วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554

16 องค์กร ปชต.แถลงสนับสนุนนิติราษฎร์



แถลงการณ์ 14 องค์กรประชาธิปไตย
เรื่อง สนับสนุนภาระกิจของ“ คณะนิติราษฏร์ ”

สืบเนื่องมาจากการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ประชาชนที่ต่อต้านเผด็จการต่างก็รวมตัวกันเป็นองค์กร ประชาธิปไตย และกำหนดภาระกิจที่จะต่อสู้กับระบอบเผด็จการโบราณ ต่อต้านการรัฐประหารที่บ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย เพราะเห็นภัยร้ายของระบอบเผด็จการที่ยังทรงอิทธิพลอยู่ในประเทศไทย

การรัฐประหารในครั้งนี้ เป็นปฏิบัติการ “หัวหน้าโจร บงการปล้นประชาธิปไตย”โดยชักใย พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ให้เป็น“หัวหน้าคณะ” ในนาม ค.ป.ค.หรือ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หลังจากนั้นก็ได้ใช้งาน เนติบริกรที่มีอาชีพร่างกฏหมายให้เผด็จการ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ซึ่งมีทั้งหมด 39 มาตรา

หน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่จากรัฐธรรมนูญเผด็จการฉบับนี้ ได้แก่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนรัฐสภา คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ทำหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ถูกทำรัฐประหาร ทีมงานที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญให้เผด็จการมาหลายฉบับ เป็นหัวหน้าทีม ภายหลังได้ลาออกจากการเป็นหัวหน้าทีม ค.ป ค.จึงได้แต่งตั้ง นายจรัญ ภักดีธนากุล ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการประธานศาลฎีกา ทำหน้าที่แทน

ปัญหาที่เกิดขึ้นจาก นักร่างกฎหมายที่มีทัศนะเผด็จการเหล่านี้ ได้ทำลายหลักนิติรัฐจนย่อยยับมาตลอด 4-5 ปี และทิ้ง“รังสีพิษ” แทรกซึมอยู่ในแผ่นดินไทย จนยากที่จะกำจัดออกไปได้หมดในระยะเวลาสั้นๆ เป็นการทำลายระบบนิเวศน์ของระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง โดยปฏิบัติการ “เผาป่าทั้งป่า เพื่อล่าเสือ1 ตัว”

“ รังสีพิษ ” ที่ยังแทรกซึมอยู่ในแผ่นดินไทย ได้ทำลายหลักการใช้ชีวิตร่วมกันในระบอบประชาธิปไตยอย่างยับเยิน คือ

1. ทำให้ประชาชนในประเทศนี้ ต้องใช้ชีวิตร่วมกันด้วยกฏเกณฑ์ที่ว่า ถ้าหากคุณเห็นว่าใครเป็นคนไม่ดี แม้คนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นคนดี หรือเห็นว่ายังดีกว่าพวกคุณ คุณก็สามารถสั่งการให้ลอบสังหารได้ ถ้าไม่สำเร็จก็เอาปืน เอารถถังออกมาจัดการได้ หลังจากนั้นก็ โฆษณาว่า เป็นปฏิบัติการเพื่อ ธรรมะ และตำหนิ คนส่วนใหญ่ว่าโง่ ข้อมูลไม่พอ ไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่พวกคุณทำ

2. ทำให้ประชาชนในประเทศนี้ ต้องใช้ชีวิตร่วมกันด้วยกฏเกณฑ์ที่ว่า

ประเทศนี้ออกกฏหมายใหม่เพื่อลงโทษย้อนหลังได้หากต้องการกำจัดคนที่เขาไม่ชอบ แต่ถ้าเป็นสมุนโจรที่ทำตามคำสั่งของ “หัวหน้าโจร” ก็สามารถออกกฏหมายรองรับไว้ว่า จะไม่มีความผิดทั้ง ในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต

3. ทำให้ประชาชนในประเทศนี้ ต้องใช้ชีวิตร่วมกันด้วยกฏเกณฑ์ที่ว่า เอาคนที่เป็นศัตรูกัน มาเป็นผู้ร่างกฏหมายจัดการคู่ต่อสู้ได้ เอาคนที่เป็นศัตรูกัน มาเป็นผู้สอบสวนคู่ต่อสู้ได้ เอาคนที่เป็นศัตรูกัน มาเป็นผู้ตัดสินความคู่ต่อสู้ ก็ทำได้ และคนเหล่านี้จะได้รับการโฆษณาว่า เป็นคนดี มีคุณธรรม

4. ทำให้ประชาชนในประเทศนี้ ต้องใช้ชีวิตร่วมกันด้วยกฏเกณฑ์ที่ว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าด้วย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันนั้น เขียนไว้ “ล้อเล่น” บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าด้วย การล้มล้างรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นกบฎต้องโทษประหารชีวิตนั้น เขียนไว้ “ล้อเล่น” บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าด้วย คำปฏิญานตนขององคมนตรีที่ว่า จะต้องรักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญนั้นเขียนไว้ “ล้อเล่น” เพราะนำผู้ล้มล้างรัฐธรรมนูญเข้าเฝ้าฯ เสียเอง ก็ยังทำได้

5. สำหรับประเทศนี้ จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2554 แล้ว ประชาชนยังต้องยอมรับว่า การเอาปืนเอารถถังออกมาปล้นอำนาจประชาชนสำเร็จแล้ว จะได้เป็น คนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ได้ถืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์ เป็นการใช้ชีวิตร่วมกันแบบระบบโบราณที่ถือคติ “ชนะเป็นเจ้า แพ้เป็นโจร” ไม่ใช่คติของระบอบประชาธิปไตย ส่วนผู้ที่ให้การสนับสนุน โจรปล้นประชาธิปไตย นั้น จะได้เป็นผู้นำด้านคุณธรรมของสังคม และตระเวนอบรมสั่งสอนประชาชนของประเทศนี้

“รังสีพิษ” ที่ยังตกค้างเป็นพิษต่อประชาชนในประเทศนี้ ได้ทำลายหลักการใช้ชีวิตร่วมกันในระบอบประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง การทำลายหลักนิติรัฐดังกล่าวข้างต้น เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ยังมีอีกมากมายที่บังคับให้ประชาชนไทย ดำเนินชีวิตร่วมกัน ณ ปี พ.ศ.2554 ราวกับอาศัยอยู่ในชุมโจร โดยกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลห่มกายด้วยอาภรณ์ของผู้ทรงศีล

ด้วยเหตุนี้ โดย คติ หรือปรัชญาประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญเช่นนี้ ไม่ใช่รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย นักประชาธิปไตยจึงเรียกรัฐธรรมนูญเช่นนี้ว่า “ กฏ โจร ”

หลังจากนั้นคณะเผด็จการโบราณ ได้ผ่องถ่ายอำนาจบริหารมาไว้ที่คณะรัฐมนตรี ที่ตนบงการจัดตั้งขึ้น โดยใช้งานลูกสมุนอีกคนหนึ่งคือ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและดำเนินการให้มีรัฐธรรมนูญ 2550 ในแบบที่ตนปรารถนาจนสำเร็จ โดยมีการเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549

