกฎหมาย"
"เวลาเราพูดเรื่องเหตุผลมันมีอยู่สองเรื่อง อีกเรื่องก็คือที่มามันมาจากรัฐประหาร เรายังยอมรับคำสั่งของรัฐประหารที่เป็นกฎหมายใช้บังคับต่อเนื่องมาหลายสิบปีแล้ว กับสองมันเกินสมควรแก่เหตุ บทบัญญัติ 112 ไม่ได้มาจากสภาฯที่มาจากการเลือกตั้งแล้วมาแก้ คือถ้าเป็นสภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและมีการเสนอแก้ตอนนั้น จากจำคุกไม่เกิน 7 ปี เป็นลงโทษจำคุก 3 ปีถึง 15 ปี มันก็ยังพอบอกได้ว่ามีฐานความชอบธรรมผ่านการเลือกตั้งมาจากประชาชน แม้ผมเห็นว่าถ้าสภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้งออกกฎหมายอย่างนี้ก็ขัดรัฐธรรมนูญ แต่มันก็มาจากการเลือกตั้ง ประชาชนจะตรวจสอบเอง แล้วศาลรัฐธรรมนูญก็จะตรวจสอบ แต่นี่มันยิ่งหนักเป็นสองเท่าคือนอกจากตัวบทจะผิดอย่างรุนแรงแล้วคนที่ออกกฎหมายยังไม่มีฐานความชอบธรรมด้วย เรื่องโทษเราจึงเสนอกำหนดโทษให้สมควรแก่เหตุ เพราะฉะนั้นที่ใครบอกว่านิติราษฎร์ ให้เลิก 112 ไปเลยจึงเป็นการกล่าวหาที่ไม่เข้าใจหรือไม่ดูให้ดีว่าเราเสนออะไรกันแน่"
ยกเว้นติชมสุจริต"อันถัดไปที่เราเสนอก็คือเราเห็นว่าควรจะมีเหตุยกเว้นความผิด ถ้าการกระทำนั้นเข้าองค์ประกอบว่าเป็นเรื่องหมิ่นประมาททำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง เป็นการดูหมิ่น ถ้าเขาติชมแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ในทางวิชาการหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะก็ไม่มีความผิด”
“อันนี้ก็เขียนล้อมาจากหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดานั่นแหละ ว่าถ้าทำไปด้วยวัตถุประสงค์อย่างนี้ก็ไม่ควรมีความผิด ทำอย่างนี้เพื่อที่จะทำให้ในหลายกรณีสามารถที่จะวิพากษ์วิจารณ์ติชมได้ ซึ่งอันนี้ก็เป็นการตอบสนองกระแสพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งพระองค์มีกระแสพระราชดำรัสว่าก็วิพากษ์วิจารณ์ได้"
"การมีตัวบทอันนี้ก็คือวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความสุจริต การวิพากษ์วิจารณ์นั้นทำไปเพื่อธำรงระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เขาพิสูจน์ได้ว่าเป็นอย่างนั้นจริงเขาก็ไม่ควรจะมีความผิด”
“นี่ผมเสนอคำใหม่ขึ้นมาคำหนึ่งด้วย ผมเสนอให้พูดถึงเรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ผมเพิ่มคำว่าภายใต้รัฐธรรมนูญลงไป เพราะเดี๋ยวเราจะพูดถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และก็มีเสียงว่าพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์แค่ไหนอย่างไร ก็เอาให้ชัดว่าเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ให้ชัดไปเลย ไม่ใช่เป็นประมุขเฉยๆ ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ"
"อีกประเด็นคือเรื่องเหตุยกเว้นโทษ หมายความว่าถ้าเข้าตามข้อเสนอของเรา การกระทำอันนั้นจะไม่เป็นความผิดเลยนะ แต่ถ้ามันไม่เข้าเหตุเพราะติชมเพื่อธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย และมีความผิด เราก็เสนอต่อไปว่าให้มาดูว่ามีเหตุยกเว้นโทษหรือเปล่า เหตุยกเว้นโทษก็คือความผิดที่เขาทำมา ถ้าเขาพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นความจริงเขาไม่ต้องรับโทษ ที่เขาพูดมาที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น ถ้ามันเป็นความจริงเขาไม่ต้องรับโทษ แม้เป็นความผิดเพราะมันไม่เข้าเหตุยกเว้นความผิด แต่เขาไม่ต้องรับโทษเพราะเข้าเหตุยกเว้นโทษ อันนี้ก็เลียนมาจากหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาเหมือนกัน”
“แต่เราก็บอกว่าถ้าข้อที่ถูกกล่าวหาเป็นความผิดนั้น เป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของผู้สำเร็จราชการ เป็นเรื่องส่วนตัวโดยแท้ของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการ และไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน อันนี้ห้ามพิสูจน์ และคนพูดต้องรับโทษ"
เช่นเดียวกับกับบุคคลทั่วไป
"เหมือนกับกรณีบุคคลทั่วไป ลักษณะแบบเดียวกัน ถ้าเรื่องที่เขาพูดมามันจริง ถ้าเขาพิสูจน์ว่าจริง เขาไม่ต้องรับโทษ แต่ถ้าข้อที่เขาจะพิสูจน์นั้นเป็นเรื่องส่วนพระองค์อย่างนี้เราไม่ควรให้พิสูจน์ ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวแท้ๆ มันไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน ก็ไม่ให้พิสูจน์ แต่ถ้าเรื่องความเป็นอยู่ส่วนตัวและการพิสูจน์นั้นมันเป็นประโยชน์กับประชาชน พิสูจน์ได้"
ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าใครจะไปยืนวิพากษ์วิจารณ์ตะโกนด่าได้
"ไม่ได้อยู่ดี เพราะฉะนั้นคนที่บอกว่าพวกที่จะเลิก 112 เป็นพวกล้มเจ้า ก็มีพวกที่ dramatize อย่างนี้ เขาต้องคิดให้ดี เขาต้องศึกษาและเขาต้องดูเหตุผล เวลาจะแย้งมันต้องแย้งด้วยเหตุผลไม่ใช่ว่าเอาอารมณ์ความรู้สึก"
