วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554

"ดอกส้มสีทอง" ควรหรือไม่ควรฉายอีกต่อไป..??

ภาพประกอบจาก
ละครดอกส้มสีทอง
กรณีที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้แจ้งเตือนไปยังสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ถึงเนื้อหาของละคร "มงกุฏดอกส้ม ดอกส้มสีทอง" ว่าไม่เหมาะสม โดยเฉพาะตัวละคร "เรยา" ที่แสดงกริยาที่ไม่ดีกับบุพการี และหากเป็นไปได้ก็ขอไม่ให้เผยแพร่ดีกว่า

*อาจารย์นิเทศฯ จุฬาฯ หนุนปรับเรตติ้ง แนะอธิบายเด็ก

อาจารย์จิรยุทธ์ สินธุพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวาทวิทยา และสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความคิดเห็น ว่า ถ้าดูจากวิธีการนำเสนอของละคร น่าจะมีการปรับเรตติ้งจาก น.13+ เป็น น. 18+ เนื่องจากมีการสอดแทรกเนื้อหาที่ค่อนข้างล่อแหลมและรุนแรง คนที่ทำละครเองก็ทำแบบเอามัน คือพยายามขยี้ให้คนดูรู้สึกสะใจ เพราะฉะนั้น เด็กควรจะได้รับคำอธิบายจากผู้ปกครอง ไม่ควรปล่อยให้ดูเฉยๆ แต่ถ้าถามว่า ควรจะให้มีการระงับการฉายเลยไหม คือมองว่า ยังไงมันก็เป็นแค่ละคร มันเป็นละครที่คนเขียนเขาอาจจะเอามาจากเรื่องจริง แต่ถูกแต่งแต้มตีไข่ใส่ให้มันดูสนุกสนานเท่านั้นเอง
 
"เรื่องของเรื่องมันเป็นช่วงเวลาที่ไม่ควรให้เด็กดูโทรทัศน์อยู่แล้ว พ่อแม่ไปปล่อยให้เด็กดูทำไม ถ้าถามเด็กว่าหนูอยากจะดูใช่มั้ย แต่แม่ไม่อยากให้ดู งั้นหนูเลือกเอาเองก็แล้วกัน"

*คำ ผกา จวกรัฐพยายามพาสเจอร์ไรส์สังคมให้ปลอดเชื้อ

ด้าน "คำ ผกา" นักเขียนและคอลัมนิสต์ชื่อดัง กล่าวว่า จริงๆ แล้วไม่เคยดูละครเรื่องนี้มาก่อน แต่การที่รัฐจะเข้าไปยุ่งกับละครก็ไม่มีเหตุผล (make sense) แล้ว สำหรับตนเชื่อว่า ในสังคมจะต้องมีทั้งความดีและความชั่ว เนื่องจากเรามีบรรทัดฐาน จุดยืน และความฝันของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คนมีสิทธิ์เชื่อว่าสถาบันครอบครัวสำคัญ ขณะที่บางคนไม่แคร์ครอบครัวก็ไม่ผิด แต่เราทั้งหมดอยู่ในสังคม ซึ่งมีกฎหมายชุดหนึ่งเรียกว่ารัฐธรรมนูญ กำหนดกรอบเอาไว้ ไม่ใช่ว่าเราจะตบใครกลางถนนก็ทำได้

"คนเราอยู่ด้วยหลักการนี้้ ไม่ควรมีใครสถาปนาความคิดใดว่าถูกต้อง รัฐพยายามพาสเจอร์ไรส์สังคมใส่กล่องปลอดเชื้อ การศึกษาก็เช่นกัน รวมถึงสื่อมวลชนของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รายการฮาร์ดทอล์ก วางตัวตรงข้ามกับรายการไร้สาระและใช้อำนาจกับความคิดคนอื่น"

นักเขียนชื่อดัง กล่าวทิ้งท้ายว่า "รัฐไม่เคยเคารพสติปัญญาของคนไทย ทั้งนี้ รัฐไม่ควรสถาปนาตนเองเป็นพ่อแม่ อย่างน้อยต้องรู้ว่าคนไทยมีสมอง รู้ว่าอะไรเหมาะกับเขา"

