วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2554

นักวิชาการชี้ปมใหญ่สังคมไทย ไม่ยอมรับ “การเลือกตั้ง”


มูลนิธิคอนราดอเดนาวร์ ร่วมกับสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย จัดเสวนาทางวิชาการ การเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง: ฝ่าวิกฤต ฤา ซ้ำรอย “Dialogue on ‘The Role and Direction of Political Party in Thailand after 2011 Election’ ” ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรมสยามซิตี้ ถนนศรีอยุธยา ดำเนินรายการโดย จาตุรนต์ ฉายแสง ประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย, ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มธ. และ รศ.ดร.เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


จาตุรนต์ ฉายแสง
บ้านเมืองหลังการเลือกตั้ง ถ้ามองแบบคณิตศาสตร์ก็มีความเป็นได้อยู่ 2-3 แบบ ที่ใครจะจับขั้วกับใคร จนได้เป็นรัฐบาล ที่ผ่านมาคอลัมนิสต์หรือหนังสือพิมพ์มองว่าถ้าเพื่อไทยได้เสียงมากกว่าประชาธิปัตย์ แต่ว่ายังห่างจากครึ่งหนึ่ง เช่น 200 หรือ 210 เสียงประชาธิปัตย์ก็คงจะตั้งรัฐบาลได้ และบางพวกก็มองว่าเค้าคงไม่ยอมให้เพื่อไทยตั้งรัฐบาล แต่ถ้าเสียงได้ถึงครึ่งหรือเกินครึ่ง โอกาสที่เพื่อไทยจะตั้งรัฐบาลได้ก็มี

ถ้าประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาล การเมืองก็จะย้อนกลับมาคล้าย ๆ สองปีก่อนยุบสภา คือได้พรรคร่วมรัฐบาลเหมือนปัจจุบัน แล้วอาจจะมีปัญหาอะไรที่คล้ายกับปัจจุบันหรือจะพัฒนาไปอีกแบบหนึ่ง

ถ้าเพื่อไทยได้เสียงเกินครึ่งแล้วตั้งรัฐบาล ก็อาจจะเลือกพรรคร่วมรัฐบาลง่ายหน่อย แต่ก็คงจะต้องเจอเสียงคัดค้านเสียงต่อต้านในช่วงแรกซึ่งก็คงไม่ถนัดเท่าไร ทั้งยังมีผู้ที่ไม่อยากเห็นเพื่อไทยตั้งรัฐบาล ผู้ที่สกัดกั้นมาตลอดจะยอมหรือเปล่า จะปล่อยให้บริหารนานเท่าไร จะมีการใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญมาจัดการหรือกลไกนอกสภา เช่น การชุมนุมที่เรียกร้องให้ไทยต้องรบกับกัมพูชาจะเข้มข้นขึ้นมั้ย แล้วจะมีเสียงประสานมาจากส่วนอื่นมากน้อยแค่ไหน

ถ้าเพื่อไทยได้เสียงไม่ถึงครึ่งหนึ่ง แล้วมีพรรคเล็กหรือพรรคขนาดกลางบางพรรคมาร่วมแล้วตั้งรัฐบาลได้ ก็จะคล้ายกับเมื่อตอนพรรคพลังประชาชนเป็นแกน แล้วต่อมาก็ต้องเจอการชุมนุม ตามมาด้วยการยุบพรรคโดย กกต.และศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็เปลี่ยนรัฐบาล ในระหว่างนั้นมันก็มีพัฒนาการของการเมืองนอกสภา ทั้งการชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลของเสื้อเหลืองกลุ่มพันธมิตรฯ ขณะเดียวกันก็มีการเคลื่อนไหวของเสื้อแดงซึ่งก็มีพัฒนาการจากที่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยุบสภาแล้วการชุมนุมก็ยุติไปโดยมีการมอบตัวดำเนินคดี พอถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ แกนนำของคนเสื้อแดงจำนวนมากมาลงสมัครรับเลือกตั้งอยู่ในพรรคเพื่อไทย คือการรวมสองอย่างนี้เข้าด้วยกันมุ่งไปสู่โจทย์เดียวกันคือชนะเลือกตั้ง การเคลื่อนไหวนอกสภาอย่างเสื้อแดงมีพัฒนาการที่น่าสนใจตรงที่ว่าเข้ามารวมกับพรรคการเมืองเพื่อจะเอาชนะการเลือกตั้ง