ปรากฏการณ์ที่น่า สลดใจ คือ นักวิชาการหัวขบวน ด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ถึงระดับ ศาตราจารย์ ด๊อกเตอร์ จำนวนมาก ของประเทศนี้ เห็นดี เห็นงาม โดยเข้าร่วมปฏิบัติการ “หัวหน้าโจร บงการปล้นประชาธิปไตย” และได้รับการขุนอย่างอิ่มหมีพลีมัน ทั้งการเจริญเติบโตในตำแหน่งหน้าที่การงานและได้เป็นกรรมการต่างๆ มากมายจากงบประมาณที่ประเคนให้แก่กัน เป็นค่าจ้างตอบแทน ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งกล่อง จึงยอมเป็นสมุนโจร

และยังร่วมกันปกป้อง จนถึงปัจจุบันนี้ นี่เป็น คุณธรรมในหมู่โจร ที่ยังไม่ลืม ข้าวแดงแกงร้อนที่โจรมันราดหัวอยู่จนถึงทุกวันนี้

นักวิชาการเหล่านี้ จิตใต้สำนึกของเขารับไม่ได้ว่าคนจนที่การศึกษาน้อย จะมี 1 สิทธิ์ 1 เสียงเท่ากับ คนที่มีการศึกษาสูงเช่นตน รับไม่ได้กับรัฐบาลที่คนชนบทเลือกมา พวกเขาดูถูกเหยียดหยามประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย ว่า ถูกจ้างมา ประชาชนขอถามกลับไปว่า “คุณได้รับค่าจ้างมารับใช้ และปกป้อง คณะโจร รวมทั้งหมด มีมูลค่าเท่าไร แล้ว?”

แต่กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี วันนี้ได้มีนักวิชาการที่รวมตัวกันในนาม “คณะนิติราษฏร์” มีอุดมการณ์ “นิติศาสตร์เพื่อราษฏร” ต้องการสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ทนไม่ได้ที่ขบวนการเผด็จการร่วมกันทำลายระบบนิติรัฐของประเทศจนย่อยยับ ได้กล้าแสดงตัวออกมาเพื่อเป็น ธงชัยทางวิชาการให้แก่ขบวนการประชาธิปไตยโดยเริ่มต้นจากการรวมตัวของอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์4-5ท่านและมีสมาชิกเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมา ได้ออกแถลงการณ์ เขียนบทความ หลายสิบฉบับ และจัดสัมนาวิชาการโต้แย้งฝ่ายเผด็จการ ด้วยหลักกฏหมาย มาโดยตลอด เป็นคุณูประการที่ฝ่ายประชาธิปไตยได้ใช้เป็นข้อมูลทางวิชาการตอบโต้กับ ฝ่ายที่ปกป้องอำนาจเผด็จการ

14 องค์กรประชาธิปไตย รับทราบมาว่า ตลอดระยะเวลา3-4 ปีที่ผ่านมา ที่คณาจารย์กลุ่มนี้เคลื่อนไหวทางวิชาการ ได้ถูกข่มขู่ คุกคาม ขัดขวาง จากฝ่ายที่ปกป้องอำนาจเผด็จการมาโดยตลอด แต่ก็ยังกล้าหาญที่จะดำเนินการต่อไป

ล่าสุดได้ ออกแถลงการณ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี นิติราษฎร์ ณ. ห้อง LT 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554 มีข้อเสนอ 4 ประเด็น ดังนี้

1. การลบล้างผลพวงจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 2. การขับเคลื่อนข้อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 3. กระบวนการยุติธรรมไทยกับผู้ต้องหา หรือจำเลย และการเยียวยาผู้เสียหาย 4. การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 และการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

14 องค์กรประชาธิปไตย ได้ฟัง และอ่านแถลงการณ์แล้ว เป็นข้อเสนอที่ลึกซึ้ง และเป็นสันติวิธีที่สุดแล้ว โดย “คณะนิติราษฏร์”ได้เชิญชวนให้นักวิชาการหรือกลุ่มต่างๆทุกฝ่าย มาโต้แย้งกับข้อเสนอนี้อย่างใช้เหตุผล เป็นความกล้าหาญทางวิชาการอย่างยิ่ง แต่กลับได้รับการโต้ตอบอย่างไม่เป็นมิตรโดยใช้ภาษาเหยียดหยามบ้าง ใช้ข้อความ ด่าทอหยาบคายบ้าง โจมตีว่ารับจ้าง หรือรับงานใครมาทำบ้าง มีนักวิชาการที่รับใช้คณะเผด็จการ มาตั้งคำถามเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือว่าทำเพื่อคนๆเดียวบ้าง แต่ไม่ตั้งคำถามกับกรณี “กฏโจร” เพราะตัวเองร่วมอยู่ในขบวนการนี้

“คณะนิติราษฏร์” ได้ตอบคำถามด้วยหลักวิชาการอย่างครบถ้วน และคำตอบที่น่าประทับใจที่สุดคือคำตอบต่อคำถามที่ว่า“รับงานใครมาทำ” “คณะนิติราษฏร์” ตอบว่า “ รับงานมาจากคณะราษฏร พ. ศ. 2475 เพื่อจะสร้างประชาธิปไตยของไทยให้สมบูรณ์ ให้อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฏรทั้งหลาย”

14 องค์กรประชาธิปไตย ไม่เคยร่วมงานกับ “คณะนิติราษฏร์” มาก่อน แต่มีอุดมการณ์เดียวกันจึงขอประกาศสนับสนุน และหนุนช่วยภาระกิจของ “คณะนิติราษฏร์” อย่างสุดกำลัง และขอเป็นกำลังใจให้ “คณะนิติราษฏร์” ได้ยืนหยัดทำภาระกิจทางประวัติศาสตร์ จนกว่าจะลุล่วงอย่างสมบูรณ์ต่อไป

14 องค์กรประชาธิปไตย 
4 ตุลาคม 2554

--------------------------------------
“ในเมื่ออ้างรัฏฐาธิปัตย์ที่ได้มาจากการรัฐประหาร ว่าสามารถล้มล้างรัฐธรรมนูญของประชาชนได้ แล้วทำไม รัฏฐาธิปัตย์ที่ได้จากประชาชน จะใช้อ้างเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารไม่ได้ ” ..วรเจตน์ ภาคีรัตน์


รายนาม 14 องค์กรประชาธิปไตย


สนับสนุนข้อเสนอให้ลบล้างผลพวงจากรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549
เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 54 ของคณะนิติราษฎร์

1. กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย
2. สหภาพครูแห่งชาติ
3. องค์กรเลี้ยวซ้าย
4. กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ 40
5. สมัชชาสังคมก้าวหน้า
6. นปช. คลองสาน
7. นปช.บางกอกน้อย
8. นปช.บางแคนปช.บางขุนเทียน
9. นปช.ภาษีเจริญ
10. นปช.เทิดไทย
11. นปช.หนองแขม
12. กลุ่มแดงบางเขน
13. กลุ่มตกผลึก
(ล่าสุดมีผู้เข้าร่วมอีก 3 องค์กรรวมเป็น 16 องค์กร)

วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การเลือกตั้ง ๓ กรกฎาคม ในประเทศไทย มิใช่ธรรมดา