*มีเดียมอนิเตอร์ยกบทละครสอดแทรกคำสอน
นายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อ สุขภาวะของสังคม และเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ(มีเดียมอนิเตอร์) กล่าวว่า เห็นด้วยกับการเพิ่มเรตจาก 13+ เป็น 18+ เนื่องจากมีโครงเรื่องในเชิงชิงรักหักสวาท เกี่ยวกับความรักความใคร่ ซึ่งฉากที่มีเพศสัมพันธ์กันต้องมีเรต 18+ อยู่แล้ว แต่ไม่เห็นด้วยหากห้ามฉายเลย ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ดีและเนื้อหาไม่ได้ถึงระดับห้ามฉายเลย นอกจากนี้ อำนาจสั่งห้ามฉายก็ไม่ใช่ของกระทรวงวัฒนธรรม

"ผมคิดว่าบทสนทนาในดอกส้มสีทองมีรายละเอียด มีการสอดแทรกคำเตือนในคำพูดของตัวละครอย่างลื่นไหล และดูเป็นธรรมชาติ ตัวละครที่แวดล้อมตัวเรยาพูดจามีเหตุผล บทละครนี้สะท้อนว่านักเขียนให้ความใส่ใจ" นายธามกล่าว และว่า คิดว่ากระทรวงวัฒนธรรมไม่ได้เกาะกระแส แต่เป็นการทำงานหลังจากถูกร้องเรียนมาก อย่างไรก็ตาม กระทู้ในพันทิป ส่วนมากจะเป็นความคิดเห็นชมการเขียนบท วิจารณ์นิสัยไม่ดีของตัวละคร

ผู้จัดการมีเดียมอนิวเตอร์ กล่าวว่า ส่วนตัวแล้วอยากให้รอดูว่าเรยาจะได้รับบทลงโทษอย่างไร จำเป็นต้องดูให้จบ ละครไทยหลายเรื่องไม่ค่อยได้สอดแทรกว่าตัวร้ายจะได้รับโทษ มากที่สุดก็แค่ในตอนอวสาน แต่ดอกส้มสีทองนี้ จะแก้ปมที่ถูกผูกไปทีละนิด

*แฟนละครงง วธ.เพิ่งตื่นหลังกระแสแรง

ส่วนแฟนละครดอกส้มสีทองคนหนึ่ง กล่าวว่า ตอนแรกที่ได้ดูละคร เห็นว่าได้เรต 13+ จึงรู้สึกว่ากองเซ็นเซอร์จัดเรตน่าจะศึกษาเนื้อหาและบทให้ละเอียดกว่านี้ ไม่รู้การจัดเรตตัดสินจากอะไร พอละครมีกระแสกลับตื่นเต้น ว่าละครเรื่องนี้ไม่ดีขัดต่อศีลธรรม ด่าแม่ผู้ให้กำเนิด ทั้งนี้ ภาพยนตร์บางเรื่องมีฉากรุนแรง ยิงกันเลือดสาด ก็ได้เรต น. 13+ หรือ น. 15+ เท่านั้น อาจเป็นเพราะเรามีระบบการจัดเรตที่ไม่มีความเชี่ยวชาญมากพอ

"จะมาตื่นเต้นอะไรกันตอนนี้ ทำไมตอนแรกถึงให้เรตแค่ 13+ การเพิ่มเรตไม่ได้ทำให้เราอยากดูน้อยลง แต่กลับทำให้อยากดูเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ" แฟนละคร กล่าว และว่า เชื่อว่าผู้จัดไม่ได้ตั้งใจให้เด็กทำตามเรยา แต่เข้าใจว่าจะสอนว่าอย่าทำแบบผู้หญิงคนนี้ เพราะไม่ดี

ที่มา : มติชนออนไลน์

กวีตีนแดง: สมศักดิ์ เจียมฯ - เสรีภาพไม่เจียม


ภายหลังกฎแห่งการอยู่ร่วมถูกทำลาย
กฎแห่งการอยู่แยกพลันลุกขึ้นกร่างกลางถนน
ตบหน้าประชาชนสักครั้ง
สั่งสอนให้รู้จักสถานะของผู้ถูกกดขี่
ใคร? ที่ชื่อ สมศักดิ์ เจียมฯ
ตบหน้า สมศักดิ์ เจียมฯ สักสิบครั้ง
สั่งสอนให้รู้ว่าอย่าใช้เสรีภาพพร่ำเพรื่อ
กฎแห่งการอยู่แยกเดินกร่างไปตามตรอกซอกซอย
อ้างสิทธิ์เหยียบยืนบนพื้นที่ทับซ้อนของเสรีภาพ
ตบหน้าประชาชนสักร้อยครั้ง
หากยังไม่หลาบจำขืนใช้ถ้อยคำของ สมศักดิ์ เจียมฯ
เพียงแต่...มนุษย์ไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อจะรู้น้อยลงทุกที
กฎแห่งการอยู่แยกแสดงบทบาทของผู้ปรารถนาจะกดขี่
ประชาชนย่อมแสดงบทบาทของผู้ปรารถนาเสรีภาพ
ตบหน้าประชาชนสักพันครั้ง
หวังให้หยุดใช้ถ้อยคำของ สมศักดิ์ เจียมฯ
ตบหน้า สมศักดิ์ เจียมฯ อีกครั้ง
หวังให้หยุดใช้ถ้อยคำของประชาชน
การกดขี่...สักกี่ครั้ง
จึงจะเพียงพอต่อเสรีภาพที่ลุกลามบานปลาย
ตบหน้า สมศักดิ์ เจียมฯ
ตบหน้าประชาชน
สักหมื่น...แสน...ล้านครั้ง
หวังให้หยุดใช้ถ้อยคำของเสรีภาพ
เพียงแต่...มนุษย์ไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อจะรู้น้อยลงทุกที.
ที่มา : ประชาไท

กลไกกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต และปัญหาในไทย (2): ค่านิยมในสังคมสองขั้ว


ตอนที่ 3 ของคอลัมน์ "ความจริงจากโลกเสมือน" โดย สฤณี อาชวานันทกุล (มีนาคม 2554)
ตอนที่แล้วพูดถึงกลไกกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตว่ามี 4 ประเภทในกรอบคิดของ ลอว์เรนซ์ เลสสิก นักกฏหมายผู้เชี่ยวชาญอินเทอร์เน็ต คือ กฎหมาย กลไกตลาด ค่านิยม และสถาปัตยกรรม และพูดถึงปัญหาการใช้กฎหมายในไทยโดยสังเขปว่า นิยามของเนื้อหาบนเน็ตที่จัดว่าเป็นความผิดตามกฎหมายนั้นคลุมเครือจนเปิด ช่องให้เจ้าหน้าที่ตีความกว้างเกินไป เช่น เป็นเนื้อหาที่ “น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ” หรือ “ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ส่วนผู้บังคับใช้กฎหมายก็ยังไม่เข้าใจธรรมชาติเน็ตดีพอ
วันนี้จะหันมามองกลไก “ค่านิยม” บ้าง ว่ามันทำงานอย่างไร ค่านิยมออฟไลน์ส่งผลกระทบต่อสังคมออนไลน์อย่างไร สังคมออนไลน์มี “ค่านิยมเฉพาะ” อะไรบ้างหรือไม่
ในแง่หนึ่ง ความเป็นนิรนามในเน็ต นั่นคือ การที่เราไม่ต้องเปิดเผยตัวตนว่าอายุเท่าไร เพศอะไร หน้าตาอย่างไร ทำงานอะไร อยู่ที่ไหน มีวุฒิการศึกษามากน้อยเพียงใด เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เรา “ละเลย” ค่านิยมเชิงลำดับขั้นในสังคมนอกจอได้ เช่น ความยำเกรงระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ (บางคนอาจทักท้วงว่านอกจอเด็กสมัยนี้แม้ต่อหน้าก็ไม่ค่อยเคารพผู้ใหญ่แล้ว) ระหว่างพนักงานกับเจ้านาย หรือแม้แต่ระหว่างคนจนกับคนรวย ทำให้เรากล้าพูดอะไรๆ มากกว่าในสังคมนอกจอ และเมื่อหลายคนกล้าพูด การถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เท่าเทียมกันกว่าในสังคมนอกจอก็ สามารถเกิดขึ้นได้ในโลกออนไลน์
เมื่อมองจากมุมนี้ อินเทอร์เน็ตจึงเป็นพื้นที่ซึ่งเอื้ออำนวยให้เกิดสังคมที่มีโอกาสเป็น ประชาธิปไตยสูงมาก มากกว่าในสังคมนอกจอหลายเท่า
อย่างไรก็ตาม ในเมื่อสังคมออนไลน์ประกอบด้วยคนจริงๆ ที่มีชีวิตจิตใจ “พฤติกรรม” ของคน และ “ขนบ” ต่างๆ ในสังคมออนไลน์ส่วนหนึ่งจึงถูกกำหนดโดยพฤติกรรมและขนบในสังคมนอกจออย่างหลีก เลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าอินเทอร์เน็ตในฐานะเทคโนโลยีเปิดจะ “เอื้ออำนวย” ให้เกิดสังคมประชาธิปไตยเพียงใดก็ตาม
ตราบใดที่คนในสังคมนอกจอยังใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง เชื่อข่าวลือและคำพูดของคนดังแบบมักง่าย แทนที่จะใช้เหตุผลและขยันหาข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยตนเอง รวมทั้งยังขาดสำนึกเกี่ยวกับ “พื้นที่สาธารณะ” และการเคารพในสิทธิของผู้อื่น ตราบนั้นสังคมในจอโดยรวมก็จะไม่ใช่สังคมที่ศิวิไลซ์กว่าสังคมนอกจอสักกี่มาก น้อย
เมื่อคำนึงว่าสังคมออฟไลน์เป็นอย่างไร จึงไม่น่าแปลกใจที่สังคมออนไลน์ในบ้านเราโดยรวมจึงยังมีการละเมิดสิทธิของคน อื่นอย่างต่อเนื่อง อาทิ การก๊อปปี้เนื้อหาไปใช้โดยไม่อ้างอิงแหล่งที่มา นำอีเมลส่วนตัวมาโพสในที่สาธารณะ แฉเบอร์โทรศัพท์บ้านของคนที่เราไม่ชอบ ฯลฯ รวมถึงการกระพือข่าวลือและตีโพยตีพายตามกระแสข่าวชั่วครู่ยามต่างๆ อย่างเป็น “ดรามา” เกินเลยแก่นสารของประเด็นนั้นไปมาก