แก้ไขเพื่อรักษาสถาบันปัญหาปัจจุบันมันไม่ใช่อยู่ๆ ใครอยากจะไปวิจารณ์สถาบัน แต่มันเป็นเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง แล้วบางเรื่องอาจไปพาดพิง สาเหตุเพราะฝ่ายหนึ่งดึงสถาบันลงมา อ้างสถาบัน แล้วอีกฝ่ายก็ตอบโต้ ซึ่งเสี่ยงจะพาดพิง
"ถูกต้อง มันไม่เสมอกัน พูดง่ายๆ คือทุกวันนี้เวลามีการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ บนเวทีที่มีการดีเบตสาธารณะ มันเป็นการอภิปรายบนพื้นฐานความไม่เท่าเทียมกัน ฝ่ายที่พูดจาเฉลิมพระเกียรติพูดได้เต็มที่ แต่ฝ่ายที่จะพูดในแง่ของการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ภายในกรอบรัฐธรรมนูญ และก็ไม่ได้เป็นเรื่องหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายอะไรเลย เขามีความสุ่มเสี่ยงที่เขาจะถูกตีความว่าอันนี้เป็นการหมิ่นสถาบัน การมีกฎหมายแบบนี้ ลักษณะการตีความกฎหมายแบบนี้ของศาล มันจึงกระทบกระเทือนกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นแก่นของระบอบประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นข้อเสนอนี้ก็เป็นข้อเสนอซึ่งถึงที่สุดแล้วรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้”
“และผมเห็นอย่างนี้ด้วยว่าข้อเสนออันนี้ในที่สุดแล้วถ้าปรากฏเป็นจริง มันจะมีผลส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์อย่างจริงจัง ว่าทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่พ้นจากการเมืองอย่างแท้จริง และจะไม่มีใครเอามากล่าวอ้างได้ อย่างที่กำลังต้องการกันอยู่ เช่นเวลาที่มีคนเสนอเรื่องนายกพระราชทาน มาตรา 7 ฝ่ายที่เขาไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ เขาต้องสามารถพูดได้เต็มที่ โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกกล่าวหาว่าพูดอย่างนี้เข้า 112 แต่ก็ไม่มีใครกล้าพูด เหมือนกับหลายปีก่อน ไม่มีใครพูดเลย นักกฎหมายตอนนั้นมีผมพูดอยู่คนเดียวมั้งเรื่องมาตรา 7 ว่ามันใช้ไม่ได้ เพราะทุกคนกลัวว่าถ้าพูดแล้วจะไม่จงรักภักดี พูดแล้วจะถูกกล่าวหาว่าแตะพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์"
"นี่คือความมุ่งหมายว่าให้สามารถพูดในประเด็นเหล่านี้ได้ อย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องกังวล และเป็นสิ่งที่สมควรทำ และการทำอย่างนี้คือการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ให้ยั่งยืนด้วย เพราะว่าที่สุดคนที่จะเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้หรือมาแอบอิง ก็ต้องคิดว่าแน่นอนตัวเขาจะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วย โดยที่ไม่มีแต้มต่อ และในที่สุดจะทำให้ไม่มีใครอ้างอิง สถาบันพระมหากษัตริย์จะพ้นไปจากการเมือง เป็นศูนย์รวมใจ เป็นมิ่งขวัญของชาติอย่างแท้จริง เหมือนกับที่ในหลายประเทศเป็น"
ที่มีปัญหาเรื่อยมาก็เพราะสถาบันถูกยกมาอ้างตั้งแต่ปี 2548 กระทั่งการรัฐประหาร 19 กันยา
"อ้างมาเรื่อย รวมถึงการตบเท้าเที่ยวล่าสุด มีคนถามว่าทำไมเราพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้น ผมถามว่าจุดเริ่มมาจากไหน มันไม่ได้มาจากปี 2548 หรือ ที่คุณกำลังสู้กันทางการเมืองแล้วพูดง่ายๆ ว่าคุณสู้ทักษิณไม่ได้ เพราะเวลาไปสู้กันในสนามเลือกตั้งประชาชนเขาเลือก ไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งติดกัน 2544, 2548 และรวมถึงพลังประชาชนในปี 2550 วิธีที่คุณจะสู้ก็ไปใช้วิธีแบบนี้ แทนที่จะอดทนสู้ตามระบบ พยายามใช้เหตุผลโน้มน้าวประชาชนเสียงข้างมากให้เห็นด้วยกับคุณ กลับไปใช้วิธีขอพระราชทานนายกฯ โดยใช้ข้ออ้างทางกฎหมาย การตีความมาตรา 7 ซึ่งมาตรา 7 ไม่ได้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อใช้แบบนี้เลย ถามว่าใครกันแน่ที่ดึง ตั้งคำถามนี้ก็ต้องค่อยๆ คิด ถ้าเรามองเรื่องนี้เป็นภาวะวิสัยไม่เข้าข้างใคร มองแบบวางอุเบกขา เวลาที่เราจะวิเคราะห์ปัญหาแบบนี้เราก็จะเห็นว่าใครเริ่มเอาตรงนี้มาใช้ก่อน"
ก่อนปี 2548 เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรเลย
"พอเริ่ม 2548 มันเริ่มมาตามลำดับและองค์กรอื่นๆ ในทางกฎหมายก็ขยับเข้าดำเนินการอย่างเราเห็นในรอบหลายปีที่ผ่านมา นี่คือจุดเริ่ม ฉะนั้นถ้าเราจะแก้ก็ต้องไปแก้ที่สาเหตุของปัญหา ใครดึงก็อย่าดึง วิธีจะไม่ดึงก็ต้องอย่างนี้แหละ คือจะต้องมีการปฏิรูปอะไรต่างๆ ในหลายส่วน มาตรา 112 เป็นเพียงประเด็นหนึ่งในหลายๆ ประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่อย่างที่ผมบอกว่าเราควรจะพูดเรื่องนี้กันอย่างตรงไปตรงมา ถ้าเรารักสถาบันและอยากเห็นสถาบันดำรงคงอยู่ไปตลอด มันไม่มีทางอื่น ตอนนี้ฝ่ายซึ่งค้านคนที่จะเลิก 112 ต้องใช้ความคิดให้เยอะๆ และเขาต้องดูให้ดีๆ ว่าวิธีการแบบไหนคือวิธีการที่รักษาสถาบัน"
แต่ก็มีคนชั้นกลางส่วนหนึ่งมองว่าสถาบันสามารถช่วยคานนักการเมืองที่พวกเขาเห็นว่าเลวร้าย