แต่ถ้านำภาพจำลองตามแบบต่าง ๆ ดังกล่าวมาโยงกับความขัดแย้งทางการเมืองที่สะสมมาในรอบ 5-6 ปีมานี้ ก็น่าสนใจมากว่าความขัดแย้งดังกล่าวเมื่อมาเจอกับคณิตศาสตร์แต่ละแบบจะนำไปสู่อะไร การเมืองไทยจะพัฒนาต่อไปอย่างไร ความขัดแย้งจะคลี่คลายหรือว่าจะเขม็งเกลียวมากขึ้น ที่น่าสนใจมากผมคิดว่าหลังจากระยะนั้นแล้ว ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร ถ้าความขัดแย้งในสังคมไทยยังคงมีอยู่อย่างที่เป็นมาและยังไม่ถูกแก้ในเรื่องใหญ่ ๆ เช่น กติกา วัฒนธรรมทางการเมือง บรรยากาศแวดล้อมทางการเมืองที่ใครเคยมีอำนาจบทบาทอย่างไรก็ยังอยากมีอำนาจบทบาทนั้นอยู่ต่อไป จะทำให้เกิดอะไรขึ้นกับการเมืองไทย จะเกิดอะไรกับวิกฤตทางการเมืองที่ได้สะสมมาตลอดห้าหกปี

หัวใจของปัญหาการเมืองไทยอยู่ที่การไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง
“ยอมรับผลการเลือกตั้ง” กับ “รักษาระบบ” ดูเหมือนสองอย่างนี้จะห่างไกลกับสังคมไทยมาก สังคมไทยมีปัญหาตั้งแต่ไม่ยอมรับการเลือกตั้ง เริ่มตั้งแต่ความคิดง่าย ๆ ว่า ประชาชนยังโง่อยู่ ปล่อยให้ตาสีตาสามามีเสียงเท่ากับนักคิด หรือราษฎรอาวุโสได้อย่างไร ความคิดที่ว่าเลือกตั้งไปก็ไม่มีประโยชน์ มีมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร ตอนหลังมาเรื่องของการยอมรับไม่ยอมรับผลของการเลือกตั้งเป็นหัวใจสำคัญของปัญหาวิกฤตของประเทศไทย

ตอนนี้ดูเหมือนว่าความคิดที่ว่านี้มีทั้งที่เปิดเผยและที่ซ่อน ๆ อยู่ คำถามมีมาว่าทั้งเสื้อแดง และผู้มีอำนาจจะยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งนี้มั้ย ส่วนเรื่องว่ายอมรับผลการเลือกตั้งเสียเถิดเพื่อเห็นแก่ระบบ ดูจะห่างไกลจากสังคมไทยมากในความเป็นจริง หมายความว่าเขาไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งถึงขั้นว่ายอมล้มระบบไปก็ได้ คือบอกว่าระบบไม่สำคัญหรอก รัฐธรรมนูญไม่สำคัญหรอกมันเป็นกระดาษ ฉีกเสียก่อนก็ได้ถ้าประเทศจะเสียหาย ไม่ต้องมีรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็ได้ ก็ไม่สำคัญอะไรเมื่อคนเขียนได้ก็ฉีกมันทิ้งได้ แล้วระบบมันจะเปลี่ยนไปยังไงก็ได้ขอให้มีคนดีบริหารประเทศ สภาพแบบนี้เป็นปัญหาพื้นฐานมาตลอด

