เสียงสะท้อนจากคนทำงานและนายจ้างยังสวนทางกัน เผยผลสำรวจ “เสียงสะท้อนจากคนทำงานถึงนายจ้าง” พบว่านายจ้างส่วนใหญ่เห็นว่าพนักงานไม่ช่วยองค์กรประหยัดค่าใช้จ่าย วอนอย่า Face Book หรือ MSN ในเวลางาน ในขณะที่ลูกจ้างเรียกร้องขอเงินเดือนเพิ่มรวมถึงการปฏิบัติที่เป็นธรรม
29 เม.ย. 54 - เว็บไซต์จัดหางานจ็อบสตรีทดอทคอมเผยผลสำรวจล่าสุดเรื่อง “เสียงสะท้อนจากคนทำงานถึงนายจ้าง” พบว่านายจ้างส่วนใหญ่เห็นว่าพนักงานไม่ช่วยองค์กรประหยัดค่าใช้จ่าย ในขณะที่ลูกจ้างเรียกร้องขอเงินเดือนเพิ่ม รวมถึงการปฏิบัติที่เป็นธรรม
นางสาวฐนาภรณ์ สถิตพันธุ์เวชา ผู้จัดการสาขาประเทศไทย บริษัท จ็อบสตรีท (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “การสำรวจครั้งนี้ทำการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างลูกจ้างในบริษัทเอกชนจำนวน 1,800 คน และ กลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการจำนวน 260 บริษัทพบว่า คนทำงานนั้นให้ความสำคัญกับเรื่องของ เงินเดือนและค่าตอบแทนทั้งในรูปของเงิน และสวัสดิการต่างๆ มาเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีถึง 52%ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด รองลงมา 12% เป็นเรื่องของการปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างเป็นธรรม และ 7% ต้องการกำลังใจและคำชมจากนายจ้าง ในขณะที่นายจ้าง 41%ร้องขอให้ลูกจ้างช่วยกันใช้ทรัพยากรขององค์กรอย่างประหยัด เพื่อลดค่าใช้จ่ายของบริษัท 36% อยากให้ลูกจ้างขยันทำงานมากขึ้น และอีก 14% อยากมาทำงานตรงเวลาและลางานน้อยลง”
ความต้องการของลูกจ้าง VS ความต้องการของนายจ้าง
ลูกจ้าง | นายจ้าง |
ขอเงินเดือนเพิ่ม การปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างเป็นธรรม รับฟังความคิดเห็น การชมเชย ให้กำลังใจ ขอเลื่อนตำแหน่ง ขอวันหยุดเพิ่ม | ให้พนักงานช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในสำนักงาน ให้พนักงานขยันทำงาน ไม่มาทำงานสาย ลาป่วยให้น้อยลง ไม่เล่น Face Book หรือ MSN ในเวลางาน |
จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2554 จัดทำโดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า จำนวนของผู้ว่างงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.68 แสนคนซึ่งลดลง 1.15 แสนคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2553 เนื่องจากเศรษฐกิจมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน จากการสำรวจของจ็อบสตรีทดอทคอมพบว่า ตัวเลขของคนที่ต้องการเปลี่ยนงานกลับเพิ่มสูงขึ้น โดยมีแนวโน้มการเปลี่ยนงานมากถึง 92%
เมื่อถามถึงสาเหตุที่ทำให้ย้ายงาน 52% ของผู้ตอบแบบสำรวจให้เหตุผล ว่า ไม่พอใจกับเงินเดือน ซึ่งส่วนใหญ่ได้เงินเดือนเพียงพอในการใช้จ่ายแต่ละเดือนแต่ไม่เหลือเก็บ มีเพียง 8% เท่านั้นที่พอใจกับเงินเดือนปัจจุบัน นอกจากนี้ยังพบว่า 23% ของผู้ที่ต้องการเปลี่ยนงานเป็นเพราะต้องการประสบการณ์ทำงานใหม่ๆ และ 13% ระบุว่าไม่พอใจเจ้านายสำหรับเหตุผลอื่น ได้แก่ งานที่ทำเครียดเกินไป ต้องการเวลามากขึ้น เป็นต้น