"นี่คือแก่นของปัญหา อยู่ตรงนี้ คุณคิดว่าสถาบันช่วยคานนักการเมือง ก็แสดงว่าคุณเอาสถาบันเข้ามาเกี่ยวพันกับการเมือง มันก็ขัดกับหลักพื้นฐานรัฐธรรมนูญสิ รัฐธรรมนูญ มาตรา 8 บอกว่าองค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ การอ่านรัฐธรรมนูญมาตรา 8 ต้องอ่านให้สอดคล้องกับมาตรา 3 ที่บอกว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ต้องอ่านให้สอดคล้องกับมาตรา 2 ที่เราปกครองในระบอบประชาธิปไตย การอ่านมาตรา 8 จะอ่านโดดๆ ไม่ได้ ต้องอ่านอย่างนี้ และต้องเข้าใจว่าเพื่อให้พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะละเมิดไม่ได้ พระองค์จึงต้องอยู่พ้นไปจากการเมือง ใครก็ตามที่ดึงพระมหากษัตริย์ลงมาในทางการเมืองก็เท่ากับทำให้สถานะพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 8 กระทบกระเทือนแล้ว เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่พระมหากษัตริย์ถูกดึงลงมาในทางการเมือง เข้ามาตัดสินพระทัยในทางการเมือง ก็จะเกิดเป็นฝ่ายในทางการเมืองทันที คนที่คิดต้องคิดต่อไปอีก ที่คิดว่าดึงสถาบันมาคานนักการเมืองที่คุณเห็นว่าเลว แต่ลืมนึกถึงตัวระบบรัฐธรรมนูญของเรา ว่าเราออกแบบรัฐธรรมนูญไว้อย่างไร และสถานะสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบบของเราเป็นอย่างไร เพราะเวลาที่บอกว่าจะจัดการนักการเมืองคุณต้องคิดกลไกคิดระบบ ไม่ได้คิดไปที่ตัวคน และกลไกระบบที่คิดต้องให้สอดคล้องกัน เพราะที่คุณคิดคุณดึงลงมา มันผิดระบบ ที่ทำกันอยู่มันผิดระบบ ถามว่าดูได้อย่างไรว่าผิดระบบ ก็ลองดูสิตั้งแต่ปี 2548 มาจนปัจจุบันเกิดอะไรขึ้น ทำไมสถิติคดีหมิ่นฯ ถึงสูงขึ้นแบบมีนัยสำคัญ เพราะอะไร มันไม่ใช่เกิดขึ้นลอยๆ แต่มันเป็นผลพวง และที่เราเถียงกันด้วยเหตุผลมันเป็นแบบนี้"
หากมองย้อนไปก็เป็นเพราะเอาความเคารพเทิดทูนสถาบันมาชนกับความนิยมทักษิณและความรู้สึกเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน
"ช่วงหนึ่งมันอาจจะใช้ได้ แต่พอเวลาผ่านไปคนเขาเห็นนี่ว่ามีอะไรขึ้นมาเป็นลำดับ 4-5 ปีมานี่เสียจนไม่รู้จะเสียยังไงแล้ว องค์กรที่บังคับใช้กฎหมายทั้งปวง เว้นแต่ว่าคุณหลับหูหลับตาไม่รับรู้อะไรเลยและไม่พูดเหตุผล เพราะถ้าพูดด้วยเหตุผลก็จะจำนนด้วยเหตุผลแบบนี้ อยากจะบอกว่าเหตุที่ฝ่ายหนึ่งดึงเอาสถาบันมาใช้ในทางการเมือง เป็นเพราะตัวระบบตัวกลไกทางกฎหมายระดับหนึ่งมันเอื้อให้เป็นอย่างนั้น มันเอื้อให้ทำแบบนั้นได้ด้วย ฉะนั้นเพื่อที่จะทำให้เข้าสู่ระบบตามหลักจริงๆ จึงต้องมีการปฏิรูปกฎเกณฑ์ทางกฎหมายทั้งหลายทั้งปวงที่เกี่ยวพันกับพระมหากษัตริย์เพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ของรัฐไปตลอด เป็นการปฏิรูปเพื่อรักษาสถาบันให้สอดรับกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย"
สนธิเอามาพูดได้โครมๆ พันธมิตรฯ เอามาอ้างได้ แต่คนที่คิดจะโต้มีสิทธิเข้าคุก
"คุณเอาสีเหลืองมาอ้างเป็นสีของตัว พอเริ่มไปไม่ได้ก็เปลี่ยนเป็นสีชมพู แล้วก็เปลี่ยนเป็นหลากสี ไม่ใช่เพราะพวกท่านทั้งหลายหรือที่เอาตรงนี้มาใช้ นี่เป็นรูปธรรมใช่ไหมในการดึงสถาบันลงมา แล้วถามว่าใครล่ะใช้ โอเคคุณอาจจะบอกว่าคุณหวังดีอยากจัดการกับนักการเมือง แต่วิธีที่คุณใช้นอกจากมันไม่รับกับระบบแล้ว มันจะส่งผลกระทบ ผมพูดมาตั้งแต่ปี 2548 แล้วประเด็นพวกนี้ และวันนี้พอเกิดปัญหาขึ้นผมแปลกใจมากนะ คือแทนที่จะย้อนกลับไปหาสมมติฐานของโรคแล้วจะได้หาวิธีแก้ไข กลับไปใช้อีกวิธีหนึ่งคือไปใช้ยาอีกแบบหนึ่ง กกต.บอกจะออกระเบียบจะยุบพรรค มันยิ่งหนักไปอีก"
ถ้าคนค้านมากก็จะยิ่งถูกมองว่ามีแรงต่อต้านสถาบันหนักขึ้น
"ยกตัวอย่างคนอย่างผมง่ายๆ ก็จะถูกมองว่าต่อต้านสถาบัน ทั้งๆ ที่ความจริงที่ผมทำที่นิติราษฎร์ทำ คือวิธีการรักษาไว้ซึ่งสถาบัน พวกที่ฮาร์ดคอร์มากๆ เขาไม่ได้ชอบนะที่เสนอแบบนี้ เพราะเป็นข้อเสนอที่รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ การเสนออย่างนี้เราโดนสองทาง เรารักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ในกรอบประชาธิปไตย อยู่ในกรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญและเป็นสิ่งที่ยุติแล้วเมื่อปี 2475 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเรายุติในระบบแบบนี้ นี่ก็คือทำให้ถูกต้องตามระบอบการปกครอง เพราะฉะนั้นที่สู้กันตอนนี้อย่าเถียงเลยว่าล้ม-ไม่ล้มสถาบัน มาเถียงกันดีกว่าการกระทำของใครที่พูดถึง 112 ทำได้สอดคล้องกับระบอบ และรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ แน่นอนการพูดประเด็นนี้สุ่มเสี่ยงต่อการเข้าใจผิด เพราะสังคมไทยเราไปสร้างอารมณ์ความรู้สึกขึ้นมายาวนานนับเป็นสิบๆ ปี จนทุกคนหวาดกลัวหมด ไม่กล้าพูดอะไรทั้งสิ้น แต่ผมพูดในทางหลักการนะ ผมบอกว่าถ้าหลักการเป็นอย่างนี้ ที่สุดก็ต้องถามกัน"
