วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2554

"10 เมษา" สอนให้รู้ว่า "กำลัง-อำนาจ" หยุดคนไม่ได้

โดย ชฎา ไอยคุปต์


สิทธิ เสรีภาพ คือ หน้าต่างของบ้านที่นำแสงสว่างแห่งมนุษยธรรมเข้ามา และเสรีภาพเป็นพื้นฐานของความดีทั้งมวล ที่เทิดทูน "คุณค่าของมนุษย์" 

จุดประสงค์ใหญ่ของเสรีภาพไม่ใช่เพียงแค่ความเพ้อฝัน แต่ต้องการแสวงหา"ความจริง" ไม่ใช่ต้องการเฉพาะเพื่อลดอำนาจของรัฐบาล แต่ต้องการให้เกิดความยุติธรรมขึ้นภายในชาติและความสุขของประชาช


ความจริงเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดไม่มีอำนาจใดมาคัดค้าน หรือเอาชนะได้ 


การรวมตัวกันของกลุ่มคนเสื้อแดงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นับจากวันที่ถูกเจ้าหน้าที่้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ในวันที่ 10 เมษายน 25533 หลังจากที่พวกเขามาปักหลักชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาและทวงความมยุติธรรม ยุติสองมาตรฐาน ตามสิทธิและเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย โดยไม่กลับไม่ถอยไม่หนี ช่วยกันปกป้องอาณาเขตพื้นที่ชุมนุม เพื่อแสดงให้ผู้ปกครองเห็นว่า พวกเขาจะไม่ไปไหนจนกว่าข้อเรียกร้องจะถูกนำไปพิจารณาเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคม มีพื้นที่แสดงความคิดความเห็นแสดงออกได้อย่างเสรี


ไม่ใช่ความยุติธรรมที่ต้องอยู่อย่าง ตาบอด หูหนวก เป็นใบ้ และง่อยเปลี้ยเสียขา 


แต่การทวงความยุติธรรมผ่าน "ลิ้น" ไม่อาจสู้กับอิทธิพลดินปืนได้


ไม่มีใครคาดคิดว่าการเรียกร้องตามเสรีภาพอันพึงมีต้องกลายเป็น "ผี" เฝ้าถนน 


เมื่อกองทัพนำกำลังทหารพร้อมอาวุธ โล่กระบองไว้ทุบตี ปืนลูกซองบรรจุกระสุนกระยางไว้ยิง ปืนเอ็ม 16 ไว้ป้องกันตัว และมีรถสายพานลำเลียงเป็นเกราะป้องกันอีกชั้นหนึ่ง และมีเฮลิคอปเตอร์ไว้หย่อนแก๊สน้ำตา  เจ้าหน้าที่ตั้งแถวเข้าโอบล้อมพื้นที่ชุมนุม เกือบทุกด้าน ยืนประชันหน้ากับคนเสื้อแดงที่ไม่ยอมถอยหนี

ในที่สุดเจ้าหน้าที่ได้เข้าประชิดและผลักดันผู้ชุมนุมเสื้อแดงตามคำสั่ง "ขอพื้นที่คืน" แต่เมื่อปฏิบัติจริงไม่รู้ว่าเป็น "ขอ"หรือ"ขู่"


การบัญญัติศัพท์ที่ทำให้ คำว่า "สลายการชุมนุม" ดูละมุนละไมได้ขนาดนี้ เป็นศิลปะอีกอย่างหนึ่งของนักการเมือง คือ การใช้คำพูดใหม่ๆกับเรื่องเดิมๆ เพราะรู้ว่าประชาชนมักเบื่อง่าย และชอบการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา


เสียงกระสุนนัดแรกดังขึ้นตามด้วยเสียงรัวถี่ยิบขนาดนั้น ไม่ใช่คำขอหรือคำขู่แต่เอาจริง 


ขณะที่ผู้ชุมนุมยังคงหยัดยืน ตั้งหลักปักธงไม่ยอมออกจากที่มั่น โดยไม่มีใครคาดคิดว่า สนามประชาธิปไตยจะถูกแปรเปลี่ยนให้เป็น"สนามรบ" โดยมีกำลัง 2 ฝ่าย คือ "ทหาร"กับ"ประชาชน" ซึ่งเป็นคนไทยด้วยกัน  ทหารผู้ทำหน้าที่ปกป้อง "ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์" แต่ต้องต่อสู้กับประชาชนตาม"คำสั่ง"ของผู้บังคับบัญชา เมื่อเกิดการปะทะ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ทหารต้องเป็นจำเลยทำร้ายประชาชน  


ในนาทีเผชิญหน้าระหว่าง"นักรบ"กับ"นักสู้" เสมือนฉากในอดีตที่กองทัพไทยไปตีเมือง"คืน" จากข้าศึก แต่ในคราวนี้ คือ ประชาชน ซึ่งเป็นคู่ต่อสู้ที่อ่อนแอกว่าทั้งกำลังและอาวุธ 


ครั้งนั้นเกิดการสูญเสียแบบไม่ทันตั้งตัวของทั้งฝ่ายประชาชนและฝ่ายทหาร

ตัวเลขพลเรือนที่เสียชีวิตและบาดเจ็บขยับขึ้นเรื่อยๆตามเสียงกระสุนปืนรัวดังอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เวลาบ่ายถึงดึก จากนั้นตัวเลขทหารขยับตามมาในช่วงหัวค่ำ เมื่อมีระเบิดไม่ทราบทิศทางตกลงกลางวงทหารที่พยายามเข้าสลายการชุมนุม แม้พระอาทิตย์จะลับขอบฟ้าไปนานแล้ว 


