วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554

16 องค์กร ปชต.แถลงสนับสนุนนิติราษฎร์



แถลงการณ์ 14 องค์กรประชาธิปไตย
เรื่อง สนับสนุนภาระกิจของ“ คณะนิติราษฏร์ ”

สืบเนื่องมาจากการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ประชาชนที่ต่อต้านเผด็จการต่างก็รวมตัวกันเป็นองค์กร ประชาธิปไตย และกำหนดภาระกิจที่จะต่อสู้กับระบอบเผด็จการโบราณ ต่อต้านการรัฐประหารที่บ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย เพราะเห็นภัยร้ายของระบอบเผด็จการที่ยังทรงอิทธิพลอยู่ในประเทศไทย

การรัฐประหารในครั้งนี้ เป็นปฏิบัติการ “หัวหน้าโจร บงการปล้นประชาธิปไตย”โดยชักใย พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ให้เป็น“หัวหน้าคณะ” ในนาม ค.ป.ค.หรือ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หลังจากนั้นก็ได้ใช้งาน เนติบริกรที่มีอาชีพร่างกฏหมายให้เผด็จการ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ซึ่งมีทั้งหมด 39 มาตรา

หน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่จากรัฐธรรมนูญเผด็จการฉบับนี้ ได้แก่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนรัฐสภา คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ทำหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ถูกทำรัฐประหาร ทีมงานที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญให้เผด็จการมาหลายฉบับ เป็นหัวหน้าทีม ภายหลังได้ลาออกจากการเป็นหัวหน้าทีม ค.ป ค.จึงได้แต่งตั้ง นายจรัญ ภักดีธนากุล ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการประธานศาลฎีกา ทำหน้าที่แทน

ปัญหาที่เกิดขึ้นจาก นักร่างกฎหมายที่มีทัศนะเผด็จการเหล่านี้ ได้ทำลายหลักนิติรัฐจนย่อยยับมาตลอด 4-5 ปี และทิ้ง“รังสีพิษ” แทรกซึมอยู่ในแผ่นดินไทย จนยากที่จะกำจัดออกไปได้หมดในระยะเวลาสั้นๆ เป็นการทำลายระบบนิเวศน์ของระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง โดยปฏิบัติการ “เผาป่าทั้งป่า เพื่อล่าเสือ1 ตัว”

“ รังสีพิษ ” ที่ยังแทรกซึมอยู่ในแผ่นดินไทย ได้ทำลายหลักการใช้ชีวิตร่วมกันในระบอบประชาธิปไตยอย่างยับเยิน คือ

1. ทำให้ประชาชนในประเทศนี้ ต้องใช้ชีวิตร่วมกันด้วยกฏเกณฑ์ที่ว่า ถ้าหากคุณเห็นว่าใครเป็นคนไม่ดี แม้คนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นคนดี หรือเห็นว่ายังดีกว่าพวกคุณ คุณก็สามารถสั่งการให้ลอบสังหารได้ ถ้าไม่สำเร็จก็เอาปืน เอารถถังออกมาจัดการได้ หลังจากนั้นก็ โฆษณาว่า เป็นปฏิบัติการเพื่อ ธรรมะ และตำหนิ คนส่วนใหญ่ว่าโง่ ข้อมูลไม่พอ ไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่พวกคุณทำ

2. ทำให้ประชาชนในประเทศนี้ ต้องใช้ชีวิตร่วมกันด้วยกฏเกณฑ์ที่ว่า

ประเทศนี้ออกกฏหมายใหม่เพื่อลงโทษย้อนหลังได้หากต้องการกำจัดคนที่เขาไม่ชอบ แต่ถ้าเป็นสมุนโจรที่ทำตามคำสั่งของ “หัวหน้าโจร” ก็สามารถออกกฏหมายรองรับไว้ว่า จะไม่มีความผิดทั้ง ในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต

3. ทำให้ประชาชนในประเทศนี้ ต้องใช้ชีวิตร่วมกันด้วยกฏเกณฑ์ที่ว่า เอาคนที่เป็นศัตรูกัน มาเป็นผู้ร่างกฏหมายจัดการคู่ต่อสู้ได้ เอาคนที่เป็นศัตรูกัน มาเป็นผู้สอบสวนคู่ต่อสู้ได้ เอาคนที่เป็นศัตรูกัน มาเป็นผู้ตัดสินความคู่ต่อสู้ ก็ทำได้ และคนเหล่านี้จะได้รับการโฆษณาว่า เป็นคนดี มีคุณธรรม