ราชเลขากล่าวโทษ"อีกประเด็นที่เราเสนอและมีคนโจมตีเหมือนกันก็คือผู้มีอำนาจกล่าวโทษ เรื่องนี้ความจริงพูดกันมานานแล้วว่า 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกล่าวหากันในทางการเมือง ใครที่ถูกคดี 112 เข้าไป แค่โดนแจ้งความสายตาของคนที่เขามอง นี่ยังไม่พูดถึงผลในทางกฎหมายนะ ผลทางสังคมที่เกิดขึ้นกับคนเหล่านั้นเป็นอย่างไร มันรุนแรง ชีวิตเปลี่ยนนะ เพราะ112 ใครก็กล่าวโทษได้ แจ้งความกันเปรอะ"
หลายคนยังไม่ได้ตัดสินเลยก็หนีไปแล้ว อย่าง อ.ใจ หรือจักรภพ
"แล้วเดี๋ยวนี้เราทำให้กลายเป็นคดีพิเศษของดีเอสไออีก นิติราษฎร์เราเสนอว่าเอาอย่างนี้ได้ไหม เนื่องจากเรากำหนดให้ยังมีความผิดฐานนี้อยู่ ฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการ แต่คนที่จะร้องทุกข์กล่าวโทษไม่ควรจะเป็นใครก็ได้ ควรจะเป็นองค์กรหรือเป็นหน่วยซึ่งเขาได้ดูแลว่าเรื่องแบบไหนที่เข้าข่ายเป็นเรื่องหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย และสมควรดำเนินการ เราไม่สามารถทราบได้เลยว่าเวลามีคนไปแจ้งความ บุคคลที่ได้รับผลกระทบจริงเขามีความประสงค์หรือเปล่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระราชดำรัสเมื่อ 4 ธันวาคม 2548 ว่าพระองค์ท่านทรงเดือดร้อน”
"บางทีก็ไม่ได้เป็นความประสงค์ คนอื่นไปทำหมด และไปทำแทนที่จะดีกลายเป็นปัญหา เพราะสถิติมันเพิ่มมากขึ้น ถามว่าต่างชาติเขาไม่มองหรือ ทุกวันนี้เราไม่ได้อยู่ประเทศเดียวในโลกแล้ว เขาจะไม่ตั้งคำถามหรือว่าทำไมเกิดคดีแบบนี้มากมายขึ้นในประเทศไทย เขาถามในทางกลับกันนะ แล้วตกลงใครเสียในที่สุด ปัญญาชนฝ่ายเจ้าต้องคิดถึงประเด็นเหล่านี้ให้ดีๆ แล้วละว่าจะเอาอย่างไร”
“เราบอกว่าเอาอย่างนี้ได้ไหม ก็ให้สำนักราชเลขาฯ เป็นคนพิจารณา มูลเหตุที่เสนอสำนักราชเลขาฯ มีที่มาจากว่าเคยมีกรณีคนทำพระเครื่องและเอาสัญลักษณ์มาใช้ แล้วสำนักราชเลขาฯ ร้องเรียนไปสำนักงานผู้บริโภคให้ดำเนินการ ก็เห็นว่าคดีอย่างนี้เคยเกิดขึ้นแล้ว สำนักราชเลขาฯ ก็น่าจะเป็นหน่วยที่ทำเรื่องนี้ แต่ถ้าใครเห็นว่าหน่วยนี้ไม่เหมาะ อาจมองว่าใกล้ชิดกับพระราชวงศ์มากเกินไป จะเสนอหน่วยอื่นมาก็ไม่เป็นไร ก็คุยกัน อันนี้เป็นตุ๊กตา เราไม่ได้เสนอโดยจู่ๆ จินตนาการขึ้นมาแล้วเสนอ แต่เสนอจากเรื่องที่มันเคยเกิดขึ้น และเคยทำมาแล้ว ข้อเสนอจึงสมเหตุสมผลด้วยเหตุนี้ และก็จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ถ้าเรื่องนี้เป็นจริงมันจะลดเรื่องการแจ้งความคดีหมิ่นฯ ทันที เห็นผลทันทีเลย เฉพาะแค่ประเด็นเรื่องผู้อำนาจกล่าวโทษก็ส่งผลทันที"
จริงๆ แล้วคนที่โดนคดีหมิ่น ส่วนใหญ่ก็จะได้พระราชทานอภัยโทษ
"ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ไม่มีคดีขึ้นศาลฎีกาเยอะ คดี 112 คำพิพากษาศาลฎีกามีน้อยมาก เข้าใจว่า 4-5 เรื่อง น้อยมาก เพราะขั้นตอนคดีมันยาว ฉะนั้นคนที่ถูกดำเนินคดีเขาจะไม่อุทธรณ์ พอศาลพิพากษาลงโทษปุ๊บเขาก็ไม่อุทธรณ์หรอก เขาให้คดีถึงที่สุดแล้วขอพระราชทานอภัยโทษ มันก็เลยมีคนบอกว่าคดีหมิ่นไม่เห็นเป็นปัญหาเลย คำพิพากษาศาลฎีกามีอยู่ไม่กี่คดีเอง คุณไปดูสถิติของศาลฎีกาไม่ได้ มันต้องดูสถิติที่เกิดขึ้นในชั้นตำรวจ อัยการ และศาลชั้นต้น ไปดูสิว่าตอนนี้คดีมันเท่าไหร่ มันเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ในช่วง 3-4 ปีมานี้"
การได้พระราชทานอภัยโทษ ด้านหนึ่งก็มีคนตีความว่าสถาบันอาจไม่ต้องการให้มีคดีเกิดขึ้นเยอะ ส่วนอีกด้านก็ตีความว่าเห็นไหม ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย ส่วนใหญ่ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ แต่ปัญหาคือทุกวันนี้คนที่ถูกแจ้งความไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว
"ถ้าเป็นอย่างนั้นทำไมต้องให้เขาติดคุก เพราะอย่างที่ผมบอก มันเป็นปัญหาที่การตีความของศาลด้วย อย่างกรณีคุณวีระผมเห็นว่าไม่เข้า 112 เป็นการพูดเปรียบเทียบหาเสียง แต่ศาลตีความว่าเข้า มันจึงเป็นประเด็นว่าที่สุดคุณเอาคนไปขังแล้ว และผลกระทบที่มีต่อชีวิตของเขาล่ะ ถ้าสมมติว่าเราออกกฎหมายว่าถ้าใครถูกแจ้งความขอพระราชทานอภัยโทษเลยได้ไหมล่ะ ก็ไม่ได้อีก แต่ถ้าเราบอกว่าการพระราชทานอภัยโทษเพราะองค์พระมหากษัตริย์ไม่ต้องการให้เกิดการลงโทษแบบนี้ จึงพระราชทานอภัยโทษตามที่เสนอ ก็ไม่ต้องดำเนินคดีตั้งแต่แรกไม่ดีกว่าหรือ"
0 0 0
ทหาร-รัฐบาล-กกต. อย่าให้เป็นเนื้อเดียวกัน
ถ้าเขาหาเสียงแล้วเขาขยิบตา กกต.จะทำอย่างไร การตีความมันจะปวดหัว ผมเห็นแต่ความวุ่นวาย การออกระเบียบแบบนี้ทำให้ประเด็นเรื่องสถาบันกลายเป็นใจกลางของปัญหา โอเคในมุมหนึ่งอาจจะดีนะ แต่ว่าปัญหาคือคุณจะรับแรงกดดันในแง่ของการตีความกฎหมายไหวเหรอ มันทำให้ปัญหาตรงนี้จะไม่ถูกพูดอย่างเป็นเหตุเป็นผล เรื่องนี้มันจะพูดออกนอกกรอบของเหตุผลไปอีก เพราะจะไปเถียงกันในทางเทคนิคของกฎหมาย ถึงที่สุดอาจจะไม่พูดหลัก และจะทำให้การแก้ปัญหาเรื่องนี้ห่างออกไปจากสิ่งที่มันควรจะเป็น
