วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2554

ศปช.แถลง 1 ปีความรุนแรง พ.ร.ก.ฉุกเฉินต้นเหตุ ยอดคนตายเพิ่มเป็น 93 ยังถูกขัง 133 คน


7 เม.ย.54   ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดแถลงข่าว “1 ปีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน: ภาพรวมการละเมิดสิทธิจากการสลายชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553” โดยศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.)

กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ศปช.เก็บรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้ต้องขัง รวมถึงผู้สูญหายตั้งแต่เดือน ก.ค.53 จัดแถลงข่าวข้อมูล รวมถึงการสัมมนาไปแล้วหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ศปช.จะมีการจัดทำรายงานข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ ฉบับเต็มเผยแพร่ภายในกลางเดือนเมษายนนี้ ติดตามได้ในเว็บไซต์ http://www.peaceandjusticenetwork.org/

ขวัญระวี วังอุดม ศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และอาสาสมัคร ศปช. กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของความรุนแรงเริ่มต้นจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อ 7 เม.ย.53 ซึ่งไม่มีความชอบธรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากการบุกรุกรัฐสภาเป็นเหตุโกลาหลเพียงชั่วครู่โดยผู้ชุมนุมเพียงจำนวนหนึ่ง ไม่ได้ทำให้กลไกของรัฐทำงานไม่ได้ หรือกระทบความอยู่รอดของชาติ และขณะนั้นมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงตั้งแต่ก่อนเสื้อแดงจะเริ่มชุมนุม และเริ่มมีการปิดสื่อเสื้อแดงถึง 9,000 URL ก่อนจะปิดสื่อต่างๆ อีกจำนวนมากทันทีหลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่อย่างสูง โดยไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายอาญาและประชาชนไม่สามารถจะฟ้องร้องได้ การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังนำไปสู่ “การกระทำเกินกว่าเหตุ” กรณีการใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 ซึ่งมีหลักฐานว่าทหารมีการใช้กระสุนจริงตั้งแต่ตอนกลางวันจนมีผู้เสียชีวิต 1 รายและบาดเจ็บหลายรายโดยที่รัฐบาลไม่เคยมีคำตอบชัดเจนในเรื่องนี้ จากนั้นยังกระทำการสลายการชุมนุมในเวลากลางคืนด้วย

ขวัญระวีกล่าวว่า แม้รัฐบาลจะอ้างว่าปฏิบัติตามกฎการใช้กำลังตามหลักสากล แต่ความเป็นจริงนั้นตรงกันข้าม โดยแบ่งปฏิบัติการได้เป็น 4 ลักษณะ คือ ยิงไม่เลือกเป้า ไม่ใช่การป้องกันตนเอง, กระทำการไม่ได้สัดส่วนกับสถานการณ์ ใช้กระสุนความเร็วสูงใส่ผู้ชุมนุมมือเปล่า นักข่าวรายหนึ่งยืนยันว่าทหารเล็งยิงที่นักข่าว, มีการสั่งการสลายการชุมนุมตอนกลางคืน, ขาดการใช้อาวุธอย่างระมัดระวัง เข้มงวด โดยหน่วยกู้ภัยให้ข้อมูลว่าทหารมีอารมณ์โกรธ รู้ว่าตนเป็นหน่วยกู้ภัยเข้าปฏิบัติหน้าที่แต่ก็ยังยิง

ส่วนการแสวงหาข้อเท็จจริงก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก รัฐบาลตั้งหน่วยงานอิสระ เช่น คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) แต่ก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังไม่มีการเปิดเผยรายงานทั้งที่เกินระยะเวลาที่กำหนดในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาแล้ว

สำหรับตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม ตัวเลขทางการระบุเพียง 91 ราย ขณะที่ ศปช.ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตรวม 93 ราย โดยมีการเสียชีวิตเพิ่มในต่างจังหวัด 2 ราย หนึ่งในนั้นเป็นผู้ชุมนุมชาวขอนแก่นซึ่งโดนแก๊สน้ำตาในวันที่ 10 เม.ย. จนต้องนำส่งโรงพยาบาล จากนั้นถูกส่งไปรักษาตัวที่บ้านเกิดด้วยอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจจนเสียชีวิตในเดือนกันยายน 53 จึงสรุปในเบื้องต้นว่าการเสียชีวิตน่าจะมีความเชื่อมโยงกับการสลายการชุมนุม

ส่วนกรณีของผู้ต้องขังนั้น ข้อมูลของ ศปช. ณ วันที่ 1 เม.ย.54 พบว่ายังมีผู้ต้องขังไม่ได้รับการประกันตัวทั่วประเทศ 133 คน เป็นชาย 121 คน หญิง 12 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวพม่าและลาว 3 คน ซึ่งอ่านภาษาไทยไม่ได้และเซ็นรับสารภาพด้วยความกลัว ข้อหาส่วนใหญ่ที่ผู้ต้องขังได้รับ คือ ละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมวางเพลิงสถานที่ราชการ และก่อการร้าย ซึ่งการเข้าถึงข้อมูลผู้ต้องขังนั้นยากและไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างเป็นระบบ รวมไปถึงความช่วยเหลือของกองทุนยุติธรรมก็ไม่เพียงพอ และไม่มีข้อมูลที่เป็นระบบ
นอกจากนี้ การควบคุมตัวผู้ต้องหายังมีการนำผู้ต้องหาเอาไปไว้ที่ที่ไม่เหมาะสม มี  16 รายถูกจับอยู่บนรถตำรวจถึง  2 วัน ปัสสาวะก็ต้องทำบนรถ จะถ่ายหนักก็ต้องให้ตำรวจพาไป ผู้ต้องหาหลายรายถูกทำร้ายในช่วงจับกุม จึงตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุที่ขังไว้หลายวัน เพราะต้องการปิดรอยแผล หรือไม่มีมาตรการเพียงพอที่รองรับผู้ถูกจับกุมซึ่งมีจำนวนมาก