ในส่วนของลูกจ้างที่ยังไม่ย้ายงานนั้น 18% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่าสาเหตุที่ยังไม่เปลี่ยนงาน เนื่องจากยังหางานใหม่ไม่ได้ และ 13% พอใจสถานที่ทำงานซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เหตุผลรองลงมาได้แก่ มีเพื่อนร่วมงานที่ดี, ชอบงานที่ทำอยู่, พอใจเงินเดือน, มีเจ้านายที่ดี เป็นต้น แต่ที่น่าสนใจคือมีจำนวนเพียง 2% ที่ให้เหตุผลในการทำงานที่เดิมว่ารักองค์องค์และพอใจกับวัฒนธรรมในองค์กร
ในขณะที่ความต้องการของคนทำงานในฐานะลูกจ้างยังสวนทางกับความต้องการของนายจ้าง จ็อบสตรีทดอทคอมได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมถึงทัศนคติของลูกจ้างที่มีต่อกระบวนการพิจารณาเพิ่มเงินเดือนหรือเลื่อนตำแหน่ง พบว่า ลูกจ้างส่วนใหญ่ยังคงมีทัศนคติที่ดี โดย 48% เชื่อมั่นว่า โอกาสในการเลื่อนตำแหน่งงานอยู่ที่ผลงานและความสามารถ อีก 18% เห็นว่า เป็นเพราะเชื่อฟังและทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา และ 12% เห็นว่า ขึ้นอยู่กับอายุการทำงาน
ในทางตรงกันข้ามยังมีอีก 17% ที่มีทัศนคติในด้านลบต่อการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง และเห็นว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการเลื่อนตำแหน่งนั้นขึ้นอยู่กับ ความสนิทสนมกับผู้บังคับบัญชา, การประจบเจ้านาย, การมีพวกพ้อง และขึ้นอยู่กับโชคชะตาฟ้าลิขิต ปัจจัยเรื่องวัยวุฒิและบุคลิกภาพ เป็นเรื่องที่ถูกอ้างถึงเป็นลำดับสุดท้าย
ในมุมมองของนายจ้าง ปัจจัยที่นำมาพิจารณาเพื่อเลื่อนตำแหน่งให้พนักงาน 5 อันดับแรก คือ
1. พนักงานมีความรู้ความชำนาญในหน้าที่ที่รับผิดชอบเป็นอย่างดี 61.8%
2. ดูจากผลการประเมินการปฏิบัติงานที่ผ่านมา 58.7%
3. พนักงานมีศักยภาพในการทำงานมากกว่าตำแหน่งงานที่ทำอยู่ 52.1%
4. ดูจากผลจากการพิจารณาและการยอมรับจากผู้บังคับบัญชา 43.6%
5. พนักงานมีทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน 23.2%
นอกจากนี้สิ่งที่นายจ้างเลือกนำมาพิจารณาเพื่อเพิ่มค่าตอบแทน ซึ่งหมายรวมถึงเงินเดือน โบนัส และสวัสดิการต่างๆ ให้กับพนักงานนั้น 91.1% ของผู้ตอบแบบสอบถาม พิจารณาจากผลประกอบการของบริษัทในรอบปีลำดับที่ 2 คือพิจารณาจากผลการปฏิบัติงานของพนักงานแต่ละคนในรอบปีอันดับ 3 ดูจากผลการบรรลุเป้าหมายของฝ่าย/แผนกอันดับที่ 4 พิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้ออันดับที่ 5 พิจารณาจากข้อมูลเปรียบเทียบการขึ้นค่าจ้างของบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน
“งานสำรวจครั้งนี้ทำขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ลูกจ้างได้แสดงออกถึงความต้องการ เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งเป็นวันที่เราให้ความสำคัญกับแรงงานไทย ในการช่วยสะท้อนความต้องการของลูกจ้างเหล่านี้ ไปยังนายจ้าง ในขณะเดียวกันก็ได้นำเสนอมุมมองในส่วนของนายจ้าง เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างทั้งสองฝ่าย ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่ายังมีความคิดที่อาจจะสวนทางกันอยู่หวังว่าผลสำรวจครั้งนี้จะช่วยสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง ซึ่งจะมีผลดีต่อการปรับทัศนคติในแง่บวกให้คนทำงาน และเพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนงานการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรต่างๆ ต่อไป” นางสาวฐนาภรณ์กล่าวเพิ่มเติม
ที่มา : ประชาไท
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น