4. ทำให้ประชาชนในประเทศนี้ ต้องใช้ชีวิตร่วมกันด้วยกฏเกณฑ์ที่ว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าด้วย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันนั้น เขียนไว้ “ล้อเล่น” บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าด้วย การล้มล้างรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นกบฎต้องโทษประหารชีวิตนั้น เขียนไว้ “ล้อเล่น” บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าด้วย คำปฏิญานตนขององคมนตรีที่ว่า จะต้องรักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญนั้นเขียนไว้ “ล้อเล่น” เพราะนำผู้ล้มล้างรัฐธรรมนูญเข้าเฝ้าฯ เสียเอง ก็ยังทำได้

5. สำหรับประเทศนี้ จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2554 แล้ว ประชาชนยังต้องยอมรับว่า การเอาปืนเอารถถังออกมาปล้นอำนาจประชาชนสำเร็จแล้ว จะได้เป็น คนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ได้ถืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์ เป็นการใช้ชีวิตร่วมกันแบบระบบโบราณที่ถือคติ “ชนะเป็นเจ้า แพ้เป็นโจร” ไม่ใช่คติของระบอบประชาธิปไตย ส่วนผู้ที่ให้การสนับสนุน โจรปล้นประชาธิปไตย นั้น จะได้เป็นผู้นำด้านคุณธรรมของสังคม และตระเวนอบรมสั่งสอนประชาชนของประเทศนี้

“รังสีพิษ” ที่ยังตกค้างเป็นพิษต่อประชาชนในประเทศนี้ ได้ทำลายหลักการใช้ชีวิตร่วมกันในระบอบประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง การทำลายหลักนิติรัฐดังกล่าวข้างต้น เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ยังมีอีกมากมายที่บังคับให้ประชาชนไทย ดำเนินชีวิตร่วมกัน ณ ปี พ.ศ.2554 ราวกับอาศัยอยู่ในชุมโจร โดยกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลห่มกายด้วยอาภรณ์ของผู้ทรงศีล

ด้วยเหตุนี้ โดย คติ หรือปรัชญาประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญเช่นนี้ ไม่ใช่รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย นักประชาธิปไตยจึงเรียกรัฐธรรมนูญเช่นนี้ว่า “ กฏ โจร ”

หลังจากนั้นคณะเผด็จการโบราณ ได้ผ่องถ่ายอำนาจบริหารมาไว้ที่คณะรัฐมนตรี ที่ตนบงการจัดตั้งขึ้น โดยใช้งานลูกสมุนอีกคนหนึ่งคือ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและดำเนินการให้มีรัฐธรรมนูญ 2550 ในแบบที่ตนปรารถนาจนสำเร็จ โดยมีการเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549

ปรากฏการณ์ที่น่า สลดใจ คือ นักวิชาการหัวขบวน ด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ถึงระดับ ศาตราจารย์ ด๊อกเตอร์ จำนวนมาก ของประเทศนี้ เห็นดี เห็นงาม โดยเข้าร่วมปฏิบัติการ “หัวหน้าโจร บงการปล้นประชาธิปไตย” และได้รับการขุนอย่างอิ่มหมีพลีมัน ทั้งการเจริญเติบโตในตำแหน่งหน้าที่การงานและได้เป็นกรรมการต่างๆ มากมายจากงบประมาณที่ประเคนให้แก่กัน เป็นค่าจ้างตอบแทน ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งกล่อง จึงยอมเป็นสมุนโจร

และยังร่วมกันปกป้อง จนถึงปัจจุบันนี้ นี่เป็น คุณธรรมในหมู่โจร ที่ยังไม่ลืม ข้าวแดงแกงร้อนที่โจรมันราดหัวอยู่จนถึงทุกวันนี้

นักวิชาการเหล่านี้ จิตใต้สำนึกของเขารับไม่ได้ว่าคนจนที่การศึกษาน้อย จะมี 1 สิทธิ์ 1 เสียงเท่ากับ คนที่มีการศึกษาสูงเช่นตน รับไม่ได้กับรัฐบาลที่คนชนบทเลือกมา พวกเขาดูถูกเหยียดหยามประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย ว่า ถูกจ้างมา ประชาชนขอถามกลับไปว่า “คุณได้รับค่าจ้างมารับใช้ และปกป้อง คณะโจร รวมทั้งหมด มีมูลค่าเท่าไร แล้ว?”