ส่วนผู้สูญหายนั้น ศปช.ได้รับข้อมูลจากมูลนิธิกระจกเงา ซึ่งล่าสุด สามารถยืนยันได้ว่ายังมีอีก 7 รายที่ยังไม่ทราบชะตากรรม นอกจากนี้จากข้อมูลในพื้นที่ยังเชื่อได้ว่ามีการบังคับให้สูญหายโดยรัฐ 1 ราย โดยผู้เป็นแม่เห็นลูกชายถูกยิงและเห็นทหารนำตัวขึ้นรถหายไปจนปัจจุบัน เหตุเกิดที่จังหวัดอุดรธานีในวันที่ 19 พ.ค.53

พฤกษ์ เถาถวิล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีกล่าวถึงการเก็บข้อมูลในจังหวัดอุบลฯ ในฐานะอาสาสมัคร ศปช.ว่า ได้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังที่เรือนจำจังหวัดอุบลฯ เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่ายังมีผู้ต้องขังอยู่อีก 21 คน ทั้งหมดถูกตั้งข้อหาวางเพลิงเผาสถานที่ราชการ ซึ่งมีโทษสูงมากและยังมีข้อหาอื่นๆ ตามมาอีกหลายข้อหา โดยกระบวนการจับกุม สั่งฟ้องนั้นเกิดขึ้นอย่างรวบรัดในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่มีการแสดงหมายจับ บางรายตำรวจเพียงแจ้งว่าให้มาคุยที่โรงพัก ไม่มีอะไรมาก บางรายตำรวจใช้เพียงหลักฐานภาพถ่ายซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าถ่ายที่ไหน เมื่อไร ขณะที่ผู้ต้องขังหญิงรายหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่นับสิบบุกชาร์จในที่สาธารณะกดหน้าให้หมอบกับพื้นและเอาปืนจี้ศีรษะ ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ถูกข่มขู่ด้วยวาจาให้เซ็นรับสารภาพ ไม่มีทนาย ขณะที่อัยการก็สั่งฟ้องทันที รุ่งขึ้นศาลให้รับฟังข้อกล่าวหาและถูกนำตัวไปไว้เรือนจำ

พฤกษ์ กล่าวอีกว่า มีผู้ต้องขังอย่างน้อย 4 รายที่ยืนยันว่าไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ โดยมีพยานหลักฐาน อย่างไรก็ตาม การที่ตำรวจตั้งข้อหาร้ายแรงทำให้การสืบพยานเป็นไปอย่างล่าช้า ผ่านมาหนึ่งปีเพิ่งสืบพยานฝั่งโจทก์เสร็จ โดยที่ระหว่างนี้ผู้ต้องขังไม่สามารถประกันตัวได้ ทำให้ผู้ต้องขังมีความกดดันทางจิตใจ จนหลายคนเริ่มมีอาการทางจิต ทั้งแบบซึมเศร้าและก้าวร้าว นอกจากนี้การเรียกหลักทรัพย์ประกันตัวของศาลยังสูงเกินกว่าความสามารถของจำเลย ตั้งแต่หลักหลายแสนบาทจนถึง 1.3 ล้านบาท

“การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เหมือนมีการตั้งธงข้อกล่าวหาไว้ก่อน การจับจึงมีลักษณะแบบเหวี่ยงแห เหมือนพยายามให้ได้ตัวเลขระดับหนึ่งเพื่อตอบสนองนโยบายบางอย่างของรัฐ” พฤกษ์ตั้งข้อสังเกต
ทั้งนี้ ศปช.นำเสนอข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย ดังนี้

1.ให้เปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมและนำผู้มีส่วนเกี่ยวของเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย

2.ต้องไม่นิรโทษกรรมให้ตนเอง กองทัพและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

3.ให้มีการชดเชย/เยียวยาแก่ผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง

4.ต้องเปิดเผยข้อมูลการออกหมายจับทั้งหมดต่อสาธารณะ

5.เร่งรัดให้มีการประกันตัวผู้ต้องขังทั้หมด

6.แก้ไข พ.ร.บ.ฉุกเฉินโดยนิยาม “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ให้รัดกุม, ให้รัฐสภามีบทบาทในการประกาศใช้, ปรับมาตรา 17 ที่ยกเว้นโทษอาญาให้เจ้าหน้าที่โดยให้ศาลชี้ขาดว่าปฏิบัติการมีความผิดอาญาหรือไม่

7.ยกเลิกกฎหมายละเมิดสิทธิอื่นๆ เช่น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

8. อนุญาตให้ผู้รายงานพิเศษสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ ของสหประชาชาติเข้ามาตรวจสอบ ที่ผ่านมามีการขอเข้ามาแต่รัฐไม่อนุญาต

9. อนุญาตให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง ที่ผ่านมา กาชาดสากลเคยขอหลายครั้งแต่รัฐบาลไทยปฏิเสธ


ที่มา : ประชาไท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น