มีประโยคหนึ่งที่ อ.วรเจตน์พูดวันนี้ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นทรรศนะตรงข้ามกับทหารที่ออกมาตบเท้าอยู่ ณ เวลานี้อย่างสิ้นเชิง ประโยคนั้นก็คือ "การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ"
"ทรรศนะของทหารเรื่องการปกป้องสถาบันมันก็โอเค แต่เขาต้องเข้าใจลักษณะของสถาบันพระมหากษัตริย์ คือทหารต้องคิดมีเหตุมีผลในแง่ที่ว่า ปัญหาที่มันเกิดขึ้นมันคืออะไร ไม่ใช่ว่ามีคนพูดจาวิพากษ์วิจารณ์ประธานองคมนตรี ซึ่งบังเอิญเคยเป็นอดีตทหารด้วย และทหารเขารู้สึก แต่เขายังไม่ได้แยกแยะเลยว่าทำไมถึงมีการวิพากษ์วิจารณ์ เกิดอะไรขึ้น มันก็สร้างอารมณ์ความรู้สึกกันขึ้นมาล่ะว่าเป็นการจาบจ้วง เป็นการก้าวล่วงองคมนตรีและกระทบสถาบันด้วย มันก็เลยกลายเป็นเรื่องอารมณ์ออกมาหมด ผมคิดว่าถ้าคุณบอกว่าคุณรักษาสถาบันปกป้องสถาบัน ในลักษณะซึ่งเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ให้พ้นไปจากการเมืองระบอบประชาธิปไตย ไม่มีใครเขาว่าอะไรคุณหรอก และถ้าเป็นอย่างนั้นทหารจะต้องมาดูด้วยว่าคนแวดล้อมสถาบันกระทำการอันเป็นปัญหากับหลักในทางกฎหมาย ทหารก็ต้องวิจารณ์คนเหล่านั้นใช่ไหม ถ้าคิดตามหลักแบบนี้ การตบเท้าของทหารควรจะเป็นการตบเท้าเพื่อวิจารณ์บุคคลเหล่านั้นมากกว่าใช่ไหม นี่มันขึ้นอยู่กับวิธีคิดว่าคิดอย่างไร"
ถ้าคิดแบบทหารสิ่งที่จตุพรพูดก็เข้าข่ายหมิ่นแน่ๆ
"ปัญหาคือทหารมี conflict of interest ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ไม่ใครชี้เลย ทหารมีประโยชน์ทับซ้อนในประเด็นนี้อยู่ เพราะว่าคนเสื้อแดงเขากล่าวหาว่าทหารเป็นคนฆ่าเขาในเหตุการณ์สลายการชุมนุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ราชประสงค์ พอคุณจตุพรพูดประเด็นแบบนี้ ตัวทหารในฐานะที่ถูกกล่าวหา และคนในกองทัพที่อยู่ใน ศอฉ.ก็มีบทบาทอยู่ในเวลานี้ทั้งสิ้น เขาจึงเอาประเด็นนี้มาขยับ เพราะคำพูดจตุพรมันกระทบกับเขาด้วย ถ้ามองแบบอีกมิติทหารกำลังใช้สถาบัน protect ตัวเองหรือเปล่าด้วยนะ ในทางกลับกัน การที่ทหารตบเท้าแบบนี้ในมุมกลับกำลังใช้สถาบันมา protect ข้อกล่าวหา ซึ่งฝ่ายคนเสื้อแดงเขากล่าวหาด้วยหรือเปล่า อันนี้ผมตั้งคำถาม เพราะว่าคุณมีประโยชน์ทับซ้อนกันในเรื่องนี้อยู่แล้ว คุณกลายเป็นคู่กรณีกับกลุ่มคนเสื้อแดง มันก็ต้องคิดในมุมนี้ด้วย"
มีแนวโน้มว่าจะมีการใช้มาตรา 112 มากขึ้นอีก เวลานี้ทั้งทหาร ดีเอสไอ ประชาธิปัตย์พยายามจะใช้เป็นเครื่องมือดิสเครดิตพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง แต่คำถามก็คือถ้าพรรคเพื่อไทยยังชนะขาดล่ะ
"นี่แหละอันตรายอยู่ตรงนี้ นี่คืออันตรายของการใช้ขบวนการนี้ คิดให้ดีๆ นะ คุณจะตีความว่าอย่างไรต่อ ไหวไหม ผมถึงบอกว่าอย่าเอามาเลย สถาบันพระมหากษัตริย์ยกไว้เถอะ คือเขาต้องใช้ความคิดเยอะๆ ในแง่นี้พรรคการเมืองซึ่งเขากำลังจะลงสนามเลือกตั้งประเด็นไหนที่มันช่วงชิงความได้เปรียบเขาใช้หมด เขาไปวัดกันที่สนามเลือกตั้ง ชะตากรรมพรรคการเมืองอยู่ในมือของประชาชนว่าเขาจะกากบาทเลือกใคร เพราะฉะนั้นทหารก็ต้องระวังให้ดี ถ้าไปเป็นเนื้อเดียวกับพรรคการเมืองที่กำลังจะแข่งขันในสนามเลือกตั้ง ที่สุดทหารก็จะกลายเป็นผู้ร้ายนะ หรือคุณจะบอกว่ายกประเด็นนี้ขึ้นมาแล้วกลายเป็นเนื้อเดียวกันและก็ลงเลือกตั้ง ถ้าเสียงข้างมากมันเทไปอีกข้างหนึ่งคุณจะทำไงล่ะทีนี้ ไม่ต้องเป็นเสียงข้างมากก็ได้ แต่ว่าเป็นหลัก 10 ล้าน แล้วจะอธิบายอย่างไร"
หรือว่าสิบล้านนั้นไม่จงรักภักดี
"ในสายตาของทหาร ทหารกำลังบีบให้ประเด็นมันเรียวแคบและแหลมคมขึ้น ไปสู่การตั้งคำถามแบบนี้ซึ่งไม่ถูก"
ที่สำคัญปัญหาจะยิ่งหนักขึ้น เมื่อ กกต.บ้าจี้เตรียมออกระเบียบห้ามเอาสถาบันไปหาเสียง ทั้งที่มันเป็นข้อเสนอของคุณอภิสิทธิ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจากระเบียบนี้
"เขาไม่น่าเอาไปใช้ ถ้าเป็นอย่างนั้นภูมิใจไทยก็จะโดนยุบนะ แต่ผมเห็นว่าตอนนี้มันช้าไปแล้ว อย่างประเด็นของภูมิใจไทยเป็นประเด็นซึ่ง กกต.ไม่สามารถ react ได้ในทางกฎหมายอย่างเดียว ผมกำลังจะบอกว่าเรื่องสถาบันที่จะใช้มันต้องให้เป็นเรื่องการสร้างวัฒนธรรมในทางการเมืองขึ้นมาด้วย จะมากันอย่างนี้มันเป็นเรื่องปลายเหตุ จะต้องสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองขึ้นมาว่าพรรคการเมืองไหนที่เอาตรงนี้มาใช้ต้องถูกแอนตี้ ถือว่าคุณเอาเปรียบคนอื่น และในแง่นี้ชนชั้นนำทั้งหมดต้องประสานกัน เป็นเรื่องในทางการเมืองที่เขาตกลงกันมากกว่าเรื่องของการออกกฎ เพราะมันจะเป็นปัญหาเรื่องการตีความ มันจะเป็นปัญหาอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติมีพรรคการเมืองหนึ่งฟังไอเดียผมปุ๊บ เออที่ผมพูดนี่คือวิธีการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ เขานำเสนอประเด็นนี้ในการเลือกตั้งบอกจะแก้ 112 เปลี่ยนเรื่องผู้มีอำนาจกล่าวโทษทันที เขาเอาประเด็นนี้หาเสียง และมันเป็นประเด็นที่เขาควรจะหาเสียงได้ เพราะมันเป็นเรื่องกฎหมายและเป็นเรื่องในทางนโยบาย แต่เขาจะทำไม่ได้นะ ทั้งที่ความจริงเขาควรจะต้องทำได้ กลายเป็นว่าวันนี้การเลือกตั้งในประเทศเรา เรื่องสำคัญที่เป็นเรื่องในทางนโยบายจะถูกกันไม่ให้พูดถึงเลย เพียงเพราะต้องกันการกระทำอย่างภูมิใจไทยหรือการตอบโต้กัน มันไม่คุ้มหรอก ในทางหลักการก็ไม่ได้ด้วย"