เสียงโห่ร้อง ครวญคราง โอยโอย ความเจ็บปวดทั้งกายทั้งใจ ดังขึ้นหลังจากเสียงกระสุน ระเบิด ควันจากแก๊สน้ำตา สงบลง 


สามารถนับยอดผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์วันนั้นได้จำนวน 25 คน เป็นพลเรือน 21 ราย ทหาร 4 ราย บาดเจ็บกว่า 800 คน และมีพลเรือนที่ตายเพิ่มอีกอย่างน้อย 2 คน ในจำนวนผู้บาดเจ็บยังมีผู้พิการอีกจำนวนไม่น้อยที่ ตาบอด เป็นอัมพาต ฯลฯ 


เวลาผ่านไป 1 ปีเต็ม ผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ผู้พิการ และผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่รอดตายมาจากเหตุการณ์ครั้งนั้น  เหมือนกับว่าได้เดินผ่านสมรภูมิรบ ลิ้มรสความรุนแรง ความเจ็บปวดมาร่วมกันและกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง พร้อมข้อเรียกร้องที่เข้มมากขึ้นเพื่อ "คนเจ็บ-คนตาย-คนเป็น" อัดแน่นไปด้วยปริมาณส่วนคุณภาพต้องรอดูผลหลังจากนี้


ภาพของ "กูลกิจ สุริยะแก่นทราย" หญิงวัย 59 ปี พา "วสุ สุริยะแก่นทราย" สามีวัย 60 ปี นั่งรถเข็นคนพิการมาร่วมชุมนุมที่ จ.ปทุมธานี ในโอกาสครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์ที่อ.ลาดหลุมแก้ว เธอเข็นสามีไปรอบๆพื้นที่การชุมนุมด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส เมื่อเทียบกับปีก่อนที่เธอนอนสะอื้นอยู่ข้างเตียงคนไข้ผู้เป็นสามีที่นอนนิ่ง โดยแพทย์ระบุว่า เป็น"อัมพาต" ถูกของแข็งฟาดจนกะโหลกศีรษะร้าว มีเลือดคั่งในสมอง และแขนทั้งสองข้างถูกตีมีรอยเขียวช้ำ เพราะเดินลุยไปสกัดทหารด้วยมือเปล่าอาสาอยู่แนวหน้า ตามคำบอกเล่าของภรรยา


"วสุ" ต่อสู้กับอาการอัมพาตจนดีขึ้นลุกขึ้นมาได้อีกครั้ง แม้จะยังเดินไม่ได้ แขนขวาพิการแต่ก็สามารถขยับปากพูดและพยายามอ้าปากที่บิดเบี้ยวไปข้างหนึ่งอธิบายและเล่าในสภาพลิ้นรั้ว จับใจความได้ว่า พวกเราดันกับทหารไม่ต้องมาถามว่าใครทำร้าย  นี่คือ ข้อความจากปากของ "วสุ" ที่เคลือบไปด้วยรอยยิ้มนึกย้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างปลงๆ ในวันที่ภรรยาพาออกมาเยี่ยมพี่น้องเสื้อแดง และพวกเขาทั้งคู่บอกว่าจะไปร่วมรำลึกเหตุการณ์ครบรอบ 1 ปี "10 เมษายน"


"กูลกิจ" บอกว่า ถึงจะลำบากยังไงก็อยากพาสามีออกมาร่วมชุมนุม ทันทีที่สามีรู้สึกตัวสิ่งแรกที่เขาถามถึง คือ  พวกเราชนะไหม ?  เมื่อคำตอบคือ "ไม่"  แต่พวกเราไม่มีเวลาต้องเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะไม่มีใครมาขอร้องหรือมาจ้างให้เดินทางไปร่วมชุมนุม แต่พวกเราไปกันเอง ถ้าเราไม่ไปร่วมเวทีก็ต้องเลิกไป เขาก็ลำบากเราก็ลำบาก แต่จะทำอย่างไรได้ เพราะเราอยากได้ประชาธิปไตยและความยุติธรรมก็ต้องไปร่วมชุมนุมกันให้มากๆ แม้ไม่ได้วันนี้ก็ต้องได้สักวัน


"วันที่ 10 เมษายนนี้ ครบรอบ 1ปี จะพาสามีไปร่วมงานกับคนเสื้อแดงรำลึกเหตุการณ์  เพราะเขาอยากไปดูตรงที่ถูกตีจนพิการ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยพาไปแล้วครั้งหนึ่งแกก็ชี้ให้ดูจุดที่ถูกตี แม้ว่าความจำเรื่องอื่นๆจะหลงลืมไปบ้างแต่แกไม่เคยลืมว่าถูกตีที่ไหนและใครเป็นคนลงมือ"กูลกิจ" กล่าวย้ำ


นี่คือตัวอย่างหนึ่งของคนเสื้อแดงที่กลับมาชุมนุมอีกครั้ง ของคนทุพพลภาพที่ยังคงยืนหยัด มุ่งมั่นในอุดมการณ์ต่อไป เช่นเดียวกับคนอีกจำนวนมากที่ เชื่อมั่นว่า "เสรีภาพ" ในการรวมตัวกันเป็นล้าน จะทำลายล้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรม อำนาจเผด็จการและทรราชย์ อันเป็นปีศาจของประชาธิปไตยได้


"10 เมษา"สอนให้รู้ว่า การใช้กำลัง อำนาจ หรือเผด็จการ ใช้ได้ผลแค่ขณะหนึ่งเท่านั้น



ที่มา : มติชนออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น