มาช่วงหลังมีหลายฝ่ายเตรียมเหตุผลที่จะไม่ยอมรับการเลือกตั้งไว้ในกระเป๋าแล้ว เราจะมีการเลือกตั้งได้ต้องได้รับการอนุญาตจากกองทัพก่อน กองทัพบอกว่าเราจะไม่รัฐประหารแล้ว เชิญเถอะมีการเลือกตั้งแน่ ประเทศนี้ก็เลยมีเลือกตั้ง ใครมาเป็นรัฐบาลก็ได้ กองทัพรับได้ทั้งนั้น แต่ว่าพอถึงเวลาจริง ๆ แล้วรัฐมนตรีกลาโหมไม่ใช่คนในกองทัพไม่รู้จะรับได้หรือเปล่า หลังสุดมีความเห็นเรื่องโหวตโน คือใครก็ไม่รับ พรรคไหนก็ไม่เอา คือบอกว่าอย่าเลือกสัตว์เข้าสภา สภาพอย่างนี้จะไปถึงขั้นไหนกัน การเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้มีอะไรดีขึ้นไหม

ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
การเมืองไทยหลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ผมคิดว่ามีอนาคต ตามความคาดหวังของคนทั่วไปกว้าง ๆ มีสองทางที่จะเป็นไปได้คือ 1.เปลี่ยนผ่านอย่างสงบสันติ 2.เกิดความรุนแรง ซึ่งมันมีความเป็นไปได้ทั้งสองอย่างขึ้นกับปัจจัยในช่วงเวลานั้น ๆ แต่ผมให้น้ำหนักไปที่การเปลี่ยนผ่านไปสู่การที่จะยอมรับกันมากขึ้น คือยอมรับระบบ ยอมรับผล เพราะธรรมดาการเลือกตั้งย่อมนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง

การยอมรับที่ว่า หมายถึงการเกิดสิ่งที่เรียกว่าความชอบธรรมทางการเมือง คือบรรยากาศของความชอบธรรมทางการเมืองจะต้องเกิดขึ้น นี่คือสภาพที่เป็นปกติของการเมืองในที่ต่าง ๆ ทั่วไป โดยเฉพาะในประเทศที่การเมืองราบรื่น ต่อเนื่องและสันติมากกว่าการใช้กำลังนอกระบบ จะพบว่าความชอบธรรมทางการเมืองของเขาค่อนข้างสูง แม้จะมีอุบัติเหตุอะไรบ้างแต่พูดได้ว่าแรงจูงใจที่จะยอมรับความชอบธรรมจะมีมากกว่า

เช่น กรณีหลายปีก่อนที่บุชกับอัลกอร์จากเดโมแครทคะแนนสูสีกันมาก แล้วคะแนนจะมาตัดสินกันที่รัฐฟลอริด้า ซึ่งคะแนนของบุชชนะ แต่ก็มีการท้วงมาว่าคะแนนที่ได้จากฟลอริด้าเกิดจากการใช้อำนาจมืด ก็มีการฟ้องศาลให้นับคะแนนกันใหม่ พอนับไปสักพักมีแนวโน้มว่าคะแนนตีกลับไปอีกข้าง อัลกอร์เริ่มมีโอกาสเขาเลยทำเรื่องไปถึงศาลสูงของฟลอริด้าเพื่อให้เรียกให้มาตัดสินกันใหม่หมดว่าใครจะได้ไม่ได้ ตอนนั้นคาดกันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะพลิกล็อคแน่ ศาลจะตัดสินให้อีกฝ่ายได้ แต่ว่าก่อนที่จะมีการตัดสินมีการเจรจากันหลังศาล ในที่สุดมีข้อเสนอยุติการใช้ศาลตัดสิน เลิกราต่อกัน ให้ระบบมันเดินไปตามรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าเกิดศาลตัดสินให้เดโมแครทชนะ ความไม่พอใจของฝ่ายรีพับลีกันจะสูง จะเกิดความไม่พอใจ จนเกิดความขัดแย้งทะเลาะเบาะแว้งกันต่อไปมากมาย เขาเลยคิดว่ามันไม่คุ้มกับระบอบประชาธิปไตยที่สร้างมาสองร้อยปีแล้วจะมาพังในปีเดียว  ความต่อเนื่องจึงสำคัญ คืนนั้นพอประกาศคะแนนฝ่ายที่แพ้ก็โทรศัพท์ไปแสดงความยินดีเพื่อจะปราบลูกพรรคว่า นี่คือตัวอย่างการยุติความขัดแย้งไม่ให้มาทำลายระบบ มันต้องรักษาระบบก่อน รักษาเรือก่อน คนถึงจะไปรอดได้