จรัล ดิษฐาอภิชัย
วันที่ ๓ กรกฎาคม นี้ จะมีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในประเทศไทย ดูเผยๆเหมือนเป็นการเลือกตั้งตามระบบประชาธิปไตยแต่คนที่ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองไทยมาหลายปี ย่อมเห็นว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ธรรมดา เพราะมีลักษณะพิเศษ ๒ ประการ

ประการแรก เป็นการเลือกตั้งภายหลังรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะแห่งพรรคประชาธิปัตย์ปราบปรามการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)หรือขบวนการคนเสื้อแดงที่ออกมาเรียกร้องให้ยุบสภา คืนอำนาจแก่ประชาชน อันยังผลให้มีคนเสียชีวิต ๙๒ คน บาดเจ็บเกือบ๒พันคน และถูกจับเกือบ๔ร้อยคนทั่วประเทศ การแข่งขันและการต่อสู้ในการเลือกตั้งจึงเป็นการต่อสู้ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์มือปื้นเลือดกับพรรคเพื่อไทยพันธมิตรของคนเสื้อแดง

ประการที่สอง ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเกิดมาก่อนในทางการเมืองไทย คือพรรคเพื่อไทยตัดสินใจส่งนางสาวยิ่งลักษณ์ชินวัตร เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ อันดับ๑ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี และในช่วงรณรงค์หาเสียงมา ๒ สัปดาห์ ความนิยมต่อยิ่งลักษณ์สูงขึ้นทุกวัน โพลทุกโพลพบว่า พรรคเพื่อไทยและยิ่งลักษณะนำพรรคประชาธิปัตย์และอภิสิทธิ์หลายช่วงตัว แนวโน้มที่ประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกค่อนข้างแน่นอน การเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทยครั้งนี้กำลังจะสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับยุคสมัยแห่ศตวรรษที่ ๒๑ ยุคที่สตรีก้าวมาเป็นผู้นำทางการเมืองดังเกิดขึ้นในเยอรมัน ฟิลิปินส์ ชิลี อาเย็นตินา บราซิล ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ที่ผู้คนทั่วไปทั้งคนไทยและต่างประเทศคาดหวัง ก็คือ การเลือกตั้งทั่วไป ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ จะทำให้ วิกฤติทางการเมืองอันหนักหน่วงรุนแรงมา ๕ ปี คลี่คลายลงไปแค่ไหน วิกฤติดังกล่าวมาจากความขัดแย้งและการต่อสู้ระหว่างฝ่ายจงรักภักดีอำมาตยาธิปไตยที่มีสีเหลือง เป็นสัญลักษณ์ และฝ่ายประชาธิปไตยแห่งสีแดง ที่ยังขับเคี่ยวกันทุกแนวรบทั้งทางการเมืองสังคม และเศรษฐกิจ

สุดท้าย ผู้เขียนขอเรียกร้องต่อประชาคมโลกให้เพิ่มความสนใจการเลือกตั้งในประเทศไทย ส่งเสริมสนับสนุนให้การเลือกตั้งเสรีและยุติธรรม ให้ชนชั้นปกครองไทยเคารพการตัดสินใจของประชาชน ยอมรับผมการเลือกตั้ง ให้พรรคเสียงข้างมากตั้งรัฐบาล เช่นนี้ แล้วการเลือกตั้งทั่วไปจะทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นอันย่อมมีผลทั้งในทางคุณค่าประชาธิปไตยและเอื้ออำนวยประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประชาคมโลกมากขึ้นอีกด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2554

นักวิชาการชี้ปมใหญ่สังคมไทย ไม่ยอมรับ “การเลือกตั้ง”


มูลนิธิคอนราดอเดนาวร์ ร่วมกับสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย จัดเสวนาทางวิชาการ การเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง: ฝ่าวิกฤต ฤา ซ้ำรอย “Dialogue on ‘The Role and Direction of Political Party in Thailand after 2011 Election’ ” ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรมสยามซิตี้ ถนนศรีอยุธยา ดำเนินรายการโดย จาตุรนต์ ฉายแสง ประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย, ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มธ. และ รศ.ดร.เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เสวนา: บทบาทภาคประชาชนกับการพัฒนาประชาธิปไตย

มูลนิธิคอนราดอเดนาวร์ร่วมกับสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ “บทบาทภาคประชาชนกับการพัฒนาประชาธิปไตย”เรื่องการเมืองไทยกับพรรคการเมือง ณ โรงแรมสยามซิตี้ ร่วมเสวนาโดย พีรพล พัฒนพีรเดช นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น สุรพล สงฆ์รักษ์ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ดอะ เนชั่น และศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข จากประชาไท

สหภาพไทรอัมพ์ฯยื่นปรับสภาพการจ้างในรอบ 3 ปี

สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯยื่นข้อเรียกร้องปรับสภาพการจ้าง 24 ข้อ ระบุเพื่อให้สอดรับกับสภาพสังคมในรอบ 3 ปี ด้านนายจ้างเปรยอาจมียื่นข้อเรียกร้องสวนกลับ ด้านสมาชิกสหภาพฯ แห่มอบดอกไม้ให้กำลังใจตัวแทน
สมาชิกสหภาพฯ มอบดอกไม้ของสมาชิกให้กับตัวแทนสหภาพฯ

ตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 24 ข้อ เพื่อปรับปรุงสภาพการจ้างงานในรอบ 3 ปี ต่อกรรมการผู้จัดการบริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจำกัด ผู้ผลิตชุดชั้นในสตรียี่ห้อดัง "ไทรอัมพ์" ที่บริษัทดังกล่าว ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง สมุทรปราการ

โดยนายประยูร วงศ์เล็ก ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ เป็นตัวแทนของทางบริษัทฯได้ออกมารับข้อเรียกร้องดังกล่าว พร้อมทั้งกล่าวกับตัวแทนสหภาพแรงงานฯ ว่า "จะพิจารณาดูว่าจะยื่นข้อเรียกร้องสวนหรือเปล่า"

คนงานจี้สมาคมสื่อฯแสดงท่าทีกรณีจับ "สมยศ" ในฐานะสื่อด้วยกัน

องค์การแรงงานเพื่อประชาธิปไตย ยื่นหนังสือนายกฯ จี้ปล่อยสมยศ พฤกษาเกษมสุข ชี้ผู้ถูกกล่าวหาต้องได้สิทธิประกันตัวตามกฎหมาย จากนั้น เดินทางไปสมาคมนักข่าวฯ ขอให้แสดงท่าทีต่อกรณีจับสมยศในฐานะสื่อคนหนึ่ง

หน้าทำเนียบรัฐบาล องค์การแรงงานเพื่อประชาธิปไตย นำโดยนายพรมมา ภูมิพันธ์ ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานเครืออุตสาหกรรมเบอร์ล่า เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้รับสิทธิในการประกันตัว หลังถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จับกุมตัวตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 เม.ย.54 ด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม

หนังสือดังกล่าวระบุว่า องค์การแรงงานเพื่อประชาธิปไตยเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของรัฐเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมืองที่พึงได้รับ ผู้ถูกกล่าวหาทุกคนควรใต้รับสิทธิในการประกันตัวเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ข้อเท็จจริงจากข้อกล่าวหาดังกล่าว ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 ในมาตรา 39 วรรค 2 “ในคดีอาญาต้องสันนิฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหา หรือจำเลยไม่มีความผิด” และวรรค 3 บัญญัติว่า “ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”
จากนั้น นายพันศักดิ์ เจริญ ผู้อำนวยการศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาลได้ออกมารับหนังสือและรับปากจะนำหนังสือและข้อเรียกร้องขององค์การแรงงานเพื่อประชาธิปไตยส่งถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
ต่อมา องค์การแรงงานเพื่อประชาธิปไตยได้เดินทางไปยังสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เพื่อยื่นหนังสือต่อนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯคนปัจจุบัน เพื่อเรียกร้องให้สมาคมนักข่าวฯ ออกมาแสดงท่าทีต่อกรณีดังกล่าวในฐานะที่นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นสื่อมวลชนคนหนึ่ง โดยมีนางสาวเทียมใจ ทองเมือง ผู้จัดการสมาคมฯ เป็นผู้ออกมารับหนังสือ

ภาพและข่าว : ประชาไท

"เพื่อไทย" ออกแถลงการณ์ไม่ร่วมงานกับ "ภูมิใจไทย"

"เพื่อไทย" ออกแถลงการณ์ลั่นไม่ร่วมงาน ไม่ตั้งรัฐบาลกับ "ภูมิใจไทย" เหตุมีอุดมการณ์และวิธีการทำงานต่างกันมาก

วันนี้พรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์ ลงวันที่ 2 มิ.ย. 54 มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ลงลายมือชื่อท้ายแถลงการณ์ มีรายละเอียดดังนี้

"ตามที่มีข่าวในสื่อมวลชนในทำนองว่า พรรคภูมิใจไทยและพรรคเพื่อไทยอาจร่วมทำงานการเมืองและร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ภายหลังการเลือกตั้งนั้นคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยได้ประชุมปรึกษาหารือแล้ว ขอกราบเรียนว่า พรรคเพื่อไทยมีอุดมการณ์และวิธีการทำงานแตกต่างจากพรรคภูมิใจไทยเป็นอย่างมาก

ดังนั้น พรรคเพื่อไทยมีจุดยืนที่จะไม่ร่วมทำงานทางการเมืองและร่วมจัดตั้ง รัฐบาลกับพรรคภูมิใจไทยภายหลังการเลือกตั้งในครั้งนี้

(ลงลายมือชื่อ) (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) หัวหน้าพรรคเพื่อไทย 2 มิถุนายน 2554"

ยอดประชากรคนเล่น"เฟซบุ๊ค" พุ่งเป็นพันล้านคน "ไทย" ติดอันดับ "18"

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ว่า ยอดประชากรผู้ใช้เฟซบุ๊คในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2012 จะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 1,000 ล้านคน จากปัจจุบัน 700 ล้านคน โดยประเทศที่มีอัตราเติบโตของเฟซบุ๊คมากที่สดคือ บราซิล ซึ่งปัจจุบันมีประชากรเพิ่มการเล่นเฟซบุ๊คเป็นจำนวน 1.9 ล้าน ส่วนประเทศที่มีอัตราประชากรเล่นเฟซบุ๊คเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วรวมทั้งอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เม็กซิโก และอาร์เจนติน่า โดยยอดผู้เล่นเพิ่มขึ้นดังกล่าวเปรียบเทียบแล้วคิดเฉลี่ยเท่ากับมีผู้เล่นเฟซบุ๊คเพิ่มขึ้น 20 ล้านคนต่อเดือน


โดยสำหรับอันดับท๊อปเทนของประเทศมีประชากรเล่นเฟซบุ๊คอย่างขยายตัวรวดเร็ว ได้แก่ 1.บราซิล 2.อินโดนีเซีย 3.ฟิลิปปินส์ 4.เม็กซิโก 5.อาร์เจนติน่า 6.อินเดีย 7.โคลัมเบีย 8.อียิปต์ 9.ตุรกี 10 อังกฤษ


สำหรับประเทศไทยนั้น มีอัตราเติบโตการเล่นเฟซบุ๊ค อยู่ที่อันดับที่ 18 ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 9,516,120 คน หรือมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 389,180 คน และเพิ่มขึ้นเท่ากับจำนวน 4.26 %  ส่วนอันดับ 19 ได้แก่ สเปน และอันดับ 20 ได้แก่ ญี่ปุ่น


ขณะที่สหรัฐนั้น ถือเป็นประเทศที่มีประชากรเล่นเฟซบุ๊คมากที่สุดของโลก หรือเป็นจำนวน 149 ล้านคน หรือเทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของประชากรทั่วประเทศ จำนวนนี้เป็นประชากรรัฐแคลิฟอร์เนียถึง 19 ล้านคน


การเพิ่มขึ้นของประชากรเฟซบุ๊คดังกล่าวเป็นสิ่งที่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้ว โดยกลางปีที่แล้ว เขาบอกว่า ไม่มีทางที่เฟซบุ๊คจะไม่มีสมาชิกเพิ่มขึ้นทะลุหลักหนึ่งล้านคน โดยยอดตัวเลขดังกล่าวเป็นปรากฎการณ์ที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

วิวาทะ "ณัฐวุฒิ VS ชำนิ" แนวคิด "ปรองดอง" ที่ยังมาไม่ถึง

วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ยิ่ิ่งลักษณ์...ผู้หญิงเก่งแห่งยุค!!!

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร........ผู้หญิงเก่งแห่งยุค

...กับบทบาทนักบริหารธุรกิจหมื่นล้านและหน้าที่คุณแม่คนสวย
ตอนนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้หญิงที่กำลังถูกจับตามองมากที่สุดคนหนึ่งในขณะนี้
อีกทั้งยังได้รับการกล่าวว่า....

 
….เธอคือว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย"ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"หรือ"คุณปู"
เธอเป็นบุตรคนสุดท้อง ในจำนวน9คน ของนายเลิศ และนางยินดี ชินวัตร
(ธิดาในเจ้าหญิงจันทร์ทิพย์(ณ เชียงใหม่) ระมิงค์วงศ์)
และยังเป็นน้องสาวคนเล็กของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี


…..คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเกิดเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2510 ...ปัจจุบัน ขาดเพียง30วันก็ครบ 44 ปีพอดี จบการศึกษาปริญญาตรี จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.2531 และปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์ มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเคนทักกีสเตท สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ.2533 จากนั้นได้เข้าทำงานที่ บริษัทชินวัตร ไดเร็กทอรี่ส์ จำกัด ด้วยการเป็น"เซลส์วูเม่น"ขายโฆษณาเยลโล่เพจเจส สมุดหน้าเหลือง ก่อนจะก้าวใหญ่นั่งแท่นคุม AIS ตาม SC ASSET รวมถึงดูแลไทยคม ในฐานะกรรมการและเลขาฯมูลนิธิ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้อำนวยการบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัดหรือ AIS เมื่อ พ.ศ.2545
Working Woman….
ความสามารถในการบริหารธุรกิจใหญ่ของครอบครัว หลายคนมองว่าคุณยิ่งลักษณ์ต้องจบด้านบริหารมาโดยตรง  แต่แท้จริงแล้วพบว่าจบคณะรัฐศาสตร์(มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) สาขารัฐประศาสนศาสตร์ต่างหากที่เป็นสาขาเน้น บริหารรัฐกิจ บริหารบุคคล เน้นปกครอง โดยมีความฝันแรกเริ่มเดิมที่ว่าอยากเป็นฑูต แต่เนื่องด้วยทางครอบครัวอยากให้ทำงานภายในประเทศไทย จึงลงเอยด้วยการมาช่วยธุรกิจของครอบครัว ชินวัตร