แต่ปัญหาในสังคมออนไลน์ที่ใหญ่กว่านั้นในความคิดของผู้เขียน คือปัญหาที่เกิดจากการที่สังคมไทยกำลังขัดแย้งแบ่งข้างอย่างรุนแรง ผสมกับ “พฤติกรรมรวมหมู่” ที่นักจิตวิทยาสังคม (social psychologist) กับนักสังคมวิทยาค้นพบมานานแล้ว ประกอบกับปัญหา “เกรียน” ไร้ความรับผิดชอบ
ตั้งแต่ราวทศวรรษ 1930 นักวิชาจิตวิทยาสังคมที่ศึกษาเรื่องอิทธิพลของกลุ่มที่มีต่อพฤติกรรมและความ คิดของปัจเจก ได้ค้นพบปรากฎการณ์ group polarization (การกลายเป็นกลุ่มสุดขั้ว) ซึ่งหมายถึงการที่คนในกลุ่มเดียวกัน (ที่มารวมตัวเป็นกลุ่มเพราะคิดหรือเชื่ออะไรๆ คล้ายกัน) เมื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกันไปสักพักจะเริ่มมีความคิดคล้อยตามกันไปในทางที่สุด ขั้วกว่าเดิม
ในเมื่ออินเทอร์เน็ต (ประกอบกับกูเกิล) เป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการชักนำให้คนที่คิดและเชื่ออะไรๆ คล้ายกันได้มารู้จักกัน ก็ยิ่งเป็นเรื่องง่ายที่คนจะมารวมตัวกันเป็นกลุ่มขนาดใหญ่อย่างรวดเร็วในโลก ออนไลน์ และในเมื่อมันมีขนาดใหญ่ กลุ่มนั้นๆ ก็สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปรากฏการณ์ group polarization ได้ง่ายดายกว่าในสังคมนอกจอ
นอกจากนี้ ความเป็นนิรนามที่ผู้เขียนเพิ่งบอกว่าเอื้ออำนวยต่อการแลกเปลี่ยนอย่างเป็น ประชาธิปไตยนั้น ก็ใช่ว่าจะไม่มีด้านลบ ด้านลบของมันคือทำให้ “เกรียน” จำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยอยากรับผิดชอบอะไรและละเมิดสิทธิของคนอื่นเป็นประจำใน สังคมนอกจอ รู้สึกว่า “ไม่เป็นไร” ถ้าจะใช้ถ้อยคำที่รุนแรง หยาบคาย หรือแม้แต่กุเรื่องโกหกขึ้นมาป้ายสีคนอื่น ด้วยความสะใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตามที เพราะมองไม่เห็น “คน” หลังจอที่กำลังคุยกับเราอยู่ หรือคิด(ผิด)ว่าใช้นามแฝงเสียอย่าง คงไม่มีทางที่เจ้าหน้าที่หรือใครจะมาตามจนเจอตัวตนที่แท้จริงของเราหรอก
ประเทศไทยยังไม่เคยมีกฎหมายเกี่ยวกับ “ข้อความที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง” (hate speech) และที่ผ่านมาสังคมก็ยังไม่เคยมีค่านิยมร่วมกันในเรื่องนี้ จึงไม่เคยมีบรรทัดฐาน “มาตรการทางสังคม” (social sanction) ที่มีนิยามความผิดชัดเจนและไม่เลยเถิดไปเป็นการคุกคามความเป็นอยู่ ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง ดังเช่นกรณี “การล่าแม่มด” ในโลกออนไลน์ซึ่งเกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง ภาวะที่ปราศจากกฎหมายและค่านิยมที่ชัดเจนเกี่ยวกับ hate speech ทำให้การถกเถียงเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกยังค่อนข้างจมปลักอยู่กับคนสอง ฝ่ายที่ต่างก็สุดโต่งทั้งคู่ ฝ่ายหนึ่งเรียกร้องเสรีภาพอย่างไร้ขีดจำกัด อีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้องให้ปราบปรามผู้พูดข้อความที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง แต่ตีความเนื้อหาเหล่านี้อย่างคับแคบเสียจนละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ บริสุทธิ์