สำหรับทางออกของเมืองไทยก็เช่นเดียวกัน จะต้องเกิดความชอบธรรมในระดับมวลชน ความต้องการนี้จะต้องมาจากความรับรู้จากความเข้าใจยอมรับโดยสำนึกของเขาเอง เพราะฉะนั้นการเอานักการเมืองหัวหน้าพรรคหรือผู้มีอำนาจใดก็ตามมายืนยันว่าจะไม่ยึดอำนาจนั้น จะไม่เป็นหลักประกันต่อความชอบธรรมจริง ๆ เพราะถ้าประชาชนถูกล่อลวงโดยวาทกรรมทำให้ความเห็นเปลี่ยน โดยอำนาจของการโฆษณาชวนเชื่อของสถาบันอำนาจเก่าในสังคมเยอะมาก อนาคตของเราจึงอยู่ที่ว่าความชอบธรรมอันนี้จะมาจากความยอมรับของประชาชนจำนวนมาก จนกระทั่งผู้นำกลุ่มการเมือง สถาบันต่าง ๆ ไม่สามารถใช้อำนาจเหนือระบบการเมืองเข้ามาแทรกแซงจัดการได้

มีปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้เกิดความชอบธรรมทางการเมืองขึ้นสำหรับอนาคตของประเทศไทย การดำรงอยู่ของการเมืองที่สถาบันนอกระบบราชการเข้ามามีบทบาทกับการเมืองมากขึ้น การปกครองของไทยมาจากชนชั้นนำกลุ่มน้อยโดยตลอดตั้งแต่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ยาวนาน คือ ชนชั้นนำมาโดยช่องทางพิเศษ วิธีอธิบายแบบโบราณคือ กษัตริย์หรือผู้ปกครองของระบบการเมืองสยามคือผู้มีบุญญาบารมี ซึ่งเป็นโลกทัศน์แบบพุทธที่ครอบงำให้การศึกษาทำความเข้าใจสังคมไปไม่ถึงความจริง ควบคู่ไปกับความเชื่อว่ากษัตริย์ผู้มีบุญมี “หน้าที่” ที่จะต้องปกครอง จรรโลงความถูกต้องดีงามของโลก ต่อมาเมื่อโลกเปลี่ยนไปสู่แนวความคิดแบบสมัยใหม่ แนวคิดเรื่องสิทธิของประชาชนก็เข้ามาแทนที่ เกิดการลดระดับผู้มีบุญลงมาเป็นผู้มีความสามารถมีคุณสมบัติที่เป็นที่ยอมรับกันได้ ซึ่งปัจจุบันก็คือระบอบประชาธิปไตย ที่อิงกับคนส่วนใหญ่ ตอบสนองต่อคนส่วนใหญ่และประชาธิปไตยเองก็อิงกับเศรษฐศาสตร์การเมืองทุนนิยมที่ยึดตลาดหรือคนส่วนใหญ่เป็นหลัก เพราะฉะนั้นจะมีอะไรที่ดีกว่าการเลือกตั้ง

เราโยนความผิดให้ชาวบ้านมาตลอดว่าชาวบ้านโง่ การศึกษาต่ำ ทำให้การเลือกตั้งไม่ดี ในอเมริกาคนที่ไปออกเสียงเลือกตั้งก็ไม่ได้รู้มากไปกว่าชาวบ้านในเมืองไทย เผลอ ๆ ความตื่นตัว ความเข้าใจ การติดตามประเด็นทางการเมืองแบบเอาเรื่องเอาราวอาจจะน้อยกว่าคนไทยเสียอีก เพียงแต่ว่านักการเมืองเขาอยู่ในระบบ ระบบมันควบคุม คนที่ไปหย่อนบัตรเลือกตั้งเพื่อที่จะเอาคนที่ระบบบอกว่าไม่มีคุณภาพแล้วออกไปเท่านั้นเอง ส.ส.อเมริกาเขาเลือกทุกสองปี ซึ่งเร็วมาก ในอเมริกาทุกสองปีจึงมีการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นใครซื้อเสียงได้ก็ซื้อไป ใครจะมีเงินถุงเงินถังซื้อได้ทุกสองปี ไม่มีทาง มันจึงไม่เกี่ยวกับความโง่ความฉลาดของชาวบ้าน แต่สำคัญอยู่ที่ระบบมันเดิน ระบบมันจัดการของมันเอง จึงไม่อยู่ที่ความเก่งกาจความยิ่งใหญ่ ความซื่อสัตย์ของ ส.ส.

หลังการเลือกตั้งเชื่อว่าจะมีความขัดแย้งแน่ แต่เมื่อดูจากพัฒนาการทางการเมืองที่ผ่านมา เชื่อว่าเราสามารถผลักดันให้ไปสู่ทางบวกได้ คือสร้างให้เกิดระบบที่ชอบธรรมที่คนส่วนใหญ่ยอมรับได้ โดยการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มไปสู่เป้าหมายนั้น

พลังที่มาขับเคลื่อนประชาธิปไตยไม่ใช่พลังอัศวินม้าขาว อย่าฝากความหวังไว้กับสถาบันเดียวหรือคนเดียว ซึ่งเป็นความคาดหวังที่ไร้สาระที่สุด ไม่มีทาง มันเป็นไปไม่ได้ ที่ประชาธิปไตยเติบโตอยู่ได้มา เพราะมันขยายส่งทอดต่อไปจนถึงขั้นที่เรียกว่าไม่มีใครคนใดคนหนึ่งหรือสถาบันใดที่จะมาหยุดยั้งทำลายมันได้

การเคลื่อนไหวของกลุ่มสีเหลืองสีแดง มีคุณูปการที่สำคัญอย่างหนึ่งคือได้เปิดพื้นที่ทางการเมืองให้เป็นสาธารณะ มีคนหลายกลุ่มหลายความเชื่อหลายอุดมคติเข้าไปร่วมตั้งแต่ซ้ายไปจนถึงขวาสุดขั้ว เช่น แนวคิดโหวตโน ผมคิดว่ามันย้อนกลับไปยังยุคพรีโมเดิร์น คือ ก่อนรัชกาลที่ 5 เสียอีก

รศ.ดร.เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา
วัฒนธรรมทางการเมืองเรื่องการต่อสู้เพื่อขยายอำนาจจากชนชั้นนำมาสู่ประชาชน เปรียบเทียบระหว่างไทยกับอเมริกามันต่างกัน อเมริกาผ่านการต่อสู้มาเป็นร้อย ๆ ปี แต่ของเราเป็นประชาธิปไตยจากบนฟ้ามา ความรู้สึกของการต่อสู้จึงไม่เหมือนกัน เราไม่คิดว่าระบบที่เขาต่อสู้ให้ได้มามันสำคัญขนาดไหน

ในเรื่องการเมืองหลังการเลือกตั้ง เมื่อย้อนมาดูประเด็นทางวัฒนธรรมก็เห็นแต่ปัญหา เอาแค่ระดับการยอมรับการเลือกตั้งก็เป็นปัญหาแล้ว แน่นอนว่าการเลือกตั้งมันมีจุดโหว่เยอะ แต่ ณ วันนี้ต้องยอมรับว่ามันเป็นกลไกที่เลวน้อยที่สุด เหมือนกับระบอบประชาธิปไตย ที่อาจไม่ใช่ระบอบที่ดีที่สุดแต่มันเลวน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับการมีอำนาจของกลุ่มคนเล็ก ๆ มาปกครองเหมือนเผด็จการทหารสมัยก่อน

หลังการเลือกตั้ง เห็นปัญหาที่ตามมาก็คือ มันมีอาการป่วยทางวัฒนธรรมในสังคมไทยโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้ง เราจะเห็นได้ว่าการมองเรื่องการเลือกตั้งระหว่างคนระดับรากหญ้ากับคนที่กุมอำนาจในสังคม รวมถึงคนชั้นกลางที่มีการศึกษาด้วยจะแตกต่างกัน ชนชั้นนำทางการเมืองจะมองว่าเลือกตั้งเป็นเรื่องของคนที่ไม่ค่อยมีการศึกษา พวกนี้ถูกซื้อเสียง ถูกหลอกง่าย เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งคือเรื่องของคนถูกนักการเมืองหลอก แต่มุมของคนข้างล่าง การเลือกตั้งคือจุดที่เขาจะได้แสดงสิทธิและเสียงของตัวเองเพื่อตัดสินว่าใครจะเป็นผู้ปกครอง จุดนี้จะสร้างปัญหาทางวัฒนธรรมอย่างมาก เพราะหลังการเลือกตั้งแล้วคนกลุ่มหนึ่งก็จะคิดว่า การเลือกตั้งเป็นแค่องค์ประกอบอย่างหนึ่งของการเมืองไทย เครือข่ายของอำนาจที่มีอยู่ในการเมืองไทยสามารถเข้าไปจัดการกับการเลือกตั้งได้ ในขณะที่คนอีกมุมหนึ่งบอกว่านี่คือชะตาชีวิตของประเทศที่ต้องให้คนส่วนใหญ่เป็นคนตัดสิน ไม่ใช่ให้คนส่วนน้อยตัดสิน

ปัญหาที่ตามมาคือคนส่วนน้อยที่มีอำนาจและไม่ยอมรับผลการตัดสินจากการเลือกตั้ง จะเป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมไทยต่อไปเรื่อย ๆ เมื่อแนวคิดนี้ยังมีอยู่หลังการเลือกตั้ง ฝ่ายที่กุมอำนาจอยู่ก็จะไม่แฮปปี้ และเมื่อมองในเรื่องของสองสีที่แตกต่างกันเกี่ยวโยงกับการเลือกตั้ง ที่อาจจะปลุกม็อบขึ้นมาคัดค้านกัน การระดมคนกันขึ้นมาเช่นนี้มีแต่จะทำให้ตกลงกันไม่ได้ จะโค่นล้มกันไปมา ประเทศจะไม่ไปไหน รัฐประหาร 49 เป็นจุดที่ทำให้เกิดวังวนนี้ขึ้นมา ถ้ายังอยู่ในวังวนที่ไม่ยอมรับการเลือกตั้งต่อไป ประเทศไทยก็ไปลำบาก

ตราบใดที่ยังมองว่าคนกลุ่มหนึ่งเหนือกว่า ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งถึงแม้จะมีเสียงส่วนใหญ่จากการเลือกตั้งหนุนอยู่เป็นคนที่ด้อยกว่า ดูเหมือนว่าคนที่มีการศึกษาน้อยที่ยอมรับในการเลือกตั้งมีจิตสำนึกในระบอบประชาธิปไตยมากกว่าหรือเปล่า และอาจจะไปถึงอีกขั้นหนึ่งก็คือ มีความพยายามทำลายความชอบธรรมของการเลือกตั้งจากคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมันสอดคล้องไปด้วยกันกับอาการป่วยทางวัฒนธรรม ผมยืนยันว่าการปฏิเสธการเลือกตั้งคือการปฏิเสธกระบวนการและระบอบที่เลวน้อยที่สุด

: ประชาไท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น