ถ้าเข้าข่ายหมิ่นก็ควรปล่อยให้เป็นเรื่องตัวบุคคลไป และการอ้างอย่างที่พรรคภูมิใจไทยทำ ประชาธิปัตย์เองก็เคยอ้างเช่นกัน
"ก็ทำมาก่อนไม่ใช่เหรอ ส่วนเรื่องเอาพระบรมฉายาลักษณ์มาแจกก็เป็นเรื่องที่สำนักราชเลขาฯ จะต้องดำเนินการ มันต้องแก้ปัญหาไปทางนั้น แล้วเดี๋ยว กกต.จะปวดหัวคอยดู เพราะว่าเวลามีการหาเสียงมันจะคาบเคี่ยวไปถึงเรื่องการสลายการชุมนุม ซึ่งก็จะต้องพูดถึงอะไรหลายอย่าง และมันเป็นไปได้ที่จะถูกตีความเหมือนที่เป็นอยู่ตอนนี้ อาจจะไม่ได้พูดอะไรเลยนะ แต่ว่ามันเป็นการพูดในลักษณะเป็นสัญลักษณ์จะทำอย่างไร"
ก็ไม่แน่ว่าถ้าขยิบตาบนเวทีเมื่อไหร่ กกต.อาจจะตัดสินให้ยุบพรรคเลย
"ที่เขาใหญ่คุณณัฐวุฒิก็ทำไม่ใช่เหรอ แล้วถ้าเขาหาเสียงแล้วเขาขยิบตา คุณจะทำไง คุณจะตีความการขยิบตาว่ายังไง การตีความมันจะปวดหัวนะ ผมเห็นแต่ความวุ่นวาย การที่มีระเบียบแบบนี้เท่ากับ กกต.ทำให้ประเด็นเรื่องสถาบันกลายเป็นใจกลางของปัญหา คือโอเคในมุมหนึ่งอาจจะดีนะ ถ้าหากพูดกันด้วยเหตุผล แต่ว่าปัญหาคือคุณจะรับแรงกดดันในแง่ของการตีความกฎหมายไหวเหรอ มันทำให้ปัญหาตรงนี้จะไม่ถูกพูดอย่างเป็นเหตุเป็นผล เรื่องนี้มันจะพูดออกนอกกรอบของเหตุผลไปอีก เพราะจะไปเถียงกันในทางเทคนิคของกฎหมาย ถึงที่สุดอาจจะไม่พูดหลัก มันจะทำให้การแก้ปัญหาเรื่องนี้มันห่างออกไปจากสิ่งที่มันควรจะเป็น"
เท่ากับว่าเอาสถาบันมาเป็นเครื่องมือยุบพรรค
"อันตรายอยู่ตรงนี้เลย ลองคิดดูว่าเกิดมีคนในพรรคไปหาเสียงพูดอะไรขึ้นมา คนมันจะสนใจทันทีว่าพูดอะไร และมันถึงขนาดยุบพรรคนี่มันถูกไหม ยุบแล้วมันเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นมันกลายเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต และคราวนี้มันจะดึงความสนใจจากต่างประเทศเข้ามา ผมกลัวแบบนี้ว่าพอถึงจุดหนึ่ง กกต.ฝ่อหมด ลาออกหมด ถ้ามันมีการร้องเรียนมาเยอะ กกต.ต้องตีความ และรับแรงกดดันไม่ไหวแล้ว"
ในทางกฎหมายตีความถึงขั้นยุบพรรคได้เลยเชียวหรือ
"มันมี 237 อยู่นี่ มันจะโยงแบบนี้ 237 ทำผิดนิดๆ หน่อยๆ ก็ยุบได้เลย ถ้ามีระเบียบกำหนดมัน non sense มากๆ มาตรา 237 บอกว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดกระทำการหรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาของวุฒิสภา หรือระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้เพิกถอนผลเลือกตั้งของการดังกล่าว เพราะฉะนั้น กกต.ก็จะออกระเบียบ"
แปลว่าออกระเบียบเรื่องอื่นก็ได้ ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องนี้
"มันสุดๆ แล้ว 237 แต่มันจะต้องตีความว่าเป็นผลทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งเขาตีความได้อยู่แล้ว ว่าเอาประเด็นเรื่องสถาบันไปหาเสียง ส่งผลให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริต มันไหวไหมล่ะ กกต.ต้องคิดให้ดีว่าจะรับแรงเสียดทานตรงนี้ไหวไหม และสมมติออกระเบียบไปแล้ว มีคนมาร้องเรียนแล้ว กกต.ไม่ทำอะไร อันนี้ยิ่งเป็นปัญหาอีก ผมยังนึกไม่ออกว่า กกต.จะเขียนระเบียบกว้างแคบอย่างไร และมันเป็นปัญหาเรื่องการตีความ เราต้องไม่ลืมว่าคุณเป็นคนเขียนและเป็นคนตีความกฎหมาย แรงกดดันมันอยู่ที่คุณนะ เพราะว่ามันมี 2 ฝ่ายแล้ว และวันหนึ่งคุณก็จะสำนึกเสียใจ แล้วจะประกาศผลการเลือกตั้งได้ไหม ผมสังหรณ์ว่าจะมันจะยุ่งตอนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้ามีการเลือกตั้งนะ"
ก่อนหน้านี้ยังมองในแง่ดีว่าหลังเลือกตั้งความขัดแย้งน่าจะค่อยๆ ลดดีกรีลง แต่วันนี้ดูจากสถานการณ์หลายๆ อย่าง คงไม่ใช่แล้ว
"ถ้าจะจบมีอย่างเดียว อยากจะจบแบบว่าผ่านไปแบบสันติ ผมนึก scene ถ้าจะเป็นไปได้มันจะเป็นไปได้อย่างเดียว ซึ่งอันนี้ก็ไม่แน่ใจร้อยเปอร์เซ็นต์ด้วย เพราะปัญหามันรุนแรง เนื่องจากมีคนตายมาก แต่ถ้าจะลองดูก็คือพรรคใหญ่ตั้งรัฐบาลที่เหมือนกับเป็นรัฐบาลแห่งชาติ มีการปฏิรูปกฎเกณฑ์ทางกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งหมด นิรโทษกรรมทุกคนกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้นะ กลับไปสู่สถานะเดิมหมด ใช้เวลาอาจจะสัก 3 ปี 4 ปี ทำในสิ่งพวกนี้ แล้วปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ทุกฝ่ายไม่ผิดที่ผ่านมาเลิก นิรโทษกรรมอย่างเดียวก็ไม่พอนะ มันต้อง set ตัวระบบกันใหม่ วางกติกากันใหม่ รวมทั้งประเด็นพวกนี้ด้วย ทางเดียวอันนั้นจะจบ ซึ่งมันจะไม่เกิดหรอก" ไม่เกิดหรอก ประชาธิปัตย์ทำก็ไม่ได้ เพื่อไทยทำก็ไม่ได้ ทหารไม่ยอม ชนชั้นนำก็ไม่ยอม
0 0 0
องคมนตรี
ปมที่น่าคิด
ปมที่น่าคิด