ปรากฏการณ์ group polarization และความคึกคะนองของเกรียนในเน็ต (ซึ่งหลายคนก็ไม่ได้เกรียนเพื่อความสะใจของตัวเองเฉยๆ แต่เกรียนเพราะมีวาระซ่อนเร้น) ทำให้คนจำนวนไม่น้อยถลำลึกลงไปในความเชื่อหรือความคิดที่สุดขั้วขึ้นเรื่อยๆ ของกลุ่มตัวเอง ไม่อยากรับรู้ข้อมูลจากด้านอื่นที่ขัดแย้งกับกลุ่ม ถึงแม้ว่าอินเทอร์เน็ตทำให้เรามี “โอกาส” แลกเปลี่ยนกับคนคิดต่างได้อย่างง่ายดายก็ตามที
ศาสนาพุทธสอนหลักกาลามสูตร และสอนความสำคัญของสติ ศีล สมาธิ และปัญญา แต่น่าเสียดายที่คนไทยผู้ใช้เน็ตจำนวนมากไม่สนใจหลักธรรมเหล่านี้ เพราะสังคมก็แตกแยกแบ่งขั้วในเรื่องศาสนาไม่น้อยไปกว่าเรื่องการเมือง คนขั้วหนึ่งตกอยู่ในภาวะ “สำลักศีลธรรม” ที่ยึดติดกับตัวบุคคล แทนที่จะประเมินความดีและความเลวจาก “การกระทำ” และผลลัพธ์จากการกระทำเป็นหลัก คือถ้าลองปักใจเชื่อว่าใครเป็น “คนดี” แล้วละก็ คนคนนั้นจะทำอะไรก็ถูกมองว่าถูกหมด ดีหมด ในขณะเดียวกัน ถ้าเชื่อว่าใครเป็น “คนเลว” คนคนนั้นจะทำอะไรก็ผิดหมด ส่วนคนอีกขั้วหนึ่งก็กลายเป็นพวก “ไม่ใส่ใจศีลธรรม” (amoral) คือไม่เห็นความสำคัญของศีลธรรม ไม่ว่าจะเป็นศีลธรรมเชิงศาสนาหรือศีลธรรมเชิงปรัชญา (เช่น มนุษยนิยม) ก็ตาม
ผู้เขียนไม่สาธยาย ผู้อ่านก็คงพอจะเดาได้ว่า ฝ่าย “สำลักศีลธรรม” กับฝ่าย “ไม่ใส่ใจศีลธรรม” นั้นเลือกอยู่ฝั่งไหนในประเด็นเสรีภาพ ระหว่างฝ่าย “เอาเสรีภาพไร้ขีดจำกัด” กับ “ไม่เอาเสรีภาพ”
ปัญหาคือในสังคมสองขั้วที่นับวันก็ยิ่งสุดขั้วจาก group polarization มากขึ้นเรื่อยๆ ทุกขั้วจะมาร่วมกันตกลงกฏกติกา ค่านิยมที่เหมาะสมในสังคมออนไลน์ได้อย่างไร
คำถามนี้ซับซ้อน ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจะมีปัญญาตอบหรือไม่ ขอเก็บไว้เป็นการบ้านสำหรับตอนต่อๆ ไป แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนมั่นใจคือ ในเมื่อการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตที่เหมาะสมนั้นใช้แต่กฎหมายอย่างเดียวไม่ ได้ เพราะกฎหมายเป็นเครื่องมือที่ “หยาบ” เกินไป (ด้วยเหตุผลที่อธิบายไปแล้วในตอนก่อนหน้านี้) ผู้ใช้เน็ตกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตก็ควรจะเริ่มมาถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน ถึง “ค่านิยม” ที่อยากร่วมกันสร้าง ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเว็บไซต์ต่างๆ การจัดการกับ hate speech รวมไปถึงมารยาทเน็ต ซึ่งอาจ “หลวม” กว่ามารยาทในโลกออฟไลน์หลายเท่าก็ได้ เช่น ไม่ต้องถึงขนาดปิดประโยคทุกประโยคด้วยหางเสียง แต่ควรให้เครดิตแหล่งข้อมูลที่เราใช้ และเคารพในสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น โดยเฉพาะความเป็นส่วนตัว
การมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมโดยธรรมชาติของอินเทอร์เน็ตอาจทำให้โลกออ นไลน์เป็นประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน แต่ “ประชาธิปไตยคุณภาพ” ที่ทุกฝ่ายเปิดใจรับฟังฝ่ายอื่น แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รู้จัก “หาจุดร่วม สงวนจุดต่าง” เพื่อสร้างกฎกติกามารยาทที่พึงปรารถนานั้น เป็นสิ่งที่ผู้ใช้เน็ตต้องร่วมแรงร่วมใจกันสร้าง อย่างน้อยที่สุดเพื่อที่ภาครัฐจะได้ไม่มีข้ออ้างในการใช้อำนาจละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชนอีกต่อไป
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://thainetizen.org/thai-internet-regulations-problems-2