…ถ้าเอ่ยถึงการทำงานด้านธุรกิจ คุณยิ่งลักษณ์เคยย้ำปรัชญาในการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ว่า ต้องเป็นบริษัทมืออาชีพ โปร่งใส ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างลงตัวเพื่อให้ได้ตามประสงค์ อย่างที่ลูกค้าต้องการ
ส่วนแผนธุรกิจของSC ASSET ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจอสังหารริมทรัพย์ที่เข้มข้น ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในคราวนั้น

 
SC ASSETก็สานต่อแผนที่มีความโดดเด่นมาโดยตลอดด้วยจุดขาย บ้านไฮเทค ที่เป็นที่รู้จักกันว่า..i-home ได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในธรุกิจอสังหาริมทรัพย์หรือConvergenceเช่นการประหยัดพลังงานการออกแบบและความปลอดภัย เพื่อสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า ได้ใช้ระบบ CRM หรือระบบการดูแล และรู้จักลูกค้า
มอบความรักผ่านดินเนอร์หรู “The Exclusive Night for SC Family”
คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประธานกรรมการบริหาร พร้อมด้วยผู้บริหาร
บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรม
 “The Exclusive Night for SC Family”
แทนการสร้างสรรค์และใส่ใจภายใต้สโลแกน คิดด้วยรัก ดีไซน์เพื่ออนาคต
มอบให้กับลูกบ้านโครงการหรู ภายใต้แบรนด์ แกรนด์ บางกอก บูเลอวาร์ด
ร่วมดินเนอร์ในค่ำคืนพิเศษแบบเอ็กซ์คลูซีฟ

แม้ว่าบริษัทอาจจะมีการพาดพิงไปเกี่ยวกับการเมืองอยู่บ้าง
แต่คุณยิ่งลักษณ์ก็ตั้งมั่นในเจตนารมณ์ที่จะให้บริการลูกค้า
และดำเนินการผ่านไปได้

….ซึ่งจากความสามารถของ.................."ผู้หญิงแกร่งคนนี้เอง"
...เธอสามารถบริหารธุรกิจได้อย่างประสบความสำเร็จ
เพราะฉะนั้นผลงานเท่านั้นที่เป็นข้อพิสูจน์ว่า........."คุณยิ่งลักษณ์เป็นมืออาชีพ"
ไม่ใช่เพียงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น

ธุรกิจเทเลคอม
คุณยิ่งลักษณ์ได้กล่าวว่า แม้จะแตกต่างแต่เรื่องแนวคิดการจัดการนั้นเหมือนกัน
ต่างกันคือข้อมูลพื้นฐานหรือวิธีการ





เรื่องและภาพโดย: หัตถา

วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

"ทักษิณ"เปิดใจสื่อออสซี่ "ยิ่งลักษณ์"ไม่ได้เป็น"หุ่นเชิด"ทางการเมือง

พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย กล่าวปฏิเสธว่าเขาต้องการขึ้นเป็นผู้นำอีกครั้ง และยืนยันว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของเขา ไม่ได้อยู่ในฐานะ "หุ่นเชิดทางการเมือง"


พ.ต.ท. ทักษิณ กล่าวให้สัมภาษณ์ที่บ้านพักของเขาในเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แก่สถานีโทรทัศน์เอบีซีของออสเตรเลีย ในรายการ  "Lateline" ซึ่งแพร่ภาพเมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า เขามั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคมนี้


"ตามโพลของหลายสำนัก ซึ่งรวมถึงรายงานของรัฐบาลรักษาการณ์ เรามั่นใจว่าเราจะเป็นผู้ชนะ"


ด้านน.ส.ยิ่งลักษณ์เอง แทบไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน ขณะที่คนไทยจำนวนมากรู้สึกว่าการได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเธอนั้น เท่ากับเป็นการยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณยังคงมีบทบาททางการเมืองแม้ว่าจะลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศก็ตาม


พ.ต.ท.ทักษิณได้รับการสนับสนุนจากประชาชนชั้นแรงงานหรือคนที่มีฐานะยากจนจากนโยบายประชานิยมของเขา ขณะที่ประชาชนที่มีฐานะหรือบุคคลชั้นสูง มองว่าเขาทุจริตคอร์รัปชันและเป็นผู้นำแบบอำนาจนิยม แต่ก็ยอมรับว่าเขายังคงมีอิทธิพลอยู่มาก


พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวยอมรับว่าเขาอาจมีอิทธิพลด้านแนวคิดและความคิดอยู่บ้าง ทั้งนี้เนื่องจากเขามีประสบการณ์การทำงานมากกว่าคนอื่นๆ และเขาเองก็อยากให้คนอื่นๆประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน ดังนั้นเขาจึงอยากร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี และประสบการณ์ในการเดินทางไปทั่วโลก ทั้งนี้เขาปฏิเสธว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้เป็นหุ่นเชิดของเขา แต่กล่าวว่าเธอเป็น"โคลนนิ่ง"ของเขา
"ใช่ เธอเป็นน้องสาวคนเล็กของผม เธอทำงานกับผมมาตั้งแต่แรก ดังนั้นผมจึงสอนเธอ ฝึกเธอ จึงไม่แปลกที่รูปแบบการทำงานของเธอจะคล้ายผม"


เขากล่าวว่า "โคลนนิ่ง" ในความหมายของเขาคือ "การมีวัฒนธรรมเดียวกัน พื้นฐานเดียวกัน ความคิดเดียวกัน ทัศนคติเดียวกัน และคิดเช่นเดียวกัน"


ขณะที่เป็นที่เข้าใจกันว่าสิ่งสำคัญลำดับแรกที่น.ส.ยิ่งลักษณ์จะทำคือการนิรโทษกรรมนักการเมือง แต่พ.ต.ท.ทักษิณปฏิเสธว่าการกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นการล้างมลทินหรือข้อด่างพร้อยใดๆในอดีตของเขา เพื่อที่จะกลับมาสู่วงการเมืองอีกครั้ง


"การสร้างความปรองดองเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกที่ต้องทำ ไม่ใช่การนิรโทษกรรม การนิรโทษกรรมอาจเป็นส่วนหนึ่งของการปรองดองแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด"


เขากล่าวเพิ่มเติมว่า ตามกระบวนการปฏิบัติ ตัวเขาถือเป็นส่วนหนึ่งในการนำความเป็นเอกภาพมาสู่ประเทศ จริงอยู่ว่าเขาอาจได้รับผลประโยชน์ส่วนหนึ่ง แต่เขาก็ไม่กังวลมากนัก เนื่องจากเขาอยู่นอกระบบการเมืองมานานแล้ว