“ต้องยอมรับว่าหากจะปฏิรูปรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์นั้นเป็นไปไม่เลยที่จะไม่พูดถึงบทบาทสถาบันองคมนตรี เพราะ 4-5ปีที่ผ่านมา มีหลายกรณีที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ประธานองคมนตรี แต่มักจะถูกคนแวดล้อมพยายามโยงว่าคำวิจารณ์เหล่านั้นเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง”
"เรื่องการวิจารณ์ต้องเข้าใจว่าจู่ๆ จะมีการวิจารณ์ขึ้นมา มันต้องมีการกระทำถึงมีการวิจารณ์ คนที่มีใจเป็นธรรมต้องถามก่อนว่าเขาทำอะไร สิ่งที่เขาทำถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง มันถูกต้องหรือไม่ถูกต้องกับตำแหน่งหน้าที่บทบาทของเขา ถ้าสิ่งที่เขาทำถูกต้องเหมาะสมในหน้าที่บทบาทของเขา แปลว่าข้อวิจารณ์เป็นการวิจารณ์ที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม เป็นข้อวิจารณ์ที่ไม่มีคุณค่าแก่การรับฟัง แต่ถ้าการกระของเขามันไม่ถูกต้องไม่เหมาะสมกับตำแหน่งที่เขาเป็นแล้วมีคนวิจารณ์ ก็แปลว่าคนที่วิจารณ์มีความชอบธรรมที่จะวิพากษ์วิจารณ์ใช่ไหม มันต้องเริ่มต้นตรงนี้ก่อน มันต้องถามกลับไปว่าถ้า พล.อ.เปรม ไม่ได้ทำอะไรเลยจะมีคนวิจารณ์ไหม
ฉะนั้นเวลาที่จะบอกว่าทำไมถึงมีคนวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.เปรม ก็ต้องถามในเบื้องต้นก่อนว่าประธานองคมนตรีท่านทำอะไร ต้องถามตรงนี้ก่อนถึงจะคุยกันได้ แต่ถ้ามีคนบอกว่าท่านไม่ได้ทำอะไรเลยสักอย่างเดียวทำไมไปวิจารณ์ท่านอันนี้เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ก็เถียงกันในข้อเท็จจริงก่อนว่าทำหรือไม่ทำ ถ้าข้อเท็จจริงคือไม่ได้ทำอะไรเลยแล้วมีการวิจารณ์ท่านแปลว่าคนวิจารณ์ก็ไม่แฟร์ แต่ถ้าข้อเท็จจริงว่าท่านทำ เรายังบอกไม่ได้หรอกว่าที่ท่านทำควรจะวิจารณ์ตำหนิไหม ก็ต้องดูว่าท่านทำอะไรก่อน แล้วถึงจะบอกได้ว่าควรตำหนิหรือไม่ตำหนิ ผมไม่อยากวิจารณ์หลายเรื่องแต่เรื่องหนึ่งที่ผมค่อนข้างติดใจและเป็นปัญหาคือการที่ท่านแสดงความเห็นในสื่อสาธารณะสนับสนุนคุณอภิสิทธิ์ ซึ่งประธานองคมนตรีบอกว่าประเทศไทยโชคดีที่ได้คุณอภิสิทธิ์เป็นายกรัฐมนตรี"
"อันนี้ก็คือการแสดงความคิดเห็น ถ้าเป็นคนธรรมดาทั่วๆ ไปแสดงความคิดเห็นพวกนี้ไม่เป็นไรหรอก แต่พออยู่ในสถานะหนึ่งตำแหน่งหนึ่งบางทีมันไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้องคมนตรีต้องเป็นกลางทางการเมือง ก็จะมีปัญหาทันทีเลยว่าอย่างนี้ถือว่าเป็นกลางทางการเมืองไหม เขาก็มีสิทธิจะถามว่าอย่างนี้เป็นกลางทางการเมืองไหม พล.อ.เปรมท่านก็บอกว่าท่านพูดถึงเรื่องชาติ เป็นประโยชน์ของชาติ ไม่ได้พูดเรื่องการเมืองนะ ท่านไม่ได้พูดเรื่องการเมืองท่านพูดเรื่องบ้านเมือง คำถามก็คือที่ท่านบอกว่าท่านพูดเรื่องบ้านเมืองมันเป็นเรื่องบ้านเมืองหรือเป็นเรื่องการเมือง หรือจริงๆ มันก็เป็นทั้งเรื่องการเมืองเรื่องบ้านเมืองเพราะแยกกันไม่ออก และถ้าท่านต้องการพูดเรื่องบ้านเมืองแบบนี้ท่านต้องพูดอีกสถานะหนึ่งแล้ว บ้านเมืองที่มีสภาพเป็นการเมืองแบบนี้ท่านพูดในสถานะเป็นองคมนตรีไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่า พล.อ.เปรม ท่านพูดอะไรไม่ได้นะ ท่านพูดได้แต่ว่าในฐานะเป็นประธานองคมนตรีท่านจะพูดบางอย่างไม่ได้ นี่คือประเด็นที่เป็นปัญหา"
ประเด็นองคมนตรีมีโอกาสสูงที่การวิจารณ์จะไปกระทบสถาบัน เช่นคนวิจารณ์พล.อ.สุรยุทธ์ลาออกจากองคมนตรีมาเป็นนายกฯ แล้วกลับไปอีก คนวิจารณ์ก็เสี่ยงที่จะถูกกล่าวหา
"ปัญหาเรื่องพวกนี้จะแก้ได้จะต้องพูดถึงเรื่องการปฏิรูปรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์อย่างที่ผมบอก วันนี้เรามีปัญหาเรื่องสถาบันเกิดขึ้นเยอะ เห็นได้ชัดเจนทหารก็ออกมาตบเท้าแสดงพลังปกป้องสถาบัน คำถามคือเราจะแก้อย่างไร เพราะองคมนตรีก็ถูกบัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ หมวดพระมหากษัตริย์ และถ้ามีปัญหาแบบนี้มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะแก้ปัญหาโดยที่ไม่แตะรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับหมวดนี้ มันเป็นไปไม่ได้ ถึงต้องมีการเสนอให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ คำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์หมายถึงรวมทั้งที่แวดล้อม ในความหมายที่กว้าง เพราะองคมนตรีก็เป็นส่วนหนึ่งไปแล้วตอนนี้ ผมถึงบอกว่า 112 อยู่เดี่ยวๆ ไม่ได้หรอกมันจะต้องเป็นประเด็นอันหนึ่งในประเด็นใหญ่ เรื่องของการหมิ่นที่เกิดขึ้นต้องแก้ปัญหาใหญ่ มันไม่สามารถแก้ได้โดยที่คุณบอกว่าคุณจะออกระเบียบหรือคุณจะเพิ่มโทษ หรือคุณจะบังคับใช้กฎหมายเข้มข้น คุณจะออกกฎหมายคอมพิวเตอร์ ปิดเว็บไซต์ มันไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งสิ้น การแก้ปัญหาที่ถูกต้องและยั่งยืนคุณจะต้องไปดูภาพใหญ่และถ้าคุณแก้ตรงนั้นได้ปัญหาพวกนี้ก็หมดไปเอง สมมติคุณบอกว่าเลิกตำแหน่งองคมนตรี จบไปเลยนะ ปัญหานี้ก็จะไม่เกิดขึ้นตามเลยใช่ไหม อย่างนี้