แต่กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี วันนี้ได้มีนักวิชาการที่รวมตัวกันในนาม “คณะนิติราษฏร์” มีอุดมการณ์ “นิติศาสตร์เพื่อราษฏร” ต้องการสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ทนไม่ได้ที่ขบวนการเผด็จการร่วมกันทำลายระบบนิติรัฐของประเทศจนย่อยยับ ได้กล้าแสดงตัวออกมาเพื่อเป็น ธงชัยทางวิชาการให้แก่ขบวนการประชาธิปไตยโดยเริ่มต้นจากการรวมตัวของอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์4-5ท่านและมีสมาชิกเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมา ได้ออกแถลงการณ์ เขียนบทความ หลายสิบฉบับ และจัดสัมนาวิชาการโต้แย้งฝ่ายเผด็จการ ด้วยหลักกฏหมาย มาโดยตลอด เป็นคุณูประการที่ฝ่ายประชาธิปไตยได้ใช้เป็นข้อมูลทางวิชาการตอบโต้กับ ฝ่ายที่ปกป้องอำนาจเผด็จการ

14 องค์กรประชาธิปไตย รับทราบมาว่า ตลอดระยะเวลา3-4 ปีที่ผ่านมา ที่คณาจารย์กลุ่มนี้เคลื่อนไหวทางวิชาการ ได้ถูกข่มขู่ คุกคาม ขัดขวาง จากฝ่ายที่ปกป้องอำนาจเผด็จการมาโดยตลอด แต่ก็ยังกล้าหาญที่จะดำเนินการต่อไป

ล่าสุดได้ ออกแถลงการณ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี นิติราษฎร์ ณ. ห้อง LT 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554 มีข้อเสนอ 4 ประเด็น ดังนี้

1. การลบล้างผลพวงจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 2. การขับเคลื่อนข้อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 3. กระบวนการยุติธรรมไทยกับผู้ต้องหา หรือจำเลย และการเยียวยาผู้เสียหาย 4. การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 และการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

14 องค์กรประชาธิปไตย ได้ฟัง และอ่านแถลงการณ์แล้ว เป็นข้อเสนอที่ลึกซึ้ง และเป็นสันติวิธีที่สุดแล้ว โดย “คณะนิติราษฏร์”ได้เชิญชวนให้นักวิชาการหรือกลุ่มต่างๆทุกฝ่าย มาโต้แย้งกับข้อเสนอนี้อย่างใช้เหตุผล เป็นความกล้าหาญทางวิชาการอย่างยิ่ง แต่กลับได้รับการโต้ตอบอย่างไม่เป็นมิตรโดยใช้ภาษาเหยียดหยามบ้าง ใช้ข้อความ ด่าทอหยาบคายบ้าง โจมตีว่ารับจ้าง หรือรับงานใครมาทำบ้าง มีนักวิชาการที่รับใช้คณะเผด็จการ มาตั้งคำถามเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือว่าทำเพื่อคนๆเดียวบ้าง แต่ไม่ตั้งคำถามกับกรณี “กฏโจร” เพราะตัวเองร่วมอยู่ในขบวนการนี้

“คณะนิติราษฏร์” ได้ตอบคำถามด้วยหลักวิชาการอย่างครบถ้วน และคำตอบที่น่าประทับใจที่สุดคือคำตอบต่อคำถามที่ว่า“รับงานใครมาทำ” “คณะนิติราษฏร์” ตอบว่า “ รับงานมาจากคณะราษฏร พ. ศ. 2475 เพื่อจะสร้างประชาธิปไตยของไทยให้สมบูรณ์ ให้อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฏรทั้งหลาย”

14 องค์กรประชาธิปไตย ไม่เคยร่วมงานกับ “คณะนิติราษฏร์” มาก่อน แต่มีอุดมการณ์เดียวกันจึงขอประกาศสนับสนุน และหนุนช่วยภาระกิจของ “คณะนิติราษฏร์” อย่างสุดกำลัง และขอเป็นกำลังใจให้ “คณะนิติราษฏร์” ได้ยืนหยัดทำภาระกิจทางประวัติศาสตร์ จนกว่าจะลุล่วงอย่างสมบูรณ์ต่อไป

14 องค์กรประชาธิปไตย 
4 ตุลาคม 2554

--------------------------------------
“ในเมื่ออ้างรัฏฐาธิปัตย์ที่ได้มาจากการรัฐประหาร ว่าสามารถล้มล้างรัฐธรรมนูญของประชาชนได้ แล้วทำไม รัฏฐาธิปัตย์ที่ได้จากประชาชน จะใช้อ้างเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารไม่ได้ ” ..วรเจตน์ ภาคีรัตน์


รายนาม 14 องค์กรประชาธิปไตย


สนับสนุนข้อเสนอให้ลบล้างผลพวงจากรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549
เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 54 ของคณะนิติราษฎร์

1. กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย
2. สหภาพครูแห่งชาติ
3. องค์กรเลี้ยวซ้าย
4. กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ 40
5. สมัชชาสังคมก้าวหน้า
6. นปช. คลองสาน
7. นปช.บางกอกน้อย
8. นปช.บางแคนปช.บางขุนเทียน
9. นปช.ภาษีเจริญ
10. นปช.เทิดไทย
11. นปช.หนองแขม
12. กลุ่มแดงบางเขน
13. กลุ่มตกผลึก
(ล่าสุดมีผู้เข้าร่วมอีก 3 องค์กรรวมเป็น 16 องค์กร)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น