พ.ต.ท.ทักษิณเปิดเผยว่า เขาต้องการกลับประเทศไทยก่อนช่วงสิ้นปีนี้ เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนม์พรรษาครบ 7 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคมนี้ โดยกล่าวปฏิเสธคำกล่าวที่ว่าจุดมุ่งหมายหลักของเขาคือการกลับมาปกครองประเทศอีกครั้ง


"น้องสาวของผมอยู่ที่นั่น ดังนั้นผมจึงไม่จำเป็นต้องกลับไปเป็นนายกฯอีก"
อดีตนายกฯ กล่าวและยืนยันว่าเขาต้องการกลับไปสอนหนังสือและเล่นกอล์ฟเท่านั้น

คนไทยเป็น 5 โรคเรื้อรังพุ่ง เสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาต 10 ล้านคน

เพราะวิถีการดำเนินชีวิตขาดความสมดุล สิ่งแวดล้อมไม่ปลอดภัย มีปัจจัยเสี่ยงสารพัดที่กระทบต่อสุขภาพ เช่นอาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารจานด่วนประเภททอด ปิ้ง ย่าง หนักไปทางเนื้อกับไขมัน อาหารรสจัดๆ โดยเฉพาะหวานมากและเค็มจัด ไม่รับประทาน ผักผลไม้ มีความสะดวกสบายเกินไปจะใช้อะไรก็แค่ปลายนิ้วสัมผัส ร่างกายแทบไม่ต้องขยับ ที่สำคัญมีความเครียดสูง แถมดื่มเหล้าสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นแม้ว่าจะมีการรณรงค์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


ด้วยเหตุนี้ ทำให้คนเรามีปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนมากขึ้น และส่งผลให้กลายเป็น “โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” หรือที่เรียกว่า “โรควิถีชีวิต” แพร่ระบาดไปทั่ว และทั้งที่โรคเหล่านี้สามารถป้องกันได้ แต่สถานการณ์ปัจจุบันกลับเข้าขั้นวิกฤต


องค์การอนามัยโลกระบุว่า ในปี 2548 ในจำนวนการตายของประชากรโลกทั้งหมดประมาณ 58 ล้านคน มีถึงร้อยละ 60 ที่ตายจากโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 5 โรค คือ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง
ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น


2 ปีที่ผ่านมา มีคนไทยป่วยด้วยโรคเบาหวาน 3.5 ล้านคน แต่มีถึง 1.1 ล้านคนที่ไม่รู้ว่าตนเองป่วย ที่น่าห่วงยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ผู้ป่วยเหล่านี้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองสูงกว่าคนปกติถึง 2-4 เท่า และมากกว่าครึ่งมีความผิดปกติของระบบประสาท และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย เกิดภาวะแทรกซ้อนทางตา เท้า  และไต


ในรายที่เป็นไม่มากผู้ป่วยมักไม่มีอาการผิดปกติ แต่ในรายที่เป็นมาก (ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 200 มก./ดล.) จะมีอาการให้สังเกตได้คือ ปัสสาวะบ่อยและมาก หิวและกระหายน้ำบ่อย อ่อนเพลียไม่มีแรง บางคนปัสสาวะแล้วมีมดขึ้น อาการเหล่านี้บ่งบอกว่าถึงขั้นน่าเป็นห่วง


ต่อมาก็เป็น โรคความดันโลหิตสูง ในช่วงปีเดียวกันนั้นมีคนไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปเป็นโรคนี้สูงมากถึง 10.8 ล้านคน โดย 5.4 ล้านคนที่ไม่รู้ว่าตนเองเป็นอยู่


ความร้ายแรงแบบโดมิโนของโรคความดันโลหิตสูง อยู่ตรงที่คนที่เป็นโรคนี้มักมีคอเรสเตอรอลสูงกว่าคนปกติ 6-7 เท่า เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 และร้อยละ 25 ตามลำดับ และมีโอกาสเสียชีวิตจากหัวใจวายถึงร้อยละ 60-75 หลอดเลือดสมองแตกหรืออุดตันร้อยละ 20-30 ไตวายร้อยละ 5-10 และมีโอกาสเป็นอัมพาตมากกว่าคนปกติถึง 5 เท่า และโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าคนปกติ 2-4 เท่า


คนเป็นโรคความดันโลหิตสูงระยะแรกจะไม่แสดงอาการ แต่ก็เป็น “เพชรฆาตเงียบ” ที่สร้างความเสียหายอย่างมากมายต่อหลอดเลือดและอวัยวะอื่นๆ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบรักษาจะเกิดการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดง โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง ตา หัวใจ และไต ทำให้หลอดเลือดสมองตีบตันหรือแตก จนเกิดเป็นอัมพาต และอาจทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หรือหัวใจวายตามมา รวมทั้งเกิดโรคไตวายเรื้อรัง


สำหรับ โรคหัวใจ 2 ปีที่ผ่านมา มีคนไทยเสียชีวิตจากโรคนี้เฉลี่ย 50 คนต่อวัน หรือชั่วโมงละ 2 คน และเจ็บป่วยนับเฉพาะที่เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในมีมากเฉลี่ยถึง 1,185 รายต่อวัน  โรคหัวใจที่พบได้มากมีทั้ง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โรคหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจวาย และอื่นๆ และนับวันก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ


ผลการสำรวจพฤติกรรมคนไทยล่าสุดพบว่า คนไทยมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจสูงถึงร้อยละ 86 เพราะความนิยมบริโภคอาหารไขมันสูง ทำให้มีไขมันสะสมในเส้นเลือดแดง ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดตีบตามมา จนมีคนไทยจำนวนมากที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร


โรคหลอดเลือดสมอง หรืออัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นอีกโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มีแนวโน้มการเกิดผู้ป่วยที่สูงขึ้นมาก


โรคหลอดเลือดสมองแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ โรคหลอดเลือดสมองแตก และโรคหลอดเลือดสมองตีบ หรืออุดตัน เฉพาะปี 2550 มีคนไทยอายุ 15-74 ปี ที่ป่วยด้วยโรคนี้เพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนคน คาดว่าแต่ละปีมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 150,000 ราย 


ทุกวันนี้มีคนไทยที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคนี้อย่างไม่รู้ตัวอยู่ประมาณ 10 ล้านคน ยิ่งเป็นผู้ที่มีความดันโลหิตสูงยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 3-17 เท่าตัว เป็นโรคเบาหวานเสี่ยงเพิ่ม 2 เท่า ภาวะไขมันคอเลสเตอรอลสูงเสี่ยงเพิ่ม 1.5 เท่า และหากมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่าหนึ่งปัจจัย โอกาสเกิดโรคนี้ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ


นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่นๆ ตามมาอีก โดยเฉพาะ โรคหัวใจขาดเลือด โรคสมองเสื่อม โรคหลอดลมอุดตันเรื้อรัง และมะเร็ง


โรคนี้ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น อายุ เชื้อชาติ ภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ภาวะไขมันในเลือดสูง ความอ้วน การสูบบุหรี่-ดื่มสุรา