เผยผลสำรวจ นายจ้างอยากให้ลูกจ้างช่วยประหยัด-ลูกจ้างร้องสวัสดิการ


เสียงสะท้อนจากคน​ทำงาน​และนายจ้างยังสวนทางกัน เผยผลสำรวจ “​เสียงสะท้อนจากคน​ทำงาน​ถึงนายจ้าง” พบว่านายจ้างส่วน​ใหญ่​เห็นว่าพนักงาน​ไม่ช่วยองค์กรประหยัดค่า​ใช้จ่าย วอนอย่า Face Book ​หรือ MSN ​ใน​เวลางาน ​ในขณะที่ลูกจ้าง​เรียกร้องขอ​เงิน​เดือน​เพิ่มรวม​ถึง​การปฏิบัติที่​เป็นธรรม
29 เม.ย. 54 - เว็บ​ไซต์จัดหางานจ็อบสตรีทดอทคอมเผยผลสำรวจล่าสุด​เรื่อง “​เสียงสะท้อนจากคน​ทำงาน​ถึงนายจ้าง” พบว่านายจ้างส่วน​ใหญ่​เห็นว่าพนักงาน​ไม่ช่วยองค์กรประหยัดค่า​ใช้จ่าย ​ในขณะที่ลูกจ้าง​เรียกร้องขอ​เงิน​เดือน​เพิ่ม รวม​ถึง​การปฏิบัติที่​เป็นธรรม
นางสาวฐนาภรณ์ สถิตพันธุ์​เวชา ​ผู้จัด​การสาขาประ​เทศ​ไทย บริษัท จ็อบสตรีท (ประ​เทศ​ไทย) จำกัด กล่าวว่า “​การสำรวจครั้งนี้​ทำ​การสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างลูกจ้าง​ในบริษัท​เอกชนจำนวน 1,800 คน ​และ กลุ่มตัวอย่าง​ผู้ประกอบ​การจำนวน 260 บริษัทพบว่า คน​ทำงานนั้น​ให้​ความสำคัญกับ​เรื่องของ ​เงิน​เดือน​และค่าตอบ​แทน​ทั้ง​ในรูปของ​เงิน ​และสวัสดิ​การต่างๆ มา​เป็นอันดับหนึ่ง ​โดยมี​ถึง 52%ของจำนวน​ผู้ตอบ​แบบสอบถาม​ทั้งหมด รองลงมา 12% ​เป็น​เรื่องของ​การปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่าง​เป็นธรรม ​และ 7% ต้อง​การกำลัง​ใจ​และคำชมจากนายจ้าง ​ในขณะที่นายจ้าง 41%ร้องขอ​ให้ลูกจ้างช่วยกัน​ใช้ทรัพยากรขององค์กรอย่างประหยัด ​เพื่อลดค่า​ใช้จ่ายของบริษัท 36% อยาก​ให้ลูกจ้างขยัน​ทำงานมากขึ้น ​และอีก 14% อยากมา​ทำงานตรง​เวลา​และลางานน้อยลง”
ความต้อง​การของลูกจ้าง VS ​ความต้อง​การของนายจ้าง