“องคมนตรีไม่ได้มีมาตั้งแต่แรกนะ เริ่มมีตั้งแต่ปี 2492 พูดง่ายๆ คือตำแหน่งองคมนตรีในระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นในรัชกาลปัจจุบัน ผมกำลังจะบอกอะไร เรากำลังจะเผชิญกับปัญหาเรื่องสถาบันองคมนตรีข้างหน้า เพราะว่าช่วงรัชกาลที่ 7 รัชกาลที่ 8 ไม่มีองคมนตรี คือ จากรัชกาลที่ 7 มายังรัชกาลที่ 8 ไม่มีองคมนตรี จากรัชกาลที่ 8 มายังรัชกาลที่ 9 ไม่มีองคมนตรี ที่เหลือผมไม่ต้องพูดแล้ว คิดกันต่อได้”
“นี่คือปัญหาที่มันอีรุงตุงนัง อันนี้ก็เป็นอันหนึ่ง ผมถึงบอกว่าถ้าคุณจะแก้ให้ได้คุณไม่มีทางเลี่ยง ต้องพูดประเด็นตรงนี้ทั้งหมด ภายใต้หลักที่ว่ายังมีสถาบันพระมหากษัตริย์ หลักอยู่ตรงนี้ แต่ว่ารอบๆ อะไรทั้งหลายทั้งปวง องคมนตรี กฏมณเฑียรบาลเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ ประเด็นเรื่อง 112 ประเด็นเรื่องสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โครงการในพระราชดำริ อะไรพวกนี้ต้องมาพูดกันหมด พูดง่ายๆ คือข้อเสนอของ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล 8 ข้อที่เสนอเอาไว้ เป็นข้อเสนอที่ควรนำมาพิเคราะห์พิจารณาอย่างจริงจัง เห็นด้วยตรงไหน ไม่เห็นด้วยตรงไหน ก็อภิปรายกันด้วยเหตุด้วยผล"
องคมนตรีมีขึ้นหลังปี 2490
"องคมนตรีเกิดในปี 2492 เริ่มจากอภิรัฐมนตรีในปี 2490 แล้วมาเป็นองคมนตรีในปี 2492 กฎหมายสำนักงานทรัพย์สินก็แก้แถวๆ ปี 2490 เพียงแต่เรื่องพวกนี้ในอดีตปัญหามันไม่ปะทุขึ้น"
เรื่องสืบสันตติวงศ์มาแก้ไขในปี 2534
"ที่แก้สำคัญคือแก้ 2517 ครั้งหนึ่งที่ให้พระราชธิดาขึ้นครองราชย์ได้ อันนั้นไม่ได้แก้กฎมณเฑียรบาลแต่ทำรัฐธรรมนูญ แต่ว่าที่แก้หลักใหญ่คือปี 2534 เดิมทีการแก้กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ทำได้โดยวิธีเช่นเดียวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญปี 2534 รสช.ยึดอำนาจแล้วก็ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญถาวร ปี 2534 กำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลเป็นพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องการขึ้นครองราชย์ ก่อนปี 2534 การขึ้นครองราชย์แม้จะตั้งรัชทายาทเอาไว้ ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่รัฐธรรมนูญ 2534 กำหนดให้การขึ้นครองราชย์เป็นไปโดยอัตโนมัติ ถ้ามีการตั้งรัชทายาทเอาไว้ก็คือรัฐสภารับทราบ และองคมนตรีจะมีบทบาทในแง่ถ้าไม่มีการตั้งองค์รัชทายาทไว้ ประธานองคมนตรีจะมีบทบาทในช่วงที่พระมหากษัตริย์ทรงเสด็จสวรรคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างที่ยังไม่มีการประกาศอัญเชิญองค์พระรัชทายาทหรือองค์ผู้สืบสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ประธานองคมนตรีจะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราว ในขณะที่รัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะให้มาจากพฤฒสภา ซึ่งเป็นสภาสูงปัจจุบันก็เทียบกับวุฒิสภา แต่มาจากการเลือกตั้ง"
"ในแง่ของการคิดระบบก่อน 2490 ก็คือรัฐธรรมนูญปี 2489 เป็นตัวอย่างจะคิดรับกับหลักการในทางประชาธิปไตยตลอด พอ 2490 มาจะเป็นปัญหาแบบนี้ ก็มีคนถามว่าแล้วทำไมมันไม่เกิดเป็นปัญหาขึ้น เพราะว่าตอนนั้นมันไม่ได้เป็นประเด็นที่คนสนใจเท่าไหร่ และอีกอย่างการขึ้นมาในทางการเมือง การผงาดขึ้นของคุณทักษิณซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่ทรงอำนาจมากในช่วงเวลาหนึ่งมันก็มีผลเหมือนกัน ที่ทำให้ประเด็นพวกนี้ได้รับความสนใจ เพราะกลุ่มบุคคลที่อยู่ในสถาบันลักษณะเป็นเรื่องจารีต ชนชั้น ได้นำเอาประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้ในการขับเคลื่อนเพื่อสู้ในทางการเมือง ก็เลยเกิดสภาพแบบนี้ขึ้นมา พอเกิดขึ้นแล้วก็ต้องมาคิดแก้กัน จะแก้อย่างไรผมกลัวว่าถึงที่สุดแล้วมันจะไม่เถียงกันเรื่องเหตุผล อย่างที่ผมพูดวันนี้ ผมก็รู้ว่าถึงวันหนึ่งบรรยากาศอีกจุดหนึ่งอาจจะพูดกันไม่ได้แล้ว มันไม่พูดเหตุผลกันแล้ว วัดกันด้วยกำลังแล้วกัน ข้างไหนล่ะ มันมีอยู่สองทางเลือกเอา ผมไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น"
การแต่งตั้งองคมนตรีนั้น อ.วรเจตน์เห็นว่าควรจะเป็นเรื่องส่วนพระองค์ ไม่ใช่เป็นตำแหน่งอย่างเป็นทางการในทางกฎหมาย เพราะพระมหากษัตริย์อาจจะทรงปรึกษาคณะรัฐมนตรีได้อยู่แล้ว
"เราใช้หลัก The King can do no wrong เพราะพระองค์ไม่ทำอะไรด้วยพระองค์เอง การมีองคมนตรีก็จะเป็นปัญหาว่าพระองค์ทรงทำด้วยพระองค์เองไหม เพราะพระมหากษัตริย์ทรงตั้งองคมนตรีตามพระราชอัธยาศัย ปัญหาคือถ้ามีแล้วบทบาทขององคมนตรีถ้าอยู่ในกรอบตรงนี้ก็ไม่เป็นไร แต่พอออกนอกกรอบตรงนี้จะเป็นปัญหาทันที องคมนตรีพูดง่ายๆ ก็คือถ้าจะมี มันไม่ควรมีในรัฐธรรมนูญหรอก ในอดีตอาจจะไม่ค่อยมีปัญหาเพราะองคมนตรีก็อยู่ในกรอบมาก"
ที่มา : ประชาไท
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น