คนทั่วไป โดยเฉพาะคนที่อายุ 45 ปีขึ้นไป หากมีอาการแขนขาชาอ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่ง พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ หรือฟังไม่เข้าใจ เดินเซ เวียนศีรษะเฉียบพลัน ตามองเห็นภาพซ้อน หรือมองมืดมัวข้างใดข้างหนึ่ง ต้องรีบไปพบแพทย์ยิ่งเร็วยิ่งดี เพราะนี่คือสัญญาณเตือนของโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต


ด้านการรักษาปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาที่ได้ผลดี การป้องกันไม่ให้เกิดโรคจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด โดยลดปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือด ความเครียด งดสูบบุหรี่ และเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์


โรคมะเร็ง สาเหตุการตายอันดับ 1 สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2551 ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ราว 120,000 ราย และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 ในช่วง 10 ปี


มะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรกคือ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และน่าสังเกตว่า ผู้หญิงเป็นโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเริ่มพบมากในสตรีอายุ 35 ปีขึ้นไป และพบสูงสุดในกลุ่มอายุ 45 ปี เกือบร้อยละ 50 อยู่ในระยะที่มีการกระจายในต่อมน้ำเหลืองแล้ว


 มะเร็งระยะแรกๆ มักไม่ปรากฏอาการ จนเมื่อเป็นมากขึ้นจะมีอาการเฉพาะ ซึ่งขึ้นกับชนิดของโรคมะเร็งที่เป็น แต่โดยรวมแล้วอาการที่พบทั่วไปในมะเร็งทุกชนิด ได้แก่ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว อาจมีไข้เรื้อรัง ท้องอืดเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน ซีด หน้ามืดเป็นลม ใจหวิว เป็นต้น


สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่เกิดจากการได้รับสารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในอาหาร อาหารไขมันสูง อาหารเค็มจัด-หวานจัด อาหารปิ้งย่างเผาเกรียม สารเคมีในผัก-ผลไม้และสารที่ใช้ในการถนอมอาหาร อาหารที่มีสารเจือปนผสมสีสังเคราะห์ สารอะฟาทอกซิน การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ การสัมผัสแสงแดดจัดเป็นประจำ การได้รับเชื้อไวรัส การติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ และอื่นๆ มีเพียงส่วนน้อยที่มาจากความผิดปกติในร่างกายหรือพันธุกรรม


หันมาดูตัวเองแล้ว หากใครจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง ก็ควรหมั่นไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินความเสี่ยงการเป็นมะเร็ง เพราะการตรวจพบระยะแรก โอกาสรักษาให้หายขาดจะมีมากขึ้น


การรู้เท่าทันโรคภัยพร้อมกับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตสู่พฤติกรรมใหม่ที่เป็นผลดีต่อสุขภาพ จะเป็นวิถีทางสู่การ “ลดทุกข์ สุขเพิ่ม” เพื่อการมีสุขภาพที่ดีในระยะยาว

ความเสี่ยงของผู้ประกันตน

ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์
ระบบประกันสังคมในประเทศต่างๆ ถือกำเนิดมาเพื่อจัดการความเสี่ยงให้กับลูกจ้างหรือผู้มีงานทำทั้งหลาย ความเสี่ยงที่ว่านี้ประกอบด้วย ความเสี่ยงจากการบาดเจ็บ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ มีบุตร เป็นหม้าย ว่างงาน ชราภาพ และการสูญเสียชีวิต แต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกันในเรื่องของความครอบคลุมของความเสี่ยง วิธีการหาเงิน จ่ายเงิน และบริหารจัดการ


ระบบประกันสังคมของไทยก็เช่นเดียวกัน ถือกำเนิดมาเพื่อช่วยลูกจ้างจัดการกับความเสี่ยงโดยตกลงว่าจะให้ความคุ้มครองหรือให้สวัสดิการ 7 ประเภทคือ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร เสียชีวิต ว่างงาน สงเคราะห์บุตร และชราภาพ โดยเงินที่นำมาใช้จ่ายเพื่อสวัสดิการเหล่านี้มาจาก 3 ฝ่ายคือ ลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล ในปัจจุบันลูกจ้างและนายจ้างสมทบเงินฝ่ายละ 5% ของเงินเดือนที่ไม่เกิน 15,000 บาท และรัฐบาลสมทบ 2.75% ของฐานเงินเดือนเดียวกัน เงินสมทบทั้งหมดถูกรวมในกองทุนประกันสังคม ซึ่งมี สำนักงานประกันสังคมเป็นผู้บริหารจัดการกองทุน

กฏหมายประกันสังคมบัญญัติว่า เงินกองทุนเป็นของสำนักงานประกันสังคมไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ต้องขอย้ำว่าสำนักงานประกันสังคมเป็นหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็น เครื่องคอมพิวเตอร์ รถยนต์ ตึก ถ้าใช้เงินจากกองทุนฯ ซื้อก็ต้องเป็นสมบัติของรัฐ ไม่ใช่ทรัพย์สมบัติของผู้ประกันตน และไม่ใช่สมบัติของกองทุนประกันสังคม เพราะกองทุนไม่มีตัวตนตามกฎหมาย ไม่ใช่นิติบุคคล

ประกันสังคมออกแบบมาเพื่อจัดการความเสี่ยงในชีวิตการทำงานให้กับผู้ประกันตน แต่ด้วยการบริหารจัดการภายใต้กฏหมายและระเบียบที่ล้าสมัยและไร้เดียงสา ทำให้ผู้ประกันตนต้องเผชิญกับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 เรื่องคือ

เรื่องแรกเสี่ยงต่อการบริหารจัดการแบบราคาแพงและมีความขัดแย้งของผลประโยชน์มากมาย กฎหมายอนุญาตให้ใช้เงินได้ถึง 10% ของเงินสมทบเพื่อการบริหารจัดการและกฎหมายก็ไม่มีการกล่าวถึงการจัดการเรื่องความขัดแย้งของผลประโยชน์ในการบริหารจัดการกองทุน

และเรื่องที่สองเสี่ยงว่าเมื่อถึงเวลาที่ผู้ประกันตนจะได้รับสวัสดิการชราภาพ ประกันสังคมกลับเหลือเงินไม่พอจ่ายให้กับผู้เกษียณอายุ  

ในที่นี้ขอเน้นเฉพาะความเสี่ยงเรื่องที่สอง

เมื่อต้นปี 2542 เป็นจุดเริ่มต้นที่สำนักงานประกันสังคมเริ่มเก็บเงินสมทบกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ ด้วยความที่สวัสดิการทั้งสองประเภทนี้เริ่มต้นเก็บเงินสมทบพร้อมกัน สำนักงานประกันสังคมจึงรวมเงินไว้ด้วยกันแล้วเรียกว่าเป็นเงินสำหรับ 2 กรณี

ขอแวะข้างทาง ออกนอกเรื่องหน่อยเถอะ

การรวมเงินสมทบ 2 ส่วนนี้เข้าด้วยกันเป็นการบริหารแบบไร้เดียงสาและทำให้ผู้ประกันตนเสียประโยชน์ เงินส่วนที่ใช้สงเคราะห์บุตรเป็นสวัสดิการระยะสั้น รับเงินมาแล้วก็จ่ายไปตามภาวะการเกิดมากหรือเกิดน้อย