ลูกจ้าง
นายจ้าง
ขอ​เงิน​เดือน​เพิ่ม
การปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่าง​เป็นธรรม รับฟัง​ความคิด​เห็น
การชม​เชย ​ให้กำลัง​ใจ
ขอ​เลื่อนตำ​แหน่ง
ขอวันหยุด​เพิ่ม
ให้พนักงานช่วยประหยัดค่า​ใช้จ่าย​ในสำนักงาน
ให้พนักงานขยัน​ทำงาน
ไม่มา​ทำงานสาย
ลาป่วย​ให้น้อยลง
ไม่​เล่น Face Book ​หรือ MSN ​ใน​เวลางาน
จาก​การสำรวจภาวะ​การ​ทำงานของประชากรประจำ​เดือน กุมภาพันธ์ 2554 จัด​ทำ​โดย สำนักงานสถิติ​แห่งชาติ ระบุว่า จำนวนของ​ผู้ว่างงาน​ใน​เดือนกุมภาพันธ์ 2554 มีจำนวน​ทั้งสิ้น 2.68 ​แสนคน​ซึ่งลดลง 1.15 ​แสนคน ​เมื่อ​เปรียบ​เทียบกับช่วง​เวลา​เดียวกันกับปี 2553 ​เนื่องจาก​เศรษฐกิจมี​การขยายตัว​เพิ่มขึ้น ​แต่​ในขณะ​เดียวกัน จาก​การสำรวจของจ็อบสตรีทดอทคอมพบว่า ตัว​เลขของคนที่ต้อง​การ​เปลี่ยนงานกลับ​เพิ่มสูงขึ้น ​โดยมี​แนว​โน้ม​การ​เปลี่ยนงานมาก​ถึง 92%
​เมื่อถาม​ถึงสา​เหตุที่​ทำ​ให้ย้ายงาน 52% ของ​ผู้ตอบ​แบบสำรวจ​ให้​เหตุผล ว่า ​ไม่พอ​ใจกับ​เงิน​เดือน ​ซึ่งส่วน​ใหญ่​ได้​เงิน​เดือน​เพียงพอ​ใน​การ​ใช้จ่าย​แต่ละ​เดือน​แต่​ไม่​เหลือ​เ​ก็บ มี​เพียง 8% ​เท่านั้นที่พอ​ใจกับ​เงิน​เดือนปัจจุบัน นอกจากนี้ยังพบว่า 23% ของ​ผู้ที่ต้อง​การ​เปลี่ยนงาน​เป็น​เพราะต้อง​การประสบ​การณ์​ทำงาน​ใหม่ๆ ​และ 13% ระบุว่า​ไม่พอ​ใจ​เจ้านายสำหรับ​เหตุผลอื่น ​ได้​แก่ งานที่​ทำ​เครียด​เกิน​ไป ต้อง​การ​เวลามากขึ้น ​เป็นต้น
​ในส่วนของลูกจ้างที่ยัง​ไม่ย้ายงานนั้น 18% ของ​ผู้ตอบ​แบบสำรวจระบุว่าสา​เหตุที่ยัง​ไม่​เปลี่ยนงาน ​เนื่องจากยังหางาน​ใหม่​ไม่​ได้ ​และ 13% พอ​ใจสถานที่​ทำงาน​ซึ่งอยู่​ใกล้บ้าน ​เหตุผลรองลงมา​ได้​แก่ มี​เพื่อนร่วมงานที่ดี, ชอบงานที่​ทำอยู่, พอ​ใจ​เงิน​เดือน, มี​เจ้านายที่ดี ​เป็นต้น ​แต่ที่น่าสน​ใจคือมีจำนวน​เพียง 2% ที่​ให้​เหตุผล​ใน​การ​ทำงานที่​เดิมว่ารักองค์องค์​และพอ​ใจกับวัฒนธรรม​ในองค์กร
​ในขณะที่​ความต้อง​การของคน​ทำงาน​ในฐานะลูกจ้างยังสวนทางกับ​ความต้อง​การของนายจ้าง จ็อบสตรีทดอทคอม​ได้​ทำ​การสำรวจ​เพิ่ม​เติม​ถึงทัศนคติของลูกจ้างที่มีต่อกระบวน​การพิจารณา​เพิ่ม​เงิน​เดือน​หรือ​เลื่อนตำ​แหน่ง พบว่า ลูกจ้างส่วน​ใหญ่ยังคงมีทัศนคติที่ดี ​โดย 48% ​เชื่อมั่นว่า ​โอกาส​ใน​การ​เลื่อนตำ​แหน่งงานอยู่ที่ผลงาน​และ​ความสามารถ อีก 18% ​เห็นว่า ​เป็น​เพราะ​เชื่อฟัง​และ​ทำตามคำสั่ง​ผู้บังคับบัญชา ​และ 12% ​เห็นว่า ขึ้นอยู่กับอายุ​การ​ทำงาน
​ในทางตรงกันข้ามยังมีอีก 17% ที่มีทัศนคติ​ในด้านลบต่อ​การพิจารณา​เลื่อนตำ​แหน่ง ​และ​เห็นว่า ปัจจัยที่มีผลต่อ​การ​เลื่อนตำ​แหน่งนั้นขึ้นอยู่กับ ​ความสนิทสนมกับ​ผู้บังคับบัญชา, ​การประจบ​เจ้านาย, ​การมีพวกพ้อง ​และขึ้นอยู่กับ​โชคชะตาฟ้าลิขิต ปัจจัย​เรื่องวัยวุฒิ​และบุคลิกภาพ ​เป็น​เรื่องที่ถูกอ้าง​ถึง​เป็นลำดับสุดท้าย
​ในมุมมองของนายจ้าง ปัจจัยที่นำมาพิจารณา​เพื่อ​เลื่อนตำ​แหน่ง​ให้พนักงาน 5 อันดับ​แรก คือ
1. พนักงานมี​ความรู้​ความชำนาญ​ในหน้าที่ที่รับผิดชอบ​เป็นอย่างดี 61.8%
2. ดูจากผล​การประ​เมิน​การปฏิบัติงานที่ผ่านมา 58.7%
3. พนักงานมีศักยภาพ​ใน​การ​ทำงานมากกว่าตำ​แหน่งงานที่​ทำอยู่ 52.1%
4. ดูจากผลจาก​การพิจารณา​และ​การยอมรับจาก​ผู้บังคับบัญชา 43.6%
5. พนักงานมีทัศนคติที่ดีต่อ​การ​ทำงาน 23.2%
นอกจากนี้สิ่งที่นายจ้าง​เลือกนำมาพิจารณา​เพื่อ​เพิ่มค่าตอบ​แทน ​ซึ่งหมายรวม​ถึง​เงิน​เดือน ​โบนัส ​และสวัสดิ​การต่างๆ ​ให้กับพนักงานนั้น 91.1% ของ​ผู้ตอบ​แบบสอบถาม พิจารณาจากผลประกอบ​การของบริษัท​ในรอบปีลำดับที่ 2 คือพิจารณาจากผล​การปฏิบัติงานของพนักงาน​แต่ละคน​ในรอบปีอันดับ 3 ดูจากผล​การบรรลุ​เป้าหมายของฝ่าย/​แผนกอันดับที่ 4 พิจารณาจากภาวะ​เศรษฐกิจ​และอัตรา​เงิน​เฟ้ออันดับที่ 5 พิจารณาจากข้อมูล​เปรียบ​เทียบ​การขึ้นค่าจ้างของบริษัทอื่นๆ ​ในกลุ่มธุรกิจ​เดียวกัน
“งานสำรวจครั้งนี้​ทำขึ้น​เพื่อ​เปิด​โอกาส​ให้ลูกจ้าง​ได้​แสดงออก​ถึง​ความต้อง​การ ​เนื่อง​ในวัน​แรงงาน​แห่งชาติ ​ซึ่ง​เป็นวันที่​เรา​ให้​ความสำคัญกับ​แรงงาน​ไทย ​ใน​การช่วยสะท้อน​ความต้อง​การของลูกจ้าง​เหล่านี้ ​ไปยังนายจ้าง ​ในขณะ​เดียวกัน​ก็​ได้นำ​เสนอมุมมอง​ในส่วนของนายจ้าง ​เพื่อสร้าง​ความ​เข้า​ใจระหว่าง​ทั้งสองฝ่าย ​ซึ่ง​เห็น​ได้ชัด​เจนว่ายังมี​ความคิดที่อาจจะสวนทางกันอยู่หวังว่าผลสำรวจครั้งนี้จะช่วยสร้าง​ความ​เข้า​ใจ​ให้​เกิดขึ้นระหว่างลูกจ้าง​และนายจ้าง ​ซึ่งจะมีผลดีต่อ​การปรับทัศนคติ​ใน​แง่บวก​ให้คน​ทำงาน ​และ​เพื่อ​เป็นประ​โยชน์​ใน​การวาง​แผนงาน​การบริหารทรัพยากรมนุษย์​ในองค์กรต่างๆ ต่อ​ไป” นางสาวฐนาภรณ์กล่าว​เพิ่ม​เติม

ที่มา : ประชาไท