วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เสวนา: บทบาทภาคประชาชนกับการพัฒนาประชาธิปไตย

มูลนิธิคอนราดอเดนาวร์ร่วมกับสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ “บทบาทภาคประชาชนกับการพัฒนาประชาธิปไตย”เรื่องการเมืองไทยกับพรรคการเมือง ณ โรงแรมสยามซิตี้ ร่วมเสวนาโดย พีรพล พัฒนพีรเดช นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น สุรพล สงฆ์รักษ์ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ดอะ เนชั่น และศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข จากประชาไท

ภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวควบคู่ไปกับการพัฒนาประชาธิปไตย
นายสุรพล สงฆ์รักษ์ กล่าวในมุมมองของภาคประชาชนว่า การเมืองของภาคประชาชน คือการต่อสู้ตามหลักประชาธิปไตยที่วางอยู่บนหลักสิทธิมนุษยชน สุรพงษ์กล่าวว่าการพัฒนาเศรษฐกิจ การสร้างความเท่าเทียม และการปกป้องฐานทรัพยากรนั้นทำให้คนสามารถอยู่ร่วมกันและสามารถกำหนดชีวิตของตนเองได้ แต่เมื่อนโยบายการพัฒนาของรัฐทำให้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ไม่ใช่เพียงแค่ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้นแต่ทำเพื่อผลประโยชน์ของสาธารณะด้วย สุรพงษ์ชี้ว่าประชาชนควรมีสิทธิที่จะต่อรองผลประโยชน์และมีควรส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพราะประชาชนคือเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง และไม่ใช่มีเพียงแค่อำนาจในวันลงคะแนนเลือกตั้งเท่านั้น

สำหรับภาคประชาชนกับประชาธิปไตยในมุมมองของสุรพงษ์นั้น เขากล่าวว่าภาคประชาชนจะต้องมีการต่อสู้ที่วางอยู่บนการเข้าถึงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเท่าเทียม ต้องเกิดสิทธิเสรีภาพตามหลักสิทธิมนุษยชน มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร ภาคประชาชนต้องสามารถตรวจสอบและคัดค้านทุนนิยมโลกภิวัตน์ที่จะส่งผลกระทบต่อคนหลายกลุ่ม และต้องมีการถ่วงดุลทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสามารถตรวจสอบกลไกตลาดได้ สุรพลกล่าวต่อถึงประเด็นเรื่องที่ดิน โดยกล่าวว่าจำนวนที่ดินของภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจนั้นมีมากเกินไป ควรมีการกระจายไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง

สุรพลชี้ว่าประชาธิปไตยต้องมีการพัฒนาเพราะประชาธิปไตยมีอภิสิทธิ์มากกว่ารัฐธรรมนูญ และการเติบโตของทุนนิยมก็ทำให้อำนาจถูกถ่ายโอนไปที่คนเพียงกลุ่มเดียวจนนำมาสู่ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อภาคประชาชน แต่รัฐบาลก็มักจะยกเอาเรื่องผลประโยชน์ของชาติมาอ้างถึงความชอบธรรม สุรพงษ์กล่าวทิ้งท้ายว่ารัฐควรให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม โดยต้องยกเลิกการใช้อำนาจของกองทัพ นอกจากนี้ยังต้องมีการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม และต้องมีการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยตรงเพื่อเป็นทิศทางไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตย และสร้างมุมมองใหม่ของภาคประชาชนที่จะนำมาสู่การสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง

ภาคประชาชนควรมีส่วนร่วมในท้องถิ่นโดยไม่ต้องพึ่งรัฐ

นายพีระพล พัฒนพีระเดช นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ตั้งคำถามถึงกรณีภัยพิบัติน้ำท่วมที่ผ่านมาว่า “ทำไมภาครัฐของประชาชนถึงไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้” พีระพลชี้ว่าว่าระบบราชการของไทยล้มเหลวมาเป็นเวลานานแล้ว แม้แต่การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ขอนแก่นซึ่งเป็นท้องถิ่นของเขานั้นก็ไม่สามารถดำเนินการเองได้เพราะระบบไม่เอื้อ พีระพลเห็นว่าระบบราชการไทยกำลังจมดิ่งอยู่กับการเลื่อนชั้น และเน้นเรื่องระเบียบเป็นเรื่องใหญ่ จึงทำให้ไม่เอื้อต่อการพัฒนาในเรื่องต่างๆสำหรับท้องถิ่น

นายกเทศมนตรีนครขอนแก่นเห็นว่าภาครัฐควรมีการประสานงานผ่านชุมชน หรือแกนนำของชุมชนซึ่งเป็นภาคประชาชนโดยตรง เขาชี้ว่าหากภาครัฐมีการจัดระบบดีๆและเมื่องบประมาณสามารถเข้าถึงชุมชนและประชาชนได้จริงนั้น ก็จะไม่มีการปิดถนนเหมือนกับที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน พีระพลยกตัวอย่างถึงโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคว่าเป็นโครงการที่ไม่ต้องผ่านระบบราชการจึงทำให้สามารถจัดการเรื่องงบประมาณได้ง่ายและสามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึง

พีรพลกล่าวในฐานะของผู้นำท้องถิ่นว่า รัฐควรให้ตัวแทนท้องถิ่นทั่วประเทศมานั่งคุยร่วมกัน ไม่ใช่ว่าให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมเพียงแค่ไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง เขาชี้ว่าประชาชนควรมีความคล่องตัวในความเป็นอยู่ของตนเอง นายกเทศมนตรีนครขอนแก่นเสนอว่าราชการควรทำหน้าที่ในการตรวจสอบงบประมาณ การดำเนินการควรเป็นเรื่องของภาคประชาชน และทั้งสองส่วนนี้จะนำมาสู่การปฏิบัติเชิงรูปธรรมที่จะเกิดขึ้นจากภาคประชาชน

ภาคประชาชนไม่จำเป็นต้องมีจุดร่วมเดียวกันทั้งหมด
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ที่ศึกษาประเด็นความเคลื่อนไหวของภาคประชาชน กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาคประชาชนกับระบอบประชาธิปไตยว่า ระบอบประชาธิปไตยมีสิ่งทับซ้อนกันอยู่สองอย่าง คือ สถาบันการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งที่วัดกันเพียงว่าใครจะได้จัดตั้งรัฐบาล และสถาบันทางการเมืองที่วางอยู่บนสังคมที่คนต้องมีความสัมพันธ์อย่างเท่าเทียมกันโดยพื้นฐาน ศิโรตม์ชี้ว่าสังคมประชาธิปไตยต้องมีครบทั้งสองเรื่อง เพราะคนเชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมืองทำให้ชีวิตของตนดีชึ้นกว่าระบอบเผด็จการและต้องการได้รับความยุติธรรมที่เทียมกัน

ศิโรตม์เห็นว่าความสัมพันธ์ของคนในสังคมเป็นสิ่งที่ควรพูดถึง เช่น การวมกลุ่มของกลุ่มสหภาพแรงงาน และกลุ่มเคลื่อนไหวชาวมุสลิมที่ออกมาเรียกร้องสิทธิตามหลักศาสนาของตน แต่เมื่อพูดถึงสิ่งเหล่านี้ในสังคมไทยกลับเป็นสิ่งที่คนรับไม่ได้ หรือกว่าที่จะเป็นที่ยอมรับในสังคมได้ก็ต้องใช้เวลานาน

ศิโรตม์กล่าวต่อไปอีกว่าประชาธิปไตยในโลกตะวันตกนั้น มองไปถึงอีกจุดหนึ่งว่าในกลุ่มของภาคประชาชนไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกันทุกเรื่อง เขายกตัวอย่างเปรียบเทียบถึงภาคประชาชนสองกลุ่มในประเทศไทยว่า ในกลุ่มคนเสื้อแดงก็มีแดงหลายเฉดและมาจากหลายชนชั้น ส่วนกลุ่มเสื้อเหลืองที่รณรงค์โหวตโนนั้น ก็อาจมีคนเสื้อเหลืองบางคนต้องการที่จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้

ศิโรตม์ชี้ว่าภาคประชาชนไม่จำเป็นที่จะต้องมีจุดร่วมเดียวกันก็ได้ เพราะในแต่ละสังคมต่างก็ประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย


ภาคประชาชนกับประชาธิปไตยควรมีการกระจายสู่ท้องถิ่น

ประวิตร โรจนพฤกษ์ กล่าวว่าประชาธิปไตยกับประชาชนไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของการเลือกตั้งเท่านั้น ประชาชนควรอยู่ได้ในวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่โยงไปได้ในหลายมิติ ประวิตรกล่าวต่อไปว่า คนต้องมีความอดทนกับระยะเวลาที่จะได้เห็นพัฒนาการของประชาธิปไตย เขาชี้ว่าในที่สุดแล้วประชาชนต้องพยายามทำให้ทุกสถาบันเปิดกว้างและสามารถทำการตรวจสอบได้

ประวิตรกล่าวถึงมุมมองของคนกรุงเทพต่อเรื่องการเมืองระดับท้องถิ่นว่า ถูกสร้างภาพให้เป็นเรื่องของการคอรัปชั่น เขาเห็นต่างว่าการเมืองท้องถิ่นจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ทำความเข้าใจกับการเลือกผู้แทน และจะเป็นการริเริ่มของภาคประชาชนกับการพัฒนาประชาธิปไตยจากระดับท้องถิ่น เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดจากคนท้องถิ่นนั้นก็เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะผลักดันการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในระดับท้องถิ่นให้สามารถเกิดขึ้นได้ ประวิตรชี้ว่าปัจจุบันทุกอย่างกระจุกอยู่แค่ในพื้นที่กรุงเทพ แม้แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้รับการแต่งตั้งโดยมีคำสั่งจากกรุงเทพ


ภาพข่าว : ประชาไท
วีดีโอ : sewanaietv

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น