ส่วนเงินสำหรับชราภาพ (ไม่ว่าจะเป็นบำเหน็จหรือบำนาญ) เป็นสวัสดิการระยะยาว รับเงินมาแล้วต้องสะสม ลงทุน เพื่อให้เกิดผลตอบแทนที่ดีและมั่นคง เพื่อการใช้จ่ายในอนาคตอันยาวไกล หรือยามบั้นปลายของชีวิต ผู้ประกันตนเสียประโยชน์เพราะในปัจจุบันรัฐได้อ้างว่าได้สมทบเงิน 1% เพื่อการสงเคราะห์บุตรและชราภาพแก่ผู้ประกันตนแล้ว ดังนั้น ผู้ประกันตนไม่มีสิทธิได้รับการสนับสนุนการออมเพื่อการชราภาพแบบอื่น เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. ที่กำลังจะเริ่มต้นเก็บเงินสมทบในปีหน้า

ถ้าไปดูระเบียบการจ่ายบำเหน็จแก่ผู้ประกันตนที่อายุ 55 ปีขึ้นไป จะพบว่า ผู้ประกันตนได้รับเงินเฉพาะส่วนที่ตนและนายจ้างสมทบรวมกับผลตอบแทนการลงทุนเท่านั้น

เท่านี้ก็พิสูจน์แล้วว่าส่วนที่รัฐให้ 1% นั้นแท้จริงแล้วใช้เพื่อการสงเคราะห์บุตร

รัฐไม่ควรจำกัดสิทธิของผู้ประกันตนในการได้รับสวัสดิการ กอช. เช่นเดียวกับที่รัฐให้การสนันสนุนประชาชนกลุ่มอื่นๆ
ขอวกกลับเรื่องความเสี่ยงต่อ

เงินที่ผู้ประกันตนและนายจ้างสมทบออมมา 10 กว่าปีนั้นยังไม่ครบกำหนดการจ่ายบำนาญ จนกระทั่งปี 2557 ในปีแรกๆ คนมีสิทธิรับบำนาญจะยังมีน้อย แต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนไทยโดยรวมอายุยืนขึ้นและในที่สุดจำนวนผู้รับบำนาญก็จะสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัญหามันอยู่ที่ รายได้จากเงินสมทบกับรายจ่ายบำนาญไม่สมดุลกัน ซึ่งสร้างความเสี่ยงแก่ผู้ประกันตน ณ วันหนึ่งรายได้จะไม่เพียงพอกับรายจ่าย ณ วันนั้น ก็ไม่ได้ยาวไกลนักประมาณ 25-30 ปีเท่านั้น

อัตราเงินสมทบเพื่อสวัสดิการชราภาพส่วนของผู้ประกันตนและนายจ้างรวมกันเท่ากับ 6% ของเงินเดือน ส่วนอัตราการจ่ายบำนาญขั้นต่ำเท่ากับร้อยละ 20 ของเงินเดือน ถ้าส่งเงินสมทบเกิน 15 ปี ก็จะได้เพิ่มอีกปีละ 1.5% ต่อปีที่สมทบเพิ่ม ตัวอย่างเช่น ส่งเงินสมทบ 16 ปี จะได้บำนาญในอัตรา 21.5% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ

ด้วยการเปรียบเทียบแบบง่ายๆ จะเห็นได้ว่าถ้าเราจ่ายเงินสมทบ 6% ต่อเดือนเป็นเวลา 15 ปี จะได้รับบำนาญเดือนละ 20% ไปจนตาย

ในปัจจุบันนี้อายุเฉลี่ยของคนไทยเท่ากับ 73 ปี ถ้าหากเกษียณตอนอายุ 55 ปี เราสามารถประมาณได้ว่าการรับบำนาญซัก 5 ปีก็จะคุ้มเงินที่จ่ายไปแล้ว ส่วนที่เหลือของการรับบำนาญอีก 13 ปีเป็นเงินของผู้อื่นทั้งนั้น ผู้อื่นคือใคร เขาก็คือผู้ประกันตนวัยทำงานที่กำลังส่งเงินสมทบอยู่และรอรับบำนาญในอนาคต ลองคิดดูว่าถ้าเราฝากเงินในธนาคารยังได้รับการประกันเงินฝาก อย่างน้อยก็ได้เงินคืน กรณีนี้ผู้ประกันตนวัยทำงานจะบอกไม่ได้เลยว่าสมทบไปแล้วจะได้อะไรกลับหรือไม่

ด้วยเหตุที่คนเกษียณอายุจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดที่เงินที่สะสมเป็นล้านล้านบาทนั้นค่อยๆ จ่ายออกไปจนหมด และติดลบอย่างรวดเร็ว เช่น ในปีที่ 3 ของการติดลบนั้นกองทุนต้องการเงินถึงกว่า 8 แสนล้านบาทมาชดเชยส่วนที่ขาด คราวนี้ผู้ประกันตนจะทำอย่างไรต่อ สำนักงานประกันสังคมจะไปหาเงินมากมายมาจากไหน
อย่างเพิ่งสิ้นหวัง ปัญหาต้องมีทางแก้ ลองเลือกเอาจาก 3 แนวนี้

1. ปล่อยไปเรื่อยๆ เงินหมดเมื่อไร ค่อยว่ากัน เรื่องของอนาคตคิดทำไม เราต้องอยู่กับปัจจุบัน Que Sera Sera แนวทางนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารประกันสังคมหรือกระทรวงแรงงาน และรัฐบาลในยุคปัจจุบัน ต้องกด Like

2. คำนวณอัตราเงินสมทบใหม่ ให้เกิดความสมดุลของรายได้และรายจ่ายที่จะเกิดในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่าผู้ประกันตนจะต้องสมทบเงินเพิ่ม คนตายเร็วก็เอาเงินส่วนที่สมทบมากเกินไปช่วยจ่ายเป็นบำนาญให้แก่คนที่ตายช้า กระจายความเสี่ยงระหว่างผู้เกษียณทุกคนร่วมกัน

3. แก้กฎกระทรวงการจ่ายบำเหน็จบำนาญใหม่ แทนที่จะจ่ายเงินแบบตลอดชีวิตโดยไปเอาส่วนของคนอื่นมาใช้ ก็เปลี่ยนเป็นจ่ายบำเหน็จบำนาญจากส่วนที่ตนและนายจ้างช่วยกันสมทบ ถ้าอยากได้บำนาญมากๆ ไปตลอดชีวิต ก็ต้องสมทบเพิ่ม โดยที่คนอื่นจะมาล้วงเอาส่วนของเราไปใช้ไม่ได้ 

อย่างไรก็ดี หนทางที่ 2 และ 3 นั้นก็ช่างเป็นแค่แนวทาง เพราะที่จริงแล้วผู้ประกันตนแทบจะไม่มีช่องทางในการตัดสินเรื่องเหล่านี้เลย

ตัวแทนลูกจ้างในคณะกรรมการประกันสังคมก็คงกด Like ข้อ 1 เหมือนกัน

สุดท้ายไม่ว่าจะเลือก 1 หรือ 2 หรือ 3 ผู้ประกันตนก็หนีไม่พ้นความเสี่ยงเรื่องที่ 1 ที่กล่าวไว้ตอนต้น.

(ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย)